จีน-สหรัฐพลิกกลับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ จุดเปลี่ยนสำคัญแห่งประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก

จีน-สหรัฐพลิกกลับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่
จุดเปลี่ยนสำคัญแห่งประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก

ท่ามกลางภาวะสงครามภาษีศุลกากรกำลังระอุ ภาพลักษณ์ระดับโลกของจีน-สหรัฐกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากความเห็นชาวเน็ตทั่วโลกที่มีต่อจีนมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น ขณะที่สหรัฐกำลังตกต่ำ ผลการสำรวจจากศูนย์วิจัย Pew Research Center ชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติเชิงลบของอเมริกันที่มีต่อจีนได้เริ่มลดลง และกำลังถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นบวก ในอดีตจีนมักเป็นเป้าหมายของการเยาะเย้ยและตำหนิจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ต แต่ปัจจุบันจีนมีท่าทีที่ไม่เกรงกลัวอำนาจของสหรัฐ จึงได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเน็ตทั่วโลก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ เว็บไซต์จีนชื่อ DHgate เดิมใช้สำหรับขายสินค้า แต่ภายใต้แรงกดดันของสงครามภาษีการค้า ปัจจุบันปรับตัวกลายเป็นสื่อออนไลน์ที่เปิดเผยความลับทางการค้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าและราคาขายที่แท้จริง เป็นต้นว่ากระเป๋า Gucci กางเกงโยคะ Lululemon เป็นต้น ล้วนทำการผลิตในจีน ขณะที่ TikTok เปิดเผยว่า บรรดาสินค้าชื่อดังเกือบ 100% ล้วนผลิตในจีน และยังได้เปิดเผยถึงโครงสร้างและห่วงโซ่อุตสาหกรรมว่า สินค้าราคาแพงในตะวันตกจำนวนมากล้วนอิงอยู่กับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เช่น กระเป๋ายี่ห้อหรูขายในสหรัฐ 30,000 ดอลลาร์ แต่ต้นทุนจริงจากโรงงานในมณฑลกวางตุ้งต่ำกว่า 300 ดอลลาร์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหญ่ในโลกตะวันตกจึงเป็นเพียงการขาย “คุณค่าทางอารมณ์” ผู้บริโภคอเมริกันจึงเริ่มเข้าใจว่า แม้จะมีภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่การซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตจีนก็ยังคุ้มค่ากว่าการซี้อแบรนด์หรูที่สร้างภาพเกินจริงในสหรัฐ

ท่ามกลางคลื่นลมแห่งสงครามการค้า ธุรกิจจีนจำนวนมากเสมือนโผล่ขึ้นจากใต้น้ำ สะท้อนให้โลกเห็นว่าพวกเขาไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมลวงตาจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบรนด์หรูอีกต่อไป โดยนำมาซึ่งประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั่วโลกในรูปแบบของ “โบนัสผู้บริโภค” ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนมาให้คุณค่ากับสินค้ามากกว่าจะยอมจ่ายราคาสูงเกินจริงเพื่อแลกกับคุณค่าทางอารมณ์และค่าโฆษณามหาศาลที่ไม่จำเป็น

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคของอเมริกันจำนวนมากตื่นรู้ว่า คุณภาพชีวิตที่ดีและราคาย่อมเยาของพวกเขานั้นมีต้นกำเนิดจากจีน แต่ทรัมป์กลับต้องการทำลายผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ความนิยมของทรัมป์ในรอบร้อยวันจึงตกต่ำที่สุดเหลือเพียง 42% แม้กระทั่ง Swing States (รัฐสมรภูมิ) ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่ให้การสนับสนุนทรัมป์ถึง 2 สมัย ก็ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืน เพราะบัดนี้ตาสว่างแล้ว และที่น่าสนใจที่สุดคือเมื่อไม่นานมานี้ อเมริกันชนจำนวน 3 ล้านกว่าคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการบริหารของรัฐบาลทรัมป์ที่หน้าทำเนียบขาว นอกจากนี้ยังมีอดีตประธานาธิบดี 3 คนได้แก่ บิล คลินตัน, บารัก โอบามา และโจ ไบเดน ต่างออกมาทำการวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ว่า พฤติกรรมเป็นการทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐ ขาดไร้คุณธรรม ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตทางการเมืองอย่างแท้จริง

ADVERTISMENT

แต่นักคิดที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนนาม Peter Navarro และ Stephen Miran ต่างได้สนับสนุนสงครามภาษี โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ความชั่วจำเป็น” เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐ

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกดดันมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันชั้นนำอีกหลายแห่งไม่ให้รับนักศึกษาต่างชาติ พร้อมทั้งจะเข้าควบคุมหลักสูตรการศึกษา กร่อนเซาะบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของสถานศึกษา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐ

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลาง ผู้ซึ่งปฏิเสธคำสั่งของทรัมป์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าขัดต่อจรรยาบรรณแห่งอาชีพ ก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมถือเป็นการทำลายระบบถ่วงดุลอำนาจและอาจนำประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญ

ความแข็งแกร่งของสหรัฐที่ดำรงมาอย่างยาวนานนั้น มีรากฐานจากความเปิดกว้างและเสรีภาพทางวิชาการ นักวิชาการและผู้มีความสามารถจากยุโรปและเอเชียต่างแห่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก็เพราะ “เสรีภาพ” แต่วันนี้ทำเนียบขาวกลับเดินถอยหลัง ต่อต้านโลกาภิวัตน์และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ประเทศจีนกลับดำเนินนโยบายที่ตรงกันข้าม เป็นต้นว่า ยกเว้นวีซ่าเข้าเมืองให้แก่หลายประเทศในโลก เปิดรับผู้มีความสามารถจากทั่วโลก ส่งเสริมโลกาภิวัตน์ สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผลักดันการขยายพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมมากขึ้น

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการพลิกกลับของภาพลักษณ์ระหว่างจีนและสหรัฐโดยสิ้นเชิง และอาจนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช