ภาพเก่าเล่าตำนาน : อาหรับสปริง…ยังไม่หยุดแรงกระแทก

อาหรับสปริง

อาหรับสปริง เกิดขึ้นเมื่อปลายธันวาคม 2010 ต่อเนื่องไปถึง ปี 2011 …จากเหตุพ่อค้าริมถนนคนหนึ่งโดนกลั่นแกล้ง-รีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประท้วงด้วยการ “เผาตัวตาย” ในประเทศตูนิเซีย กลายเป็น “ประกายไฟ” ลุกลาม ขยายกลายเป็นคลื่นความชิงชัง แผ่ซ่านไปในหลายประเทศในโลก …โค่นล้มระบอบการปกครองในหลายประเทศ

เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ขับไล่ผู้นำในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ท้าทาย “ระบอบเผด็จการ” ที่ฝังรากลึกในภูมิภาคส่วนนี้

ธันวาคม 2553 โมฮัมเหม็ด บูอาซี พ่อค้าขายของริมถนนวัย 26 ปี “จุดไฟเผาตัวเอง” ในที่สาธารณะกลายเป็นประเด็นร้อนจัด ประชาชนนับหมื่นออกมาเดินขบวนประท้วงในเมืองตอนกลางของประเทศตูนิเซีย

การเคลื่อนไหวประท้วงซึ่งสื่อเรียกกันว่า “การปฏิวัติจัสมิน” ลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว รุนแรง

ADVERTISMENT

รัฐบาลตูนิเซียพยายามยุติความไม่สงบ โดยใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนและเสนอข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งในเวลานั้นกองทัพก็มีท่าทีจะไม่กระทำรุนแรงต่อประชาชน พวกเขาออกมาประท้วงต่อต้านการทุจริตของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีเผด็จการของตูนิเซีย ซิเน อัล-อาบิดีน เบน อาลี

14 มกราคม 2554 ประธานาธิบดีเบน อาลี ต้องลาออก หลังจากดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลา 23 ปี หนีไปซาอุดีอาระเบีย

ADVERTISMENT

ตุลาคม 2554 ชาวตูนิเซียได้มีโอกาสเลือกตั้งโดยเสรีเป็นครั้งแรก เพื่อเลือกสมาชิกสภาที่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตูนิเซียกลายเป็นประเทศแรกที่ให้กำเนิด “อาหรับสปริง” เป็นโมเดลชัดเจน เป็นรูปธรรม สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ชี้ชัดถึงพลังมวลชน

ธันวาคม 2554 ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้ารับตำแหน่ง มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่ง

แนวคิดลุกขึ้นสู้ของประชาชน…แพร่ขยายเข้าไปในประเทศอียิปต์แบบร้อนระอุ

ประชาชนชาอียิปต์ที่อัดอั้น แสนลำเค็ญ ออกมารวมตัวกันเต็มท้องถนนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง คนหนุ่มสาวชาวอียิปต์ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อดึงดูดฝูงชนจำนวนมากทั่วอียิปต์

25 มกราคม 2011 รัฐบาลอียิปต์พยายามควบคุมการประท้วงโดยเสนอการประนีประนอม ผสมผสานกับการใช้ความรุนแรง แต่ล้มเหลว เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและกองกำลังรักษาความปลอดภัยในกรุงไคโรและทั่วประเทศเป็นเวลาหลายวัน

กองทัพอียิปต์ปฏิเสธที่จะใช้กำลังกับผู้ประท้วง ที่เรียกร้องให้ปลด ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ออกจากตำแหน่ง

11 กุมภาพันธ์ 2011 เมื่อสูญเสียการสนับสนุนจากกองทัพ หลังจากดำรงตำแหน่งมาเกือบ 30 ปี ประธานาธิบดียอมสละอำนาจให้กับสภานายทหารระดับสูง กองทัพได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างสูงในระหว่างนั้นก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่

นับว่าประชาชนอียิปต์โค่นล้มระบอบการปกครองแบบเผด็จการของตนได้อย่างรวดเร็ว

เกิดเหตุการณ์ใน ตูนิเซีย อียิปต์ ในความพยายามที่คล้ายคลึงกันไปในประเทศกลุ่มอาหรับ การประท้วงได้ลุกลามไปในเยเมน บาห์เรน ลิเบีย และซีเรีย

อย่างไรก็ตาม แตกต่างจากในตูนิเซียและอียิปต์ ความไม่พอใจของประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศเหล่านี้ ทำให้เกิดการต่อสู้ที่นองเลือดและยาวนานระหว่างกลุ่มฝ่ายค้านและระบอบการปกครองที่ปกครองอยู่

ลองมาเจาะจงดูกรณีของประเทศซีเรีย

กลางเดือนมีนาคม 2554 ประชาชนทางตอนใต้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ลาออก เกิดเหตุรุนแรงในซีเรียลุกลามไปทั่วประเทศ

อัสซาดที่เป็นผู้นำสูงสุดสั่งตอบโต้ด้วยการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก อัสซาดใช้กองทัพทำสงครามกลางเมืองแบบนองเลือด โดยใช้ “อาวุธเคมี” กับประชาชนของตนเอง ทำให้ผู้นำระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมารุมประณาม

ผู้นำฝ่ายค้านซีเรียไปจับมือกับกองกำลังติดอาวุธ เกิดกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ซีเรียกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี กองกำลังทั้งหลายมุ่งโค่นล้ม บาชาร์ อัล-อัสซาด กองทัพอากาศรัสเซียส่งเครื่องบินรบมาโจมตีกองกำลังฝ่ายโค่นล้มรัฐบาล เพราะมีผลประโยชน์ตอบแทน โดยได้สิทธิในการตั้งท่าเรือชายฝั่งทะเลของซีเรีย

อเมริกายื่นมือเข้าไปช่วยสนับสนุนติดอาวุธให้ “ชาวเคิร์ด” (Kurd) ที่อยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย อิหร่านแสดงท่าทีสนับสนุนอัสซาด และยังมีการสนับสนุนที่ปิดลับอีกหลายสำนัก เกิดกลุ่มติดอาวุธยิบย่อยอีกนับไม่ถ้วน ประเทศซีเรียกลายเป็นสมรภูมิเดือดที่สับสน แย่งชิงอำนาจ ผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจ ไม่รู้ใครเป็นใคร

ประชาชนตายเกือบล้าน ออกนอกประเทศไปอีกหลายล้านคน

ความโหดจัดของอัล-อัสซาด ทำให้เขายังครองอำนาจได้อย่างแข็งแกร่ง สังหาร จับผู้คนไปคุมขัง ทรมาน เนื่องจากเขาสามารถรักษาการสนับสนุนจากหน่วยทหารที่สำคัญซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ของซีเรียไว้ได้

ในขณะเดียวกัน ความแตกแยกของประเทศในภูมิภาค ไม่มีชาติใดแยแสที่จะช่วย กองกำลังทหารของ UN ที่จะต้องเข้าไปหยุดการสังหารโหดในลิเบีย ก็โดนรัสเซียและจีนใช้สิทธิ “ยับยั้ง” มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ผลลัพธ์ของสถานการณ์ดังกล่าว ก่อเกิดสงครามกลางเมืองที่เลวร้าย และวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน

วกกลับมาที่จุดเริ่มต้นครับ ไฟลุกลามไปได้อย่างไร

ภาพการประท้วงในตูนิเซีย ถูกบันทึกและแชร์ผ่านอุปกรณ์พกพาแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่นานนัก การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลก็ปะทุขึ้นในบาห์เรน ซึ่งผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและปฏิรูปสิทธิมนุษยชน จอร์แดน คูเวต ซึ่งรัฐสภาถูกยุบเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากประชาชน

ในอียิปต์ จัตุรัสทาฮ์รีร์ในกรุงไคโร เป็นสถานที่จัดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เป็นเวลา 18 วัน โดยมีชาวอียิปต์หลายหมื่นคนเข้าร่วมเพื่อเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ลาออก

พลังของชาวอียิปต์ ที่ประท้วงแบบไม่ก่อเหตุรุนแรง ส่งผลให้มูบารัค ซึ่งปกครองประเทศมาเป็นเวลา 30 ปี ต้องตกเก้าอี้

ในลิเบีย การประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการก่อกบฏด้วยอาวุธ เมื่อกลุ่มกบฏดูเหมือนจะพ่ายแพ้

มีนาคม 2554 กองกำลังผสมระหว่างประเทศที่นำโดย NATO ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่กองกำลังของกัดดาฟี ถือว่าเป็นการสนับสนุนฝ่ายกบฏ ซึ่งเข้ายึดครองเมืองตริโปลีได้สำเร็จ

สิงหาคม 2554 กัดดาฟีที่ครองอำนาจยาวนาน 42 ปี ถูกกลุ่มกบฏจับตัวและสังหารในเดือนตุลาคม ในปีเดียวกัน

(หมายเหตุ…ในกรณีของการโค่นล้มกัดดาฟี มีการแทรกแซงของมหาอำนาจเรื่องผลประโยชน์ก้อนยักษ์จากการขุดเจาะ ปริมาณ และการค้าน้ำมัน ที่มหาอำนาจไม่ปลื้มกับตัวผู้นำลิเบีย)

อาหรับสปริง ก่อไฟแห่งความเปลี่ยนแปลง ลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อเกิดความกลัว เกิดการปรับตัวไปในทางผ่อนคลายของบรรดาผู้ปกครองประเทศที่อิ่มเอิบกันในอำนาจ ความร่ำรวย และเห็นแก่ตัว

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ระส่ำระสาย เกิดในแอลจีเรีย จอร์แดน โมร็อกโก และโอมาน ที่ผู้ปกครองเสนอการประนีประนอมต่างๆ ตั้งแต่การปลดเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการประท้วงแพร่กระจายไปในประเทศของตน

ราว 10 ปีต่อมา นักวิเคราะห์และนักวิจารณ์ประกาศว่า “อาหรับสปริงสิ้นสุดลงแล้ว” นับตั้งแต่ช่วงทันทีหลังจากการโค่นล้มเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนานในตูนิเซียและอียิปต์สำเร็จในปี 2011

หากแต่ในความเป็นจริง

ราวต้นเดือนธันวาคม 2567 กลุ่มกองกำลังหลัก 3 กลุ่ม ที่ต่อต้านผู้นำเผด็จการของซีเรีย สามารถตีวงโอบล้อมเมืองต่างๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงดามัสกัส พร้อมกับโค้นล่มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ปกครองประเทศมากว่า 13 ปี หลังประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองโดยปราศจากการต่อต้านใดๆ

ผู้คนจำนวนไม่น้อยในซีเรียออกมาเฉลิมฉลองการล่มสลายของตระกูลผู้ปกครองซีเรียด้วยความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมเป็นเวลานาน แต่อนาคตของซีเรียยังไม่แน่นอน สถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ และยังมีกลุ่มกบฏมากมายที่ขึ้นมาปกครองพื้นที่ต่างๆ ของประเทศด้วย

หลังชัยชนะของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล กลางเดือนธันวาคม 2567 ผู้นำกองกำลัง HTS ที่เป็นกำลังหลัก ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกเกิดขึ้นแล้ว

สิ่งที่จะตามมาในทุกสงคราม คือ การแบ่งสัน-ปันส่วน ในอำนาจ-ผลประโยชน์ ที่มี “หุ้นส่วน” จ้องมองตากันอยู่แบบหิวโหย เพราะซีเรียมี “น้ำมัน” และ “ก๊าซ” มหาศาล

อาหรับสปริง…ยังมีไฟระอุอยู่ครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image