ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ธุรกิจเพื่อสังคมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการรับมือกับโลกเดือด

โจทย์ใหม่ของทุกประเทศในปัจจุบันก็คือ จะช่วยบรรเทาและรับมือกับโลกเดือดได้อย่างไร การแก้โจทย์ยากๆ เช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ ซึ่งนวัตกรรมใหม่ที่ว่าคือ ความพยายามในการสร้างธุรกิจแนวใหม่ที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้
ที่จะมาหล่อเลี้ยงองค์กรให้สามารถพึ่งตนเองได้ วันนี้จึงจะถือโอกาสยกตัวอย่างมูลนิธิ 2 แห่งที่ใช้ธุรกิจเพื่อสังคมแก้ไขปัญหาของสังคมร่วมกับชุมชน และสามารถแสวงหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน

องค์กรแรก คือ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นมูลนิธิส่งเสริมหัตถกรรม เพื่อช่วยชาวเขาในชุมชนบนที่สูงให้มีรายได้จากหัตถกรรมและรักษางานฝีมือดั้งเดิมเอาไว้ ต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเห็นว่า ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเองได้ เพื่อช่วยลดปัญหายาเสพติด รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการปลูกคนไปพร้อมกับการปลูกป่า

ในปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีลูกจ้างทั้งหมด 1,400 คน มูลนิธิฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 875 ล้านบาท (รายงานประจำปี 2566) ผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิฯที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ภายใต้หลักการว่า “ธุรกิจต้องแข่งขันได้” ผ่านการผลิตสินค้าและบริการภายใต้แบรนด์ ดอยตุง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย หัตถกรรมผ้า เซรามิก และการให้บริการการท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ปีละประมาณ 500 ล้านบาท และ 2) งานพัฒนา ได้แก่ งานที่เป็นที่ปรึกษาซึ่งทำให้กับโครงการของรัฐหรือไปรับจ้างทำงานให้รัฐ เช่น การปลูกป่า ทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งจากรัฐ และหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กปร. โครงการพระราชดำริ ป.ป.ส. รวมทั้งงานที่ปรึกษาจาก UNODC ที่ต่างประเทศ ได้แก่ ที่อาเจะห์ (อินโดนีเซีย) เมียนมา และอัฟกานิสถาน เป็นต้น

ในอนาคตมูลนิธิฯ อาจจะเริ่มปรับธุรกิจเพื่อสังคมให้อยู่ในรูปแบบบริษัท เนื่องจากจะมีการเริ่มขายของออนไลน์ โดยเงื่อนไขของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้กำหนดให้ซัพพลายเออร์ต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็นบริษัท และต้องการให้เกิดการบริหารจัดการแยกส่วนอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความรับผิดรับชอบ (accountability) และลดความยุ่งยากในการนำกำไรจากการขายสินค้าหรือบริการประเภทหนึ่งไปอุดหนุนสินค้า หรือบริการอีกประเภทที่มีผลประกอบการขาดทุน (Cross-Subsidization)

ถึงแม้มูลนิธิฯ จะไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร แต่เมื่อมีการขายผลิตภัณฑ์และบริการให้กับสาธารณะก็ต้องแข่งขันกับองค์กรเอกชนต่างๆ เช่นกัน ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของมูลนิธิฯ เช่น ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม กำลังประสบปัญหาในด้านการแข่งขันสูง มูลนิธิฯ จึงต้องมองไปข้างหน้าและมองหาโครงการที่จะมาสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งผลกระทบในพื้นที่ที่กว้างกว่าบริเวณดอยสูง ซึ่งมูลนิธิฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จุดแข็งของมูลนิธิฯ คือความรู้เกี่ยวกับชุมชน ผืนป่า การเพาะพันธุ์พืช การปลูกป่า รวมทั้งการมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของไม้ป่าชนิดต่างๆ มาอย่างยาวนานถึง 30 ปี ทำให้มูลนิธิฯ ตัดสินใจดำเนินการในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่มูลนิธิฯ หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน พร้อมกับองค์กรเอกชนดำเนินการร่วมกันเพื่อหาทางเลือกใหม่สำหรับอนาคต

