ผู้เขียน | อรรถสิทธิ์ พานแก้ว |
---|
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว : ส่งออกโต แต่ไทยยังมีการบ้านให้ต้องแก้และต้องทำ
การส่งออก – เวลาจะพูดถึงถึงปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ มักจะมองไปที่ 4 ปัจจัยหลัก ตัว C ที่เรียกว่า consumption การบริโภค ตัว E ที่เรียกว่า Export การส่งออก ตัว I ที่เรียกว่า Investment การลงทุน และ ตัว G ที่เรียกว่า Government spending การใช้จ่ายภาครัฐ (งบประมาณ)
ประเทศไทยเราใช้บริการเครื่องยนต์อย่าง “การส่งออก” และ “การลงทุน” เป็นแรงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างช้านาน ยังคงจำการหันหัวเรือของเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนจากยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทดแทนการนำเข้า (import substitution industrialization – ISI) ใน ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วหันมาใช้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบมุ่งเน้นการส่งออก (export oriented industrialization – EOI) ใน ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้หรือไม่? ยกตัวอย่างโมเดลที่สำคัญอย่าง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC คือ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
และยิ่งได้แรงหนุนจาก Plaza accord ค.ศ. 1985 ทำให้การดำรงสถานะประเทศส่งออกยิ่งชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มประเทศ G5 อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เห็นพ้องต้องกันที่จะควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลของดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กับเยอรมนี อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงจากเหตุการณ์ คือการทำให้ค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้น นักธุรกิจญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตัวเองไปลงทุนข้ามชาติในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยคือหนึ่งในเป้าหมายของญี่ปุ่น ณ ตอนนั้น
การกรุยทางเปลี่ยนโอกาสของประเทศสู่สถานะสำคัญที่พึ่งพาการส่งออกมีเรื่อยมากจนถึงยุคปัจจุบัน และภาครัฐกำลังเฝ้ามองเราอย่างใจจดใจจ่อถึงเครื่องยนต์ตัวนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์หลักในการดัน GDP ของประเทศให้กลับมาคืนเดิม โดยอย่างน้อยก็ผู้นำรัฐบาลในตอนนี้ก็อยากจะเห็นตัวเลขก่อนสถานการณ์ทางการเมืองปี 2557
เช่นเดียวกันเวลาพูดถึงเรื่องการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ คือหน่วยงานแรกที่ถูกล็อคเป้าและถูกตั้งคำถามบ่อยครั้ง ว่าทำอะไรอยู่?
แต่ความจริงแล้วองคาพยพรวมถึงกฎระเบียบที่กระจายกันออกจากพระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มีมากกว่ากระทรวงพาณิชย์ที่ควบคุมและกำกับดูแล จนบางครั้งหาตัวไม่เจอคนทำ คนมีอำนาจ เรียกได้ว่า กว่าจะจับมือดม สั่งการได้ก็ยุ่งยากยุ่งเหยิงพอสมควร จึงเป็นหนึ่งปัญหาหนึ่งที่ควรบูรณาการและเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันด้านข้อมูลกันมากกว่าเขียนแค่เพียงว่า “รายงานให้ทราบ”
ถึงอย่างไร ต้นปีนี้กระทรวงพาณิชย์ ก็ประกาศภาพรวมตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2568 ว่ามีการขยายตัว 13.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยังคงเป็น กลุ่มสินค้าเกษตร ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่นๆ อย่างสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ยังขยายตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ 3% และ 17% ตามลำดับ โดยปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องด้วยความกังวลประเด็นสงครามการค้า
ถือเป็นนิมิตที่ดีของตัวเลขการส่งออกในเดือนแรกของปี แต่ก็ยังมีโจทย์ที่กระทรวงพาณิชย์ยังต้องเร่งสะสางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรยังคงน่าเป็นห่วงในแง่โครงสร้างทั้งห่วงโซ่การผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าข้าว ที่หดตัว 32.4 %ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เป็นต้น
ในฐานการส่งออกสินค้าเกษตร การส่งออกและการแข่งขันยังคงชะงักงัน และผันผวนอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแข่งขันทางด้านราคาแล้ว สินค้าเกษตรของไทยอยู่ยังเป็นทางเลือกอันดับ 2-3 ให้กับผู้นำเข้าที่จะเลือก ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนการผลิต พื้นฐานของพันธุ์ และบรรดาโรคและศัตรูที่เบียดบังกำไรของเกษตรกร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงมีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
และภาครัฐทุกวันนี้ยังคงจัดการที่ปลายน้ำ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น กรณีมันสำปะหลังมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันการกระจายของท่อนพันธุ์ที่ติดโรคใบด่าง หรือการชดเชยราคา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็จะงัดมาตรการตั้งแต่ยุค “นักเลงโบราณ” โกศล ไกรฤกษ์ อดีตรมว.พาณิชย์ ออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ชะลอการขายข้าวเปลือก ชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีเพื่อเก็บสต็อกข้าว ขยายจุดรับซื้อสินค้าเกษตร เป็นต้น หรือหากมีนวัตกรรมของฝ่ายการเมืองเข้ามา อย่างเช่น ประกันรายได้ จำนำข้าว แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้แก้ที่ปัญหาโครงสร้างการผลิตตั้งแต่ต้น
ทั้งหมดที่จะชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างด้านการผลิตสินค้าเกษตรเรายังไม่ถูกแก้อย่างทันท่วงที และวิธีแก้แบบเร็วๆ ก็มักจะผ่านการชี้นำด้านราคาของภาครัฐ และเมื่อส่งออกราคาที่ขายได้เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ทำให้สินค้าเรากลายเป็นทางเลือกแบบทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ที่ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการส่งออกที่เราจำแนกกลุ่มสินค้าด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม สองอย่างหลังค่อนข้างไปได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เชื่อหรือไม่ว่าเราเป็นฐานการผลิต HDD ส่งออกทั่วโลกเป็นอันดับสองรองจากจีน ผ่านการลงทุนของผู้ผลิต HDD รายใหญ่ อาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เวสเทิร์น ดิจิทอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปและการเปลี่ยนฐานการผลิตเป็น Electric Vehicle EV ในปัจจุบัน
โจทย์ใหญ่ด้านการส่งออกอีกด้าน คือ การตั้งรับกับนโยบาย Trump 2.0 ที่มีทั้งความไม่แน่นอน ความซับซ้อน สูงยากที่จะคาดเดาได้ ผมเห็น นายกรัฐมนตรี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ มีการเรียกประชุมรวมถึงตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเชิงรุก ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ถือเป็นความมุ่งหมายที่ดี
คณะชุดนี้ผสมไปด้วยทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ ส่วนราชการอย่าง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคณะกรรมการ หรือ BOI ทุกอย่างมุ่งเป้าไปที่การตั้งรับเพื่อปฏิบัติการด้านการค้าเป็นหลัก แต่ข้อสังเกตก็คือว่า กลไกชุดนี้ยังขาดเสาด้านความมั่นคง ด้านสังคมและวัฒนธรรม อยู่หรือไม่?
