ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
หลักสูตรดี ต้องตีปี๊บ
ไม่ว่าจะใช้คำว่า ปฏิรูปหรือปฏิวัติการศึกษาไทยก็ตาม ปัจจัยแห่งความสำเร็จประการหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่ เริ่มจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2551 จนถึงวันนี้
หลักสูตรใหม่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเด็กไทยควรเรียนรู้อะไร อย่างไร แค่ไหน ถึงจะเกิดทักษะต่างๆ เพื่อก้าวให้ทันโลกและอยู่ร่วมโลกแห่งอนาคตต่อไปได้อย่างเท่าทัน
ย้อนความไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีองค์ประกอบ ดังนี้
1.คณะกรรมการที่ปรึกษา พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นที่ปรึกษา
2.คณะกรรมการดำเนินการ รองศาสตราจารย์ศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรองประธาน
รองศาสตราจารย์ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ศาสตราจารย์ใจทิพย์ ณ สงขลา รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอำนาจ วิชยานุวัติ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ กรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ นายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดนุชา ปนคำ อาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา นางสาวกุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการ
นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กรรมการและเลขานุการ
ความเคลื่อนไหวดำเนินเรื่อยมาจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จัดการประชุมวาระพิเศษ
ศาสตราจารย์บัณฑิต แถลงว่า กพฐ.มีข้อสรุปว่า ให้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ โดยในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย” เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ มอบหมายคณะทำงาน สพฐ. นำร่างกรอบหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและให้นำสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่สร้างภาระให้แก่ครู
“การนำหลักสูตรใหม่ไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียน จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2568 ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจโดยใช้ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้นก่อน และมีแผนขยายผลการใช้ให้ครอบคลุมระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาต่อไป ในปีการศึกษา 2569 นอกจากนี้ ได้มอบหมาย คณะทำงาน สพฐ. จัดทำแผนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมถึงการจัดเก็บบันทึกผลการดำเนินงานต่างๆ
“ได้มอบแนวทางและให้หลักการของหลักสูตรใหม่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime คือ ให้หลักสูตรใหม่มุ่งพัฒนาสมรรถนะตามพัฒนาการของผู้เรียน 5 ช่วงวัย ดังนี้ ระดับปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย ประถมศึกษาตอนต้นมีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี ประถมศึกษาตอนปลาย มีพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี มัธยมศึกษาตอนต้น ค้นพบความสนใจ ความชอบและความถนัด มัธยมศึกษาตอนปลาย เส้นทางสู่อาชีพ
รวมถึงจัดโครงสร้างเวลาเรียนที่ยืดหยุ่นตามบริบทหรือความต้องการของสถานศึกษา เน้นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ รายงานผลการเรียนด้วยระดับคุณภาพที่อธิบายความสามารถของผู้เรียน และจัดการเรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น AI, แหล่งเรียนรู้, สื่อทันสมัย เพื่อต่อยอดพัฒนาการของผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถเลือกเรียนสิ่งที่ชอบ และประกอบอาชีพที่ใช่ในอนาคตต่อไป
ครับ ผมนำความเป็นไปมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่า อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีแล้ว เปิดเทอมปีหน้า 16 พฤษภาคม 2568 เวลาเหลืออีกไม่นาน หลักสูตรใหม่จะเริ่มใช้ในโรงเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้นก่อนที่มีความพร้อมและสมัครใจ
ทุกท่านคงอยากทราบว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจ โดยไม่ผ่านการสั่งการหรือบังคับ จะมีกี่แห่ง ที่ไหนบ้าง
การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง สังคมแวดวงการศึกษาและในวงกว้างได้รับการถ่ายทอด บอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับเรื่องสำคัญเช่นนี้แค่ไหน จนมองเห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรมเดียวกัน
ต่อไป เนื้อหาหน้าตาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่พัฒนาไปจากเดิมเพียงไร ที่สำคัญคือกระบวนการสอนของครู การเรียนรู้ของนักเรียน จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแค่ไหน
หลักสูตรใหม่ตอบโจทย์ ที่ตั้งไว้ว่า เรียนดี มีความสุข สมความคาดหวังได้จริงหรือไม่
แม้คณะผู้ยกร่างจะบอกว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาแล้วก็ตาม
สถานการณ์โลก สถานการณ์ในภูมิภาค และในประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเปิดช่องทางสื่อสารให้เกิดการรับรู้ มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรเร่งรัดดำเนินการอย่างยิ่ง
เพื่อให้สังคมสาธารณะตระหนักร่วมกันว่า “ประเทศไทยกำลังปฏิวัติหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่”