ผู้เขียน | กฤษฎา บุญชัย |
---|
Net Zero
หลักการที่ผิดพลาด ทำให้ลดโลกร้อนไม่ได้
แนวคิด “ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ” (Net Zero) ไม่ได้หมายความว่ายุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้หมดไป แต่หมายถึงการหักลบระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลบด้วยการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้สมดุลกันจนเท่ากับศูนย์ แนวคิดดังกล่าวปรากฏอย่างชัดเจนในเวทีนโยบายระดับโลกช่วงต้นปี 2000 โดยได้รับแรงผลักดันอย่างมากหลังการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ (COP) ในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังการบรรลุข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายระดับโลกในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
แม้ Net Zero จะเป็นหลักการและแนวนโยบายที่สำคัญของสหประชาชาติ แต่ผลการดำเนินการจากแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังนัก
ย้อนกลับไปในปี 1992 อันเป็นปีกำเนิดอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตรา 22,000 ล้านตันต่อปี จนมาถึงปี 2015 จุดกำเนิดของข้อตกลงปารีส ที่เอาแนวคิด Net Zero มาใช้อย่างจริงจัง โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็น 35,000 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 36,300 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน แม้จะกล่าวได้ว่าอัตราเพิ่มของการปล่อยชะลอตัวลง แต่เราก็ยังปล่อยมากกว่าก่อนมีแนวนโยบาย Net Zero ถึง 1,300 ล้านตันต่อปี
หลักคิดที่เป็นปัญหาของ Net Zero คือ หากลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้อย่างที่คิด ก็ไปเอาการลดหรือการดูดก๊าซเรือนกระจกกลับ ไม่ว่าจะอาศัยธรรมชาติ (Natural Based Solution) หรือโดยเทคโนโลยี เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) หรือการใช้กลไกตลาดคาร์บอน ปัญหาพื้นฐานของหลักคิด Net Zero อยู่ที่ว่า มุ่งจัดการก๊าซเรือนกระจกแค่ “เสมอตัว” (เป็นศูนย์) โดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งกระนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริงเพราะนโยบาย Net Zero มีแค่ชะลอการเพิ่มปล่อยก๊าซออกไปบ้าง
แต่เรามาดูก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่สะสมจนเกิดปัญหาโลกร้อนในเวลานี้กัน ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ราวปี 1800 เป็นต้นมา โลกมีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในชั้นบรรยากาศเพียง 350 ส่วนต่อล้าน (ppm) แต่ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกสูงเกินกว่าปกติของสมดุลโลกไปถึง 420 ส่วนต่อล้าน (ppm) ประมาณได้ว่ามีก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่โลกจะปลอดภัยถึง 546,700 ล้านตันคาร์บอนฯ
หากแม้นโลกจะหยุดปล่อยคาร์บอนอย่างสิ้นเชิง โดยแนวทาง Net Zero บรรลุผลในอุดมคติ เราก็ยังมีคาร์บอนส่วนเกินในชั้นบรรยากาศอันมหาศาลที่สร้างภาวะโลกรวนไปอีกเป็นร้อยๆ ปี แต่เมื่อ Net Zero ไม่เคยบรรลุเป้าหมายในอุดมคติ เพราะโลกยังปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี Net Zero ก็ไม่ช่วยอะไรในการฟื้นโลกคืนสู่ภาวะปกติได้เลย
แล้วแนวนโยบาย Net Zero จะใช้อะไรมาลดหรือดูดซับคาร์บอน เพื่อมาหักลบการปล่อยคาร์บอน แนวทางแรกคือ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) รายงานจาก International Energy Agency ประเมินว่า CCS อาจมีศักยภาพลดคาร์บอนของโลกแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แ นวทางต่อมาคือ การใช้ธรรมชาติดูดคาร์บอน เช่น การปลูกป่าและฟื้นป่า รายงานจาก Nature Conservancy บอกว่าแม้จะเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วทั้งโลก ก็มีศักยภาพการดูดคาร์บอนแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ และรายงานปี 2023 ที่ผ่านมาพบว่า ป่าทั่วโลกแทบจะยุติการดูดซับคาร์บอนจากปัญหาภาวะโลกรวน การจะไปหวังพึ่งมหาสมุทรดูดซับคาร์บอน มีศักยภาพเต็มที่แค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ National Academies of Sciences ได้ระบุไว้ หรือการใช้การเกษตรเชิงฟื้นฟูก็ดูดคาร์บอนเต็มที่ได้ 5-15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กล่าวโดยรวม การหวังเอาธรรมชาติมาหักลบกับการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำได้อย่างที่หวัง ผลก็คือ ปริมาณคาร์บอนยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
