ผู้เขียน | ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ |
---|
ถนนขวางน้ำ หนึ่งในเหตุน้ำท่วมขังของไทย
ทุกวันนี้ เมื่อมีฝนตกหนักในบ้านเรา สิ่งที่ตามมาแทบทุกครั้งคือข่าวน้ำท่วม (flood) และหากสอบถามความรู้สึกประชาชนทั่วไป แทบทุกคนก็จะตอบตรงกันว่าเดี๋ยวนี้น้ำท่วมบ่อยขึ้น น้ำท่วมง่ายขึ้น และเมื่อถกถึงสาเหตุน้ำท่วม จำเลยแรกที่จะถูกกล่าวถึงก็มักจะหนีไม่พ้น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน บ้างก็ว่าพื้นดินทรุดต่ำลง บ้างก็ว่าเขื่อนปล่อยน้ำผิดเวลา หรือไม่ก็การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐไร้ประสิทธิผล แต่จากการติดตามน้ำท่วมบ้านเราในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนพบข้อน่าสังเกตที่ว่าไทยเราน้ำท่วมง่ายขึ้นจริง ซึ่งในทางวิชาการธรณีพิบัติภัย ภาวะแบบนี้หมายถึง ประเทศไทยกำลังมีความอ่อนไหว (susceptibility) ต่อภัยน้ำท่วม เรียกว่าฝนตกหนักเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ก็ท่วมเมื่อนั้น
หนึ่งกรณีศึกษาที่สื่อถึงความอ่อนไหวของน้ำท่วมไทยในปัจจุบันได้ดี คือเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2564 ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เพราะหลังจากฝนตกหนักอยู่เพียงชั่วขณะ ทั้งอำเภอเกิดภาวะน้ำท่วมขังแบบแทบมิดหัว ซึ่งหากประเมินในเชิงภูมิศาสตร์หรือภูมิประเทศ บำเหน็จณรงค์เป็นอำเภอที่อยู่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดเดียวกัน มวลน้ำก็ควรระบายไหลลงรวดเร็วไปสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า แต่กลับเกิดน้ำท่วมขังทั้งอำเภออย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งมูลเหตุที่พอจะจับสัญญาณได้คือการมีอยู่ของ “ถนนขวางน้ำ” กั้นไม่ให้น้ำไหลได้อย่างสะดวกโยธิน
ธรรมชาติของพื้นผิวโลก
ในทางธรรมชาติของพื้นผิวโลก พื้นที่ใดๆ ที่เรามองด้วยตาว่าราบเรียบ ถ้าเล็งหรือพิจารณาดีๆ สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ราบและเรียบอย่างสมบูรณ์แบบ แต่จะมีส่วนที่ต่ำกว่าและสูงกว่าเสมอ ซึ่งในทางธรณีวิทยาเรียกพื้นที่ที่ต่ำกว่าว่าร่อง (valley) และเรียกพื้นที่ที่สูงกว่าว่าเนิน (ridge) และด้วยสัจธรรมของน้ำที่จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เมื่อมีฝนตกในพื้นที่ใดๆ มวลน้ำก็จะไหลออกจากแนวสันเนิน และไหลไปรวมตามแนวร่องเสมอ และมีโอกาสพัฒนาต่อไปเป็นธารน้ำ (stream) หรือแม่น้ำ (river) ตามลำดับ หากมีการรวมน้ำมากขึ้น ไหลหลากบ่อยขึ้น

ดาวน์โหลดข้อมูล : ข้อมูลแนวร่องน้ำ (ไฟล์ Google Earth .kmz)
จากการวิเคราะห์ภูมิประเทศในพื้นที่ประเทศไทย ผู้เขียนพบแนวร่องจำนวนมาก ยึดโยงเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งบางพื้นที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติธรณีวิทยา พัฒนาและก่อตัวเป็นธารน้ำสายเล็กบ้าง หรือยกระดับเป็นแม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากธารน้ำและแม่น้ำที่เรามองเห็นได้ด้วยตา ทั่วทั้งประเทศไทยยังพบพื้นที่อีกมากมายที่ในสภาวะปกติแสดงสภาพเป็นบก คือไม่มีมวลน้ำไหลผ่าน ดูเหมือนกับว่าน่าอยู่น่าอาศัย แต่ผลจากการวิเคราะห์ภูมิประเทศด้วยเทคนิคสารสนเทศภูมิศาสตร์ พื้นที่เหล่านั้นมีสถานะเป็นร่อง ที่พร้อมรวมน้ำได้ทุกเมื่อในยามฝนมา ซึ่งต้องส่งข่าวด้วยความห่วงใยว่าพื้นที่เหล่านี้อ่อนไหวต่อภัยพิบัติน้ำท่วมน้ำหลาก ยิ่งไปกว่านั้น แนวร่องแต่ละร่องก็มีศักดิ์ศรีหรือศักยภาพในการรวมน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น ร่องสีฟ้า เกิดจากการรวมน้ำของพื้นที่รับน้ำแคบๆ ส่วนร่องสีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ก็มีพื้นที่รับน้ำในปริมาณที่สูงขึ้นตามลำดับ

ถนนขวางร่องน้ำ ความอ่อนไหวที่มนุษย์ก่อ
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น จากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจในมิติของภัยคือ พบว่าบางเหตุการณ์น้ำท่วม เกิดจากมวลน้ำไม่สามารถระบายลงสู่แหล่งน้ำได้อย่างสะดวกทันเวลา ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังอันเนื่องมาจากมวลน้ำรอการระบายในหลายพื้นที่ และจากการวิเคราะห์ทางภูมิประเทศ พบว่าสาเหตุหลักของการท่วมขังมักเกิดจากถนนในแต่ละพื้นที่ที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนขอบ เหมือนกรอบกีดขวาง กั้นมวลน้ำเอาไว้ในยามฝนตก ซึ่งถึงแม้ว่าในบางพื้นที่จะมีการจัดสร้างท่อระบายน้ำอยู่บ้าง แต่จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วไทย ที่แนวถนนตัดขวางกั้นแนวร่องน้ำหลากอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นไม่ต่างอะไรกับแอ่งกระทะขนาดย่อม ที่พร้อมจะมีน้ำท่วมขัง หากมีฝนตกลงมา


ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะลดระดับความอ่อนไหวของการเกิดภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากเหตุถนนขวางน้ำ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ จุดที่แนวถนนวางตัวตัดขวางแนวร่องน้ำ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำหลากล้นข้ามถนน หรือจุดเสี่ยงถนนถูกตัดขาดในห้วงสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรืออันตรายต่อการคมนาคมในช่วงน้ำมาก โดยในช่วงสถานการณ์ปกติ ข้อมูล จุดที่แนวถนนวางตัวตัดขวางแนวร่องน้ำ ดังกล่าว ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผน การจัดสร้างระบบท่อระบายน้ำตามแนวถนน เพื่อระบายน้ำให้คล่องในภาวะฝนตกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้
อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย