โคทม อารียา : ประวัติศาสตร์โฮโมซาเปียนส์

โฮโมซาเปียนส์ – มนุษย์ปัจจุบันจัดอยู่ในสปีซีส์โฮโมซาเปียนส์ ที่มีวิวัฒนาการมาจากลิงหรือเอป (ape) เอปสกุลโฮโมยุคแรกปรากฏตัวที่ทวีปแอฟริกากว่าสองล้านปีมาแล้ว โดยมีลักษณะที่ต่างจากเอปสกุลอื่นคือ เอปอื่นเดินสี่ขาคือทิ้งนำหนักลงที่ข้อมือและข้อเท้า ส่วนสกุลโฮโมสามารถเดินตัวตรงด้วยขาทั้งสอง โดยไม่ใช้สองแขนหน้าคอยพยุง ต่อมาเมื่อประมาณหนึ่งล้านห้าแสนปีก่อน เอปสกุลโฮโมสปีซีส์หรือสายพันธุ์อีเรกตัส (แปลว่าตัวตรง) เดินออกมาจากทวีปแอฟริกาและแพร่กระจายมาทางทวีปเอเชีย ตามด้วยโฮโมยุคโบราณสายพันธุ์อื่น ๆ อีกหลายสายพันธุ์

มนุษย์ปัจจุบันอยู่ในสกุลโฮโมสายพันธุ์ซาเปียนส์ (แปลว่าฉลาด) สายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเราคือสายพันธุ์นีอันแดรทัล และสายพันธุ์เดนิโซวัน ที่กระจายออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณแสนกว่าปีที่แล้ว นีอันแดรทัลนอกจากจะเดินมาทางทิศตะวันออกแล้ว ยังเดินขึ้นเหนือด้วย ส่วนเส้นทางเดินของเดนิโซวันคงมาทางทิศตะวันออกเป็นหลัก มาที่ไซบีเรียและจีนเป็นต้น แต่ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนว่ากระจายอยู่ที่ใดอีกบ้าง โฮโมซาเปียนส์ออกจากแอฟริกาตามหลังพวกเขาประมาณห้าหมื่นปี

มีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันบ้าง แต่ไม่มากนัก เช่น ยีนของโฮโมซาเปียนส์เคยมียีนของนีอันแดรทัลผสมอยู่หกเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณสองเปอร์เซ็นต์ ข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ที่ว่า นีอันแดรทัลและเดนิโซวันสูญพันธุ์เพราะถูกซาเปียนส์รุกราน ฆ่าฟัน เห็นทีจะไม่เป็นจริง พื้นที่ล่าสัตว์เก็บของป่านั้นกว้างใหญ่ คงเป็นทางใครทางมันมากกว่า นีอันแดรทัลและเดนิโซวันคงแพ้ภัยธรรมชาติและแพ้ภัยตนเอง ด้วยจำนวนที่น้อยจึงไม่อาจดำรงสายพันธุ์ไว้ได้

หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดแสดงให้เห็นว่า สกุลโฮโมได้สร้างเครื่องมือหินตั้งแต่เมื่อ 3.3 ล้านปีที่แล้ว การทำเครื่องมือหินไม่ใช่ง่าย และต้องการการฝึกทักษะมิใช่น้อย สกุลโฮโมนอกจากจะพึ่งการมีมือที่ไม่ต้องใช้เดินจึงทำเครื่องมือได้สะดวกแล้ว ยังต้องพึ่งสมองที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้นเพื่อเรียนรู้ทักษะการกะเทาะหินด้วย นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการพัฒนาสมองเป็นปัจจัยหนึ่งของการอยู่รอด ในขณะที่โฮโมสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีสมองที่เล็กหรือพัฒนาน้อยกว่า ได้สูญพันธุ์ไป

ADVERTISMENT

ปัจจุบันมีเทคนิคการถ่ายภาพสมองที่ซับซ้อน เช่น เทคนิคเอ็มอาร์ไอ (MRI) อย่างไรก็ดี เราไม่มีเครื่องสแกน MRI ขนาดใหญ่ ที่ให้นักศึกษาเข้าไปนอนอยู่ในสนามแม่เหล็กของเครื่องขณะที่ฝึกทำเครื่องมือหินได้ จึงต้องใช้วิธีทางอ้อม คือนักศึกษาจะได้รับชุดคำถามทางเทคนิคเกี่ยวกับการทำเครื่องมือหิน ทำให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของสมองที่ทำงานขณะที่พยายามตอบคำถามแต่ละข้อ ข้อค้นพบคือผู้เรียนมีทักษะการสกัดหินได้ดีขึ้นเมื่อสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ต้องวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน นี่คือจุดเริ่มต้นของสมองที่ใช้เทคโนโลยีได้นั่นเอง

ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (Last Glacial Period LGP ) เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายยุคน้ำแข็ง คือประมาณ 115,000  ถึงประมาณ 11,700 ปีก่อน การศึกษาโบราณคดีในยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น นวัตกรรมของนักพันธุกรรมศาสตร์ นักธรณีเคมีไอโซโทป นักภูมิอากาศวิทยา นักฟิสิกส์ นักสถิติ และนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ อีกมากมาย พวกเขาศึกษาวิวัฒนาการอันยาวนานของมนุษยชาติ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ค่าไอโซโทปเสถียรทำให้เข้าใจวิวัฒนาการทางอาหารได้ลึกซึ้งขึ้น การวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณทำให้สามารถอ่านลำดับข้อมูลพันธุกรรมของมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นครั้งแรกได้ ศาสตร์ด้านโปรติโอมิกส์ที่ศึกษาโปรตีนทั้งหมดที่สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น ทำให้สามารถระบุว่า ชิ้นส่วนกระดูกโบราณแม้เพียงเล็กน้อยนั้น เป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด

ADVERTISMENT

ความก้าวหน้าที่น่าทึ่งนั้นเกี่ยวกับเทคนิคการหาอายุของโบราณวัตถุ อาทิ กระดูก เครื่องมือ รูปวาดผนังถ้ำ ฯลฯ เทคนิคการหาอายุส่วนใหญ่อาศัยการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี ที่เป็นไอโซโทปของธาตุบางตัวที่ไม่เสถียร ซึ่งสลายตัวในอัตราที่คาดการณ์ได้ ไอโซโทปที่นิยมใช้คือคาร์บอน – 14 ซึ่งเข้าสู่พืชด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง และส่งต่อไปยังสัตว์กินพืช และสัตว์กินเนื้อในที่สุด จุดสนใจของนักโบราณคดีคือการตายของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่การทดแทนคาร์บอน – 14 ที่สลายตัวอย่างต่อเนื่องในสิ่งมีชีวิตตัวนั้นได้ยุติลง ต่อนี้ไปมีแต่การสลายตัว ไม่มีการทดแทนจากอาหารที่กินเข้าไป คาร์บอน – 14 จึงลดปริมาณลงและส่วนที่เหลืออยู่จะช่วยบอกอายุได้ วิธีนี้อาจพาเราย้อนกลับไปไกลถึง 50,000 ปีที่แล้ว ไกลไปกว่านั้นจะไม่เหลือไอโซโทปของคาร์บอน – 14 แล้ว

อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กำหนดอายุของบางสิ่งที่มีหินงอกปิดทับ เช่น ภาพเขียนสีในถ้ำ วิธีนี้ใช้การตรวจวัดไอโซโทปยูเรเนียม – ทอเรียมของหินงอกดังกล่าว เนื่องจากไอโซโทปยูเรเนียมสลายตัวช้ากว่าคาร์บอน – 14 วิธีนี้สามารถวัดอายุย้อนกลับไปได้ถึงห้าแสนปี ยิ่งไปกว่านั้น วิธีนี้ใช้ตัวอย่างวิเคราะห์เพียง 0.5 ไมโครกรัมของยูเรเนียม น้อยมากพอที่จะขออนุญาตเจาะผนังถ้ำที่เป็นโบราณสถานได้ เมื่อได้อายุของหินงอก เราก็บอกได้ว่าภาพที่ถูกปิดทับอยู่ ต้องมีอายุเก่ากว่านั้น มีการใช้วิธีนี้เพื่อบ่งบอกอายุของผลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์นีอันแดรทัล

อีกวิธีหนึ่งที่สำคัญมากในการหาอายุคือหาด้วยวิธีการเปล่งแสง (luminescence dating) วิธีนี้ใช้กำหนดเวลาที่วัสดุบางชนิดได้รับความร้อนเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นวัสดุที่มีแร่บางชนิดสะสมไว้ในประมาณที่สูง เช่น ตะกอน, หินเหล็กไฟ เมื่อสารกัมมันตรังสีในวัสดุดังกล่าวสลายตัวลง มันจะปล่อยประจุสารกัมมันตรังสีออกมา ยิ่งนานเท่าไรก็จะมีการสะสมประจุมากขึ้นเท่านั้น หลังจากนำตัวอย่างของตะกอนหรือหินเหล็กไฟไปผ่านกระบวนการอันซับซ้อน แล้วกระตุ้นด้วยแสงหรือความร้อนในห้องปฏิบัติการที่มืด มันจะปล่อยประจุที่สะสมไว้ออกมา ทำให้รู้อัตราการสะสมและอายุของมันนับแต่ถูกทำให้ร้อนครั้งสุดท้าย

ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตยุคโบราณสามารถบอกกระบวนการวิวัฒนาการได้ดี รูปแบบของยีนมนุษย์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบรรพบุรุษ ทำให้ย้อนกลับไปได้เหมือนการทำแผนภูมิต้นไม้ของครอบครัว ในทางทฤษฎี เราสามารถสกัดดีเอ็นเอได้จากทุกสิ่งที่เคยมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกระดูกมนุษย์ ขนแมมมอธ เปลือกไข่นกกระจอกเทศ เขากวางเรนเดียร์ ฯลฯ แม้แต่ร่องรอยของวัสดุที่ติดอยู่กับเม็ดดินและตะกอน ความคืบหน้าทางพันธุ์กรรมศาสตร์ช่วยให้สามารถระบุลักษณะเฉพาะของยีนของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ได้ การสกัดดีเอ็นเอจากวัสดุชิ้นหนึ่ง ทำให้สามารถบอกได้ว่าวัสดุชิ้นนั้นเป็นของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใด และถ้าระบุอายุของวัสดุได้ ก็สามารถสืบสาวประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นได้ด้วย

เราสามารถสกัดโปรตีนจากกระดูกได้เช่นกัน เทคนิคนี้มีชื่อว่า ZooMS ที่ย่อมาจาก Zooarcheology by Mass spectrometry วิธีนี้สามารถสร้าง “รอยพิมพ์มวลสาร” ของคอลลาเจนจากชิ้นส่วนกระดูกเล็ก ๆ ที่ปกติแล้วแทบไร้ประโยชน์สำหรับนักโบราณคดี วิธีนี้ใช้ลำแสงเลเซอร์ปลดปล่อยโมเลกุลออกจากของแข็งให้ระเหยเป็นไอ แล้วตรวจวัดมวลด้วยเครื่องเร่งอนุภาค เช่น เพื่อตรวจหาเปปไทด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน เปปไทด์มีความผันแปรเล็กน้อยในแต่ละสายพันธุ์ จึงถูกใช้ระบุว่ากระดูกชิ้นนั้นเป็นของสัตว์ชนิดใด

บทความที่สืบค้นได้จากหนังสือพิมพ์ Le Monde ออนไลน์ลงวันที่ 10 เมษายน 2568 ระบุว่ามีการใช้เทคนิค ZooMS เพื่อวิเคราะห์โปรตีนของชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่าง ที่อวนลากนำขึ้นมาจากท้องทะเลความลึกประมาณ 100 เมตร เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน แล้วนำมาวิเคราะห์เมื่อปี 2558 พบว่าเป็นกระดูกของมนุษย์สายพันธุ์เดนิโซวัน ที่เคยพำนักในไซบีเรียและทิเบต และมีการผสมพันธุ์กับมนุษย์สายพันธุ์ซาเปียนส์อยู่บ้าง ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป

จุดที่พบกระดูกของเดนิโซวันคือทะเลฝั่งตะวันตกของไต้หวัน ใกล้เกาะเพ็งฮู เจ้าของกระดูกจึงมีชื่อเรียกว่า “เพ็งฮู – 1” ในยุคน้ำแข็งเมื่อกว่าหมื่นปีที่แล้ว น้ำกลายเป็นน้ำแข็งจำนวนมาก ทำให้ทะเลเหือดแห้ง เพ็งฮู – 1 เคยอยู่บนดินแห้ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นท้องทะเล กระดูกขากรรไกรของเขาผ่านการสึกกร่อนโดยน้ำทะเล ทำให้วิเคราะห์หาอายุได้ยาก รู้เพียงว่าเขาอาศัยอยู่ในช่องแคบระหว่างเกาะไต้หวันกับเกาะเพ็งฮูที่อยู่เหนือน้ำเมื่อกว่าหมื่นปีที่แล้ว ข้อค้นพบนี้ทำให้ยอมรับว่า มนุษย์เดนิโซวันเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่กว้างมากของภูมิภาคนี้ ก่อนการมาของมนุษย์ซาเปียนส์เสียอีก

