ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
พ.ร.บ.การศึกษา เดินหน้าถอยหลัง (3)
อย่างที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ตอนแรก เรื่องข้อห่วงใย ที่อาจทำให้การยกร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เกิดปัญหาอุปสรรค ยืดเยื้อยาวนาน จนสะดุดหยุดลง เนื่องมาจากบทบัญญัติว่าด้วยโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการ
บทบัญญัติที่ว่านั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องติดตามจากท่าที ความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาเรื่อง ทิศทางการศึกษาไทยต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมรับฟังและอภิปรายว่า ศธ.มีแนวคิดในการนำร่างที่เคยยื่นไปแล้วถูกปัดตกไปยื่นเข้าไปใหม่ เพื่อที่จะนำมาเป็นต้นเรื่องในการนำร่างอื่นๆ ที่พรรคการเมืองยื่นเข้ามาประกบกัน พิจารณาข้อดีข้อเสียจากร่างอื่นๆ และทำร่างใหม่ออกมาให้เป็น พ.ร.บ.การศึกษาฯที่ตอบโจทย์มากที่สุด
โดยในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับของกระทรวงศึกษาธิการจะพยายามไม่ให้ไปกระทบระบบโครงสร้างมากจนเกินไป เพื่อไม่ให้ไปเดือดร้อนกับบุคลากรทางการศึกษา
ขณะที่นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่ระบุไว้ว่าต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้โรงเรียนมีอำนาจเป็นนิติบุคคล ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีการระบุไว้แล้วแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงทุกโรงเรียน
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งเป็นการกดทับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้องค์คณะบุคคลทุกระดับโดยเฉพาะสภาวิชาชีพครูกลายเป็นสภาขุนนาง เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพครูเป็นตัวแทนในการบริหารสภาแม้แต่คนเดียว
ส่วนการกระจายอำนาจในตอนนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่คอยกระจายอำนาจไปยังภูมิภาคได้ดีพอสมควร ฉะนั้นระบบโครงสร้างในปัจจุบันจึงถือว่ามีความเหมาะสมและไม่ควรถูกเปลี่ยนเป็นระบบโครงสร้างแบบซิงเกิลคอมมานด์
ฟังทั้งสองคนแล้ว กลับมาส่องเนื้อในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง 660/2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการยึดเป็นฉบับหลักของรัฐบาล เขียนเรื่องโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการไว้ในมาตรา 106 ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีเอกภาพและสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามพระราชบัญญัตินี้
“ทั้งนี้ในการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
ข้อความ 2 วรรคท้าย นี่แหละครับมีนัยสำคัญ สะท้อนเจตนารมณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของแท่งต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ จากต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นโครงสร้างแบบซิงเกิลคอมมานด์์ผ่านปลัดกระทรวง
ทั้งๆ ที่ร่าง กม.แม่เขียนไว้ชัด “ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
กฎหมายแม่ยังมีสภาพลูกผี ลูกคน ไม่รู้จะออกมาอย่างไร เมื่อไหร่ กระทรวงศึกษาธิการทำการบ้านออกแบบโครงสร้างการบริหารฯล่วงหน้าไว้แล้ว ใส่ในกฎหมายหลัก ไม่ต้องรอกฎหมายรองหรือกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการฯ ให้เสียเวลา
ดังจะพบในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการฉบับที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลเศรษฐา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 หมวดที่ 5 ส่วนที่ 2 การบริหารและการจัดการศึกษาในราชการส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่การศึกษา
มาตรา 46 การบริหารราชการและการจัดการศึกษาในราชการส่วนภูมิภาคให้ยึดเขตจังหวัด
มาตรา 47 ในแต่ละจังหวัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและกรรมการอื่นๆ ทั้งนี้ องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 49 จังหวัดหนึ่งอาจกำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาได้ตามที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนการบริหารงานและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตจังหวัด
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาจเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อกระจายอำนาจการบริหารงานและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงระดับและประเภทของการศึกษา จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรม ขนาดและลักษณะของพื้นที่ในจังหวัด จำนวนนักเรียนและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย”
ที่น่าเอะใจ ข้อความในมาตรา 46 47 48 49 ตามร่างของกระทรวงศึกษาธิการข้างต้น มาปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เหมือนกันทุกตัวอักษร
ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาต่อไป ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับล่าสุดที่กระทรวงศึกษาธิการและคณะรัฐมนตรีจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ยังมีข้อความมาตราเหล่านี้อยู่อีกหรือไม่
ตรงนี้แหละครับ จะเป็นระเบิดเวลา เป็นสายล่อฟ้า ส่งผลให้การร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เกิดแรงกระเพื่อมจนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เข็นออกมาไม่สำเร็จ อีกหรือไม่
เพราะบทบัญญัติที่เขียนไว้นี้ เท่ากับ ต่อไปเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ต้องเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้จังหวัด (กศจ.) และ (ศธจ.) นั่นเอง