ผู้เขียน | เฉลิมพล พลมุข |
---|
ชีวิตในแปดวินาที…
การเกิดมาเป็นมนุษย์หรือคนในโลกนี้ทุกๆ คนล้วนรับรู้ถึงวันเวลา สถานที่ พ่อแม่ญาติพี่น้อง บ้านชุมชน สถานที่ศึกษา สถานที่ทำงาน เหตุการณ์ของบ้านเมืองทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในช่วงวันเวลาที่ผ่านมา ขณะเดียวกันชีวิตที่ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับชีวิตอย่างไม่มีสิ่งที่เตือนถึงอันตรายมาก่อน กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่กำลังก่อสร้างได้ถล่มลงมาทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อะไรคือความหมายและวันเวลาแห่งชีวิต
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีความลึกจากแผ่นดิน 10 กิโลเมตร ขนาด 8.2 เหตุเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมีความยาว 1,200 กม. แรงสั่นสะเทือนถึงเมืองไทยเราในจำนวน 63 จังหวัด และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้อาคาร สตง.ที่กำลังก่อสร้าง 33 ชั้น บนถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร มูลค่ากว่า 2,136 ล้านบาท ถล่มลงมาในชั่วเวลาแปดวินาที เป็นเหตุการณ์แรกในรอบร้อยปีของสังคมไทย คนไทยเราและชาวต่างประเทศได้ดูรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าวจากสื่อต่างๆ เสมือนหนังหรือภาพยนตร์ แต่ในข้อเท็จจริงเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นตามความเป็นจริง มีความสูญเสียทั้งจากผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ญาติพี่น้อง บริษัทรับเหมาก่อสร้าง คุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ มาตรฐานวิชาชีพในการควบคุมอาคารขนาดใหญ่ รวมไปถึงระบบกฎหมายของประเทศในการบังคับใช้กับเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เป็นครั้งแรกที่ตึกสูงถล่มลงมาในกลางเมืองหลวงของประเทศห่างจากแผ่นดินไหวนับพันกิโลเมตร
ภาพจำหนึ่งที่สื่อต่างๆ นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องก็คือองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามช่วยชีวิตของบุคคลที่ตึกถล่มลงมานับเป็นนาทีต่อนาที ญาติพี่น้องต่างมารอความหวังว่าญาติของตนเองที่ติดการถล่มของตึกจักมีชีวิตรอดและปลอดภัย สายตาน้ำตาของญาติของเขาเหล่านั้นต่างแสวงที่พึ่งแห่งชีวิตในความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ปาฏิหาริย์แห่งชีวิตหากมีจริง รวมถึงการรอคอยการรอดชีวิตนับเป็นเวลากว่าสิบวัน ไม่นับรวมถึงองค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ K9 USAR Thailand ที่ได้ค้นหาผู้ติดอยู่ในตึกถล่มตลอด 24 ชั่วโมง ได้ช่วยผู้คนส่วนหนึ่งที่รอดชีวิตและอีกส่วนหนึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว องค์กร USAR จึงได้ถอนกำลังเนื่องด้วยหากปฏิบัติงานต่อ สุนัขและเจ้าหน้าที่อาจจะได้รับอันตราย จึงยุติการทำงานดังกล่าวแล้วได้ส่งมอบให้หน่วยงานอื่นได้ทำหน้าที่ต่อไป…
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาส่งผลมาถึงเมืองไทยเรา ทำให้บ้าน อาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน ตึกสูง โรงแรม คอนโดมิเนียมทั้งของประชาชน หน่วยงานภาครัฐเอกชนได้รับผลกระทบในภาพรวมทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความวิตกกังวลทั้งผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ อาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน การตกใจหวาดระแวงที่พบเห็นตึกร้าวโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยของตนที่อยู่ในคอนโนมิเนียมในระดับหลายๆ ชั้น ความไม่มั่นใจที่จะอยู่อาศัยต่อไป หรือการประกาศขายห้องพักดังกล่าวเพื่อไปหาแหล่งอาศัยใหม่ที่ปลอดภัย มิอาจจักรวมถึงผู้คนที่ต้องทำงานในตึกอาคารชั้นสูงๆ จักมีความปลอดภัยต่อชีวิตและครอบครัวหรือไม่…