ต่อไปจะขอกล่าวถึงมนุษย์ซาเปียนส์ที่เข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณของประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อกว่า 29,000 ปีก่อน สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุว่า อธิบดีกรมศิลปากรแถลงข่าวร่วมกับรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในแผ่นดินไทยในสภาพสมบูรณ์ ที่แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินของอุทยาน เป็นโครงกระดูกของเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 8 ปี จึงตั้งชื่อว่า “น้องปังปอน” ข้อมูลใหม่นี้ช่วยให้เรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2563 กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใด โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมจำนวน 7 แหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการค้นพบใหม่นี้ และคงต้องทำการวิเคราะห์หาอายุของภาพเขียนสีในแหล่งต่างในบริเวณนี้เพิ่มเติมขึ้น เพื่อสืบค้นวิถีชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยอาศัยในบริเวณนี้ให้ละเอียดต่อไป

ผลการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีพบว่าที่ถ้ำดินมีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่หลายช่วงเวลา และยังพบโบราณวัตถุประเภทเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก และเมื่อขุดค้นจนถึงระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่จำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก (พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1) ซึ่งจากการคัดเลือกตัวอย่างของถ่านและเปลือกหอย จำนวน 5 ตัวอย่าง ส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ผลการกำหนดอายุทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นมีอายุเก่าแก่กว่าเนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกลงไปที่ประมาณ 2 เมตร จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี

จากข้อมูลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินมีร่องรอยการอยู่อาศัยของโฮโมซาเปียนส์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อน 29,000 ปีมาแล้ว ส่วนกลุ่มคนที่เขียนภาพเขียนสีอาจเป็นคนรุ่นหลังสุดที่เข้ามาใช้พื้นที่เมื่อประมาณ 2,000 – 3,000 ปีที่แล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอย่างยาวนานในถ้ำดินนั้น แสดงถึงร่องรอยของกลุ่มคนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยหินเก่า (อายุก่อน 12,000 ปี) ที่ดำรงชีวิตด้วยการหาพืชป่า ล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร รู้จักการหาอาหารจากสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย วิธีปรุงอาหารให้สุกก่อนกิน มีการใช้เครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูก และไม้ มาเป็นอุปกรณ์ในการล่าหรือใช้งาน อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็ก จากชนิดสัตว์และหอยที่พบยังแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นว่าน่าจะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้า และหนองน้ำ ที่สัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่จำนวนมาก

บรรพบุรุษของเราได้มาอาศัยในเอเชียอาคเนย์และในประเทศไทยมากว่า 29,000 ปีแล้ว หลักฐานค้นพบใหม่แสดงว่าประเทศไทยอยู่บนเส้นทางการอพยพจากแอฟริกา ผ่านเอเชียอาคเนย์ไปยังอินโดนีเซียและเลยไปถึงออสเตรเลีย ใน ‘ยุคน้ำแข็ง’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือและใต้มีหิมะตกและเกิดธารน้ำแข็งขึ้น ผลจากการที่เกิดน้ำแข็งขึ้นนี้เองทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงราว 120 เมตร แม้ว่าเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรจะไม่เกิดธารน้ำแข็งก็ตาม แต่ก็มีอากาศที่หนาวเย็นกว่าปัจจุบัน ในเวลานั้นมนุษย์ยังไม่รู้จักการเพาะปลูก เพราะสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อให้สามารถทำได้ จึงต้องพึ่งพิงอาหารจากธรรมชาติ ตั้งแต่การเก็บผลไม้ พืชผักในป่า จับปลา จับหอย และล่าสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ไทยเริ่มสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์โฮโมซาเปียนส์มากขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์โฮโมซาเปียนส์คือการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์ไทยควรช่วยเติมความรู้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ใกล้บ้านเรา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปิดให้การศึกษาแม่นยำและกว้างขวางขึ้น รัฐพึงถือโอกาสนี้สนับสนุนให้นักโบราณคดีไทยมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีสากล

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image