ผู้เขียน | อรรถสิทธิ์ พานแก้ว |
---|
อภิปรายไม่ไว้วางใจ – การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้อำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติฯ เพื่อตรวจสอบการทำงานของอำนาจบริหารโดยฝ่ายรัฐบาล และถือเป็นการกระทำทางรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีปฏิบัติของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วก็ว่าได้ และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่มีการเข้าชื่อเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นับเป็นครั้งที่ 46 นับแต่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จากสถิติมี 5 กระทรวงที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย 33 ครั้ง กระทรวงคมนาคม 25 ครั้ง กระทรวงการคลัง 21 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 21 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 13 ครั้ง
ขณะที่ 4 อันดับ ของสมัยรัฐบาลที่มีการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนานที่สุด คือ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2490) ระยะเวลา 8 วัน รัฐบาลชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2542) ระยะเวลา 6 วัน รัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (พ.ศ. 2522) ระยะเวลา 5 วัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2554) ระยะเวลา 5 วัน
โดยครั้งนี้ ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแบบรายบุคคล (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี) ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 23 -25 มี.ค. 2568 ระยะเวลา 3 วันรวมวันลงมติ ด้วยข้อกล่าวหาหลัก “เป็นผู้มีพฤติการณ์อันไม่อาจไว้วางใจ ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะแก้ปัญหาให้ชาติและประชาชน…
นอกจากนี้ยังสมัครใจยินยอมให้บุคคลในครอบครัว ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด…” ข้อกล่าวหานี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กล่าวหานายกรัฐมนตรีว่าเป็นหุ่นเชิด แต่ครั้งหนึ่งเคยใช้กล่าวหานายกรัฐมนตรีอย่าง สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนสังคมตั้งข้อสงสัยต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
อนึ่ง ความคาดหวังของประชาชนในทุกรอบของการอภิปรายฯ ไม่ได้อยู่ที่การลงมติเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วยกลไกนี้มากนัก แต่หากเป็นการเปิดปม และชี้ให้ประชาชนเห็นในสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น ย้ำประเด็นในสิ่งที่ทราบโดยทั่วไปให้เกิดความตระหนักรู้ในหมู่สังคม จนถึงขั้นรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายรายนั้นอยู่ไม่ได้และมีแผลติดตัวไปตลอดชั่วชีวิตทางการเมืองซึ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว
เช่นเดียวกับการอภิปรายครั้งนี้ แวดล้อมทางการเมืองมิได้เกื้อหนุนให้เกิดภาวะสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก เนื่องจากการรวมตัวของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหนียวแน่นด้วยเสียงข้างมาก อีกทั้งสถานการณ์ภายนอกยังมิได้สุกงอมถึงขนาดจะเป็นการเปิดแผลโรยเกลือ อย่างที่อ้างถึง แต่ผมมองว่า การกระทำทางการเมืองครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วกับ “การปลูกต้นไม้แห่งความไม่ไว้วางใจให้กับประชาชน”
