ประชาธิปไตยในความเรียบง่ายและซับซ้อน
เพื่อนคนหนึ่งส่งบทความของพลเอกเจิดวุธ คราประยูรมาให้อ่านทาง Line ชื่อของบทความคือ “การประยุกต์แนวคิด “อวิภาวะ” (Non-Duality Mindset) ในการเมือง การปกครอง การจัดการความขัดแย้ง และการพัฒนาประชาธิปไตย” ซึ่งจะขอนำมาอ้างอิงในบทความนี้โดยสังเขป บทความของพลเอกเจิดวุธ สอดคล้องกับบทความของพระไพศาล วิสาโล (สืบค้นจากเว็บไซต์ที่ https://budnet.org/a-world-that-cannot-be-seperated/) ชื่อ “โลกมิอาจแบ่งเป็นขั้ว” ทั้งสองบทความกล่าวถึงการปกครองแบบประชาธิปไตย เทียบกับการปกครองแบบเผด็จการหรือแบบเอกาธิปไตย แต่ก่อนอื่น ขอเกริ่นนำถึงประชาธิปไตยตามที่เขียนในหนังสือชื่อ “ประชาธิปไตย, สันติภาพ, การพัฒนา” โดยโยฮัน กัลตุงและพอล สก็อตต์ เพื่อเป็นฐานทางทฤษฎี
หนังสือดังกล่าวให้นิยามว่า “ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครอง (rule) ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ถูกปกครอง (the ruled) ตามกฎกติกา (rules) ที่ทำให้ผู้ปกครอง (the rulers) พร้อมรายงาน (accountable) ต่อผู้ถูกปกครอง”
กัลตุงระบุสาระสำคัญของประชาธิปไตยไว้ 3 ประการ
1) การปกครองโดยการยินยอมของผู้ถูกปกครอง (ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว)
2) การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี ด้วยวิธีการสานเสวนา (dialogue) การเจรจา และการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ใช้วิธีการครอบงำที่ผู้ชนะจะได้ประโยชน์ทั้งหมด
3) สังคมที่ทุกคนได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Human Needs) และมีหลักประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (Basic Human Rights) กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป้าหมายปลายทางของกระบวนการประชาธิปไตยมิใช่สังคมไร้ชนชั้น มิใช่สังคมไร้ความเหลื่อมล้ำ หากเป็นสังคมที่ระดับความพึงพอใจในด้านความต้องการขั้นพื้นฐานนั้นสูงพอที่จะให้ทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
เมื่อคำนึงถึงสาระสำคัญดังกล่าว ประชาธิปไตยจึงหมายรวมถึงสันติภาพและสันติวิธี, สิทธิมนุษยชน, และการพัฒนาที่ใช้ความต้องการของมนุษย์เป็นพื้นฐาน เพื่อยกระดับการสร้างสรรค์ของมนุษย์ให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับพลเอกเจิดวุธและพระไพศาล กัลตุงไม่ยึดติดกับการแบ่งเป็นสองขั้ว คือขั้วประชาธิปไตยกับขั้วเอกาธิปไตย (อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว) เขาตั้งคำถาม เช่น
– นอกจากทั้งสองขั้วนี้แล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกไหม เช่น คณาธิปไตย, อนาธิปไตย (anarchy)
– เป็นไปได้ไหมที่จะมีการปกครองกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเอกาธิปไตย
– ประชาธิปไตย / เอกาธิปไตย มีความเข้มข้นในระดับต่าง ๆ กันไหม
