สุขภาวะในการดำรงอยู่
มีข้อสังเกตข้อหนึ่งที่ผมเคยอ่านพบว่า บางคนมีความรู้ในสาขาหนึ่ง แต่สามารถพูดเป็นคุ้งเป็นแควในสาขาที่ตนไม่มีความรู้เลยได้ บางคนเข้าข่ายตามคำกล่าวภาษาอังกฤษว่า เป็น Jack of all trades, master of none (Google คงถอดความให้ได้) ผมพิจารณาว่าตนเองน่าจะตรงตามข้อสังเกตข้างต้น แต่มีข้อแก้ตัวเล็กน้อยว่า เพราะมีความอยากรู้และชอบอ่าน พอพบเกร็ดที่น่าสนใจ ก็เลยอยากนำมาเขียนเป็นบทความ บ่อยครั้งมีความรู้น้อยในเรื่องที่เขียน จึงขอความเมตตาและอดทนด้วย บางข้อเขียนเป็นเพียงความฉงน แต่เห็นว่าพอเป็นประโยชน์ได้ โดยขอให้ผู้รู้ช่วยขยายความหรือช่วยเสริมความเข้าใจต่อไปด้วย
เรื่องที่เขียนเป็นบทความนี้ เริ่มด้วยเรื่องที่พบในบทความที่แพลตฟอร์ม Academia ส่งมาให้อ่าน ชื่อเรื่องว่า Existential Wellbeing ซึ่งขอแปลว่า “สุขภาวะในการดำรงอยู่” เลยสืบค้นต่อทางอินเตอร์เน็ต พบบทความอีกบทความหนึ่งที่ผู้เขียนคือ ซูวี-มาเรีย ซารเรลัยเน็น เธอให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจและไม่ยาวนัก (ดู https://uefconnect.uef.fi/en/existential-wellbeing/) จึงขอนำมาย่อความ ดังนี้
ลักษณะเฉพาะของสุขภาวะในการดำรงอยู่ คือการค้นให้พบถึงความหมายของการดำรงอยู่ในระดับบุคคล และการทำให้ตนสามารถรับมือกับความทุกข์ยากที่ชีวิตนำมาให้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สุขภาวะดังกล่าวหมายถึงความเข้าใจที่สามารถหนุนช่วยการดำรงความหมายของชีวิต ในยามที่วิกฤตของความหมายมาเยือนได้อย่างไร
ความหมายของชีวิตเกี่ยวพันใกล้ชิดกับสุขภาวะของบุคคล ในยามที่ชีวิตมีความสมดุล เราไม่ค่อยไตร่ตรองถึงที่มาของความหมาย เพียงพอใจว่าชีวิตมีความหมายก็แล้วกัน พอใจว่ามีสุขภาพดี, มีสุขภาวะ, มีสายสัมพันธ์, มีการพัฒนาตนเต็มตามศักยภาพ (self-actualisation) และในมุมมองที่กว้างออกไป มีสำนึกรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน สังคม มนุษยชาติ และโลกพิภพใบนี้ อย่างไรก็ดี ชีวิตมักไม่ราบรื่น ความทุกข์จะมีมากระทบกระแทกแหล่งที่มาเดิม ๆ ของความหมาย วิกฤติเช่นนี้ทำให้เราต้องค้นหาแหล่งที่มาใหม่ของความหมาย และเสริมแรงแหล่งเดิม ๆ ที่คงอยู่
ในบทความชื่อ “สุขภาวะในการดำรงอยู่อาจเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับหลายคน” ผู้เขียนคือ ตีโมที ยู, และ พอล หว่อง พวกเขาให้เหตุผลว่า แม้เรื่องนี้จะสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับสุขภาวะด้านอื่น ๆ เพราะตรงประเด็นและตรงกับสถานการณ์กว่าสำหรับผู้คนจำนวนมาก แต่จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology PP) กระแสหลัก มักมองข้ามเรื่องนี้ไป คราวนี้มีคำศัพท์อีกคำที่ต้องเรียนรู้คือ PP
