เหลียวมองเมียนมา
ข่าวสารจากเมียนมาที่เราได้รับในช่วงนี้มักจะเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น ดีเอสไอกำลังขอออกหมายจับ พล.ต. หม่องชิต ตู่ ผู้นำกองกำลังปกป้องชายแดน (Border Guard Forces BGF) ข้อหาค้ามนุษย์ โดยได้ส่งหลักฐานให้อัยการสูงสุดแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ทั้งนี้ ผอ. กองคดีการค้ามนุษย์ของดีเอสไอให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นขบวนการที่มีคนไทยเข้าร่วมด้วย และหลักฐานสามารถเอาผิด พล.ต. หม่องชิต ตู่ และพวกได้อย่างแน่นอน
ขอเริ่มบทความด้วยการเหลียวมองรัฐฉานที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียง ขออ้างถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ลงสกู๊ปข่าวในหัวข้อ “คนไทใหญ่ประกาศชัดไม่ใช่พม่า” (ดู https://www.thaipost.net/district-news/746827/) การประกาศเกิดขึ้นในเวทีเสวนา “รู้จักเพื่อนบ้านและเครือญาติของเรา” จัดที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผู้นำอาวุโสไทใหญ่ เจ้าคืนใส ใจเย็น กล่าวปาฐกถายืนยันว่า ชาว “รัฐฉาน” มีเชื้อสายไท พี่น้องฝั่งไทย-ฝั่งพม่ามีภาษาพูดในตระกูลไท-ไต ที่ใกล้เคียงกัน ถือเป็นเชื้อสายเดียวกัน
ก่อนที่เขตแดนรัฐชาติจะเกิดขึ้น ล้านนากับฉานใกล้ชิดกันมาโดยตลอด เจ้าคืนใสกล่าวว่า “พี่น้องเคยข้ามแดนข้ามภูเขาไปมา ไม่ต้องมีเอกสาร ไม่ต้องมีพาสปอร์ต มีการแต่งงานของเจ้าฟ้าทั้งสองฝั่ง มีคำกล่าวที่ว่า ตราบใดที่สายน้ำสาละวินยังคงไหลไม่เหือดแห้ง ตราบใดที่เขาควายยังโค้ง สองฝั่งก็ย่อมเป็นสายเครือญาติกัน สงครามไทย-พม่าตลอดมา 4 ครั้ง ไทใหญ่มีอุดมการณ์ร่วมกับไทยตลอดมา … แต่เมื่ออังกฤษเข้ามา ได้เอาสันปันน้ำบนภูเขาสูงเป็นเส้นแบ่งแยกประเทศ … สุดท้ายแล้วนั้นในการมองไปสู่อนาคต การอยู่รอดของประชาชนทั้งสองฝั่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
อาจารย์ศิรดา เขมานิฏฐาไท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมว่า ภายหลังรัฐประหารในปี 2564 การสู้รบในประเทศพม่ามีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานของประชาชนทั้งในรัฐฉานและพื้นที่ต่าง ๆ ของพม่า เราเห็นความขัดแย้งการเมืองเชิงชาติพันธุ์ในพม่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายจากส่วนกลางของพม่า ที่ละเมิดสิทธิมนุยชนและกดทับชาติพันธุ์ ทางการพม่าพยายามทำให้ทุกคนเป็นคนพม่าเหมือนเขาหมด ทำให้ชีวิตของทุกคนในพม่าได้รับผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลพม่าก็ไม่เคยได้ผล
เมื่อมองที่รัฐฉานจะเห็นถึงความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากเพราะมีหลากหลายชาติพันธุ์ในรัฐนี้ รวมทั้งความขัดแย้งในคนไทใหญ่ด้วยกันเอง มี 2 กองกำลังคือกองทัพรัฐฉานเหนือและใต้ อาจารย์ศิรดาเสนอว่า “ถ้าเราคิดถึงพม่าในอนาคต ฝ่ายต่อต้านมักนึกถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ … ต้องหาเวทีให้รัฐฉานคุยกันเองให้ได้ ทุกวันนี้ผลกระทบมาสู่ประชาชนไม่ใช่มาจากส่วนกลางเท่านั้น แต่เป็นการสู้รบในพื้นที่กันเองด้วย … รัฐฉานมีทรัพยากรมีค่ามากมายและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ดังนั้นผลประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ควรตกถึงประชาชน นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งยาเสพติด สแกมเมอร์และคาสิโน ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประชาชน”