นั่นจึงทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่แต่เดิมเคยสนับสนุนแนวทาง Net Zero ออกมาเตือนถึงความไม่สมเหตุสมผลของแนวทางดังกล่าว ศาสตราจารย์ไมลส์ อัลเลน จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวว่า “เราต้องปกป้องแหล่งดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้และมหาสมุทร เพื่อให้พวกมันทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนที่สะสมมาในอดีต แต่เราไม่ควรแสร้งว่าพวกมันสามารถชดเชยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันได้”
ปัญหาการจัดการพื้นที่และผลกระทบต่อความโปร่งใสของ Net Zero ข้อตกลงปารีสอนุญาตให้ประเทศต่างๆ นับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับจากพื้นที่ “ที่มีการจัดการ” เช่น ป่าในแอมะซอนหรือไทกาในรัสเซีย แต่การปล่อยคาร์บอนจากพื้นที่ “ที่ไม่ได้จัดการ” เช่น ไฟป่าในแคนาดากลับไม่ได้รับการนับรวมในเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการรายงานความคืบหน้า ตัวอย่างเช่น ไฟป่าในแคนาดาเมื่อปี 2023 ปล่อยคาร์บอนเทียบเท่าสามเท่าของการปล่อยก๊าซประจำปีของประเทศ แต่ไม่ได้ถูกนับรวมในความคืบหน้าสู่ Net Zero
การพังทลายชั่วคราวของแหล่งดูดซับคาร์บอนในปี 2023 งานวิจัยพบว่าแหล่งดูดซับคาร์บอนธรรมชาติ เช่น ป่าไม้และดินไม่สามารถดูดซับคาร์บอนในปี 2023 ได้เลย เนื่องจากอุณหภูมิที่ทำสถิติสูงสุด ระบบเอลนีโญ และแรงกดดันจากระบบนิเวศอื่นๆ สถานการณ์นี้แสดงถึงความเปราะบางของแหล่งดูดซับคาร์บอนธรรมชาติที่อาจพังทลายได้ในอนาคต
เมื่อดูภาพรวมของผลกระทบต่อเป้าหมาย Net Zero ระดับโลก องค์กร Zero Carbon Analytics พบว่าการพึ่งพาธรรมชาติในการลดคาร์บอนทำให้ประมาณการ “งบประมาณคาร์บอน” สำหรับการลดโลกร้อนต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ลดลง 15-18% และพื้นที่ที่รัฐบาลให้ปลูกป่าหรือฟื้นฟูเพื่อชดเชยคาร์บอนนั้นเป็นเป้าหมายที่ไม่สมจริง โดย ดร.โจแอน เบนท์ลีย์ จาก Zero Carbon Analytics กล่าวว่า “แผนการที่ดูน่าประทับใจของรัฐบาลบางประเทศไม่ได้สะท้อนความก้าวหน้าที่แท้จริงเมื่อพวกเขาพึ่งพาป่าไม้ในการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แทนที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ซึ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน”
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์จึงได้เรียกร้องว่า แม้การปกป้องแหล่งดูดซับคาร์บอนธรรมชาติช่วยลดมลพิษสะสม รักษาสมดุลระบบนิเวศ แต่รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องยุติการใช้ธรรมชาติเป็น “ช่องทางลัด” ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเปลี่ยนไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต้นทางอย่างแท้จริง
นำมาสู่ข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแนวคิดจาก Net Zero (เป็นศูนย์สุทธิ) มาสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์หรือเลิกปล่อยจริงๆ (Real Zero) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกว่า 60 คนร่วมลงนามในคำมั่นที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง แทนการพึ่งพาการชดเชยที่เรียกว่า ศูนย์สุทธิ (Net Zero) ซึ่งเพียงแค่ชดเชยการปล่อยก๊าซโดยการปลูกป่าเท่านั้น
คำมั่นนี้จัดโดย Lethal Humidity Global Council ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ หันมาลดการปล่อยก๊าซจริงโดยตรง
ศ าสตราจารย์ไมเคิล แมนน์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และศาสตราจารย์โยฮัน ร็อคสตรอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยผลกระทบสภาพภูมิอากาศโพสต์ดัม เป็นหนึ่งในผู้ลงนาม โดยบิล แฮร์ ผู้ก่อตั้ง Climate Analytics กล่าวว่าควรมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซจริง แทนที่จะทำการชดเชยเพียงเพื่อให้ได้ตัวเลขที่น่าพอใจ
ความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsets) ศาสตราจารย์แคทริน ไมสเนอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ระบุว่าการชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากการปลูกป่าหรือการอนุญาตให้ป่าเติบโตใหม่ ไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ตลอดไป เนื่องจากเมื่อพืชเหล่านี้ตาย เช่น ในช่วงภัยแล้งหรือไฟป่า คาร์บอนจะถูกปล่อยกลับเข้าสู่บรรยากาศ ทำให้การพึ่งพาการชดเชยโดยไม่ลดการปล่อยก๊าซจริงเป็นอันตราย
รัสเซลล์ ไรเชลท์ อดีตข้าราชการและเอกอัครราชทูตออสเตรเลียด้านมหาสมุทรที่ยั่งยืน แสดงความกังวลว่าแหล่งดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ เช่น ป่าและมหาสมุทร กำลังประสบปัญหาในการดูดซับ CO2 ส่วนเกินจากกิจกรรมของมนุษย์ การใช้การชดเชยแบบนี้อาจช่วยให้ราบรื่นต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ศูนย์สุทธิ แต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ศาสตราจารย์ซาราห์ เพอร์กินส์-เคิร์กแพทริก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า “ศูนย์สุทธิ” เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซที่ต้นเหตุ
การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนศูนย์จริง ได้รับการตอบรับจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะเชื่อว่าการลดการปล่อยก๊าซจริงเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น ข้อตกลงปารีสเป็นแนวทางสำคัญในการรักษาอุณหภูมิโลก แต่เวลาที่เหลืออยู่มีน้อยจนไม่มีพื้นที่สำหรับการประนีประนอมแบบลวงๆ ด้วย Net Zero
สอดรับกับ Larry Loahmann นักวิชาการด้านความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศ จาก The Cornerhouse วิจารณ์ว่า Net Zero ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดของบริษัทและรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบเศรษฐกิจหลัก และการชดเชยการปล่อยก๊าซ (Carbon Offsetting) ผ่านโครงการปลูกป่า หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง
แต่เป็นเพียงการ “ย้าย” หรือ “เลื่อน” ปัญหาออกไปในอนาคต
Net Zero เปิดช่องให้บริษัทขนาดใหญ่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาหรือชุมชนในพื้นที่ห่างไกล กลไกตลาดคาร์บอนที่เชื่อมโยงกับ Net Zero จึงส่งเสริมความไม่เป็นธรรม ชุมชนที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ถูกกดดันให้รับภาระการชดเชยการปล่อยก๊าซจากบริษัทในประเทศอุตสาหกรรม
ความเป็นธรรม (Justice) ไม่ได้ปรากฏในแนวคิด Net Zero โดยเฉพาะสิทธิของชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ Larry มองว่าการมุ่งเน้นที่ตัวเลขสุทธิเพียงอย่างเดียวทำให้ละเลย “ความเป็นธรรมเชิงกระบวนการ” เช่น การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากร
การพึ่งพาเทคโนโลยี เช่น CCS และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวและมักมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น การปลูกพืชเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ในพื้นที่ขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดการแย่งยึดที่ดินจากชุมชนท้องถิ่นและทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
เขาชี้ว่า Net Zero มักจะนำเสนอเป้าหมายที่ดูเหมือนเป็นไปได้ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ไม่ได้มีแผนที่ชัดเจนสำหรับการลดการปล่อยก๊าซที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น และการชดเชย (Offset) และการพึ่งพาโครงการในอนาคต เช่น การปลูกป่า หรือการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา เป็นการเลื่อนเวลาและทำให้ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ยังคงดำเนินกิจกรรมแบบเดิม
สุดท้ายแล้ว Net Zero ไม่ได้ท้าทายโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เช่น การพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและระบบการผลิตแบบบริโภคนิยม แทนที่จะมุ่งเน้นการสร้าง “ภาพลวงตา” ของความยั่งยืนผ่านโครงการชดเชย เราต้องส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซโดยตรง (Absolute Emissions Reduction) หรือ Real Zero เพื่อให้โลกรอดพ้นหายนะให้ได้