ผู้เขียน | ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ |
---|
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกิจกรรมท่องเที่ยวมีการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในประเทศ เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม นอกจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว การสร้างสมดุลสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งการกระจายการเดินทางในเชิงพื้นที่ ช่วงเวลาการท่องเที่ยวระหว่าง High season และ Low season การให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจแก่นักท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ที่ได้รับจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดี และการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น กรณีศึกษาจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดน่านยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นไว้อย่างสวยงาม จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาจากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดเจนคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง การเข้าพัก การบริโภคและจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างท่องเที่ยว หากไม่มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ดี ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)” ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการวิจัย “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน” ในปี 2563 และโครงการวิจัย “เที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน” ในปี 2564 โดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
โครงการดังกล่าวศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวและปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากกิจกรรมการท่องเที่ยวหลัก ในจังหวัดน่านซึ่งต่อยอดมาจากผลวิจัยก่อนหน้าที่พบว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โครงการนี้ดำเนินการวิจัยด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ประกอบการที่พักโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟในจังหวัดน่าน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส น่าน เป็นต้น
ผลการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย 1) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากกิจกรรมการท่องเที่ยวหลักในจังหวัดน่าน รวม 5 กิจกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ตลาดคาร์บอนต่ำ เมนูคาร์บอนต่ำ โรงแรมคาร์บอนต่ำ และเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และ 2) รูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย แผนที่เส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
ในตัวเมืองน่าน กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โปรแกรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หนังสือเดินทางเก็บแต้มคาร์บอน และประกาศนียบัตรนักท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ดังมีรายละเอียดรายกิจกรรมต่อไปนี้
กิจกรรมที่ 1 ท่องเที่ยวน่านวิถีใหม่พร้อมพกพาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Nan Low Carbon Products) การใช้แก้วกาแฟที่สามารถใช้ซ้ำได้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคเครื่องดื่มได้ถึง 6,079,352 kgCO2e/ปี และของที่ระลึกจากวัสดุเหลือใช้โดยฝีมือชุมชนท้องถิ่น สายคล้องแมสก์ 1 เส้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.0275 kgCO2e หรือคิดเป็นร้อยละ 94.47 เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน
กิจกรรมที่ 2 ล่องน่าน เที่ยวกาด (ข่วงเมือง) วิถีใหม่แบบไร้คาร์บอน (Nan Low Carbon Walking Street) เมื่อเทียบกับข้อมูลรูปแบบการจัดการขยะก่อนจัดกิจกรรม “ติ้วซ้า มาข่วง เที่ยวอย่างไร ให้ไร้ขยะ” ทั้งโดยวิธีฝังกลบเทกอง และการจัดการขยะของเทศบาลเมืองน่าน แยกขยะ 9 ประเภท ณ จุดคัดแยกขยะ ที่ไม่มีกิจกรรม จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.53 และ 0.18 kgCO2e/คน ตามลำดับ หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่าร้อยละ 84.90 เมื่อเทียบกับการจัดการขยะของปีฐานของตลาด
กิจกรรมที่ 3 รักษ์น่าน ทานอาหารสุขภาพคาร์บอนต่ำ (Nan Low Carbon Organic Meal) เมนูซีซาร์สลัดออร์แกนิค และเมนูกาแฟร็อกเพรสโซ่ที่ใช้น้ำตาลอ้อยอินทรีย์แบบผง ด้วยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และการลดการเดินทางของอาหาร ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 23.2204 kgCO2e/จาน และ 7.2192 kgCO2e/แก้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 73.02 และ 81.86 เทียบกับการใช้วัตถุดิบจากตลาด รวมถึงยังมีการจัดการของเสียจากการประกอบอาหารอีกด้วย
กิจกรรมที่ 4 โรงแรมน่านคาร์บอนต่ำ (Nan Low Carbon Hotels) ผลการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของที่พักในเบื้องต้น พบว่า สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้า การซักรีด การเดินทาง

การรั่วไหลของสารทำความเย็น และการกำจัดของเสีย โรงแรมสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์รายปีลงได้ 8.14-35.34 tCO2-e โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22.09 tCO2-e หรือคิดเป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ลดลงร้อยละ 15.55-75.85 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 43.16 เมื่อเทียบกับปีฐาน
กิจกรรมที่ 5 เส้นทางท่องเที่ยวไร้คาร์บอน (Nan Zero Carbon Travel Route) รูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย แผนที่เส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในตัวเมืองน่าน ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน รวมระยะทาง 14.69 กิโลเมตร กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โปรแกรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หนังสือเดินทางเก็บแต้มคาร์บอน และประกาศนียบัตรนักท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติและการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ พบว่า การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำช่วยลดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 45.05 kgCO2e/ทริป หรือคิดเป็นร้อยละ 64.07 เมื่อเทียบกับเส้นทางการท่องเที่ยวทั่วไป
รูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ต่างมีความเห็นที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและมุ่งหวังให้เกิดการผลักดันแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในจังหวัดน่านให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงโดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบเพื่อให้สะดวกและเพียงพอต่อการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติจากงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่การส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับศักยภาพเดิมของพื้นที่จังหวัดน่านและมีการเพิ่มศักยภาพของระบบงานหลังบ้านในการเก็บข้อมูล การบริหารจัดการให้เกิดการเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถประเมินชี้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยศักยภาพภายในพื้นที่
กิตติกรรมประกาศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน: การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ประจำปีงบประมาณ 2564 และคณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของคณะผู้วิจัย สำหรับการสนับสนุนด้านวิชาการและทรัพยากรตลอดการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ขอขอบพระคุณคณะวิจัยทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันตลอดกระบวนการวิจัย โดยเฉพาะ ดร.วัชราภรณ์ สุนสิน ดร.วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์ ดร.บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ ดร.ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนพันธ์ ผศ.ดร.สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ ผศ.ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ และ ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน รวมถึงผู้ช่วยวิจัยในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้แก่ นางสาวพรพิมล สุราช และนางสาวธนัชพร หิรัญกุล ที่สนับสนุนงานวิจัยภาคสนาม ความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายมีส่วนสำคัญในการทำให้โครงการวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
Facebook page: เที่ยวไทย ไม่ทิ้งรอย I Thailand Traceless Tourism
Link: https://www.facebook.com/ThailandTracelessTourism?
mibextid=wwXIfr&mibextid=wwXIfr
ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย