ผู้เขียน | อรรถสิทธิ์ พานแก้ว |
---|
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว : ตามดูมาตรการทางภาษี ความจริงของทรัมป์ที่มากกว่าเรื่องขาดดุลทางการค้า
นับหนึ่ง Tariff day หลังสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการการตอบโต้ทางภาษีเมื่อวันที่ 2เมษายน 2568 ซึ่งถือเป็น บิ๊กโปรเจ็กต์สำคัญของ ประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ ที่ได้วางแผนและส่งสัญญาณให้ประเทศทั่วโลกเตรียมรับกับกำแพงภาษีมาแล้วก่อนหน้านี้ ดังความหมายมั่นและตั้งใจว่าสิ่งนี้ “จะคืนความยิ่งใหญ่กลับมาให้อเมริกา (อีกครั้ง)”
ความจริงในสายตาชาวโลกอเมริกาก็ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกำกับระเบียบโลกอยู่แล้วแต่เผอิญว่าอเมริกาในอดีตมีถ้อยทีถ้อยอาศัยกว่ามากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ความดุดันและแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นนี้ หลายคนตั้งคำถามหาเหตุและผล หาวิธีการรับมือ ตลอดถึงหาสูตรคิดที่สหรัฐฯ ใช้คำนวณอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ว่าถูกต้อง ชอบธรรมตามหลักการหรือไม่
ในทางกลับกันไม่ว่าเรื่องนี้จะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าว่าสหรัฐกระทำลงไปบนพื้นฐานอำนาจของ กฎหมาย International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) อย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ แต่มีอยู่หนึ่งเรื่องหนึ่งที่จะละเลยจากการพิจารณาไม่ได้เลย คือ เรื่องของ “Realpolitik”
Real แรก มองไปที่การปฏิบัติต่อพลเมืองที่ไม่เป็นธรรมของประเทศทั่วโลกต่ออัตราภาษี และตั้งคำถามต่ออัตราเฉลี่ยภาษีนําเขาทั่วไป (MFN Rate) ที่ผูกพันไว้กับ WTO (องค์การการค้าโลก) ว่า สหรัฐฯมีอัตราเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับทั่วโลกอยู่ที่ 3.3% ขณะที่ประเทศคู่ค้าอย่างบราซิลเฉลี่ยอยู่ที่ 11.2% จีนอยู่ที่ 7.5% อินเดีย 17% เวียดนาม 9.4%
นี่คือคำสั่ง “Regulating Imports with a Reciprocal Tariff to Rectify Trade Practices that Contribute to Large and Persistent Annual United States Goods Trade Deficits” ลงวันที่
2 เมษายน 2568 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ให้เห็นว่า โลกกำลังปฏิบัติกับสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม และเขาจำเป็นต้องดำเนินการตอบโต้เพื่อคืนรายได้และความเป็นธรรมกลับคืนให้กับพลเมืองและประเทศสหรัฐอเมริกา
Real สอง คือ ความพยายามแยกห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน ออกจากกัน ถึงเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าสหรัฐคือคู่แข่งของจีน และจีนก็คือคู่แข่งสหรัฐฯ ฉะนั้นทำอย่างไรก็ได้ที่จะยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน การลดการพึ่งพาจีน แยกความเป็น Chimerica ออกจากกัน
ดังที่เคยยกตัวอย่าง เรื่องเหล็กไว้ว่า if you don’t have steel, you don’t have a country. ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการผูกเศรษฐกิจกับประเทศใดประเทศหนึ่งอาจไม่เพียงกระทบแค่ด้านการค้าแต่นั่นหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งยุโรปกำลังเผชิญปัญหานี้ ภายใต้แนวคิดนี้เราจึงเห็นเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ เรื่องของการประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม นี่คือ ความมั่นคงของสหรัฐ!
Real สาม คือ ภายหลัง Bretton Woods Agreements ปี 1944 ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้รับอานิสงค์กลายเป็นสกุลเงินที่มีสิทธิพิเศษเหนือสกุลเงินอื่น (Exorbitant privilege) ซึ่งเป็นคำที่ Valéry Giscard d’Estaing อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส Valéry Giscard d’Estaing บัญญัติไว้ในปี 1960 โดยพูดถึงการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศและการเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศของสกุลเงินดอลลาร์ ในทางกลับกันดอลลาร์ก็เป็น exorbitant burden ซึ่งกำลังสร้างภาระมากเกินไปให้กับสหรัฐอเมริกาในทางเศรษฐกิจ
และทรัมป์พยายามที่จะแก้ไขอย่างหลังนี้โดยจะทำเหมือนที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ แรแกน เคยทำไว้เมื่อปี 1985 ตอนนั้นเรียกว่า “Plaza Accord” ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดดุลทางการค้า และข้อตกลงนี้เองทำให้ค่าเงินญี่ปุ่นแข็งขึ้นจนทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ความพยายามที่จะทำให้ค่าเงินอ่อนลงเพื่อการสร้างอุตสาหกรรมภายในให้แข็งแกร่งและส่งออกได้
ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ พยายามทำภายใต้มาตรการทางภาษีในปัจจุบันทั้งผ่านการการตั้งกำแพงภาษีตลอดถึงการแทรกแซงเพื่อปรับสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์และสกุลเงินของประเทศคู่ค้าบางราย บางฝ่ายอาจเรียกสิ่งนี้ว่าคือแนวทางของ Plaza Accord แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงคงเรียกสิ่งนี้ว่า “Mar-a-Lago” Accord ซึ่งมาจากชื่อบ้านพักส่วนตัวของทรัมป์ที่ฟลอริดา
ทั้งหมดนี้คือ แนวโน้มที่ทรัมป์กำลังจะทำและรีเซ็ทระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ครั้งสำคัญ ส่วนจะทำให้สหรัฐกลับมาผงาดในสายตาเวทีชาวโลกได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป
แต่ที่แน่ ๆ ความมุ่งมั่นตั้งใจในวิสัยทัศน์ MAGA นี้ได้กระทบไปแล้วทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยที่โดยเรียกเก็บอัตราภาษีสูงถึง 37% แบบถ้วนหน้า ไม่มีแยก sectoral tariff หรือภาษีรายสินค้า ซึ่งประเมินกันว่าการออกมาตรการครั้งนี้จะทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจทำให้ GDP ของประเทศที่ตั้งไว้ลดลงไป 1% เลยก็ว่าได้
โอกาสนี้ไม่ต้องไปถามหาความเป็นธรรมจาก WTO แล้ว เพราะนโยบายสหรัฐฯ ครั้งนี้ทำให้กลไกอัมพาตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำถามต่อไปก็คือว่า ประเทศไทยจะจัดการตัวเองอย่างไรในเรื่องนี้?
เบื้องต้นคือกลไกในเรื่องตลาดเงินที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น เช่น มาตรการสินเชื่อระยะสั้น (soft loan) ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาและหาตลาดทางเลือกภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีในความตกลงทางการค้าที่มีอยู่
ขณะที่สายสัมพันธ์ในภูมิภาคใกล้อย่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ที่มีอินเดียเป็นพี่ใหญ่ ควรจะหาช่องทางเพื่อพูดคุยทางการค้าและความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งผมคาดหวัง Big plan, Big Project จากความแน่นแฟ้นเหล่านี้ มากกว่าการประชุมด้วยแฟ้มหนาเตอะแล้วจากลากันไปแบบไร้ข้อสรุป
ขณะที่เมื่อดูการสื่อสารเรื่องการรับมือของรัฐบาลไทยก่อนและหลังมีมาตรการฯ มีความเชื่อมั่นแต่ยังขาดความชัดเจนให้กับสังคม การสื่อสารยังกระจัดกระจายและไม่รวมศูนย์ หลายๆ เรื่อง ติดระเบียบ ติดอำนาจหน้าที่ ยุ่งเหยิงซับซ้อนไปหมด จะเรียกประชุมทีหนึ่งเกี่ยวพันกันเป็นหลายสิบหน่วยงาน ในภาวะเช่นนี้จึงต้องหาองค์คณะที่จะต้องทำหน้าที่เคาะและตัดสินใจเพื่อให้ทุกกระทรวงเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งหลายสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว อย่างการตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่เพียงพอนั้นควรจะเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก จากองค์ประกอบคณะเห็นเพียงหน่วยงานร่วมทางด้านเศรษฐกิจเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ยังขาดมิติของเรื่องความมั่นคงและทางวัฒนธรรมที่เรายังมีต้นทุนและสามารถเลือกใช้ไพ่เหล่านี้เข้ามาอยู่ในมือได้
เพราะเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่คณะใดคณะหนึ่งจะรับผิดชอบ จำเป็นต้องมีคณะทุกมิติ ผมย้อนนึกถึงกลไกของสภาความมั่นคงแห่งชาติในอดีตที่สามารถรวมเรื่องทุกอย่างมาพิจารณาเพื่อหาคำตอบในเรื่องความมั่นคงไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกันคณะชุดพิเศษอื่นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไปแล้วหรือแต่งตั้งเพิ่มเติมในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำมากกว่าเรื่องภาษีแต่กำลังปกป้องอเมริกาและสร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แน่นอนระหว่างทางมีทั้งคนที่ยอมปรับตัว และยอมเจ็บตัวเพื่อต่อสู้/ตอบโต้กลับ ทางที่ดีสำหรับประเทศไทยตอนนี้คือหาสถานะและจุดยืนระหว่างประเทศให้เจอเพื่อตัดสินใจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้…