งบประมาณยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคและการกระจายลงพื้นที่จังหวัด
ในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินได้กำหนดยุทธศาสตร์ หรือเป้าหมายการใช้จ่ายเงินไว้หลายประเภท หนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน (ต่อมาปรับชื่อเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาค) กระจายลงพื้นที่ 77 จังหวัดที่น่าสนใจ อย่างน้อยที่สุดในมุมมองนักวิชาการสังคมศาสตร์หลายสาขาที่เฝ้าสนใจว่า งบประมาณนี้ช่วยลดความยากจน-สร้างโอกาส-และช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ นำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมกับข้อคิดเห็นและวิจารณ์ตามสมควร
กรมบัญชีกลาง เป็นหน่วยงานรัฐที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่การเบิกจ่ายเงินให้ส่วนราชการ ได้พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สะท้อนการรับงบประมาณของกระทรวง/กรม และการกระจายลงพื้นที่จังหวัด จากฐานข้อมูล 9 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2568) ตารางที่ 1 แสดงสถิติหน่วยรับงบประมาณและวงเงิน ในจำนวนนี้มี 12 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณรวมกันถึง 5.7 ล้านล้านบาท
(จากจำนวนเต็ม 5.8 ล้านล้านบาท ได้แก่ กองทุนต่างๆ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้น
นักวิจัยให้ความสำคัญว่า งบประมาณนี้กระจายลงพื้นที่ 77 จังหวัดอย่างไร โดยสันนิษฐานว่า งบประมาณควรจะส่งเสริมสนับสนุนจังหวัดยากจน (pro-poor budgeting) สถิติความยากจนอ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วยนำมาเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ ตัวแปรสองตัวที่นำมาแสดงในที่นี้คือ รายจ่ายงบยุทธศาสตร์ต่อประชากร (จังหวัด) และสัดส่วนคนจนรายจังหวัด
ผลสรุปจากการค้นคว้าครั้งนี้คือ พบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างสองตัวแปร คือ จังหวัดที่ยากจนได้รับงบจัดสรรสูงกว่าจังหวัดร่ำรวย (pro-poor) แต่ค่าสหสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ คือ 0.234 หมายเหตุ ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการจัดสรรสูงมากเป็นพิเศษ เช่น ตัวเลขเงินเดือนข้าราชการที่บันทึกในส่วนกลาง หรืองบจัดซื้อจัดจ้าง (แต่ในความเป็นจริงตัวคนกระจายไปทำงานในจังหวัดอื่นๆ หรืออุปกรณ์ที่จัดซื้อกระจายลงไปยังจังหวัดต่างๆ)
ข้อสรุปและความคิดเห็นเพิ่มเติม หนึ่ง มีความก้าวหน้าด้านข้อมูลสนเทศภาครัฐ คือสถิติการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ฯ ระบุหน่วยงานที่รับงบประมาณ และพื้นที่จังหวัดที่รับงบประมาณ ในช่วงเวลา 9 ปี นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการสังคมศาสตร์หลายสาขาที่เฝ้าติดตามการจัดสรรงบประมาณ สอง การจัดทำข้อมูลคนจนรายพื้นที่ (จังหวัด) ซึ่งนำมาทดสอบความสัมพันธ์ โดยสันนิษฐานว่า งบยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคควรส่งเสริมจังหวัดยากจน อีกนัยหนึ่ง จังหวัดยากจนควรได้รับงบประมาณ (ต่อหัว) สูงกว่าจังหวัดรวย ผลคำนวณค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.234 เป็นบวก แต่ว่าต่ำกว่าความคาดหมายที่คิดว่า ค่าสหสัมพันธ์น่าจะเป็นเกิน 0.5 หรือสูงกว่านั้น เป็น 1 ยิ่งดี สาม บทเรียนจากการค้นคว้าครั้งนี้คือข้อสังเกตว่า มีช่องทางที่จะปรับปรุงกระบวนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้จังหวัดยากจนได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่านี้ โดยอาจจะปรับลดจากจังหวัดที่ไม่ยากจน แต่ได้รับงบประมาณสูงเช่นเดียวกับจังหวัดยากจน สี่ ยังมีหัวข้อการวิจัยที่ควรค้นคว้าเพิ่มเติม คือการกระจายงบประมาณเปรียบเทียบระหว่างกระทรวง/กรม เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่ามีลักษณะแตกต่างหรือเหมือนกันหรือไม่ และการวิจัยเชิงประเมินหรือเชิงคุณภาพว่ามีกิจกรรมดีๆ ต่อเนื่องจากการได้รับงบประมาณยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคอย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดยากจน (แม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และกาฬสินธุ์ ตามรูปภาพที่ 2) เมื่อได้ผลวิจัยเพิ่มเติมแล้ว คงได้นำมาเผยแพร่สาธารณะในโอกาสต่อไป
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ● ณัฐวุฒิ อ่าวสกุล ● นฤมล แก้วสุก