Climate change, City change: ปรับเมือง, เปลี่ยนโลก

Climate change, City change: ปรับเมือง, เปลี่ยนโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เนื่องจากการสะสมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) ที่ชั้นบรรยากาศของโลกทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องกระจกขนาดใหญ่กักเก็บความร้อนเอาไว้ภายใน อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2558-2567 ที่ผ่านมาที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน (Heat wave) จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติติดต่อกันหลายวัน ภาวะโลกร้อนทำให้สถานการณ์ความร้อนภายในเมืองมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนเมืองมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากความร้อนมักจะกระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูง มีอาคารหรือพื้นผิวคอนกรีตที่เก็บสะสมความร้อนเอาไว้ระหว่างวัน และขาดแคลนพื้นที่สีเขียวที่ช่วยระบายความร้อน อีกทั้งการใช้พลังงานหรือการใช้ไฟฟ้าภายในเมืองก็ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดความร้อนในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban heat island: UHI) จากความร้อนที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองจนอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ชานเมืองโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ในอนาคตที่ประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พื้นที่สีเขียวจึงมีแนวโน้มที่จะลดลง และจะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลกในอนาคต

การลดอุณหภูมิหรือความร้อนภายในเมืองเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญเพื่อเตรียมรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme weather events) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ อาจประยุกต์ใช้ปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิ (Thermal comfort) ทั้ง 6 ปัจจัย ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น การแผ่ความร้อน ความเร็วลม เสื้อผ้า และอัตราการเผาผลาญของร่างกาย มาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการรับมือกับความร้อน แล้วต่อยอดร่วมกับแนวทางการออกแบบและวางผังเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนเมืองให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดการสะสมตัวของความร้อนและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนเมืองได้ โดยสามารถสะท้อนออกมาผ่านองค์ประกอบต่างๆ ของเมืองได้ ดังนี้

ลดอุณหภูมิเมือง – การลดอุณหภูมิในเมืองเป็นความท้าทายอย่างมากท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นในทุกวัน เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกับปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ แนวทางในการลดอุณหภูมิในเมืองจึงมักเป็นการป้องกันหรือการจัดการกับความร้อนที่สะสมอยู่ในระดับย่านหรือชุมชนผ่านการออกแบบอาคาร ผังเมือง พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียว ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับปัจจัยด้านอุณหภูมิ ความชื้น และลมที่จะกล่าวถึงต่อไป นอกจากนี้ การลดอุณหภูมิเมืองอาจรวมไปถึงการลดแหล่งกำเนิดความร้อนภายในเมืองผ่านการจัดการพลังงานด้วยการลดการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานสะอาดได้อีกด้วย

ADVERTISMENT

ลดการแผ่ความร้อนของเมือง – การลดการแผ่ความร้อนของเมืองมุ่งเน้นไปที่การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีการสะสมความร้อนน้อยสำหรับสร้างสภาพแวดล้อมที่เย็นลงและช่วยลดการแผ่ความร้อนมาสู่ตัวคนให้น้อยลง โดยอาจเลือกใช้วัสดุสำหรับพื้นผิวของพื้น ผนัง และหลังคาที่อยู่รอบตัวเราให้เป็นวัสดุที่ไม่ใช่คอนกรีตหนาทึบ แต่เป็นวัสดุที่มีมวลเบา มีสีอ่อน มีช่องพรุนของอากาศ หรือมีคุณสมบัติเป็นฉนวนเพื่อลดการสะสมความร้อน เช่น การเลือกใช้วัสดุปูพื้นทางเท้าที่มีรูพรุนเพื่อลดการสะสมความร้อนและช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำ การเลือกทาสีผนังหรือหลังคาด้วยสีอ่อนเพื่อเพิ่มการสะท้อนแสงและลดการสะสมความร้อนในอาคาร ทั้งนี้ อาจมีการประยุกต์การใช้พื้นที่สีเขียวให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวอาคารได้ด้วยการทำสวนบนดาดฟ้า (Roof garden) หรือสวนแนวตั้ง (Vertical green) เพื่อลดการสะสมความร้อนในอาคารให้น้อยลง

เพิ่มความชื้นในเมือง – การเพิ่มความชื้นหรือแหล่งน้ำในเมืองจะส่งผลให้ละอองน้ำช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของความร้อนให้มีการสะสมตัวน้อยลง โดยความร้อนจะถูกระบายออกไปผ่านการระเหยของน้ำ ยิ่งมีพื้นที่สีเขียว แหล่งน้ำ หรือมีความชื้นมาก ก็จะยิ่งช่วยให้ความร้อนสะสมในตัวอาคารหรือตัวเมืองน้อยลง ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือแหล่งน้ำอาจเป็นความท้าทายของเมืองที่มีความหนาแน่นหรือมีพื้นที่จำกัด แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับการออกแบบพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ภายนอกอาคารได้ เช่น การออกแบบสวนแนวตั้งให้เป็นส่วนหนึ่งของผนังอาคาร การออกแบบพื้นที่สาธารณะให้มีบ่อน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือเครื่องพ่นละอองน้ำ สำหรับเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิลงและช่วยให้คนสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น

ADVERTISMENT

เพิ่มกระแสลมในเมือง – การเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศจะช่วยเพิ่มการระบายความร้อนที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองที่หนาแน่นได้ โดยอาจประยุกต์ใช้แนวคิดเกี่ยวกับการวางแผนผัง การกำหนดความกว้างของถนนและช่องว่างระหว่างอาคาร เพื่อสร้างพื้นที่ว่างให้อากาศสามารถไหลเวียนระหว่างอาคารและชุมชนได้มากขึ้น เช่น การเปิดช่องว่างหรือพื้นที่เปิดโล่งบนอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ไม่ให้อาคารทึบตันเพื่อช่วยให้อากาศของอาคารข้างเคียงและชุมชนในพื้นที่หมุนเวียนได้สะดวกขึ้น การกำหนดความกว้างของถนนหรือระยะถอยร่นของอาคารเพื่อไม่ให้อาคารมีการก่อสร้างที่หนาแน่นมากจนเกินไป การเลือกวางอาคารตามทิศทางของกระแสลมเพื่อเพิ่มการระบายอากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ

เลือกเสื้อผ้า – การสวมใส่เสื้อผ้าเป็นแนวปฏิบัติเฉพาะบุคคล แต่ในระดับเมืองหรือระดับองค์กรก็สามารถกำหนดแนวทางที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการแต่งกายให้ตอบรับกับสภาพอากาศหรือฤดูกาลได้ เช่น การเลือกใช้ชุดเครื่องแบบที่มีเนื้อผ้าบางและระบายความร้อนได้ดี การรณรงค์ให้ใส่เสื้อโปโลแขนสั้นแทนเสื้อเชิ้ตแขนยาว รวมทั้งอาจมีการเลือกใช้องค์ประกอบของเมืองที่ช่วยป้องกันแดดและสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าสบายเพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตภายนอกอาคารได้โดยไม่ต้องใส่เสื้อแขนยาวหรือกางร่มเพื่อกันแดด เช่น การสร้างทางเดินที่มีหลังคาคลุมหรือการใช้ต้นไม้สร้างร่มเงาเชื่อมต่อระหว่างอาคารเพื่อให้คนสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้

ลดอัตราการเผาผลาญ – อัตราการเผาผลาญของร่างกายขึ้นอยู่กับท่าทางหรือกิจกรรมที่เราทำ โดยอาจมุ่งเน้นไปที่การลดความเหนื่อยล้าและปรับรูปแบบกิจกรรมให้สะดวกสบายมากขึ้นเพื่อลดอัตราการเผาผลาญและลดอุณหภูมิของร่างกายลง ซึ่งสามารถสะท้อนออกมาผ่านแนวคิดในการออกแบบเมืองได้ เช่น การออกแบบเมืองด้วยแนวคิดเมืองกระชับ (Compact city) ให้พื้นที่พักอาศัย พื้นที่ทำงาน หรือพื้นที่สันทนาการอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อลดความเหนื่อยล้าจากการเดินทางข้ามพื้นที่ การออกแบบทางเท้าหรือทางเดินสาธารณะให้มีพื้นที่สวนหรือม้านั่งสำหรับพักผ่อนเป็นระยะตามแนวคิดของสวน 15 นาที (15-minute park) หรือสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket park) เพื่อให้คนสามารถนั่งพักเหนื่อยได้ระหว่างที่เดินหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง

จะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนเมืองเพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบและวางผังเมืองอย่างมาก การให้ความสำคัญกับแต่ละองค์ประกอบของเมืองจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการรับมือความร้อนให้กับเมือง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเมืองเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคตจึงควรให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่โดยรอบของอาคารเทียบเท่ากับการออกแบบตัวอาคาร รวมทั้งควรมีการประสานองค์ความรู้และแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบทั้งตัวอาคารและตัวเมืองไปพร้อมกัน เพื่อพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพในการรับมือและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ดร.กิตติวุฒิ เฉลยถ้อย
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image