ยู กับ หว่อง อธิบายว่า จิตวิทยาเชิงบวกกระแสหลักเน้นในเรื่องความจำเริญงอกงามของมนุษย์ สรุปใจความเป็นคำย่อว่า PERMA (โดยที่ P มาจากคำว่า Positive Emotion หรืออารมณ์เชิงบวก, E จาก Engagement หรือ การเข้าพัวพัน, R จาก Relationships หรือปฏิสัมพันธ์, M จาก Meaning หรือความหมาย, และ A จาก Accomplishment หรือความสำเร็จ) ซึ่งเท่ากับว่า ด้านมืดโดยเฉพาะความทุกข์ของมนุษย์ ถูกมองข้ามไป ความทุกข์อาจเกิดจากภัยพิบัติ เช่น โรคระบาด วัฒนธรรมเป็นพิษ ฯลฯ การหลีกเลี่ยงความทุกข์นั้นอาจมีผลย้อนแย้งเป็นการทำให้ยิ่งทุกข์หนักขึ้นได้ จึงควรหาทางรับมือ, ก้าวพ้น, และแปลงเปลี่ยนความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะดีกว่า
เนื่องจากคำสอนเรื่องความทุกข์เป็นคำสอนหลักของพุทธศาสนา ผมเลยมีความสนใจเพิ่มขึ้น พร้อมความอยากรู้ว่าบทความดังกล่าวมีข้อสังเกตหรือข้อเสนออะไร ข้อสังเกตแรกคือจิตวิทยากระแสหลักอยู่ในกรอบคิดของสังคม ซึ่งมีลักษณะที่สรุปเป็นคำย่อว่า WIERD (W มาจากคำว่า Western หรือสังคมตะวันตก, I มาจาก Industrialized หรือสังคมอุตสาหกรรม, E มาจาก Educated หรือมีการศึกษา, R มาจาก Rich หรือรุ่มรวย, และ D มาจาก Democratic หรือเป็นประชาธิปไตย) ส่วนข้อเสนอคือการพัฒนาจิตวิทยาที่ไปไกลกว่าเดิม คือให้รวมถึงสังคมที่ไม่ใช่สังคม WEIRD คือทำให้เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์สุขภาวะของโลก
ข้อสังเกตข้อต่อไปเกี่ยวกับวิธีศึกษาวิจัย ข้อเสนอคือการวิจัยกระแสหลักควรเปิดกว้างขึ้นกว่าการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเปิดรับข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งหมดเท่าที่มี รวมถึงความหมายเชิงอัตวิสัยของประสบการณ์ของจิตสำนึก เพื่อลดช่องว่างจากการแยกส่วนเป็นอัตวิสัยและวัตถุวิสัย จากการแยกส่วนเป็นเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากแนวทางทั้งสองอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุความเข้าใจทั้งต่อตัวบุคคลและสภาวะของมนุษย์ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
ยู และ หว่อง มีความเห็นว่าแนวทางหนึ่งในการพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก (PP) คือการต่อยอดให้เป็นจิตวิทยาเชิงบวกในการดำรงอยู่ (Existential Positive Psychology EPP) โดยคำนึงถึงด้านมืดของจิตมนุษย์ด้วย จิตวิทยาเช่นนี้อิงอาศัยสำนักจิตวิทยาต่าง ๆ เช่น จิตวิทยาการดำรงอยู่, จิตวิทยามนุษยนิยม, จิตวิทยาชนเผ่าดั้งเดิม และอิงอาศัยคำสอนของศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ เช่น ศาสนาคริสต์, ศาสนาพุทธ, ลัทธิเต๋า เพื่อสังเคราะห์ถึงทั้งด้านสว่างและด้านมืดของการดำรงอยู่ของมนุษย์
ยู และ หว่อง เสนอว่า จิตวิทยาเชิงบวกในการดำรงอยู่ หรือ EPP ควรไปให้ไกลกว่าจิตวิทยาของสังคม WEIRD โดยรวมแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะและการเจริญงอกงามของสังคมอื่น ดังตัวอย่างจากสังคมตะวันออก เช่น แนวคิดอทวิภาวะ (วิภาษวิธี หยิน – หยาง) แนวคิด อู๋เว่ย หรือ การกระทำที่สอดคล้องกับวัฏจักรของธรรมชาติ จึงดูเหมือนไม่กระทำ เป็นต้น
จิตวิทยา EPP มีหลักบัญญัติ (tenets) 3 ประการดังนี้
1) สภาพบวกที่แท้คือการเห็นและเป็นแสงสว่างในความมืด
2) การรับมืออย่างมีประสิทธิผลกับความทุกข์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงขึ้นอยู่กับตรรกะแบบวิภาษวิธี/ย้อนแย้ง มากกว่าตรรกะทวินิยม/เชิงเหตุผล, มากกว่าสภาวะเหนือตน (self-transcendence), และมากกว่าการพัฒนาชุดความคิดความทุกข์เชิงบวก (Positive Suffering Mindset PSM)
3) ผลลัพธ์เชิงบวกได้แก่การมองโลกทั้งในแง่ดีและน่าเศร้า, การขอบคุณสำหรับการดำรงอยู่, และความสุขอย่างมีวุฒิภาวะ อันนำไปสู่สันติภายใน, ความสมดุล, และความกลมกลืน
ยู และ หว่อง สรุปจิตวิทยาเชิงบวกในการดำรงอยู่ หรือสุขภาวะในการดำรงอยู่เป็นแผนผัง ดังนี้
ณ พื้นที่ร่วมอันสมดุลของ 1) ชีวิตที่มีความหมาย (ด้านสมอง) 2) ความทุกข์ที่มีความหมาย (ด้านความเจ็บปวด) 3) การเปิดรับพหุวัฒนธรรม (ด้านวัฒนธรรม) เราจะพบสุขภาวะในการดำรงอยู่
เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ผมสนใจปรัชญาที่ถกเถียงกันมากในยุคนั้น นั่นคือปรัชญาอัตถิภาวนิยม (existentialism) หรือจะขอใช้ศัพท์พื้น ๆ ว่า “คติที่ถือการดำรงอยู่” เรื่องนี้ยากเกินความเข้าใจของผมอีกนั่นแหละ อย่างไรก็ดี ความสนใจของผมมุ่งไปในด้านจริยธรรมของปรัชญาแนวนี้ จึงพยายามแปลหนังสือชื่อ “แด่จริยธรรมแห่งความคลุมเครือ” เขียนโดย ซีโมน เดอ โบวัวร์ เมื่อผมอ่านบทความของ ยู และ หว่อง ดังที่ยกมาอ้างข้างต้น ผมก็คิดถึงหนังสือเล่มนี้ทันที มีคำถามอยู่ว่า “คติที่ถือการดำรงอยู่” กับสุขภาวะในการดำรงอยู่มีความสอดคล้องกันบ้างไหม?