ADVERTISMENT

โครงการนี้มูลนิธิฯ จะจัดพอร์ตการลงทุนให้บริษัทเอกชนที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยให้บริษัทเอกชนระบุว่า ต้องการจองซื้อคาร์บอนเครดิตกี่ไร่ โดยในช่วงเริ่มต้นจะคิดราคาของคาร์บอนเครดิตเท่ากับค่าเสียโอกาสของชาวบ้านในการปลูกข้าวโพด 1 ไร่ บริษัทที่มาจอง (subscribe) หรือซื้อคาร์บอนเครดิตจะจ่ายค่าสนับสนุนกองทุนรักษาป่าเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตต่อปี 2,900 บาทต่อไร่ เป็นเวลา 3 ปี

ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะรับประกันว่าจะได้คาร์บอนเครดิต 0.9 ตัน/ไร่/ปี ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีและไม่มีปัญหาจากไฟป่าอาจจะสามารถผลิตคาร์บอนเครดิตได้ถึง 1.5 ตัน/ไร่/ปี ส่วนวิธีการจัดสรรรายได้นั้น มูลนิธิฯ จะจ่ายให้เกษตรกรประมาณร้อยละ 50-70 ของรายได้ เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาป่าชุมชนและเพื่อไปสนับสนุนการสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร เช่น การสร้างทำนบปลา การเลี้ยงผึ้งโพรง การปลูกเห็ดในป่า การทำจานใบไม้จากใบตองตึง และการจัดทำตลาดชุมชน เป็นต้น ขนาดที่ต่ำสุดของป่าชุมชนที่จะทำให้ต้นทุนต่ำเพียงพอที่จะเริ่มให้ผลตอบแทนจะเท่ากับ 500 ไร่ ดังนั้น โอกาสที่จะขยายผลจะยังมีอีกมาก เพราะป่าชุมชนทั่วประเทศมีจำนวน 6 ล้านไร่

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้เริ่มโครงการนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว และมีป่าชุมชนในการดูแลทั้งหมด 344,953 ไร่ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 1.2 แสนคน สามารถลดการเกิดไฟป่าจาก 10,358 ไร่ในช่วงปี 2559-2564 เหลือแค่ 3,805 ไร่ ในปี 2566

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อนำมาจัดตั้งกองทุนดูแลป่าจำนวน 47.93 ล้านบาท และได้รับจากกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนอีกประมาณ 18.33 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ของชุมชน กิจกรรมนี้ประเทศไทยได้ป่า คนไทยทั้งปวงได้อนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มูลนิธิฯเลี้ยงตัวเองได้ และชุมชนได้เงินเพื่อนำไปยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง

องค์กรที่สอง คือ “มูลนิธิอุ่นใจ” ซึ่งเป็นมูลนิธิที่สนับสนุนให้ชาวสวนนำกิ่งไม้มาทำ “ถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (biochar)” เพื่อลดปัญหาหมอกควันและการปล่อยคาร์บอนโดยกรรมวิธี Pyrolysis แล้วนำคาร์บอนในรูปของไบโอชาร์ในสภาพที่เสถียรแล้วมากักเก็บในดิน ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้กับชาวสวน จุดเด่นของโครงการนี้คือไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไบโอชาร์ออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ มูลนิธิอุ่นใจในประเทศไทยยังจ่ายค่าตอบแทนให้ชาวสวนและขายคาร์บอนเครดิตจากไบโอชาร์ให้กับธุรกิจเพื่อสังคมของสหรัฐอเมริกา คือ ไบโอชาร์ไลฟ์ (Biochar Life) ซึ่งได้สอนองค์ความรู้นี้ให้กับเกษตรกรทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 10,000 ราย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (Simon, 2024) และกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 1.12 หมื่นตัน งานนี้นอกจากชาวโลกจะได้รับประโยชน์จากการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนแล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และได้อาหารเสริมให้พืชผลอีกด้วย

แล้วท่านผู้อ่านที่เป็นชาวกรุง วันนี้ท่านได้มีส่วนร่วมลงมือลดโลกร้อนแล้วหรือยัง?

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด