ผู้เขียน | ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
---|
ชุดข้อมูลบรรเทาภัยพิบัติน้ำท่วม จาก มิตรเอิร์ธ (mitrearth)
มิตรเอิร์ธ (mitrearth) คือชื่อของแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลก ธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์และธรณีโบราณคดี ที่เผยแพร่สู่สาธารณะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.mitrearth.org และ www.facebook.com/mitrearth โดยมีเจตนาดีเดียว คือต้องการที่จะยืนอยู่อย่างมิตร คอยเป็นเพื่อนคู่คิด เคียงข้างไปกับทุกคนที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับโลกในมุมกายภาพ ด้วยเจตนารมณ์อย่างที่ว่า มิตรเอิร์ธจะคอยสนับสนุนก้อนความรู้ดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อการเรียน-การสอน สำหรับน้องๆ หนูๆ นักเรียนและคุณครู คอยส่งต่อคลังข้อมูลภูมิประเทศ เพื่อสนับสนุนการสำรวจและศึกษาวิจัยในเชิงพื้นที่ รวมไปถึงชุดข้อมูลภูมิศาสตร์ เพื่อช่วยในการวางแผนตั้งรับและบรรเทาความรุนแรงของธรณีพิบัติภัย ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอุทกภัยหรือพิบัติภัยจากน้ำท่วมก็คือหนึ่งในนั้น
จากห้วงเวลาของภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในช่วงปลายปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา มิตรเอิร์ธได้มีโอกาสสนับสนุนส่งมอบชุดข้อมูล สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ กระจายลงสู่พื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้ทั้งภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้นำไปใช้ประกอบการวางแผนหรือบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยรูปแบบของข้อมูลที่จัดทำขึ้นและส่งมอบไป อยู่ในรูปของ 1) ไฟล์ แผนที่ภูมิประเทศ ที่เอื้อต่อการมองภัยในภาพรวม และ 2) ข้อมูลดิจิทัลไฟล์ Google Earth (.kmz) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยในแต่ละชุดข้อมูลจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นรายจังหวัด ครบทั้ง 77 จังหวัดของไทย ซึ่งมีความหลากหลายของรูปแบบข้อมูล เพื่อโต้ตอบตามโจทก์ หรือหน้าตาของภัยที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่และห้วงเวลา โดยมีรายละเอียดของข้อมูล ดังนี้
แบบจำลองสรุปพื้นที่ตลอดลำน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งสามารถเกิดภัยพิบัติทางน้ำได้ในรูปแบบแตกต่างกัน
1) ข้อมูลภูมิประเทศ 3 มิติ
ชุดข้อมูลภูมิประเทศ 3 มิติ ซึ่งครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของไทย จัดทำขึ้นจากข้อมูลดิบเดิมของ แบบจำลอง ระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) ที่ตรวจวัดได้จากดาวเทียม ด้วยความละเอียดของข้อมูล 3030 เมตร โดยแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของไฟล์ Google Earth (.kmz) เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถนำไปใช้เปิดๆ-ปิดๆ บนโปรแกรม Google Earth เพื่อเปรียบเทียบกลับไป-กลับมา ระหว่างข้อมูลภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ จากมิตรเอิร์ธ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจริงจาก Google Earth เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ด้วยตนเองว่าพื้นที่ที่สนใจหรือพื้นที่พิบัติภัย คืออวัยวะส่วนใดของโลก ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา (mountain) เนินตะกอนเชิงเขา (colluvium) ร่องน้ำ (valley) ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ฯลฯ ซึ่งการได้รับรู้ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจและมองหน้าตาความเป็นไปของกระบวนการโลกที่จะผ่านเข้ามาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น หากพื้นที่เป็นที่สูงชันบนภูเขา กระบวนการผุพังของหน้าดินจะสูงกว่าปกติในภาวะปกติ และมีโอกาสไม่น้อยที่จะประสบพบกับภัยพิบัติดินถล่ม ในห้วงเวลาที่มีฝนตกปริมาณมาก หรือหากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนเนิน ตะกอนเชิงเขา เมื่อมีฝนตก มวลน้ำมักจะไหลหลากอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ในขณะที่ที่ราบน้ำท่วมถึงก็จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง หากมวลน้ำมีปริมาณมากเกินที่แม่น้ำจะรับได้ ดังนั้นชุดข้อมูลดังกล่าวจึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ในการวางแผนการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งในช่วงเวลาสงบร่มเย็นและในห้วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติทางน้ำขึ้น
ตัวอย่าง แผนที่ภูมิประเทศ 3 มิติ (ไฟล์รูปภาพ PDF) จังหวัดชัยภูมิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ตัวอย่าง ข้อมูลภูมิประเทศ 3 มิติ (ไฟล์ Google Earth .kmz) จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคกลางของไทย
2) ข้อมูลพื้นที่อ่อนไหวต่อภัยดินถล่ม
ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยที่จำต้องตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาหรือที่สูงชัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวไทยภูเขา ที่อยู่อาศัยสืบทอดกันมาตามวิถีของบรรพบุรุษ หรือพื้นที่ตามหมู่เกาะท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทย ที่กลไกทางเศรษฐกิจผลักดันให้คนในพื้นที่ ต้องเบียดเสียดขึ้นไปสร้างสิ่งปลูกสร้างบนภูเขา อย่างเช่นที่เห็นได้ชัดคือ เกาะภูเก็ต เกาะช้าง เกาะพะงันเกาะสมุย ฯลฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความอ่อนไหวที่จะได้รับหรือประสบกับภัยดินถล่มทั้งใน สภาวะปกติที่ดินสูญเสียเสถียรภาพไปตามกาลเวลา หรือในห้วงสถานการณ์ที่มีตัวเร่งตัวกระตุ้นอย่างปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่
ชุดข้อมูลความชันของพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักในสภาพพื้นที่ของตนว่ามีความชันมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นปัจจัยตั้งต้นหลักสำคัญของการเกิดภัยพิบัติดินถล่ม โดยนำเสนอข้อมูลในแต่ละจังหวัดในรูปแบบ จุด แสดงความชันตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งโดยปกติตามทฤษฎี พื้นที่ที่มีความชัน 15-45 องศา จะมีความอ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่ม โดยความอ่อนไหวจะสูงขึ้นล้อไปตามความชันที่มากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่มีความชันมากกว่า 45 องศา ก็ จัดว่ามีความอ่อนไหวสูงมาก ซึ่งก็ไม่ควรอยู่หรือเข้าใกล้ หากต้องการความปลอดภัยจากภัยพิบัติดินถล่ม
ตัวอย่าง ข้อมูลพื้นที่อ่อนไหวต่อภัยดินถล่ม (ไฟล์ Google Earth .kmz) จังหวัดภูเก็ต ภาคใต้ของไทย
3) ข้อมูลจุดอ่อนไหวดินโคลนไหลหลาก
จากชุดข้อมูลพื้นที่อ่อนไหวต่อภัยดินถล่มที่มิตรเอิร์ธจัดทำไว้ให้ เพื่อประชาชนคนไทยที่อาศัยอยู่ตามภูเขา อีกรูปแบบของภัยที่ขยับออกมาจากภูเขาสู่ที่ราบคือภัยพิบัติที่เรียกว่า เศษหิน-ดิน-โคลน ไหลหลาก (debris-earth-mud flow) ซึ่งมีความแตกต่างจากภัยอื่นๆ อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องสาเหตุต้นตอของภัย รูปแบบการเกิดภัย พื้นที่เสี่ยง และรัศมีการทำลายล้างของภัย ที่กินวงกว้างแตกต่างและสูงกว่าภัยพิบัติทางน้ำอื่นๆ
สรุปกลไกการเกิดภัยแบบย่อๆ คือ เมื่อมีฝนตกหนักในภูเขา หากร่องเขามีโครงข่ายเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และมีทางออกของน้ำไหลออกมาสู่ที่ราบด้านล่าง มวลน้ำที่อยู่ในโครงข่ายร่องเขาเดียวกันจะรวมตัวกัน ไหลหลากและสามารถควักเอาเศษหินดินโคลนที่ตกค้างอยู่ตามร่องเขาติดตัวน้ำมาได้ด้วย และเมื่อไหลออกจากหุบเขาสู่ที่ราบ มวลเศษหินดินโคลนดังกล่าวจะถูกฉีดสาดออกมาทับถมพื้นที่บริเวณหน้าเขา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่เหตุการณ์เช่นนี้กลายเป็นพิบัติภัย สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับหลายชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติดินโคลนไหลหลากในพื้นที่บ้านน้ำก้อ-น้ำชุน จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ.2544 พื้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ.2549 รวมไปถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ.2567
เพื่อที่จะช่วยบรรเทาและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ มิตรเอิร์ธได้จัดทำชุดข้อมูลวิเคราะห์จุดเสี่ยง ภัยเศษหินดินโคลนไหลลากครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย ซึ่งประกอบไปด้วยชุดข้อมูล 1) จุดรูรั่วจากภูเขา หรือตำแหน่งที่ มีร่องน้ำไหลออกมาจากภูเขา 2) ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำของแต่ละจุดรั่ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่พิจารณาได้ว่ารูรั่วใดน่ากลัวกว่ากัน โดยรูรั่วที่ไหลออกมาจากโครงข่ายร่องเขาหรือลุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติดินโคลนไหลหลากได้ง่ายๆ หากมีฝนตกในพื้นที่เขาที่เกี่ยวข้อง และ 3) แนวเส้นทางที่มวลน้ำและเศษหินดินโคลนจะไหลออกมาจากรู ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินได้ว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ ซึ่งหากชุมชนใดอาศัยอยู่ในแนวหลาก ในห้วงเวลาปกติควรมีการซักซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในห้วงเวลาที่อ่อนไหวต่อภัย เช่นในกรณีที่มีฝนตกหนักใน พื้นที่
ตัวอย่าง ข้อมูลจุดอ่อนไหวดินโคลนไหลหลาก (ไฟล์ Google Earth .kmz) ในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ ภาคเหนือ ของไทย จุดสีแดงคือ จุดรูรั่วจากภูเขา กรอบพื้นที่สีเหลือง คือ ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำของแต่ละจุดรั่ว เส้นสีส้ม คือ แนวเส้นทาง ที่มวลน้ำและเศษหินดินโคลนจะไหลออกมาจากรู
4) ข้อมูลแนวร่องน้ำ
ข้อมูล แนวร่องน้ำ (valley) เป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลภูมิประเทศ ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการใช้พื้นที่ โดยมิตรเอิร์ธได้จัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อสกัดพื้นที่ที่ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง ดังนั้นถึงแม้ว่าในภาวะปกติจะไม่มีธารน้ำ (stream) หรือแม่น้ำ (river) ไหลผ่าน แต่เมื่อมีฝนตกลงในพื้นที่แนวร่องน้ำ (valley) เหล่านี้จะแสดงตัวเป็นแนวน้ำที่ไหลมารวมและเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ โดยชุดข้อมูลที่จัดเตรียมให้ ได้จัดเรียงลำดับของแนวร่องน้ำตามขนาดของพื้นที่ที่สามารถรวมรับน้ำได้ และแสดงออกมาในรูปของสีและความหนาในแต่ละเส้น เช่น สีฟ้า หมายถึงแนว ร่องน้ำสั้นๆ บริเวณต้นน้ำ ที่มีพื้นที่รับน้ำไม่มาก แต่เมื่อโครงข่ายเส้นสีฟ้ารวมกันหลายๆ เส้น จะแสดงเป็นเส้นสีเขียว สี เหลือง สีส้ม และสีแดงตามลำดับ ซึ่งจะหมายถึงขนาดของพื้นที่รับน้ำที่สูงขึ้นตามลำดับ โดยมีนัยที่สื่อถึงปริมาณน้ำที่สามารถ เกิดขึ้นได้ในกรณีพิบัติภัย
ในส่วนของการใช้งานชุดข้อมูลแนวร่องน้ำ ในสภาวะปกติที่ไม่มีภัยพิบัติน้ำท่วม ข้อมูลชุดนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการใช้ที่ดิน โดยพื้นที่ที่อยู่ตามแนวร่องน้ำดังกล่าวไม่เหมาะอย่างยิ่งต่อการอยู่อาศัย เนื่องจากเมื่อฝนตกใน พื้นที่จะเป็นแนวขี้มวลน้ำมีโอกาสไหลผ่าน หรือหากต้องการขุดหรือจัดทำแหล่งน้ำ การจัดทำในพื้นที่ตามแนวหรือใกล้แนวร่องน้ำเหล่านี้ ก็จะทำให้มีน้ำเข้ามาเติมแหล่งน้ำได้ง่ายขึ้นได้มากขึ้น นอกจากนี้ในภาวะภัยพิบัติยังสามารถช่วยวิเคราะห์ได้ว่ามวล น้ำที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่จะไหลต่อไปในทิศทางใด ตามแขนงของร่องน้ำ
ภาพแบบจำลองอย่างง่าย แสดงลักษณะของโครงข่ายของร่องน้ำ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ตัวอย่าง ข้อมูลแนวร่องน้ำ (ไฟล์ Google Earth .kmz) จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือของไทย สีและความหนาของแต่ละเส้น สื่อถึงขนาดพื้นที่รับน้ำ เรียงลำดับจากรับน้ำปริมาณน้อยไปมาก ได้แก่ สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ตามลำดับ
5) ข้อมูลทิศทางน้ำหลาก หากน้ำล้นตลิ่ง
อีกชุดข้อมูลสุดท้ายที่มิตรเอิร์ธได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้นำไปใช้ในการวางแผนการบรรเทาภัยพิบัติในช่วงที่ เกิดอุทกภัยคือ ชุดข้อมูล แนวน้ำหลากหากล้นตลิ่ง (river-bank flood) สืบเนื่องจากสภาพภูมิประเทศในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ภาคกลางตอนบนและตอนล่างของไทย เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งมีแม่น้ำสายหลักขนาดใหญ่ไหลผ่าน ด้วยเหตุนี้รูปแบบของพิบัติภัยทางน้ำมักจะมาในรูปแบบของน้ำล้นตลิ่ง ที่เกิดจากการที่มวลน้ำมีปริมาณมากเกินที่ร่องน้ำหลักจะรับไหวและระบายได้ทัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่โดยรอบบริเวณที่น้ำล้นตลิ่ง
ชุดข้อมูล แนวน้ำหลากหากล้นตลิ่ง (river-bank flood) นี้วิเคราะห์จากภูมิประเทศข้างเคียงตามแม่น้ำโดย นำเสนอออกมาในรูปแบบของ แนวเส้นแสดงทิศทางการไหลหลากของมวลน้ำ หากมีน้ำล้นตลิ่งในตำแหน่งต่างๆ ตลอดทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสายหลัก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนในท้องที่ ที่จะสามารถประเมินได้ว่า หากน้ำล้นตลิ่งบริเวณใดๆ จะมีทิศทางการไหลหลากไปในทางไหนบ้าง นอกจากนี้ชุดข้อมูลดังกล่าวยังช่วยประกอบวางแผนการสร้าง แนวป้องกันหรือการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดอ่อนไหวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น หากข้อมูลบ่งชี้ว่า น้ำล้นตลิ่งพื้นที่ใดๆ สามารถไหลหลากและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนโดยส่วนใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเน้นการเฝ้าระวังและให้ ความสำคัญในการสร้างแนวป้องกันให้แข็งแรงเป็นพิเศษ ในขณะที่บางพื้นที่ไม่แสดงพฤติกรรมการไหลหลากของน้ำหากน้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ดังกล่าวก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียทรัพยากรและงบประมาณในการป้องกันและเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งมากนัก เป็นต้น
ตัวอย่าง ข้อมูลทิศทางน้ำหลาก หากน้ำล้นตลิ่ง (ไฟล์ Google Earth .kmz) จังหวัดสุโขทัย ภาคกลางของไทย จุดสีเขียว คือ จุดกรณีศึกษาหากน้ำล้นตลิ่ง เส้นสีฟ้าอ่อน คือ แนวน้ำหลากจากจุดสีเขียวต่างๆ หากน้ำล้นตลิ่ง เส้นสีน้ำเงิน คือ แนวแม่น้ำยม สายหลัก
ทั้งหมดนี้ คือชุดข้อมูลภูมิประเทศที่ มิตรเอิร์ธ (mitrearth) จัดทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ครบ ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการออกแบบการใช้พื้นที่ ให้สอดรับไปกับธรรมชาติของน้ำ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น