ความเสี่ยงและความสามารถในการรับมือของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย
แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมาได้ส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดในประเทศไทย ได้สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ประชาชนพอสมควร เพราะเป็นธรณีพิบัติภัยที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ครั้งนี้ ประเทศไทยรับรู้ได้ถึงความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะมีอาคารที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาด้วยยิ่งทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงมีความหวั่นไหวในความปลอดภัย แม้เหตุการณ์นี้จะสร้างปัญหามากมาย แต่เป็นการส่งสัญญาณให้คนไทย
ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและความจำเป็นในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้คนไทยรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำไปด้วย ความเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของเราเอง เช่น ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน จากอัคคีภัย จากสารเคมีอุตสาหกรรม และจากการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำจนทำให้เกิดอุทกภัยในเมืองมากกว่าที่ควร อย่างไรก็ดี นับวันความเสี่ยงของเราก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองของเราเป็นการพัฒนาที่ซับซ้อนและซ้อนทับระหว่างการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ แบบไม่บูรณาการและขาดความสมดุลกับระบบนิเวศ และมักละเลยที่จะดูแลปัญหาที่เกิดจากความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่มิได้เกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ผลพวงจากปัญหาโลกร้อนก็จะนำพาความเสี่ยงจากพิบัติภัยเข้ามาบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ดร.ณัฐพล อนันต์ธนสาร ได้จัดทำดัชนีที่แสดงความพร้อมรอบด้านระดับจังหวัด 76 จังหวัด (ไม่รวม กทม.) ที่เรียกว่าดัชนีจังหวัดภิวัตน์ ซึ่งประกอบด้วยระดับการพัฒนาของเสาหลัก 7 ด้านคือ 1) ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ 2) ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากร 3) สุขภาพและอนามัย 4) ความปลอดภัยทางสังคม 5) คุณภาพสิ่งแวดล้อม 6) ความเสี่ยง และ 7) ความสามารถในการรับมือ
สำหรับความเสี่ยงมีองค์ประกอบ 4 ประเภท ได้แก่ 1) ความเสี่ยงจากอุทกภัย 2) อัคคีภัย 3) ดินโคลนถล่ม และ 4) อุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่ น่าเสียดายที่เราไม่อาจนำความเสี่ยงที่เกิดจากแผ่นดินไหวเข้ามาเป็นองค์ประกอบได้เพราะไม่มีข้อมูลความถี่ของการเกิดมากพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งแผ่นดินไหวหลายๆ ปีจะเกิดสักครั้ง ถึงแม้จะมีแผนที่รอยเลื่อนของเปลือกโลกในแต่ละจังหวัด แต่ก็ไม่สามารถนำองค์ประกอบนี้มาเป็นข้อมูลดัชนีความเสี่ยงซึ่งวัดปีต่อปีได้
ส่วนความสามารถในการรับมือนั้นมี 6 ตัวชี้วัด เน้นการรวมกลุ่มต่างๆ ของชุมชนมากกว่าการบรรเทาสาธารณภัยของฝ่ายรัฐ แต่จะดูจากความพร้อมของชุมชนเพราะในยามที่เกิดภัยพิบัตินั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือการสื่อสารกับกลุ่มต่างๆ ให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องและสามารถช่วยเหลือกันเองได้ก่อนที่ความช่วยเหลือของรัฐจะไปถึง ได้แก่ ตัวชี้วัดที่แสดงจำนวนของอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย จำนวนเครือข่ายความปลอดภัยในชุมชน จำนวนองค์กรของชุมชนเปราะบาง กลุ่มวิสาหกิจและสหกรณ์ และสัดส่วนของประชากรที่ไม่เปราะบางวัดจากประชาชนในวัยทำงาน
ผลของการศึกษาแสดงลำดับของจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 อันดับแรก และความสามารถในการรับมือของจังหวัดเหล่านี้จะเห็นได้ว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงก็มักจะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ได้แก่ สมุทรปราการ ตามด้วยชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย และนครราชสีมา ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดที่มีประชากรและอุตสาหกรรมหนาแน่น แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้นอกจากนครราชสีมาและเชียงใหม่ ต่างก็มีความพร้อมในการรับมืออยู่ในลำดับที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงของตน เช่น ภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของเรา สมุทรปราการและสมุทรสาครซึ่งเป็นเมืองที่หนาแน่นไปด้วยอุตสาหกรรม หมายความว่า จังหวัดเหล่านี้มีเครือข่ายชุมชนไม่เข้มแข็งซึ่งรัฐอาจจะต้องไปพัฒนาเครือข่ายในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมเพื่อรองรับปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นดังที่เราได้เห็นในกรณีของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
ส่วนจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง แต่มีความความสามารถในการรับมือสูงในลำดับใกล้เคียงกัน ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการรวมกลุ่มในชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดเหล่านี้มีความเข้มแข็งกว่า
สารที่งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการสื่อก็คือในยามที่เกิดอุบัติภัย เราจะต้องมีชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่รอรัฐ แต่ลงมือช่วยเหลือตัวเองได้ทันที การสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนกลุ่มต่างๆ จะทำให้มีความรวดเร็ว ซึ่งในยุคปัจจุบันหากใช้ SMS หรือ LINE เข้าไปสู่ LINE กลุ่มของแกนนำชุมชนในการอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีการปฏิบัติ และการรับความช่วยเหลือก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาและบรรเทาทุกข์รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นานาประเทศในโลกนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยต่างก็เข้าสู่ยุคที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น การเตรียมพร้อมประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และการเยียวยาที่ถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่ ในส่วนของรัฐเองก็ควรถอดบทเรียนจากปัญหาแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นให้ได้ว่าจะต้องมีการจัดการเรื่องการสื่อสาร จัดการเรื่องสาธารณูปโภค และการจัดการด้าน
โลจิสติกส์ในช่วงที่เกิดวิกฤตได้ทันท่วงที นอกเหนือจากการเข้าไปกู้ภัยและบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับ
ผลกระทบ
เราก้าวสู่โลกแห่งความเสี่ยงแล้วค่ะ ทุกคนทุกครอบครัวต้องมีการเตรียมความพร้อม!
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