ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
ปัญหายูเครน บทเรียนไต้หวัน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทำเนียบขาว ได้เกิดเหตุการณ์แนวละคร เป็นเรื่องเหลือเชื่อ และอัศจรรย์ฉากหนึ่งคือ ละครการเมืองการทูต ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อบรมสั่งสอนประธานาธิบดีเซเลนสกี ซึ่งเป็นอาคันตุกะด้วยความโกรธ และได้ออกคำสั่งให้ขับเซเลนสกีออกจากทำเนียบขาวโดยพลัน
ก็เพราะทรัมป์ต้องการยุติสงครามยูเครนโดยด่วน แต่เซเลนสกีบอกว่ายังต้องยืดเยื้ออีกนาน ทรัมป์ก่นด่าเซเลนสกีแบบไม่ไว้หน้า อีกทั้งตำหนิว่าไม่สำนึกบุญคุณที่สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือ พฤติการณ์เป็นการลบหลู่ ลดเกียรติ อัปยศอดสู ในทางตรงกันข้าม ทรัมป์กลับไปเจริญไมตรีกับประธานาธิบดีปูติน
ก่อนหน้าที่เกิดละครการเมือง รัฐบาลไต้หวันเคยเปรียบเทียบไต้หวันเหมือนยูเครน อันมีสถานะการเมืองสากลระดับภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในระนาบเดียวกันกับยูเครน แต่วันนี้ยูเครนต้องกลายเป็นบุตรที่ถูกทอดทิ้ง
รัฐบาลไต้หวันควรต้องพินิจให้ดี การที่ชะตาชีวิตของภูมิภาคหนึ่งจะต้องไปฝากไว้กับอีกประเทศหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์นั้น คำว่าปลอดภัยเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานที่ไม่มั่นคง หากไต้หวันยังหลงใหลได้ปลื้มกับประเด็น “เกาะสหรัฐต้านจีน” ในที่สุด อาจต้องเจริญรอยตามเซเลนสกี
การเยือนสหรัฐของเซเลนสกีครั้งนี้ วัตถุประสงค์คือยอมจำนนการทำสงครามและทำสัญญาเกี่ยวกับธุรกิจแร่หายาก อีกทั้งร่วมกับสหรัฐก่อตั้งมูลนิธิร่วมการบริหาร แต่ก็ต้องล้มเหลว เพราะเหตุการณ์ละครอัศจรรย์
อดีต เซเลนสกีมีอาชีพเป็นดาราตลก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นนักการเมืองที่ต้องเล่นบทเศร้า
ความจริงเขาต้องการสนทนากับทรัมป์อย่างสันติ เพื่อรักษาหน้าตา กลับถูกฉีกหน้าทำลายศักดิ์ศรี
ก่อนเกิดเหตุเพียง 1 เดือน เซเลนสกีคือวีรบุรุษต่อต้านการบุกรุก แต่วันนี้ถูกกล่าวหาชนิดตีแสกหน้า “เป็นผู้นำที่นำสงครามโลกครั้งที่สามมาเป็นเดิมพัน” กลายเป็นรายการสุดยอดของโทรทัศน์
ย้อนกลับอดีตเมื่อเริ่มเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้เกิดวลี “วันนี้ยูเครน พรุ่งนี้ไต้หวัน” บัดนี้วลีดังกล่าวได้ลอยไปกับสายลม แต่ในไต้หวัน พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายค้านเห็นว่าสันติวิธีคือรากฐานไปสู่ความมั่นคง การที่จะไปแตะเส้นแดง ความเสื่อมจะต้องมาเยือน ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ทำการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับ “เกาะสหรัฐต้านจีน” และยืนยันว่าชะตาชีวิตต้องฝากไว้กับรัฐบาลอเมริกัน
หากกล่าวกับไต้หวัน วลี “วันนี้ยูเครน พรุ่งนี้ไต้หวัน” เป็นข้อเตือนใจ เพราะการที่สหรัฐสนับสนุนนั้น ล้วนเป็นการช่วยเหลือที่มีเงื่อนไข หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านผลประโยชน์ “หมาก” บนกระดานสามารถสละได้ทุกตัวและทุกเมื่อ จึงเป็นความกังวลของรัฐบาลไต้หวัน เมื่อ 3 ปีก่อนถือว่าสงครามยูเครนคือ “แบบอย่างการต่อต้าน” แต่วันนี้กลายเป็นบทเรียนในทางตรงกันข้าม
ไต้หวันพึ่งพิงสหรัฐโดยการ “เล่นไพ่ต้านจีน” วลีการเตรียมรบกลายเป็นเมโลดี้หลักในการแก้ไขปัญหาสองฝั่งช่องแคบ “ไล่ ชิงเต๋อ” ผู้นำไต้หวันประกาศจะเพิ่มงบประมาณกลาโหม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ไม่เอาจีน” ส่วนจีนก็ได้เพิ่มกำลังพลอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกัน กำลังทหารของสองฝั่งทิ้งกันชนิดมองไม่เห็นฝุ่น ส่วนสหรัฐก็ได้เรียกร้องให้ไต้หวันเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ แต่ก็มิได้ยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่ไต้หวัน ที่สุดแล้ว จะเป็นการธำรงผลประโยชน์แห่งความปลอดภัยของไต้หวัน หรือเพื่อผลประโยชน์ของพ่อค้าอาวุธสหรัฐ ย่อมเป็นประจักษ์ในบริบท
หากไต้หวันไม่ให้ความสนใจกับประเด็นถูกทอดทิ้งของยูเครน และหลงระเริงว่าสหรัฐยังพึ่งได้ ก็พอจะอนุมานได้ว่า ความเสื่อมต้องมาเยือน และอาจหนักกว่ายูเครน