การศึกษาเท่าเทียม (1)

การศึกษาเท่าเทียม (1)

การศึกษาเท่าเทียม (1)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อม ส.ส.ยื่นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. …ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เขียนหลักการในการบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ 3 ข้อ คือ

1.ให้สถานศึกษาและกระทรวงสามารถจัดการการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ ตามปรัชญาการศึกษาทุกที่และทุกเวลา

2.ให้สถาบันการศึกษาเท่าเทียมรับผิดชอบในการจัดตั้งและดูแลธนาคารหน่วยกิต การสอบ เทียบ แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ การให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร การเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษา การรับรองและให้วุฒิบัตรทักษะ และแฟ้มสะสมผลการเรียนรู้

ADVERTISMENT

3.ให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาเท่าเทียมขึ้นมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และให้มีอำนาจในการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารหน่วยกิต การสอบเทียบ แพลตฟอร์ม การเรียนออนไลน์ การเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษา การให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร การรับรองและให้วุฒิบัตรทักษะ และแฟ้มสะสมผลการเรียนรู้ แทนกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ภายใต้เหตุผลสนับสนุนที่ว่าในปัจจุบันการจัดการการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันระหว่างการเรียนการสอนในเขตชนบทและเขตเมือง โดยผู้เรียนในเขตชนบทจะขาดแคลนทั้งครูที่มีคุณภาพ สถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนในเขตชนบทไม่สามารถแข่งขันกับผู้เรียนในเขตเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพเพราะเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกัน

ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อประเด็นดังนี้

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดหลักการในร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้มีการจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ไม่ว่าในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน (ร่างมาตรา 5)

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้สถานศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่นใดนอกสถานศึกษาได้ (ร่างมาตรา 7)

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีอำนาจตามมาตรา 8 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 8)

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งสถาบันการศึกษาเท่าเทียมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและองค์การมหาชน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 10)

5.ท่านเห็นว่า ในปัจจุบันระบบการศึกษาไทยประสบปัญหาด้านความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

6.ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและกลุ่มองค์กร บุคคล จะตอบรับร่วมแสดงความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร ต้องรอติดตามผลกันต่อไป ซึ่งสภาต้องเปิดเผยออกมาให้มากที่สุด ใครเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลอะไร

นอกจากคำถาม 6 ข้อข้างต้นแล้ว ข้อชวนคิดอย่างยิ่งในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ อะไรคือสาเหตุแห่งความไม่เท่าเทียม ใครเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม

ที่สำคัญคือ เจตนารมณ์ที่เขียนไว้เพื่อให้การจัดบริการทางการศึกษาเกิดความเท่าเทียม จะเป็นจริงไปได้หรือไม่ แค่ไหน

หรือเพียงแค่ว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสลงได้บ้าง ก็นับว่าน่าเพียงพอแล้ว
และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ความคิดและความคาดหวังของแต่ละคน ละครับ

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมขอเป็นหนึ่งในข้อคำถามที่มีต่อกฎหมายนี้สองประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก กระบวนการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภาจะดำเนินไปอย่างไร ประเด็นที่สอง เนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย กับผลในทางปฏิบัติ

ข้อแรก การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเที่ยมเกิดขึ้นระหว่าง ร่างกฎหมายหลักคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วหลายฉบับ ได้แก่ ฉบับของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน

ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับขององค์กรทางการศึกษาต่างๆ และฉบับของรัฐบาล ซึ่งกำลังรอมติคณะรัฐมนตรีที่จะเสนอต่อไปยังรัฐสภา

น่าสนใจที่ ผู้บริหารการศึกษาสูงสุดทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงศึกษาธิการ มาจากพรรคเดียวกัน เป็นพรรคเจ้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียมนั่นเอง

พรรคภูมิใจไทยและคณะรัฐมนตรีซึ่งหมายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จะจัดการกับกฎหมายการศึกษาทั้งสองฉบับนี้อย่างไร

จะนับว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายหลัก พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม เป็นกฎหมายประกอบหรือกฎหมายรอง แยกเป็นคนละฉบับ ต่างฝ่ายต่างเดินกันไป

หรือจะหลอมรวมสองฉบับเข้าด้วยกันและจะหลอมอย่างไร ถึงไม่เกิดสถานการณ์ พรรคไปทาง กระทรวงศึกษาไปทาง กระทรวงการอุดมศึกษาฯไปทาง คณะรัฐมนตรีไปอีกทาง

สุดท้ายแล้ว ที่ประชุมรัฐสภาจะเอาอย่างไร โดยที่การสร้างหน่วยงานใหม่กลายเป็นภาระกระทบต่อการบริหาร ทั้ง เงิน คน และงาน ส่งผลต่อการจัดการศึกษาซึ่งมีปัญหาน่าวิตกกังวลมากอยู่แล้ว

ประการที่สอง ความจำเป็นของการร่างกฎหมายฉบับนี้มีแค่ไหน เนื้อหาสาระของกฎหมายกับผลในทางปฏิบัติ จะเป็นอย่างไร ขอว่าต่อสัปดาห์หน้า