หลังรัฐประหารในพม่าใหม่ ๆ สำนักข่าว The Opener ได้สัมภาษณ์ผู้นำรัฐฉานในด้านสันติภาพคนเดียวกันนี้ (ดู https://theopener.co.th/node/85) แม้เวลาได้ผ่านไปหลายปี แต่ความเห็นที่ตรงไปตรงมาของเขาน่าจะยังพอใช้ได้ จึงขอนำความบางส่วนมาเสนอในที่นี้ ข้อสรุปจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 คือ “ทั่วโลกได้เห็นว่า แม้เมียนมาจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีความขัดแย้งระหว่างกันมากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังออกมาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพเมียนยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาอย่างถูกต้องจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย … กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหาร ซึ่งเหตุผลก็ชัดเจนมาก นั่นคือ การรัฐประหารเป็นการ “ทำลายระบบ” และคนในเมียนมาส่วนใหญ่ต่างเบื่อทหารมาก ต่อให้ไม่พอใจการทำงานของพรรค NLD ของอองซาน ซูจีเพียงไหน ก็มีคนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่อาจเลือกพรรค USDP ของกองทัพเมียนมา
เหตุผลหลักของการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ กองทัพมองว่าประเทศมีเสรีภาพเร็วกว่าที่กองทัพคาดไว้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ อูเต็งเส่ง อดีตนายทหารเมียนมาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย และเมื่อประเทศไม่เดินไปตามแผนของกองทัพ กองทัพจึงต้องการดึงให้เมียนมากลับมาอยู่ในร่องในรอยที่กองทัพขีดเส้นไว้
กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการเจรจาภายใน และมีมติเมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า 1. เราไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพ 2. เราต้องการให้กองทัพปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด รวมทั้งนางอองซาน ซูจีและประธานาธิบดี 3. ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ เราสามารถเจรจากันได้ ซึ่งมีสุภาษิตพม่าเตือนใจว่า ‘แทนที่จะเจาะด้วยเข็ม กลับใช้สิ่วเจาะ” กลุ่มชาติพันธุ์พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้มีเรื่องปะทะกัน ขณะเดียวกัน เขาก็มีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนของตัวเองอยู่
การสู้รบระหว่างกองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ เขาสู้กันมาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491 แล้วกระบวนการเจรจาสันติภาพในยุคของเต็งเส่งและซูจีมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะท่าทีของกองทัพต่อการเจรจา ทางทหารพอใจประธานาธิบดีเต็งเส่งเพราะให้เกียรติเขา ดูง่าย ๆ เรื่องระบบสหพันธรัฐ ทีแรกกองทัพไม่เอาด้วย แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่งพยายามชี้แจงให้ฝ่ายกองทัพเข้าใจ ในที่สุด กองทัพก็ยอมรับ ผบ.สส. ก็ร่วมเซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศด้วย หลังจากนางอองซาน ซูจีมาเป็นรัฐบาล ไม่ได้ใช้ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ แม้นางเป็นประธานเอง และมีพลโทสองคน นางเองมีอะไรก็ต้องถามพลโทสองคนนี้ ซึ่งตัดสินเองไม่ได้ ก็ต้องไปถามลูกพี่ของเขา ถ้าลูกพี่ของเขาไม่เข้าใจ ก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่ลูกพี่ของเขาคิดว่านางไม่ให้เกียรติ
สรุปก็คือ ทั้งสองฝ่ายไม่ใกล้ชิดกัน กองทัพก็ว่ายังไงกูต้องชนะ ทางนางอองซานก็ว่าประชาชนอยู่กับฉัน ทั่วโลกก็อยู่กับฉัน ก็ไม่ยอม มันจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ไม่สามารถบอกได้”
หลังการรัฐประหารครั้งนี้ มีการสู้รบกันอย่างกว้างขวาง ระหว่างกองกำลัง 3 ฝ่าย คือกองทัพฝ่ายรัฐบาลหรือตะมะดอ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed organizations EAO)
ข่าวจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลฉายภาพความรุนแรงโดยแจงสถิติว่า ฝ่ายตนได้ควบคุมเมืองไว้ได้ 144 แห่ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมีเมืองที่อยู่ในความควบคุม 107 แห่ง ส่วนอีก 79 แห่งยังแย่งชิงกันไปมา มีพลเรือนเสียชีวิตแล้ว 6,224 ราย, มีนักโทษการเมือง 21,711 คน, มีการโจมตีทางอากาศ 3,292 ครั้ง บ้านเรือนถูกทหารเผา 101,596 หลัง, มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 370,000 คน, มีนักข่าวถูกสังหาร 12 ราย ถูกจำคุกอยู่ 43 คน
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลง GDP ในปี 2563 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 77.8 พันล้านดอลลาร์ มาถึงปี 2567 GDP ได้ลดลงเหลือ 64.3 พันล้านดอลลาร์, อัตราแลกเปลี่ยนในปี 2563 คือ 1$ = 1,350 จั๊ต ในปัจจุบันมีภาวะเงินเฟ้อ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน คือ 1$ = 4,500 จั๊ต, ราคาน้ำมันเพิ่มจาก 770 จั๊ต/ลิตร เป็น 3,200 จั๊ต/ลิตร, การจ่ายกระแสไฟฟ้าลดลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง เป็นต้น เพื่อนผมคนหนึ่งที่อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง เคยทำงานในบริษัทประกันภัยของสิงค์โปร์ พอเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีลูกค้าในย่างกุ้ง เลยต้องตกงาน หางานทำที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติสูงเกินเกณฑ์ วันหนึ่งเธอโทรมาบอกข่าวดีว่าเพื่อนที่สิงค์โปร์ชวนไปทำงานที่เวียงจันทน์ แต่ไป ๆ มา ๆ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เลยต้องตกงานต่อไป ดีกว่าเสี่ยงการถูกหลอกไปทำงานในคอลเซ็นเตอร์ที่ลาว
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 มีการประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ของเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยนายทหารระดับสูง รัฐบาลรายงานว่า ใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้บริสุทธิ์ 383 ราย และเจ้าหน้าที่ 516 รายเสียชีวิตด้วยน้ำมือของกองกำลังต่อต้านรัฐบาล (คือ PDF และ EAO) รัฐบาลตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ขณะเดียวกัน ฝ่ายทหารยืนยันว่าพร้อมรับและสนับสนุนการเจรจาสันติภาพเสมอ อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องรับมือกับความไม่สงบและต้องเตรียมการการเลือกตั้ง จึงถามความเห็นของที่ประชุมในเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารทุกฝ่ายยืนยันให้การสนับสนุนรัฐบาลและการต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สภาฯจึงมีมติต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 6 เดือน นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
ดูเหมือนว่าภายหลังรัฐประหาร รัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งยังคงรับรองข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 รัฐบาลแห่งสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ได้จัดการเฉลิมฉลองการครบรอบ 8 ปีของข้อตกลงดังกล่าว ปัจจุบันมีกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ กว่า 20 กลุ่มในเมียนมา ในจำนวนนี้ มี 10 กลุ่มที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง NCA กลุ่มที่ลงนามและอยู่ใกล้บ้านเรามี อาทิ 1) กองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA) (มีเจ้ายอดศึกเป็นหัวหน้า) 2) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) 3) องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) 4) กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) 5) สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) 6) พรรครัฐมอญใหม่
ผมเข้าใจว่าสาระสำคัญของข้อตกลงหยุดยิงคือ 1) การยอมรับเส้นควบคุม (Line of Control) ว่ากลุ่มไหนควบคุมพื้นที่ส่วนไหนและดูแลความมั่นคงตลอดจนปกครองพื้นที่ส่วนนั้น 2) กลุ่มต่าง ๆ รักษาอาวุธของตนไว้ และไม่มีการมอบอาวุธให้ฝ่ายรัฐบาล และ 3) ยอมรับการอยู่ร่วมกันเป็น Union หรือสหภาพเมียนมา ซึ่งต่อไปจะพัฒนาเป็นสหพันธรัฐ (Federal State)
มีข่าวอีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือข่าว “กองทัพพม่าจับชายหนุ่มพลเรือนมากกว่า 12,655 คนในรอบปีบังคับเป็นทหาร” (ดู https://transbordernews.in.th/home/?p=41485) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักข่าว Khit Thit Media รายงานว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีชายหนุ่มอายุ 18 – 35 ปี ถูกจับไปเป็นทหารจำนวน 12,655 คน ส่วนสื่อ Spring Revolution Database (SRD) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า มีคนหนุ่มสาวถูกจับในตอนกลางวันรวมทั้งสิ้น 11,497 คน และถูกจับในตอนกลางคืน 1,158 คน โดยพวกเขาจำนวนหนึ่งพยายามเข้าประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย แต่ลงเอยด้วยการถูกจับกุมและถูกส่งกลับให้แก่ทางการพม่า และถูกนำไปฝึกทหารในกองทัพพม่า
ข่าวนี้ทำให้ผมนึกถึงบทความ “นักบวช นักรบ นักฆ่า” ของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ดังนี้ ในราว ๆ ปี 2547 นิพัทธ์พรได้พบกับเจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังรัฐฉานใต้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นเจ้ายอดศึกได้ผ่านสนามรบมาอย่างโชกโชนร่วม 35 ปีแล้ว ด้วยการที่ยังไม่คุ้นเคยกัน นิพัทธ์พรต้องรวบรวมความกล้าเพื่อตั้งคำถามที่ละเอียดอ่อนถึงความแตกต่างระหว่างนักรบกับนักฆ่า คำตอบของเจ้ายอดศึกคือ นักรบกับนักฆ่าไม่เหมือนกัน นักฆ่าจะทำตามคำสั่งอย่างเดียว ไม่คิดอะไรมาก เขาให้ฆ่าก็ฆ่า ส่วนนักรบ “ต้องวางแผนให้มีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผลไม่รบ นักรบต้องคิดเรื่องการเมือง การทหาร การปกครอง เรื่องธุรกิจ เรารบเพราะอะไร ถ้าชนะแล้วจะทำอย่างไรต่อ จะปกครองอย่างไร จะบริหารอย่างไร”
