อุดมการณ์กับปัจเจกภาพ ‘ซุน ยัตเซ็น’กับ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

อุดมการณ์กับปัจเจกภาพ‘ซุน ยัตเซ็น’กับ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

แม้ “ซุน ยัตเซ็น” บิดาแห่งชาติของจีนได้จากโลกนี้ไปถึง 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ทรัพยากรทางความคิดก็ยังอยู่ในความทรงจำของสังคมโลก และโดยบังเอิญได้กลายเป็นทรัพยากรทางความคิดที่สำคัญยิ่งสำหรับต่อต้านพฤติกรรมเจ้าอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยปริยาย ในขณะที่ทรัมป์ใช้ “การทูตแบบล่าอาณานิคม” แต่ซุน ยัตเซ็น ใช้ “จิตวิญญาณเอกภาพ” โลกนี้เป็นของประชาชน ยืนหยัดในวิถีแห่งธรรมราชา คัดค้านลัทธิเจ้าอำนาจเพื่อรังสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยุติธรรม ถวิลหาสันติและภราดรภาพ ด้วย “ลัทธิสามหลักการแห่งประชาชน” คือ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ของประชาชน (เรียกย่อว่าลัทธิสามประชา)

บัดนี้การพัฒนาของจีนได้ให้ความสำคัญแก่การปกครองโดยผู้ทรงคุณธรรมและมีความสามารถ เน้นความรู้คู่คุณธรรม หากมิใช่ยึดถือการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกคนรวยบริหารประเทศ แต่ใช้วิธีปรองดองแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แสวงหาการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และขจัดความยากจน ให้เป็นสังคมที่อยู่ดีกินอิ่ม ล้วนเป็นแนวทางที่ “ซุน ยัตเซ็น” ได้ใช้ในการสร้างประเทศ หากนำมาเปรียบเทียบกับสหรัฐ จีนย่อมเป็นต่อ

ทัศนคติของซุน ยัตเซ็น ไม่เพียงเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับชาวจีนทั่วโลก 1.5 พันล้านคน ยังได้เผยแพร่ไปยังประเทศอื่น ชนชาติอื่นก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ขณะที่ทรัมป์ช่วงชิงเป็นเจ้าอำนาจ แต่ซุน ยัตเซ็น ยืนหยัดแนวทางสงบสุขของชนชาติจีน ปฏิเสธความเป็นเจ้าอำนาจ และใช้ความยุติธรรมปกครองประเทศ จิตวิญญาณแห่งสันติภาพของซุน ยัตเซ็น อันเกี่ยวกับความยุติธรรม เป็นการยืนยันถึงความร่วมมือระหว่างประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน สอดคล้องกับมาตรการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และไม่ใช้ประเด็นกำแพงภาษีการค้ามาเป็นอาวุธ ส่วนทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่มากด้วยปัจเจกนิยม ผันตัวสู่เวทีการเมืองโดยปราศจากทฤษฎีการเมืองที่เป็นระบบ หากใช้หลักการของธุรกิจ ทำการเรียกลูกค้า พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ของตนให้เป็นศูนย์กลางคือ Make America Great Again ซึ่งถือกันว่าเป็นการตลาดที่ทรงพลัง นิสัยหุนหันพลันแล่นของทรัมป์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐเกิดความปั่นป่วนและผันผวน เป็นต้นว่า หุ้นสหรัฐตกไปถึงร้อยละ 6 ในระยะเวลาเพียงสองเดือน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้น เช่น ไข่ไก่ฟองละ 1.2 ดอลลาร์ สูงมากเป็นประวัติการณ์ เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของคนอเมริกัน ส่งผลให้เงินลงทุนได้ทยอยไปฮ่องกงและจีน อันเป็นเหตุให้ขอบเขตแห่งอำนาจเปลี่ยนไปด้วย ดังที่เรียกกันว่า Global South

ADVERTISMENT

ขอบเขตแห่งอำนาจ แท้จริงเกิดจากการขึ้นลงแห่ง “อำนาจอ่อน” โดยเกิดจากคำขวัญที่จะให้อเมริกายิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการทำลายผลประโยชน์ของประเทศอื่น แม้พันธมิตรอย่างแคนาดาก็กำลังถูกคุกคาม เดนมาร์กสมาชิกนาโตก็ไม่แคล้ว เพราะถูกกดดันให้สละกรีนแลนด์

แนวคิดทางการเมืองของ “ซุน ยัตเซ็น” มีอิทธิพลยาวนานถึงปัจจุบัน และได้รับการเชิดชูให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาด้านการเมือง หากเปรียบเทียบกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ย่อมมีความต่างในด้านอุดมการณ์และปัจเจกภาพ เพราะซุน ยัตเซ็น เป็นนักการเมืองที่มีจุดยืนหนักแน่นมั่นคง เติบโตในยุคที่จีนอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดตะวันตก และพัฒนาไปสู่การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของจีนด้วย “ลัทธิสามประชา” ซึ่งต้องต่อสู้กับศัตรูจักรวรรดิด้วยความลำบาก อนึ่ง “พรรคกั๋วหมินตั่ง” ที่ก่อตั้งโดยซุน ยัตเซ็น ตั้งแต่บัดนั้นก็ยังอยู่ถึงบัดนี้ ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไต้หวัน

ADVERTISMENT

หากสรุปความแตกต่างระหว่างซุน ยัตเซ็น กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายหลังได้รับฉายา “ทรัมป์นิยม” ขณะที่ซุนยัตเซ็น คือ “บิดาแห่งชาติจีน” เพราะเป็นนักอุดมการณ์ที่ต่อสู้อุทิศตนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อความเจริญของบ้านเมือง ส่วนทรัมป์เป็น “นักการตลาด” ที่ใช้ระบบที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างอำนาจของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image