เดอ โบวัวร์เขียนถึงการให้พื้นที่แก่ความชั่วร้ายและความดำมืดว่า
“คติที่ถือการดำรงอยู่คล้ายกับศาสนาในแง่ที่ว่า เป็นคตินิยมเดียวที่มีพื้นที่ให้แก่ความชั่วร้าย และด้วยเหตุนี้กระมัง ที่คตินิยมนี้ถูกตัดสินว่าดำมืด กล่าวคือ มนุษย์ไม่ชอบรู้สึกตนว่าตกอยู่ในอันตราย กระนั้น ก็เพราะว่ามีอันตรายจริง มีความล้มเหลวจริง มีการตกนรกในโลกนี้จริงนั่นแหละ ที่คำว่าชัยชนะ ปรีชาญาณ หรือความปีติจึงมีความหมาย ไม่มีอะไรที่ตัดสินไว้ล่วงหน้า และเพราะว่ามนุษย์มีบางอย่างที่จะสูญเสียและสามารถแพ้ได้ด้วย เขาจึงสามารถชนะได้เช่นกัน”
คติที่ถือการดำรงอยู่ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพ มีคำกล่าวที่ย้อนแย้งอยู่ว่า “เราไม่มีเสรีภาพที่จะไม่เลือก เราถูกตัดสินโทษให้มีเสรีภาพ” แล้วเสรีภาพจะให้มิติทางจริยธรรมแก่เราได้อย่างไร เรามีเสรีภาพที่จะทำเรื่องที่ดี หรือที่เลวร้ายได้หมดหรือ ในเรื่องนี้ เดอ โบวัวร์เสนอว่า “เราไม่อาจปรารถนาเสรีภาพได้โดยไม่เล็งอนาคตที่เปิดกว้าง จุดหมายที่เสรีภาพกำหนดขึ้นนั้น การใคร่ครวญใด ๆ ก็ไม่สามารถข้ามพ้นไปได้ มีแต่เพียงเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำให้จุดหมายเหล่านั้นขยายออกไปไกลกว่าชีวิตของเรา”
และเธอสรุปว่า “มนุษย์จะสามารถพบเหตุผลสนับสนุนการดำรงอยู่ของตนได้ก็แต่ในการดำรงอยู่ของเพื่อนมนุษย์ ฉันจะห่วงใยในสิ่งที่ฉันไม่ใส่ใจได้อย่างไร ฉันใส่ใจผู้อื่น และฉันคือผู้ที่พวกเขาใส่ใจ นี่แหละคือความจริงที่แยกส่วนไม่ได้ ความสัมพันธ์ ฉัน-เพื่อนมนุษย์ ก็เหมือนความสัมพันธ์ องค์ประธาน (subject) – กรรมวัตถุ (object) ตรงที่ไม่อาจแยกกันได้ การอยากให้ตนมีเสรีภาพคือการอยากให้ผู้อื่นมีเสรีภาพด้วย”
ผมจึงอยากเพิ่มในหลักบัญญัติข้อ 2) ของ ยู กับ หว่อง ว่า การรับมืออย่างมีประสิทธิผลกับความทุกข์คือการเห็นคุณค่าของเสรีภาพของเราและของผู้อื่นในการดำรงอยู่
ในการดำรงอยู่ เราทุกคนมีประสบการณ์ต่าง ๆ นานา แต่มักเลือกชอบประสบการณ์ดี ๆ และกลบเกลื่อน กดทับ เก็บความทุกข์ ความขัดข้องไว้ในจิตใต้สำนึก เป็นต้น แล้วไม่ตระหนักรู้ว่า นั่นคือการเลี้ยง “ผี” ที่มองไม่เห็น ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา แต่มันมักแสดงฤทธิ์เดชและชักนำเราโดยไม่ทันรู้ตัว หรือโจมตีเราในยามที่จิตตก มีวลีวลีหนึ่งที่เพิ่งได้อ่าน และคิดอยู่ว่ามันอาจจะตรงกับประเด็นนี้ วลีนั้นกล่าวว่า “การผลัดวันประกันพรุ่งคืออาการหนึ่งของภาวะซึมเศร้า” “ผี” อาจแสดงอาการต่าง ๆ โดยกลบเกลื่อนว่าไม่ได้มาจากมัน คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรดีกับ “ผี” ตนนั้นของเรา บทความนี้กล่าวถึงจิตวิทยา จิตวิทยาเชิงบวกหรือในการดำรงอยู่ก็เถอะ จะเพียงพอแก่การสร้างสันติภายในได้จริงหรือ หรือว่าเรายังต้องอาศัยสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วย แล้วจิตวิทยากับจิตวิญญาณสัมพันธ์กันไหม อย่างไร
เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ ผมลองค้นดูจากหนังสือชื่อ “เราต่างมีพุทธะในตัวเอง” เชอเกียม ตรุงปะ เขียน สมภพ แจ่มจันทร์ แปล ตรุงปะเขียนว่า เราไม่ควรแบ่งประเภท ไม่ต้องบอกว่า “ตอนนี้ฉันกำลังใช้การบำบัดแนวพุทธ” หรือ “ฉันกำลังใช้การบำบัดแนวตะวันตก” ทั้งสองแนวต่างก็เป็นแค่สามัญสำนึก
แนวทางที่ตรุงปะอยากส่งเสริมคือ แนวทางที่เป็นธรรมชาติและส่งเสริมความเป็นมนุษย์ในผู้อื่น “แนวทางนี้เริ่มต้นด้วยความอบอุ่นในตัวเราที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ในตอนแรกเราอาจพัฒนาความอบอุ่นในตัวเราขึ้นมา จากนั้นก็แผ่ขยายไปยังผู้อื่น การปฏิบัติเช่นนี้นำมาซึ่งรากฐานในการสัมพันธ์กับผู้ที่มีปัญหา กับกันและกัน และกับตัวเราเอง เริ่มต้นด้วยความอบอุ่น … ซึ่งนั่นทำให้เราชื่นชมยินดีที่ได้เป็นมนุษย์ … รู้สึกว่ามีการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างแท้จริงระหว่างทั้งสองฝ่าย เขาจะเริ่มปล่อย เขาจะเริ่มสำรวจเธอ และเธอก็เริ่มที่จะสำรวจเขา มิตรภาพที่ปราศจากคำพูดเริ่มก่อตัวขึ้น … ยิ่งเธอชื่นชมยินดีกับความเรียบง่ายมากเท่าใด ความเข้าใจของเธอก็จะลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น”
ผมสรุปได้ไหมว่า สุขภาวะทางจิตวิทยาก็ดี สุขภาวะทางจิตวิญญาณก็ดี ย่อมมาบรรจบกัน โดยเฉพาะเมื่อแถมคติการถือการดำรงอยู่ หรือประสบการณ์ตรงเข้าไปด้วย
บทสุดท้ายของหนังสือของตรุงปะที่อ้างถึง มีชื่อบทเป็นคำถามว่า “การภาวนาเป็นการบำบัดหรือไม่?” ตรุงปะไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง เพียงขึ้นต้นด้วยการปรารภว่า “ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณก็ควรจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย แต่ที่พูดมานี้ก็เป็นเพียงไอเดียเท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ เราก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก แต่กลับประสบปัญหาเรื่องความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ นี่ดูจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แนวคิดเรื่องการภาวนา การบำบัด และภาวะจิตปกติ เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้”
ตรุงปะลงท้ายว่า “หากกล่าวว่าการภาวนาคือการบำบัด ย่อมเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อสติปัญญาของจักรวาล และต่อจิตสำนึกอันเป็นสากล หากบอกว่าการภาวนาไม่ใช่การบำบัด เราย่อมมีส่วนช่วยทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพ ตัวเสรีภาพไม่ถือเป็นการบำบัด แต่เป็นการแสดงออกถึงความเปิดกว้าง” ดูเหมือนว่า แม้ตรุงปะจะให้เราระวังเรื่องเทคโนโลยี แต่เตือนเราเช่นกัน มิให้ถือว่าการภาวนาคือการบำบัดโดยสมบูรณ์
ในหนังสือชื่อ “กะเทาะเปลือกเส้นทางจิตวิญญาณ” มาเรียนา แคปแลน เขียน กรรณิการ์ พรมเสาร์ แปล มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมื่อชุมชนจิตวิญญาณชุมชนหนึ่งยืนยันไม่เชื่อในจิตวิทยา บทบาททางจิตวิทยาถูกปฏิเสธหรือด้อยค่า … ชุมชนนั้นจะไม่ทำความเข้าใจว่าตนเองนั้นมีส่วนทำเกิดความผิดปกติทางจิตใจ นี้ไม่ได้หมายความว่าความผิดปกตินั้นไม่ได้กำลังเกิดอยู่ เพียงแต่มันไม่ถูกตรวจสอบเท่านั้น”
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในหนังสือดังกล่าวที่น่าสะเทือนใจ และอาจช่วยเตือนผู้สนใจการเดินทางด้านจิตวิญญาณได้บ้าง เรื่องนี้เล่าถึงหญิงชาวสเปนผู้หนึ่งชื่อ แมรเซแดส เธอเติบโตมาในหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของสเปน พ่อล่วงละเมิดทั้งเธอและน้องสาว ทั้งทางกาย ทางเพศ และทางวาจา เมื่อตอนที่เธอทั้งคู่ยังเป็นเด็ก ส่วนแม่เธอเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงและยอมคน ไม่ดิ้นรนโต้แย้งใด ๆ ไม่เคยปกป้องลูก เมื่อแมรเซแดสอายุสิบเก้าปี เธออ่านหนังสือเจอเรื่องการทำสมาธิ หลังจากที่เธอทดลองฝึกอยู่ไม่นานนัก เธอก็มีประสบการณ์ที่ทรงพลังในการเปลี่ยนสภาวะการรู้สึกตัวได้ ไม่มีใครในสภาพแวดล้อมที่บ้านเข้าใจเธอ เธอจึงเดินทางไปอาศัยอยู่ที่อาศรมแห่งหนึ่งในอินเดียตอนเหนือ
พอมาอยู่ที่อินเดีย เธอฝึกจิตแบบเข้มข้นเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ภายใต้การดูแลของครูกลุ่มเล็ก ๆ ผู้ทรงพลัง ดูเหมือนไม่มีใครฝึกฝนอย่างมีวินัย กระตือรือร้น เท่าแมรเซแดส เธอบำเพ็ญตบะ รับใช้ สวดมนต์ และกำหนดพิจารณา ประสบภาวะอันประเสริฐแห่งการรู้แจ้ง และได้รับการเคารพนับถือจากทุกคนที่รู้จักเธอ ประการเดียวที่ไม่ยอมแตะ คือ “ผี” จากอดีตที่เธอทิ้งไว้ข้างหลัง
ถึงช่วงเวลาหนึ่ง เธอเจอความยุ่งยากหลายอย่าง ประกอบกับครูหลักทุกคนและแม่ของเธอได้จากไป เธอเกิดเป็นโรคจิตเภท เก็บตัว หยุดพูด เลิกอาบน้ำ ไม่มีสติรู้ตัว ตรอมใจครั้งละนานนับสัปดาห์ ก้าวร้าวใส่คนที่พยายามช่วย บอกว่ากำลังอยู่ในสภาวะหนึ่งเดียวทางจิตวิญญาณ ไม่อยากให้ใครรบกวน สุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาโรควิกลจริตและซึมเศร้า แต่เธอก็ไม่สนใจบำบัดต่อให้จบ
ที่ย้อนแย้งก็คือ บาดแผลทางใจในวัยเด็ก อาจเป็นของขวัญ ที่ปลุกเราให้ตื่นรู้ในความเป็นไปได้ที่อยู่ลึกลงไป แต่ถ้าเรามุ่งมั่นเดินทางทางจิตวิญญาณโดยไม่แก้ไขบาดแผลเหล่านี้ การรู้แจ้งจะไม่สมบูรณ์ หรือปัญหาที่ไม่ได้รับการจัดการจะกลับมา บ่อยครั้งในเวลาที่ไม่สะดวกอย่างยิ่ง
ผมได้ออกตัวไว้ในตอนต้นของบทความว่า เรื่องสุขภาวะในการดำรงอยู่แม้น่าสนใจ แต่ผมยังรู้น้อยมาก กระนั้นได้พยายามตั้งคำถามไว้ดังนี้
1) สุขภาวะในการดำรงอยู่หมายความว่าอะไร เหมือนหรือต่างกับจิตวิทยาเชิงบวกในการดำรงอยู่หรือไม่
2) สุขภาวะในการดำรงอยู่สัมพันธ์/สอดคล้องกับปรัชญาอัตถิภาวนิยม (คติที่ถือการดำรงอยู่) อย่างไรหรือไม่
3) สุขภาวะในการดำรงอยู่เกี่ยวข้องกับการภาวนา ตลอดจนการบำบัดทางจิตวิทยาและการบำบัดทางจิตวิญญาณอย่างไรหรือไม่
โคทม อารียา