คำถามต่อไปของนิพัทธ์พรคือ “แล้วเจ้าล่ะ เริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นนักรบตั้งแต่เมื่อไร” คำตอบคือ เมื่อเข้าสู่ชีวิตทหารตอนอายุได้ 17 ปี ยอมรับว่าเป็นนักฆ่า จนเมื่ออายุได้ 23 ปี ต้องรับหน้าที่คุมกำลังจึงเริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นนักรบ นิพัทธ์พรถามต่อว่า “ทหารสหรัฐฯหลังสงครามเวียดนามเป็นโรคจิตกันมาก ทหารไทใหญ่อยู่ในสนามรบมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เป็นโรคจิตบ้างหรือเปล่า” เจ้ายอดศึกตอบว่า “มันไม่เหมือนกัน ทหารสหรัฐฯไปรุกราน ไม่เต็มใจมารบ ฟังคำสั่งมารบ มาตายอย่างไม่มีค่า พวกเขาเป็นโรคจิตเพราะคิดมาก ชาวไทใหญ่รบด้วยความพอใจ ตายด้วยความพอใจ เพราะตายเพื่อชาติ พม่ามารุกรานประเทศเรา เราต้องป้องกันประเทศ เราไม่ได้ไปรบกับประเทศเขา แผ่นดินฉานเป็นบ้านเรา เราต้องป้องกันบ้านเรา … นักรบวางอุเบกขาได้เร็ว เป้าหมายของนักรบวางไว้เพื่อชาติบ้านเมืองอย่างเดียว … นักรบมีอุดมการณ์อย่างไร ก็จะมุ่งไปทางนั้น”
ผมพยายามอ่านคัมภีร์สำคัญชื่อ “ภควัทคีตา” หลายครั้ง ไม่ค่อยเข้าใจ มีข้อสงสัยโดยตลอดว่า ทำไมมหาบุรุษแห่งอหิงสธรรมอย่างมหาตมะคานธี จึงถือคัมภีร์เล่มนี้เป็นสรณะ ทั้ง ๆ ที่ เป็นคำสอนที่พระกฤษณะให้แก่อรชุนผู้ท้อแท้ว่าจะต้องฆ่าฟันหมู่ญาติที่ยกพลโยธาเข้าสู่ทุ่งกุรุเกษตร ด้วยกระหายการสู้รบกับฝ่ายอรชุน ผมคิดง่าย ๆ ว่าพระกฤษณะต้องการให้อรชุนฮึกเหิม ในการทำหน้าที่แห่งกษัตริยะ ด้วยอุดมการณ์นี้ เขาจึงจะเป็นนักรบ มิใช่นักฆ่า และการฆ่าแบบนักรบไม่ใช่การทำบาป แต่กระนั้น ผมยังคิดอยู่ว่า แม้จะมีคำสอนว่าทุกสิ่งล้วนว่างเปล่า และไม่แบ่งเป็นสอง เช่น ผิด-ถูก, ดี-ชั่ว ฯลฯ แต่ผมขอเลือกแนวทางสันติวิธีอยู่ดี คือยังขอแบ่งเป็นสองในระดับสมมติสัจจะ แม้ต้องสู้กับผู้รุกรานก็จะสู้ด้วยวิธีการไม่เข่นฆ่าเขา
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลพม่าจับกุมเยาวชนและบังคับให้มาเป็นทหาร เป็นทหารแบบนักฆ่าเพราะเขาถูกสั่งให้ทำ ต่างจากเยาวชนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นนักรบผู้มีอุดมการณ์ เชื่อว่าผลในระยะยาวคือ นักฆ่า แม้นมีจำนวนมากกว่า แต่ไม่มีใจเสียแล้ว ย่อมพ่ายแพ้อยู่ดี
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ผมไปงานประชุม/มหกรรมสุขภาวะทางปัญญา ที่เขามีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Soul Connect Fest (มีตัวเขียนตัวเล็ก ๆ เป็นภาษาไทยว่า “มหกรรมพบเพื่อนใจ”) งานนี้ สสส. จัดได้ดีมาก เหมือนเป็นตลาดนัดกิจกรรมจิตวิญญาณที่เปิดกว้าง ท่านพุทธทาสเคยเขียนว่า สมัยพุทธกาลมีสองโรคคือโรคทางกายและโรคทางวิญญาณ สมัยนั้นเขารวมโรคทางจิตไว้กับโรคทางกาย สมัยนี้ท่านพุทธทาสแบ่งโรคเป็นสามโรค คือโรคทางกาย โรคจิตที่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า และโรคทางจิตวิญญาณที่ต้องพึ่งพาคำสอนเพื่อพ้นทุกข์
ที่ห้องเวิร์กชอปห้องหนึ่งที่มีโอกาสแวะเข้าไป มีหัวข้อเรื่องว่า “ปฏิบัติการเติมใจเพื่อนเมียนมาท่ามกลางวิกฤตสงคราม” มีอาจารย์ชาญชัย ชัยสุขโกศลเป็นเจ้าภาพ ในเวลาสั้น ๆ ผมได้ฟังความทุกข์ของเพื่อนเมียนมาสองคน คนหนึ่งยืนหยัดต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลในประเทศของเขา และเล่าว่าได้สูญเสียเพื่อนร่วมทางในการต่อสู้ไปอย่างไร อีกคนหนึ่งมาอยู่เมืองไทย แต่ก็ห่วงและกังวลถึงเพื่อนที่กำลังเผชิญอันตรายถึงชีวิตมาตลอด ได้ฟังเพียงสั้น ๆ แต่ก็สะเทือนใจมาก เข้าใจว่าเป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต่อสู้กับฝ่ายทหารที่อ้างประชาธิปไตยเหมือนกัน
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาที่ห้องนี้ ผมได้เข้าไปที่ห้องละครและเสวนา “ศิลป์และจิตวิญญาณแห่งเพื่อนรักต่างศาสนาเพื่อสันติภาพ” ซึ่งมีอาจารย์พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นเจ้าภาพ ผู้แสดงละครเป็นคณะเด็กชื่อ “เพื่อนรักษ์จะนะ” แนวเรื่องคือ สงครามเป็นการตัดขาดมิตรภาพ สันติภาพเป็นการฟื้นฟูถักทอมิตรภาพให้แข็งแรง เพื่อจะได้ร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ผ่านจิตวิญญาณแห่ง เขา ป่า นา เล ผมประทับใจเด็ก ๆ ที่มาแสดง ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าสะเทือนใจกับการต่อสู้ถึงชีวิตในเมียนมาเป็นอย่างมาก
เหลียวมามองสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม มีรายงานการสู้รบที่ฐานปูลู่ตู่ อำเภอแลงปอย จังหวัดผาอัน ในรัฐกะเหรี่ยง ตรงกันข้ามกับตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 800 เมตร ฐานนี้เป็นที่มั่นของทหารเมียนมา ซึ่งใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีฝ่ายกะเหรี่ยงที่ใช้โดรนโจมตีฐานที่มั่น ทำให้มีชาวกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งข้ามแม่น้ำเมยมาฝั่งไทย โดยฝ่ายไทยได้จัดให้ทหารพรานและทหารหน่วยเฉพาะกิจเข้าตรึงกำลังไว้ … การสู้รบดำเนินต่อไป การลี้ภัยก็เช่นกัน
ส่วนคนในเมืองสแกมเมอร์ก็มีปัญหา เริ่มชัดเจนว่าไทยจะไม่รับชาวต่างชาติที่ยังค้างอยู่ในเมืองสแกมเมอร์เกือบ 7,000 คน เข้าประเทศ หากสถานทูตของชาวต่างชาตินั้น ๆ ไม่พร้อมรับ ขณะที่มีเสียงสะท้อนจากทางการไทยว่า ประเทศเอธิโอเปียและประเทศไนจีเรีย ติดต่อยาก และกระบวนการล่าช้า เพราะต้องหาญาติของผู้ที่ค้างอยู่ให้เจอ แล้วให้ญาติหาเงินมาจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน รัฐบาลประเทศปลายทางไม่มีงบประมาณจ่ายให้ ส่วนกองกำลังที่ควบคุมชาวเมืองสแกมเมอร์ก็ส่งเสียงว่า ไม่มีงบประมาณที่จะดูแลคนเกือบ 7,000 คน ถ้าไม่มีใครมารับไป อาจต้องปล่อยไปตามยถากรรม ทางเลือกหนึ่งคือส่งคนเหล่านี้ไปยังกรุงย่างกุ้ง ให้รัฐบาลเมียนมาช่วยเหลือ แต่รัฐบาลเขาคงอ้างว่าไม่มีงบประมาณอีกนั่นแหละ คาดว่ามีปัญหาต้องสะสางกันพอสมควร ไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยหรือรัฐบาลที่รุ่มรวยรัฐบาลใด จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้แค่ไหน สหรัฐฯที่เคยใจดีและเคยให้ความช่วยเหลือผ่านยูเซด ก็สั่งพักการช่วยเหลือไปแล้ว
ผมมีข้อเสนอสำหรับคนที่ทำอะไรไม่ได้ในทางกายภาพ นั่นคือพวกเราที่รู้จักการปฏิบัติทองเลนของทิเบตเพื่อผู้ที่ทุกข์ยากแสนสาหัส เมื่อเราหายใจเข้า ขอรับความทุกข์ของชาวเมียนมาและความทุกข์ของชาวเมืองสแกมเมอร์เข้ามา เมื่อหายใจออกขอส่งความสุขและความปรารถนาดีไปยังพวกเขา ขอให้ความทุกข์ยากจงปลาสนาการไป ขอให้มีความสุข ความสุขเถิด
โคทม อารียา