แล้วกัลตุงก็ออกความเห็นว่า แม้ทั้งประชาธิปไตยและเอกาธิปไตยเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันมาก แต่ทั้งสองรูปแบบต่างก็ปฏิเสธอนาธิปไตย ในระหว่างกลาง อาจมีประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ไม่สมบูรณ์ มีการปกครองในระบอบรัฐสภาซึ่งอาจเป็นประชาธิปไตยมากหน่อยถ้าเปิดกว้างและเที่ยงธรรม หรือน้อยหน่อยถ้ามีกลุ่มบุคคลที่ใช้ประโยชน์จากระบบและยึดครองอำนาจนาน ๆ แบบคณาธิปไตย อีกทั้งยังมีการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนรูปแบบที่ให้อำนาจแก่ประชาชนมากกว่าคือประชาธิปไตยทางตรง อีกรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นในทางปฏิบัติคือการผสมผสานระหว่างเอกาธิปไตยและคณาธิปไตย หรือการเลื่อนไหลไปมาระหว่างผู้นำสูงสุดและชนชั้นผู้นำทางการเมือง บางทีก็มีรูปแบบการครอบงำโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว
รูปแบบที่ย้อนแย้งคือธรรมาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่บุคคลซึ่งประชาชนไว้วางใจและเลื่อมใสศรัทธาว่าใช้อำนาจตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประชาชน ในกรณีนี้ กัลตุงยกตัวอย่างของเซอร์ เชอร์ชิลระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นายอึนกรูมาห์ (Nkrumah) ผู้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมและนำพาประเทศกานาสู่เอกราช และนายเนลสัน แมนเดลา ผู้ต่อสู้กับระบบเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดี การเป็นขวัญใจที่ประชาชนศรัทธาอาจไม่ยั่งยืน ดังตัวอย่างการแพ้การเลือกตั้งหลังสงครามของเซอร์ เชอร์ชิล และการถูกรัฐประหารของอึนกรูมาห์ ส่วนแมนเดลาคงความศรัทธาไว้ได้เพราะรู้จักพอต่ออำนาจเมื่อถึงเวลา
สรุปได้ว่า การปกครองมีหลายรูปแบบ การแบ่งขั้วเป็นประชาธิปไตยกับเอกาธิปไตย (เผด็จการโดยมีคนคนหนึ่งเป็นจ่าฝูง) ก็แบ่งได้ แต่ถ้าไม่แบ่งขั้วแบบตายตัว ไม่แบ่งเขา-แบ่งเราแบบด่วนตัดสิน เห็นความดีของเขาบ้าง แม้เราจะมีเสรีภาพเลือกชอบอะไรก็ตาม แต่อย่าทำร้ายผู้อื่น รูปแบบทำนองนี้จะพอไปได้ไหม
ถึงตอนนี้จะขอนำคำกล่าวของพระไพศาลมาอ้างบ้าง พระไพศาลเขียนว่า
“คนเรามักมองโลกโดยแยกความจริงออกเป็นคู่ ๆ หรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่น ความดีกับความชั่ว สุขกับทุกข์ ความสำเร็จกับความล้มเหลว ชีวิตกับความตาย มนุษย์กับธรรมชาติ ฯลฯ พร้อมกันนั้นก็แยกแต่ละคู่ออกเป็นส่วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น แยกความดีออกจากความชั่ว โดยมีนัยยะว่าชอบสิ่งหนึ่ง และปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง
ทัศนะการมองดังกล่าวเรียกว่า ทวิภาวะ ในทางตรงข้ามทัศนะที่ปฏิเสธการมองแบบแยกเป็นขั้ว ๆ เรียกว่า อทวิภาวะ (non-dualism) อทวิภาวะมองว่าโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรมไม่อาจแยกจากกันได้ ต่างพึ่งพิงอาศัยกัน ความดีนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความชั่ว ความดีนั้นเรารับรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีความชั่วเป็นตัวเทียบเคียง เงามืดเกิดขึ้นเมื่อมีแสงสว่าง เราไม่สามารถเลือกสิ่งหนึ่งโดยปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งสองสิ่งเปรียบเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ปรารถนาความสุขก็ย่อมต้องครุ่นคิดกังวลถึงความทุกข์ และเมื่อประสบความสำเร็จก็ต้องเตรียมใจพบกับความล้มเหลว
พุทธศาสนานั้นมองโลกอย่างเป็นอทวิภาวะตามหลักอิทัปปัจจยตา โดยเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันเป็นสหสัมพันธ์ ไม่มีอะไรแยกขาดจากกันเป็นขั้วหรือเป็นคู่ ๆ ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า ‘แสงสว่างต้องอาศัยความมืดจึงปรากฏ ความงามต้องอาศัยความไม่งามจึงปรากฏ’ นอกจากจะอิงอาศัยกันแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันยังปรากฏอยู่ด้วยกัน พุทธพจน์ตอนหนึ่งมีความว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต’