แม้ประเทศไทยเราจะยิ้มง่ายและเป็นนอบน้อมอย่างเป็นมิตรต่อประเทศมหาอำนาจ แต่เมื่อยามภัยมาถึง ผมไม่คิดว่ากลไกที่ถูกเสนอเป็นแพ็คเกจโดยเฉพาะด้านการค้าจากคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถตั้งรับได้อย่างครอบคลุมเท่าที่ควรนัก กับสหรัฐอเมริกาความสัมพันธ์เรายังมีความเชื่อมโยงไปทางความมั่นคงด้วย
การออกประกาศของสหรัฐอเมริกาตอนนี้ มีมาเป็นรายวันยิ่งกว่าลุ้นหวย ทั้งการเรียกเก็บภาษีแบบระบุประเทศ (Country-specific tariffs) จีน แคนาดา เม็กซิโก โดนไปแล้ว หรือแบบรายสินค้า (Product-specific tariffs) กลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม โดนไปแล้วเช่นกัน หรือจะแบบการตอบโต้ทางภาษี (Reciprocal Trade and Tariffs) เทียบเคียงกับภาษีที่ผูกพันกับ WTO และภาษีที่เก็บจริง (apply rate) ซึ่งไทยมีความเสี่ยงที่จะโดนตอบโต้ด้วยมาตรการนี้ ด้วยแนวโน้มที่ว่าภาษีนำเข้า reciprocal tariff เมื่อเทียบระหว่างไทยกับสหรัฐแล้วเราสูงกว่าเขาอยู่ที่ 4 -6% ตลอดจนการเกินดุลจากภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญด้านการเกษตร
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณากันในลำดับต่อไปและเฝ้ามองการประกาศบัญชีรายประเทศ รายสินค้าที่จะโดนตอบโต้ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับการส่งออกเป็นอย่างแน่ หากผลไม่ได้ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ
ประเด็นต่อมาที่ได้เกริ่นไปถึงเรื่องสินค้าเกษตรก่อนหน้านี้ไปแล้ว นอกจากการจัดการเรื่องห่วงโซ่การผลิตแล้ว มีกลุ่มสินค้าหนึ่งอย่างทุเรียนที่เราต้องรับมือการบุกทะลักของการทุเรียนต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงทุเรียนย้อมสี Basic Yellow 2 ให้มีสีเหลืองทอง น่าซื้อ พวกนี้กำลังเป็นปัญหากวนใจที่ต้องจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกต่อตลาดสำคัญ
ส่วนเรื่องสินค้าผิดกฎหมาย มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เข้ามาจัดการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการจดจัดตั้งบริษัทฯ ก็ดี การควบคุมด้านฉลากสินค้าก็ดี ถือเป็นทิศทางที่ดี ที่จะลดสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาตีตลาดสินค้าในไทย ตลอดจนถึงลดการนำเข้าสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน และทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ
ส่วนเรื่อง FTA ที่ผมได้เขียนถึงไปเมื่อครั้งที่แล้ว ผมอยากเห็นกระทรวงพาณิชย์กำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างจริงจัง มีการประเมินผู้มีส่วนได้เสีย และคณะทำงานทั้งเชิงเทคนิค และประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญตลาดสินค้าอย่าง สหภาพยุโรป เป็น FTA ที่จะขยายมูลค่าการส่งออก และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเราได้เป็นอย่างดี ถือเป็นหมุดหมายที่กระทรวงพาณิชย์ควรดำเนินการในทุกยุทธศาสตร์ทั้งการเจรจาใต้ดินและบนดิน ขีดเส้นใต้ภายใต้พื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ทั้งหมดมานี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับเครื่องยนต์ด้านการส่งออกอย่างยิ่ง หากเราจะยังหวังพึ่งเครื่องยนต์นี้ ต้องใส่ใจ และปรับปรุงการใช้งานให้เต็มสูบมากกว่านี้ ไม่เพียงแค่เรื่องส่งออก หรือลงทุนที่เรามีความได้เปรียบ แต่ควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่มีปัญหาในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน…