ผู้เขียน | เสถียร จันทิมาธร |
---|
การชี้นิ้วฟันธงว่าภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในแผ่นดินเกิดจาก 1 ฮ่องเต้ที่ยังเยาว์ มิได้ตั้งอยู่ในโบราณราชประเพณี แลมิได้คบหาคนสัตย์ธรรม เชื่อถือแต่คนอันเป็นอาสัตย์ ประพฤติแต่ตามอำเภอใจแห่งพระองค์
และ 1 มีขันทีผู้ใหญ่ชื่อเทาเจียด กับพวกขันทีทั้งปวงเห็นว่าฮ่องเต้ที่ยังเยาว์รักใคร่ไว้พระทัย
จึงคิดกันกระทำการหยาบช้าต่างๆ
“แต่บรรดาราชกิจสิ่งใดนั้นขันทีว่ากล่าวเอาผิดเป็นชอบ ขุนนางแลอาณาประชาราษฎรได้รับความเดือดร้อนนัก”
เมื่อเรียบเรียง “ประวัติศาสตร์จีน” ตีพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 ทวีป วรดิลก ระบุในตอนว่าด้วย “ตงฮั่น-ฮั่นตะวันออก” ในลักษณะ ฟันธงว่า
ความต้องการของพวกขันทีมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ความร่ำรวยของตนโดยเฉพาะ
และโดยที่พวกนี้มาจากระดับล่างของสังคม ด้อยการศึกษา จึงมีความละโมบ อย่างปราศจากความละอาย พยายามตักตวงผลประโยชน์ใส่ตนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
พร้อมกับอ้างอิงข้อมูลจาก ซี.พี.ฟิตซ์เจอรัลด์
พวกขันทีเป็นผู้ชายแต่เพียงพวกเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างจะขาดเสียมิได้ และก็ใกล้ชิดกับองค์จักรพรรดิอยู่เป็นประจำ
มีแต่ขันทีเท่านั้นที่รู้จุดอ่อนต่างๆ ในอุปนิสัยใจคอขององค์จักรพรรดิ
เอาประโยชน์จากอคติของพระองค์และก็สามารถตอบสนองอำเภอพระทัย ไม่ว่าจะพิลึกพิลั่นเพียงไรของพระองค์ได้
ขันทีเป็นพวกเดียวที่เป็นช่องทางให้จักรพรรดิได้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ห่างไกลออกไปจากในพระราชวัง พวกขุนนางและเสนาบดีทั้งหลายอาจทูลถวายรายงานหรือทูลเกล้าฯถวายฎีกา
แต่จากพวกขันทีเท่านั้นที่จักรพรรดิจะได้ทรงทราบถึงเรื่องทำนองซุบซิบนินทาจากโลกภายนอก
และทรงได้ยินได้ฟังก็แต่เฉพาะเรื่องราวที่พวกขันทีได้เลือกแล้วที่จะทูลให้ทรงทราบ
ในรัชกาลต้นๆ เมื่อองค์จักรพรรดิเองประสูติภายนอกพระราชวังได้ขึ้นครองราชย์ก็แต่เมื่อทรงเป็นบุรุษวัยกลางคนที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว อิทธิพลของพวกขันทีดังกล่าวย่อมไม่สู้มีความสำคัญนัก
แต่ครั้นเมื่อรัชทายาทของจักรพรรดิสมัยต้นรัชกาลได้ขึ้นครองราชย์เหมือนเช่นที่มีบ่อยๆ ในสมัยศตวรรษที่ 2
เมื่อรัชทายาทที่ประสูติและเติบโตขึ้นมาในพระราชวังภายใต้การเลี้ยงดูของขันที และพวกขันทีนั้นเองก็เป็นพระพี่เลี้ยงด้วยนับแต่พระองค์ยังเยาว์วัย องค์จักรพรรดิก็เลยเป็นเสมือนเครื่องเล่นของพวกขันทีเหล่านี้
ซึ่งรู้ดีว่าจักรพรรดิมีจุดอ่อนเช่นไร จึงได้ระบายสีสันทุกสิ่งทุกประการที่ทรงเรียนรู้จากโลกภายนอก และก็สามารถเพ็ดทูลให้ทรงมีอคติต่อขุนนางชั้นเสนาบดีที่ตนชิงชังได้
ในกรณีที่ขุนนางผู้นั้นพยายามต่อต้านอิทธิพลของพวกตน
ขณะเดียวกัน ทวีป วรดิลก ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ชนชั้นใหม่ชนชั้นหนึ่งซึ่งทรงความสำคัญขึ้นมาได้แก่บัณฑิต-ขุนนางสาวกลัทธิขงจื่อซึ่งถือว่าระบบราชการของอาณาจักรเป็นของชนชั้นตนโดยธรรมชาติ
เพราะระบบการศึกษาที่จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นตะวันตกได้วางรากฐานไว้ก็อยู่ที่ลัทธิขงจื่อ โดยเฉพาะในการสอบไล่เพื่อเข้ารับราชการ
ก็สอบคำสอนต่างๆ ของลัทธิขงจื่อ
แต่ครั้นเมื่อได้เป็นขุนนางแล้ว การณ์กลับปรากฏว่าตำแหน่งขุนนางต่างๆ ถูกขันทีเอาไปขาย หรือจัดสรรแต่งตั้งกันตามอำเภอใจแล้วแต่ใครจะให้สินบนมากกว่ากัน
ในเมื่อพวกบัณฑิต-ขุนนางเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยกันทุกคนที่ยากจนก็มี
ครั้นมาถึงยุคขันทีเป็นใหญ่เมื่อไม่มีเงินทองติดสินบนก็ต้องดักดานโดยปราศจากความก้าวหน้าใดๆ ไม่ว่าจะมีความสามารถและซื่อสัตย์สุจริตเพียงไหนด้วย
สำหรับข้าราชการที่เป็นขุนนางฝ่ายทหารก็เช่นกัน เมื่อต้องมาเผชิญกับแม่ทัพนายกอง
ที่สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ก็แต่โดยการซื้อตำแหน่งหรือติดสินบนขันทีทั้งๆ ที่ไม่มีคุณวุฒิความสามารถในการสงครามใดๆ
ก็ย่อมจะต้องมีความชิงชังพวกขันทีเป็นธรรมดา
บ รรดาขุนนางทั้งพลเรือนและทหารดังกล่าวนี้ต่างก็มีความชิงชังรังเกียจขันทีอยู่ร่วมกัน
น่าเสียดายแต่ที่ไม่มีความร่วมมือกันในการต่อต้านขันที
คงมีแต่พวกบัณฑิต-ขุนนางซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสาวกขงจื่อเท่านั้นที่ออกโรงแสดงบทบาทต่อต้านขันทีกันอย่างแข็งขัน
สำหรับความรู้สึกของประชาชนทั่วไปก็สนับสนุนหรือเข้าข้างพวกบัณฑิต-ขุนนางไม่มีปัญหา สาเหตุนั้นไม่เพียงแต่ว่าชาวจีนยกย่องให้เกียรติผู้รู้หนังสือและลัทธิขงจื่อเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นเพราะคนยากคนจนก็ถูกขันทีกดขี่ข่มเหงอย่างไม่น้อยหน้าหรือยิ่งกว่าเสียอีก
ในปี ค.ศ.165 บรรดาสาวกขงจื่อที่ถือว่าขันทีเป็นพิษเป็นภัยต่อบ้านเมืองก็ทำการรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านอิทธิพลของขันที ในปีต่อมาก็ได้จัดตั้ง “สมาคม” ขึ้น
แสดงออกโดยหน้าฉากว่ามีวัตถุประสงค์เผยแพร่ลัทธิขงจื่อ หากแต่ความมุ่งหมายที่แท้จริงนั้นมุ่งต่อต้านอิทธิพลของขันทีโดยตรง
สมาคมนี้ประกอบด้วยตระกูลเก่าแก่หลายตระกูลที่ทรงอิทธิพลมาแต่เดิม และพวกนักศึกษาที่พร้อมใจกันแสดงบทบาทคัดค้านขันที ยื่นหนังสือประท้วงจนถึงทูลเกล้าฯถวายฎีกา
สมาคมนี้จึงกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านอำนาจและอิทธิพลขันทีและก็ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ซื่อสัตย์สุจริตทั้งหลาย รวมทั้งขุนนางผู้น้อยในเมืองหลวง
ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และนอกเมืองหลวงด้วย
ในเมื่อการโจมตีต่อต้านขันทีดำเนินไปในยามที่ชีวิตชนบทกำลังเสื่อมทรามลง ชาวไร่ชาวนาได้รับความลำบากยากแค้นขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาราชมหาวิทยาลัยซึ่งมีจำนวนถึง 300,000 คน
ก็เข้าร่วมกับ “สมาคม” ในการ “ประท้วง”
ในระยะต้นก็ประสบผลสำเร็จในการบีบบังคับให้ขันทีต้องลาออก บางรายถึงกับฆ่าตัวตายหรือถูกประหารชีวิตในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
นักศึกษาราชมหาวิทยาลัยได้จัดชุมนุมกัน ณ พระราชวัง เพื่อแสดงความสนับสนุน “การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต” (ต่อขันที) ครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างที่การชุมนุมขยายตัวอย่างรวดเร็วจากเมืองหลวงไปตามท้องที่ต่างๆ
ขันทีก็ได้วางแผนตอบโต้ด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรง
บรรดาบัณฑิตและขุนนางที่เป็นผู้นำในการต่อต้านขันทีต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง จับกุมคุมขังจนถึงประหารชีวิต
มีการประกาศนิรโทษกรรมขันทีที่ถูกดำเนินคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง
พวกบัณฑิตและขุนนางที่บ้านเดิมอยู่ในท้องที่ต่างๆ นอกเมืองหลวงต้องถูกเนรเทศกลับบ้านเดิม ห้ามไม่ให้อยู่ในเมืองหลวงต่อไป
ถูกตัดขาดจากชีวิตขุนนาง หมดสิ้นตำแหน่ง ปราศจากรายได้และเกียรติ
เสถียร จันทิมาธร