ส่วนหน่อและเนื้อหลังจากนี้จะแตกดอกออกกอมากน้อยแค่ไหน คงอยู่ที่การขยายผลและการเอาจริงเอาจังจากฝ่ายการเมืองและภาคประชาสังคมที่กำลังขับเคลื่อนอยู่บนถนนและบนโลกออนไลน์ ซึ่งนับวันยิ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องด้วยการบริหารราชการแผ่นดินหลัง 6 เดือนนี้ แน่นอนว่าจะถูกท้าทายจากสังคม การเมืองด้วยคำถามต่อนโยบายหลักที่พรรคแกนนำทั้งหลายได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายเรือธงอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ กอปรกับอารมณ์ทางการเมืองที่กำลังประเดประดังจากความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การจัดการเรื่องราคาพลังงาน กระบวนการทางยุติธรรมและการต่างประเทศที่มีข้อกังขา ตลอดจนร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่กำลังเข้าสภาฯ ในระยะเวลาอันใกล้ สิ่งเหล่านี้คือ สถานการณ์ที่กำลังสุกงอมและรัฐบาลจะต้องรับมือและแก้ไขอย่างทันท่วงที…
• ภาพรวมอภิปรายฯ ‘รัฐบาลรอด ฝ่ายค้านแค่เพิ่งเริ่ม’
กว่าจะได้เสียง 319 ของการไว้วางใจ ก็ไม่ง่ายนักเมื่อการอภิปรายฯ ถูกเริ่มต้นด้วยการขีดเส้นทางการเมือง ในลักษณะที่ห้ามใช้ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา” ในญัตติฯ หากล้ำเส้นนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจรับรองความเรียบร้อยได้ โดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชาติ ให้ความเห็นว่า
“การระบุรายชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ จึงขอให้แก้ไข ‘ข้อบกพร่อง’ และข้อบังคับการประชุมสภาระบุว่าห้ามกล่าวถึงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น แค่กล่าวถึงก็ห้ามอยู่แล้ว แต่เขียนเป็นญัตติชัดเจนยิ่งกว่ากล่าว จะนำไปสู่การประท้วงวุ่นวายในสภาฯ ได้”
ขณะที่ปฏิกิริยาจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากฝ่านค้านยังระบุชื่อในญัตติฯ แบบเดิม จะทำให้การอภิปรายวุ่นวาย และเกิดการประท้วงอย่างแน่นอน และหนักไปถึงขั้นว่าถ้าไม่แก้ญัตติฯ ก็อภิปรายไม่ได้
ต่างฝ่ายต่างดึงดันกันไปมาจนสุดท้ายได้ข้อสรุป ฝ่ายค้านยอมถอยเปลี่ยนมาใช้คำว่า “บุคคลในครอบครัว” คำเดียวกันที่ใช้เป็นข้อกล่าวหาเพื่อเปิดอภิปรายฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยฝ่ายค้านในขณะนั้น เขียนญัตติตอนหนึ่งว่า “นายกฯ ปล่อยให้บุคคลในครอบครัว ‘กดปุ่ม’ สั่งการตามอำเภอใจในทุกรูปแบบ จนประเทศไทยเสมือนมีนายกรัฐมนตรีหลายคน วนเวียนหาประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา”
เมื่อถึงวันเปิดอภิปรายจริง 08.00 น. ฝ่ายค้านเริ่มต้นกล่าวหาถึง พฤติการณ์ของนายกรัฐมนตรี บรรยายภาพรวมข้อกล่าวหาที่ชี้ให้เห็นถึงเหตุแห่งความไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ต่าง ๆ มากมาย แต่แล้วสปอตไลท์กลับไปส่องที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะปล่อยหมัดเด็ด ข้อมูลลับ ออกมาดังที่ได้โหมโรงมาก่อนหน้านี้ แต่แล้วจากหมัดน็อค กลายเป็น หมัดแย็บ ไม่สามารถสั่นสะเทือนความร้อนแรงก็สภาฯได้