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียว หาได้แยกแยะเป็นส่วน ๆ ออกจากกันไม่”
คำกล่าวของพระไพศาลข้างต้น อาจมองได้ว่าเป็นโลกทัศน์หรือความเชื่อระดับปัจเจก แต่พระไพศาลยังกล่าวถึงความทุกข์ระดับมหภาคด้วย โดยกล่าวว่า
“ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า การมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจนนั้น ได้สร้างความทุกข์ทรมานและโศกนาฏกรรมแก่มนุษยชาติมานับครั้งไม่ถ้วน อาชญากรรมของฮิตเลอร์ สตาลิน และพอลพต ล้วนเกิดขึ้นจากการมองคู่กรณี (ยิวและชนชั้นกลาง) ว่าเป็นตัวชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดไปจากโลก แต่แล้วความรุนแรงที่คนทั้งสามใช้กลับทำให้เขากลายเป็นคนชั่วร้ายยิ่งกว่าคนที่เขาต้องการกำจัดเสียอีก อุสมา บิน ลาเดนและจอร์จ บุช เป็นตัวอย่างล่าสุดของการสร้างความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์เพราะมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจน
ความรุนแรงนอกจากจะขจัดความชั่วร้ายออกไปไม่ได้แล้ว ในที่สุดยังกลับเพิ่มคนชั่วร้ายให้มีมากขึ้น แทนที่จะลดลง คนชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้นนั้นได้แก่บุคคลที่ใช้ความรุนแรงกระทำแก่ผู้อื่น (แม้จะเพื่อพิทักษ์ความดีก็ตาม) และบุคคลที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งเกิดความเคียดแค้นชิงชังและหันไปหาความรุนแรงที่เข้มข้นกว่าเพื่อตอบโต้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรตั้งมั่นอยู่ในหลักการสันติวิธีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ความคิดตรงนี้ได้กลับมาตรงกับของกัลตุงที่ว่า สาระสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยคือการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แต่ถ้าจะให้ตรงกับการประยุกต์แนวคิดเรื่อง “อทวิภาวะ” กับประชาธิปไตย จะขออ้างบทความของพลเอกเจิดวุธ ดังนี้
1) การเมือง:ก้าวข้ามความคิดแบบแบ่งฝ่าย หรือแบบทวิภาวะ เช่น
– พรรคของฉันถูก ฝ่ายตรงข้ามผิด
– นโยบายนี้ดี แต่นโยบายนั้นแย่
– เราต้องชนะ และพวกเขาต้องแพ้
และหันมาใช้แนวทางอทวิภาวะ เช่น
– การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของความถูกต้องแบบสมบูรณ์ แต่เป็นเรื่องของการปรับสมดุลความต้องการที่แตกต่างกันในบริบทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
– แทนที่จะมองว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นศัตรู ให้มองว่าพวกเขาเป็นมุมมองทางเลือกที่สามารถช่วยเปิดเผยช่องโหว่หรือจุดอ่อนของนโยบายที่มีอยู่
– แทนที่จะยึดติดกับเกมอำนาจแบบแพ้-ชนะ ควรใช้แนวทางการเจรจาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน (win-win solutions) ซึ่งเปิดโอกาสให้นโยบายสามารถพัฒนาไปตามกระบวนการสนทนาอย่างต่อเนื่อง
– แทนที่จะมองว่าการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี และการแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่ดี (หรือในทางกลับกัน) ผู้กำหนดนโยบายควรวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และผลกระทบระยะยาวโดยปราศจากอคติทางอุดมการณ์ เพื่อหาทางออกที่สมดุลระหว่างกลไกตลาดกับการคุ้มครองทางสังคม
2) การพัฒนาประชาธิปไตย: ก้าวข้ามการถกเถียงระหว่าง “ตะวันตก vs. ตะวันออก”
แนวคิดแบบทวิภาวะมีดังนี้
– ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ดี เผด็จการคือสิ่งที่เลวร้าย
– รูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นโมเดลที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว
– ประชาธิปไตยถูกกำหนดโดยการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
แนวทางอทวิภาวะมีดังนี้
– ประชาธิปไตยเป็น กระบวนการ ไม่ใช่ระบบที่ตายตัว—มันต้องพัฒนาไปตามบริบททางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ
– แทนที่จะพยายามบังคับใช้รูปแบบประชาธิปไตยตะวันตก การพัฒนาประชาธิปไตยควรมุ่งเน้นไปที่หลักการพื้นฐาน เช่น การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความครอบคลุม และปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละสังคม
– ไม่ใช่เรื่องของ “การเลือกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ” แต่เป็นการสำรวจโมเดลแบบผสมที่ช่วยให้เกิดการปกครองแบบมีส่วนร่วมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
– แทนที่จะมองว่า “รูปแบบการปกครองของสิงคโปร์” ไม่เป็นประชาธิปไตย มุมมองอทวิภาวะจะวิเคราะห์ว่า “สิงคโปร์สร้างสมดุลระหว่างความสามารถทางเทคนิค (technocracy) คุณธรรม (meritocracy) และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร และบทเรียนอะไรที่สามารถนำไปใช้กับบริบทอื่น ๆ ได้”
3) ข้อสรุปคือการให้ความสำคัญแก่บริบทมากกว่าอุดมการณ์: แบบแผนที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับ เวลา สถานที่ และประชาชน ควรแสวงหาสมดุลแทนการยึดมั่นในแนวคิดสุดโต่ง: การบูรณาการมุมมองที่หลากหลายทำให้เกิดความมั่นคงและความก้าวหน้า
แม้ว่าผมจะเห็นด้วยกับแนวคิด “อทวิภาวะ” แต่ก็คิดว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและย้อนแย้ง การนำแนวคิดอทวิภาวะมาประชันกับแนวคิดทวิภาวะ ก็เป็นการมองแบบทวิภาวะแบบหนึ่ง การประชันความสมดุลกับแนวคิดสุดโต่งยังเป็นการแบ่งเป็นสองใช่หรือไม่ พระไพศาลได้กล่าวถึงหลักตามหลักอิทัปปัจจยตา ที่มองว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันเป็นสหสัมพันธ์ ไม่มีอะไรแยกขาดจากกันเป็นขั้วหรือเป็นคู่ ๆ ได้
ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนมากกว่าผู้นำ และโดยหลักแล้ว ผู้นำที่มาจากประชาชนมีความเป็นไปได้ที่จะทำเพื่อประชาชนมากกว่าผู้นำที่ใช้กำลัง หรือใช้ยุทธวิธีทางกฎหมายเข้ายึดอำนาจ แม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่การเข้าสู่อำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ได้รับการยินยอมของประชาชนย่อมไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แม้ในบางบริบทจะอ้างว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าในการทำงานเพื่อประชาชนก็ตาม อย่างไรก็ดี บทความของนายทหารยศพลเอก ที่ตั้งปุจฉาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเผด็จการ เป็นบทความที่ดี และเป็นประโยชน์แก่การวิสัชนาร่วมกันต่อไป
มีคำกล่าวว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อเอดการ์ มอแร็งได้วิเคราะห์ความซับซ้อน และกล่าวถึงวิกฤตซ้อนวิกฤต (polycrisis) ในหนังสือชื่อ “โลก – ปิตุภูมิ” ที่ตีพิมพ์ในปี 2536 ที่เขาบรรยายถึงสถานการณ์ซับซ้อนที่วิกฤตหลายวิกฤตเกิดขึ้นพร้อมกัน เชื่อมโยงกัน ลู่เข้าหากัน และเสริมแรงกัน จนเกิดเป็นสภาพการณ์ที่ยากแก่การบริหารจัดการและแก้ไข ตัวอย่างวิกฤตที่เรากำลังเผชิญมี อาทิ ภาวะโลกร้อนรวมทั้งความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ, มลภาวะ เช่น ไมโครพลาสติก ฝุ่นจิ๋ว, การทำสงครามโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ, ภัยจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์, ภัยจากโรคระบาด, ผลการเปลี่ยนแปลงของขั้วอิทธิพลของโลกที่คาดเดายาก จากการมีหนึ่งขั้วหลังสงครามเย็นมาเป็นหลายขั้วที่ทำสงครามการค้าระหว่างกัน ฯลฯ
ในปี 2530 วิทยาลัยการสงครามของสหรัฐ ฯ ได้คาดการณ์การสิ้นสุดของสงครามเย็นไว้ล่วงหน้าสักสองปี และได้พรรณนาสภาพการณ์ที่คาดเดายากของโลกว่าจะมีลักษณะ Volatile (ผันผวน), Uncertain (ไม่แน่นอน), Complex (ซับซ้อน), และ Ambiguous (คลุมเครือ) ซึ่งมีตัวย่อว่า VUCA แต่กว่าแนวคิดเรื่อง VUCA จะได้รับการถกแถลงอย่างจริงจังก็ในราวปี 2545 ต่อมาหลังการระบาดของโรคโควิด – 19 นักพฤติกรรมศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ ชาแมส์ กัสสิโอ ได้เสนอคำใหม่ในการพรรณนาสภาพการณ์ของโลกว่ามีลักษณะ Brittle (เปราะบาง), Anxious (น่าวิตกกังวล), Nonlinear (ไม่เชิงเส้น หรือ ผลไม่เป็นสัดส่วนกับเหตุ), และ Incomprehensible (เข้าใจไม่ได้) ซึ่งมีตัวย่อว่า BANI
มีการวิเคราะห์ว่า VUCA กับ BANI มีความเหมือนกันและต่างกันอย่างไร แต่ผมถูกใจกับคำว่า VUCA มากกว่า แล้วก็ลองตั้งคำถามว่าจะทำใจหรือรับมือกับสภาพการณ์ VUCA อย่างไร โดยเฉพาะในมุมมองของอทวิภาวะ
คำว่า Volatile ที่มีคนแปลว่าผันผวนนั้น ในแง่ของชีวทัศน์หรือในแง่คำสอนของพุทธศาสนามหายานนั้น อาจแปลว่า “ชีวิตเหมือนฝัน” ขอยืมคติธรรมการฝึกจิต (โลจอง) มาประกอบคำอธิบายคำว่าเหมือนฝันดังนี้
คติธรรมข้อสองของโลจองคือ “ให้คำนึงว่าธรรมทั้งมวลเป็นเหมือนความฝัน” ขยายความได้ว่า ธรรมหรือประสบการณ์ชีวิตไม่ว่าจะเป็น ความเจ็บปวด, ความสบาย, ความสุข, ความเศร้า, ความหยาบ, ความประณีต, ความนุ่มนวล, ความกระด้าง, ความร้อน, ความเย็น, ฯลฯ ล้วนเป็นความทรงจำโดยแท้ ธรรมเหล่านี้เป็นเหมือนฝัน ไม่มีตัวตนถาวร ไม่มีธรรมชาติที่เป็นตัวตน ไม่มีอยู่ด้วยตัวเอง (ไม่มีสภาวะ) ไม่มีแก่นสาร หากเป็นเหมือนฝัน ภาพลวงตา มายาภาพ เสียงสะท้อน หรือเงาในน้ำ
เมื่อมองเช่นนี้ เราจึงสามารถมีความสัมพันธ์และรู้สึกถึงความรักและความกรุณา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อโลกถูกมองแยกจากธรรมชาติพุทธะ มันก็เป็นโลกมายา แต่ถ้ามองมันในฐานะด้านหนึ่งของธรรมชาติพุทธะ มันก็จะบริสุทธิ์ โลกเป็นเหมือนฝันเช่นนั้นเอง แม้เราจะวิเคราะห์และแบ่งโลกเป็นสอง เป็นสาม เป็นหลาย ๆ ขั้ว หลาย ๆ ฝ่าย แต่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง และมีธรรมชาติเหมือนฝัน ไม่มีอะไรให้ยึดติด
คำว่า Uncertain ที่แปลว่าไม่แน่นอน อาจตรงกับคำว่า “ไม่เที่ยง”, เป็นอนิจจัง ตามคำสอนของพุทธศาสนานั่นเอง ถ้าจะแบ่งเขา – แบ่งเรา ก็ขอให้ถือหรือยอมรับว่าการแบ่งนั้นไม่เที่ยง ถ้ามีอุปาทานยึดมั่นก็จะเป็นทุกข์ ถ้านักวิชาการเขาบอกว่าโลกภายภาคหน้าไม่แน่นอน เราก็ต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่ไม่นอนนั้น โดยไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น โดยช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรเพราะไม่ต้องการขูดรีดธรรมชาติ เป็นต้น
คำว่า Complex หรือซับซ้อนนั้นน่าสนใจ เรามีจุดอ่อนตรงที่ต้องการความเรียบง่าย นี่เองเป็นเหตุให้เรานิยมใช้วิธีลดทอนนิยม (reductionist) ซึ่งทวิภาวะนิยมเป็นหนึ่งในวิธีการนี้ เมื่อเผชิญความซับซ้อน เราชอบคิดแบบเรียบง่าย คือตัดสินเลยว่าใครถูก-ใครผิด เราชอบประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ, ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการกระจายอำนาจ – ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นการรวมศูนย์อำนาจ, ผู้เห็นต่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือผู้ร้ายฝ่ายความมั่นคงคือผู้ดี ฯลฯ แต่ความเรียบง่ายเช่นนี้ไม่ค่อยมีค่า แถมบ่อยครั้งจะอันตรายหรือทำให้ติดอยู่ในกับดักความรุนแรงที่ยืดเยื้อ จอห์น พอล เลเดอรัค นักแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งเสนอว่า ความเรียบง่ายที่ไปไกลกว่าการลดทอนแบบทวิภาวะน่าจะได้แก่ การให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์, การใฝ่รู้อย่างย้อนแย้ง, การสร้างสรรค์, และการยอมรับความเสี่ยง ส่วนกัลตุงเสนอสาระสำคัญของประชาธิปไตยว่ามีทั้งการเลือกตั้ง, การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี, และการมีหลักประกันด้านความจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำและด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน สรุปคือเรากำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตซึ่งซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้สติ, สัมปชัญญะ, ธรรมวิจยะ, และศาสตร์ร่วมสมัย เพื่อมองไปยังอีกด้านหนึ่งของความซับซ้อนและแลเห็นความเรียบง่ายอันเป็นสาระสำคัญ
คำสุดท้ายคือ Ambiguous หรือคลุมเครือ คำคำนี้ชวนให้ผมนึกไปถึงหนังสือของซีโมน เดอ โบวัวร์ ชื่อ “แด่จริยธรรมแห่งความคลุมเครือ” เนื้อหาของหนังสือบ่งบอกว่าเราหนีความคลุมเครือไปไม่พ้น เราถูก “ลงโทษ” ให้มีเสรีภาพ และตกอยู่ในสภาพที่ต้องเลือกอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตคือการเลือกชอบ แต่บางคนพยายามหลีกหนี พยายามปฏิเสธเสรีภาพและความรับผิดชอบอย่างไม่เป็นผล บางคนมอมเมาตัวเอง บางคนเฮโลสาระพาตามกระแส บางคนนิยมใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าเพื่อจะลืมสภาพของตนเอง บางคนติดอยู่กับตำแหน่งและชมชอบการใช้อำนาจหน้าที่จนชีวิตหลังเกษียณอายุกลับว่างเปล่า ฯลฯ จริยธรรมที่ซีโมนเสนอไม่ได้เขียนไว้เป็นข้อ ๆ อย่างตายตัว จะมีเพียงข้อแนะนำ เช่น ความรับผิดชอบ, ความเสมอต้นเสมอปลาย, การเคารพเสรีภาพของตนเช่นเดียวกับของผู้อื่น, การยอมรับว่าการเลือกชอบใด ๆ มีความเสี่ยงว่าจะเลือกผิดได้เสมอ ฯลฯ ขอเพิ่มจริยธรรมทางศาสนาที่เป็นหลักสักข้อหนึ่ง นั่นคือ ความรัก – ความกรุณาที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมพอมีคติประมาณนี้เพื่อที่จะเผชิญกับโลก VUCA และขอสรุปความเห็นของผมว่า ขอเลือกชอบประชาธิปไตยในความเรียบง่าย ขอทำใจให้เปิดกว้างต่อความแตกต่างและความเหมือนกันที่มีอยู่รอบตัวเรา
โคทม อารียา