จากตัวเลขการรายงานของกรุงเทพมหานคร วันที่ 7 เมษายน 2568 เวลา 16.00 น. มีจำนวนผู้ประสบเหตุ 103 ราย เสียชีวิตแล้ว 17 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และอยู่ระหว่างการติดตาม 77 ราย สำหรับการช่วยเหลือบุคคลผู้ประสบภัยดังกล่าว น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อมูลคือ ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท กรณีผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท กรณีบาดเจ็บถึงพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท เงินปลอบขวัญตามใบรับรองแพทย์ กรณีบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัย รายละ 2,000 บาท เงินทุนประกอบอาชีพครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท (มติชนรายวัน 8 เมษายน 2568 หน้า 14)
ภาพเหตุการณ์ที่ตึก สตง.ดังกล่าวได้พังถล่มในเวลาที่สั้นแปดวินาทีจากตึกที่มีความสูง 33 ชั้น ใช้วันเวลาในการก่อสร้างระยะยาวนาน ชีวิตผู้คนในอาคารดังกล่าวมิมีสัญญาณใดที่จะรับรู้ล่วงหน้าถึงวันเวลาแห่งการตายจะมาถึงตนและครอบครัวญาติพี่น้องที่มีความเป็นห่วงญาติของตนที่อยู่ในตึกดังกล่าว การสูญเสียของคนที่ต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริตค่าแรงเป็นรายวัน ต้องอาศัยความอดทนทั้งแรงกายแรงใจเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกันก็นำชีวิตทั้งชีวิตไปทิ้งกับความตายในตึกดังกล่าว การเยียวยาจากภาครัฐที่ได้รับจะคุ้มค่าแห่งการเป็นมนุษย์ที่ได้เกิดมาในแผ่นดินนี้หรือไม่ อย่างไร
รัฐจักรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ แผลใจของทั้งผู้บาดเจ็บ ญาติพี่น้องที่ยังมีลมหายใจอยู่ต่อมาได้อย่างไร การท้อแท้หมดหวัง สิ้นหวัง กลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า โรคทางจิตเวช จิตใจของทั้งญาติและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตึกถล่มคงจักมิใช่ใจกลางศูนย์การกรุงเทพมหานครรวมถึงจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้คนทั้งประเทศที่ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวหลายๆ คนต่างเอาใจช่วยให้มีผู้รอดชีวิต หรือองค์กร หน่วยงานหลายแห่งก็ให้การสนับสนุนอาหารที่พักคอยญาติที่มาติดตามผู้ประสบภัยตึกถล่ม จิตแพทย์บุคลากรสำคัญภาครัฐต่างได้ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือชีวิตญาติๆ ได้ในระยะหนึ่ง หากระยะยาวของชีวิตสภาพจิตใจ การเป็นอยู่มีลมหายใจต่อไปอีกยาวนาน ใคร องค์กรใดจักรับผิดชอบในชีวิตเขาเหล่านั้น…
ราคาของชีวิตในคนไทยเราหรือชาวต่างด้าวที่เข้ามาค้าขายแรงงานในแผ่นดินไทยเรา ถูกตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบที่แท้จริงที่ว่า ชีวิตควรแลกกับความตายที่ตนเองมิได้กำหนดมาได้หรือไม่ อาคารที่ก่อสร้างขนาดใหญ่มีความสูงที่ควรมั่นคงแข็งแรง ควรมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่กำลังทำงานเพื่อให้อาคารนั้นใช้อย่างมั่นคงปลอดภัยในอนาคต ควรมีอยู่จริงในสังคมไทยต่อไปได้หรือไม่ หรือว่ากรณีดังกล่าวจักเป็นกรณีแรกและกรณีสุดท้ายในบ้านเมืองเราหรือไม่ อย่างไร
การตายของแรงงานที่ดำเนินงานอยู่ในตึกดังกล่าวมีหลากหลายมิติส่งผ่านสังคมไทยเราทั้งประเทศตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนกระทั่งระดับของรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 68 รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินควร
วรรคสอง รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ และวรรคสาม รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมตลอดถึงการจัดหาทนายความให้…
การตายในบริบทหนึ่งของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ชื่อว่า “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ได้ตีพิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516 ตอนหนึ่งที่ว่า “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ บ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ…”
ความตายด้วยภัยแห่งธรรมชาติ ฟ้าผ่า ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดูเสมือนว่าจักเป็นการตายด้วยระบบธรรมชาติจัดสรร แต่ยังมีการตายอีกอย่างหนึ่งคือโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุทางบก น้ำ อากาศ และอารมณ์โทสะของคู่กรณีหรือที่เรียกว่า การตายที่ไม่ควรตายอาจจักรวมไปถึงคนงานที่ทำงานในตึก สตง.แล้วตึกถล่มตาย เราท่านควรนิยามการตายนี้เป็นเช่นไร คำสอนในศาสนาหนึ่งที่ว่า ชีวิตเราท่านทั้งหลายให้ระลึกนึกถึงความตาย การตายทุกวินาที ความประมาทเป็นหนทางเป็นสู่ความตาย แล…
เฉลิมพล พลมุข