พ.ร.บ.การศึกษา เดินหน้าถอยหลัง (2)

พ.ร.บ.การศึกษา เดินหน้าถอยหลัง (2)

ว่าด้วยการพัฒนาครู ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเกือบทุกฉบับเขียนไว้ในหน้าหลักการ เป็นภาคบังคับต้องดำเนินการ ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญฯ 2560 การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

โมเดลแรกของพรรคเพื่อไทย เสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ หมวด 7 ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา

ดร.ดิเรก พรสีมา อดีตคณบดีวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) ผู้มีส่วนยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาหลายสมัย อ่านแล้วเสนอปรับให้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นดังนี้

ADVERTISMENT

ส่วนที่ 1 การผลิต การคัดกรองครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

มาตรา 78 ให้มีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิต การคัดกรองครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู คุรุสภา ร่วมมือกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการ และวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมผู้ประกอบวิชาชีพครูใหม่และการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้ปริมาณและคุณภาพการผลิตครู สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครูภายในสิบปีมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำของผู้ที่ประสงค์จะเรียนครู มีกลไกและระบบการคัดกรองผู้เรียนที่จะทำให้สถาบันผลิตครูได้นักศึกษาครูที่รักในการประกอบวิชาชีพครูมีแววความเป็นครู สามารถพัฒนาให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครูได้โดยง่าย และกำหนดให้สถาบันผลิตครูต้องจัดให้มีหอพักสำหรับนักศึกษาครูภายในสิบปี เพื่อใช้ในการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครูและเอื้อต่อการสร้างความรู้ ความสามารถให้แก่นักศึกษาครู

หลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาอย่างน้อยต้องกำหนดให้สถาบันผลิตครูมีสถานศึกษาร่วมผลิต มีมาตรฐานคุณภาพผลผลิต มาตรฐานกระบวนการผลิตและมาตรฐานตัวป้อนเข้า ที่จะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุกและจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นที่น่าสนใจคือของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เสนอโมเดลการพัฒนาครู แยกออกมาโดดๆ

เขียนไว้ในมาตรา 39 ให้มีคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธาน

กรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

กรรมการที่เป็นผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งละหนึ่งคน

กรรมการที่เป็นผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา สถานศึกษาของรัฐจำนวนระดับละหนึ่งคน สถานศึกษาเอกชนจำนวนหนึ่งคน สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งคน กรรมการที่เป็นผู้แทนอาจารย์ในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ทั้งสถาบันของรัฐและเอกชนจำนวนสองคน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการศึกษา ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการศึกษาระดับปฐมวัย ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา ด้านการอุดมศึกษา ด้านการศึกษาเฉพาะทาง ด้านการศึกษาตลอดชีวิต ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านสุขภาพอนามัย ด้านจิตวิทยาและด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ จำนวนด้านละหนึ่งคน

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 41 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม เลขาธิการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

นั่นเท่ากับยกฐานะหน่วยงานที่มีอยู่เดิม คือ สำนักพัฒนาครู ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขึ้นเป็นกรมใหม่

ส่วนการผลิต การคัดกรองหรือการใช้ครู เขียนไว้ในมาตรา 62 ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทยและหรือหน่วยงานของรัฐ ร่วมกันดำเนินการผลิตครูโดยกำหนดให้บุคคลที่จะเป็นครูผู้ให้การศึกษานักเรียนในโรงเรียนได้นั้น ต้องมีวุฒิการศึกษา “ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการศึกษา” ยกเว้นในระดับชั้นปฐมวัยและครูจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ

ข้อเสนอที่ฉีกออกมาอีกเรื่อง คือ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานแห่งชาติ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

อ่านสองฉบับข้างต้นแล้ว ถามว่า ฉบับของรัฐบาลล่ะ เขียนโมเดลการผลิต พัฒนาและการใช้ครูไว้ตรงไหนอย่างไร

ต้องย้อนไปดูร่างที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา 660/2564 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ยึดเป็นฉบับหลักของรัฐบาล ไม่ปรากฏกลไก กระบวนการผลิต พัฒนาและการใช้ครู

แต่ระบุว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบกระบวนการและวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในการผลิตครูที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมตลอดทั้งวิธีการในการพัฒนาศักยภาพครูให้สูงขึ้นและทันต่อความเปลี่ยนแปลง

ครับ เมื่อกฎหมายทุกฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผลลัพธ์จะออกมาโมเดลไหน คำตอบยังคงอยู่ในสายลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image