การนำเสนอของฝ่ายค้านตลอด 2 วันที่ผ่านมา จึงเป็นการเสนอชุดความเห็นและความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน ตั้งแต่เรื่องราวของการครอบครองที่ดิน การหลีกเลี่ยงภาษี หรือ ตั๋ว P/N คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี การบริหารราชการบกพร่องในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การใช้ IO กองทัพโจมตีทางการเมือง ความผิดพลาดของการบริหารด้านการต่างประเทศการส่งตัวชาวอุยกูร์ ไปจนถึง MOU2544 ซึ่งยังขาดประเด็นใหม่ เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการสร้างความฮือฮามาแล้วอย่างการเปิดปม IO และเรื่อง
‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งสังคมไม่เคยรับรู้มาก่อน
แม้ความสำเร็จของฝ่ายค้านที่ผมมองว่ายังไม่ใช่ ‘หมัดน็อค’ แต่เป็นเพียงแค่ ท่าทางฟุตเวิร์ค ออกท่า หาจังหวะเพื่อจะเปิดและขยายประเด็นต่อไป ถือเป็นการเริ่มก้าวแรกของการสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับประชาชนต่อรัฐบาล ดังที่แจ้งไว้ในข้อก่อนหน้า
• ‘ค้านด้วยข้อมูล ตัวเลข และ Presentation’
ไม้เด็ดของฝ่ายค้านอย่าง “พรรคประชาชน” เต็มไปด้วยข้อมูลพร้อม presentation กำกับการอภิปรายมากกว่าการใช้โวหารโน้มน้าวให้ประชาชนคล้อยตามและเข้าใจข้อมูลดังเช่นที่เป็นมาในอดีต
ภาพรวมเช้าวันแรก ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ปล่อยข้อมูลนายกฯ จงใจหลีกเลี่ยงภาษี ผ่านตั๋ว P/N พร้อมผุดลูกเล่นทางการเมือง ‘กีกี้’ คำใหม่ในสภาฯ ที่สวนกลับผู้ประท้วงอยู่เป็นระยะ ๆ
ต่อมาในช่วงบ่าย ‘ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์’ ปล่อยข้อมูลขยี้ปมปลาหมอคางดำซ้ำอีกรอบ ไล่เรียงตั้งแต่ประวัติการนำเข้ามา การอนุมัติเอกสารนำเข้า และชี้ให้เห็นถึงปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรีต่อสถานการณ์นี้
ถึงช่วงค่ำที่คาดว่าจะเงียบเหงา แต่เดือดอีกครั้ง เมื่อ รมช.พาณิชย์ สุชาติ ชมกลิ่น ตอบโต้พร้อมสบถถ้อยคำนักเลงเมืองชลฯ ออกมาจนมีสีสันต่อประเด็นค้ามนุษย์ และคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งทั้งหลายก็ล้วนเป็นประเด็นเก่าสมัยนั่งว่าการกระทรวงแรงงาน
ในขณะที่วันที่สอง เริ่มต้นด้วย ‘รังสิมันต์ โรม’ อภิปรายประเด็นชั้น 14 ของบุคคลในครอบครัวนายกรัฐมนตรี ตกบ่าย ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ เปิดคำถามถึงข้อมูลการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาล จีดีพีไม่โต เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ฟื้น ด้วยการยกตัวอย่างประเด็นราคาสินค้าเกษตรฯ และการยิงกระสุนด้านของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่สามารถทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นขึ้นได้
และก่อนปิดอภิปรายฯ ในช่วงค่ำกลับมาเดือดอีกครั้งเมื่อมีการพูดถึงขบวนการ IO ภาคใหม่ โดย ‘ชยพล สะท้อนดี’ ที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพที่ใช้โจมตีการเมืองขั้วตรงข้าม
แม้จะไม่สามารถดึงความสนใจจากประชาชนผู้ติดตามได้มากนัก เพราะยังไม่มีข้อมูลใหม่มากพอที่จะสร้างความฮือฮาและการพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่ก็มีลูกเล่นการอภิปราย อย่าง การใช้ QR code เพื่อสร้างส่วนร่วมระหว่างการเมืองในสภาฯและนอกสภาฯให้เห็นถึงข้อมูล ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งที่พรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘ประชาชน’ ใช้มาโดยตลอดโดยเฉพาะ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’
อีกอย่างคือการอภิปรายนอกห้องประชุมสภาฯ ที่เป็นยุทธศาสตร์ขยายผล ซึ่งถือเป็นการปรับตัว และการรับมือหากมีการกดดันให้ต้องหยุดอภิปรายฯ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ฝ่ายค้านชุดนี้ใช้ในทางการเมือง
• ‘โต้ด้วยการเมือง ตอบด้วยรัฐมนตรีและระบบราชการ’
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายและถูกกล่าวหา ลุกขึ้นชี้แจง 4 ครั้ง ตลอดการอภิปรายฯ ในช่วง 2 วัน ที่ผ่านมา
ครั้งที่ 1 คือ ลุกขึ้นตอบโต้พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้น “ไม่เป็นความจริง”
ครั้งที่ 2 คือ ชี้แจงเรื่องบัญชีทรัพย์สิน และการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีโดยใช้ตั๋ว P/N ที่มีการกล่าวหา
ครั้งที่ 3 คือ ชี้แจงเรื่องมาตรการการควบคุมมลพิษ ‘ฝุ่น PM2.5’
ครั้งที่ 4 คือ ชี้แจงข้อกล่าวหาในภาพรวมก่อนปิดการอภิปรายฯ
แต่ละครั้งของนายกรัฐมนตรี เน้นตอบโต้ทางการเมืองและใช้คำพูดเพื่อปิดข้อกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม โดยหวังใช้คำพูดนี้ขยายผลไปยังบนสื่อออนไลน์ ซึ่งได้ผลเมื่อมีการ Quote คำ หรือแปะ Meme เพื่อส่งต่อและกล่าวถึงบนโลกออนไลน์
ส่วนจะเป็นผลบวกหรือลบต่อนายกรัฐมนตรีนั้นคงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ที่แน่ ๆ วาทะของนายกรัฐมนตรีกลบทุกเนื้อหาของฝ่ายค้าน เช่น คำพูดที่ว่า …ที่สมาชิกอาวุโสพูดมา ‘ไม่เป็นความจริง’
…ถึงแม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่านแต่ดิฉันมั่นใจว่า ‘จ่ายภาษีมากกว่าท่าน’
…ถูกครอบงำโดยพ่อ ‘แต่ท่านถูกครอบงำโดยคนไม่ใช่พ่อ’
…การซื้อที่อัลไพน์ตอนดิฉันอายุ 11 ขวบแล้ว ท่านก็ยังอภิปรายในเรื่องของไม่ทราบว่ารัฐบาลชุดไหนทำด้วย …ดิฉันรับฟังก็คิดขึ้นมาว่า ‘อะไร อะไร ก็ดิฉันนะคะ’
ขณะที่ฝ่ายข้อมูล บรรดารัฐมนตรีลูกพรรคต่างพรรคต่างออกมาชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี นับรัฐมนตรีที่ขึ้นมาชี้แจงได้ 16 ราย ตามลำดับดังนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย อนุทิน ชาญวีรกูล พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อิทธิ ศิริลัทธยากร เอกนัฐ พร้อมพันธุ์ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ จิราพร สินธุไพร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง วราวุธ ศิลปอาชา สุชาติ ชมกลิ่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พิชัย นริพทะพันธุ์ พิชัย ชุณหวชิร เผ่าภูมิ โรจนสกุล ประเสริฐ จันทรรวงทอง ชูศักดิ์ ศิรินิล รวมไปถึงจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ที่ลุกขึ้นตอบโต้ในฐานะส.ส.ก่อนการปิดอภิปรายฯ
และยังมีการตอบจากฝ่ายราชการผ่าน กรมสรรพากร และกรมที่ดินที่ออกมาให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องตั๋ว P/N และกรณีการครอบครองที่ดินที่เขาใหญ่
สรุปการอภิปรายฯ ครั้งนี้ ผมให้คะแนนเสมอกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งสองฝ่ายสอบได้ แต่คะแนนยังไม่สูงมากนัก เพราะยังมีจุดที่เป็นการบ้านและโจทย์ที่ต้องปรับปรุงในการสื่อสารต่อสังคม มากกว่านี้ ที่ผ่านมาเราเห็นแค่เพียงการโต้ตอบกันในสภาฯ แต่ยังไม่ได้เห็นการสื่อสารกับประชาชนเท่าไหร่นัก หลายเรื่องยังดูไกลตัวของประชาชนส่วนเรื่องใกล้ตัวไม่ได้ถูกสื่อสารขยายความ ซึ่งรัฐบาลจะปรับปรุงแก้ไข ข้อกล่าวหาด้วยวิธีการใด ฝ่ายค้านฯ จะขยายผลต่อหรือไม่ เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องติดตามกันต่อไป