ประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันน้อยของดวงดาว (2)

ประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันน้อยของดวงดาว (2)

มนุษย์ที่เฝ้ามองท้องฟ้ายามค่ำคืน คงปล่อยความคิดคำนึงไปไกล พิศวงว่าเราเกิดมาทำไมในท่ามกลางความเวิ้งว้างของจักรวาล คงพยายามหาคำตอบต่อคำถาม เช่น ดวงดาวดวงไหนมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร พระอาทิตย์ล่วงลับขอบฟ้าแล้วไปไหน แล้วนึกกลัวว่าถ้าพระอาทิตย์ไปลับไม่กลับมาจะทำอย่างไร คำถามที่สำคัญมากคือ “ตายแล้วไปไหน” มนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างภาษา ได้พัฒนาระบบความเชื่อความศรัทธาของตนเกี่ยวกับความตาย หรือจะกล่าวว่ามนุษย์เริ่มนับถือศาสนาก็คงได้ ในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงมนุษย์ยุคหินเก่าและหินใหม่ ที่เริ่มสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อส่งผู้ล่วงลับออกเดินทาง บทความที่เขียนต่อในสัปดาห์นี้ ก็เป็นย่อความจากหนังสือชื่อ “จักรวาลในมุมมองของมนุษย์: ประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันน้อย (secret) ของดวงดาว” เขียนโดย โจ มาร์แชนต์ เช่นกัน โดยจะครอบคลุมบทที่ 4 และบทที่ 5 ของหนังสือเล่มดังกล่าว

4. ความศรัทธา

ในคำสอนพุทธศาสนา วิญญาณหมายถึงความรู้แจ้งในอารมณ์ คำคำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า soul ซึ่งมีอีกความหมายหนึ่งตามศาสนาอื่น ๆ กล่าวคือ วิญญาณเป็นนามธรรมที่อยู่กับร่างกายมนุษย์ เมื่อเราตาย วิญญาณจะออกจากร่าง อย่างไรก็ดี มนุษย์ไม่อยากตาย แม้ความตายจะเป็นสิ่งแน่นอนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวอียิปต์โบราณหรือชาวไอยคุปต์ได้พัฒนาความเชื่อแบบพหุเทวนิยม คือ นับถือเทพต่าง ๆ หลายองค์ตามท้องถิ่น โดยเทพแต่ละองค์จะผูกโยงกับสัตว์หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างไรก็ดี เทพสูงสุดของชาวไอยคุปต์คือเทพ “รา” หรือดวงอาทิตย์ เทพราจะทรงแล่นเรือผ่านไปเยี่ยมเยียนแคว้นหรือ “เขตแสงสว่าง” 12 แคว้นในเวลากลางวัน ถึงเวลากลางคืน จะเสด็จไปเผชิญกับเทพงู “อโพฟิส” ในใต้พิภพ แล้วรวมเป็นหนึ่งกับร่างของเทพี “โอซิริส” เพื่อทรงรับพลังแห่งชีวิต และทรงฟื้นคืนชีพในรุ่งเช้าของวันใหม่

ADVERTISMENT

พระเจ้าฟาโรห์ของชาวไอยคุปต์ ตลอดจนเสนาบดี/คหบดีใหญ่น้อยของอียิปต์ อยากเลียนแบบเทพรา สิ่งที่ต้องทำก่อนอื่นคือ การเตรียมร่างของผู้ตายไม่ให้เน่าเปื่อย หากคงอยู่ในสภาพมัมมี่ในโลงศิลา ฝังอยู่ในปิรามิดเพื่อมิให้ใครมารบกวนเป็นเวลานานเท่านาน จนกว่าดวงวิญญาณที่ได้ออกจากร่างไปจะเวียนกลับดุจเทพรา มารวมเป็นหนึ่งกับร่างของมัมมี่ แล้วฟื้นคืนชีพสู่สวรรค์ … ไม่รู้ว่าทาสและผู้ถูกบังคับแรงงานจำนวนเท่าใด ได้สละชีพไปสร้างปิรามิดที่ใหญ่โตมโหฬาร เพื่อสนองอมตนิยายของผู้มียศศักดิ์เหล่านั้น

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1881 นักสำรวจสองพี่น้องจากเบอร์ลิน ชื่อไฮน์ริค และเอมิล บรุกค์ ได้เข้าไปในห้องใต้ดินของปิรามิดเล็ก ๆ ทางใต้ของกรุงไคโร ใกล้หมู่บ้านซักการา ที่นี่เป็นหลุมฝังศพของฟาโรห์ “เมเรนเร, ผู้เป็นที่รักของดวงอาทิตย์” ซึ่งพระนามถูกจารึกไว้หลายแห่งภายในปิรามิด จารึกด้วยอักขระของชาวไอยคุปต์ที่ชื่อว่า “ไฮเออโรคลิฟ” ประกอบดัวยตัวอักษร (alphabet) และสัญรูป (logograph) ข้อความที่จารึกบนโลงศพศิลาของเมเรนเร มีว่า “เทพผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าแห่งเขตแสงสว่าง ผู้มีชีวิตดุจดวงอาทิตย์” คำจารึกในที่อื่นของปิรามิดล้วนแสดงความศรัทธาของชาวไอยคุปต์ ตลอดจนแสดงคาถาที่ช่วยเร่งกระบวนการฟื้นคืนชีพ เช่น “ข้าฯพายเรือของพระองค์บนท้องฟ้า โอ้สุริยเทพ” หรือ “ทางเดินแห่งฟ้าทอดอยู่เบื้องหน้า เพื่อที่ข้าฯอาจเดินขึ้นสู่ท้องฟ้า”

ห้องภายในปิรามิดซักการาออกแบบเพื่อสะท้อนการเดินทางของประจำวันของดวงอาทิตย์ จากห้องของหลุมฝังศพ มีทางให้ฟาโรห์ผู้ฟื้นคืนชีพ เดินไปทางตะวันออกสู่รุ่งอรุณ จากนั้นระเบียงตะวันออกหันไปทางทิศเหนือ บางทีเพราะต้องการชี้ทางสู่บรรดาดาวที่หมุนรอบดาวเหนือโดยไม่ลับขอบฟ้าไป (circumpolar stars) ปิรามิดที่เก่ากว่า เช่น ปิรามิดขนาดใหญ่สามแห่งที่กีซา แม้ไม่มีการจารึกข้อความอยู่ภายในปิรามิด แต่ก็ออกแบบเพื่อสะท้อนความเชื่อเดียวกัน ของการคืนร่างและวิญญาณของฟาโรห์สู่หมู่ดาวรอบดาวเหนือ

แต่สองพี่น้องนักสำรวจ ไม่ค่อยใส่ใจในความยิ่งใหญ่ขององค์ฟาโรห์เมเรนเร พวกเขารีบหอบหิ้วมัมมี่อายุ 4000 ปีของพระองค์อย่างทุลักทุเลจนร่างหักออกเป็นสองท่อน เพื่อนำไปแสดงต่อหัวหน้าซึ่งป่วยหนักอยู่ที่กรุงไคโร ก่อนที่หัวหน้าจะสิ้นใจในอีกไม่กี่วันต่อมา

อีกหลายศตวรรษหลังสมัยฟาโรห์เมเรนเร คือราว 3,300 ปีก่อนปัจจุบัน ชนเผ่าเผ่าหนึ่งเริ่มรวมตัวกันขึ้นในตะวันออกกลาง นั่นคือชนเผ่าอิสราเอล ในตอนต้น พวกเขามีเทพเจ้าจำนวนมากเช่นกัน นำโดยเทพ “ยาห์เวห์” และเทพี “อัสเซราห์” ชาวอิสราเอลก่อตั้งอาณาจักรขึ้นในดินแดนที่มีชื่อว่า “คานาอัน” เป็นพื้นที่ราบตามชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมเมดิเตอร์เรเนียน ทางเหนือติดกับเลบานอน อาณาจักรที่ตั้งขึ้นทางด้านเหนือใช้ชื่อว่าอิสราเอล ส่วนด้านใต้ใช้ชื่อว่ายูดาห์

เมื่อ 2,747 ปีก่อน อัสซีเรียเข้ารุกรานและทำลายอาณาจักรอิสราเอล เมื่อปี 2,611 ปีก่อน หลังจากที่ได้ชัยชนะเหนืออัสซีเรีย บาบีโลนได้บุกทำลายอาณาจักรยูดาห์ และกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่บาบีโลน คนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ เยรูซาเล็มได้ถูกกวาดต้อนไปด้วย พวกเขามีความคิดความเชื่อใหม่ที่จะมาปฏิวัติความศรัทธา แทนที่จะนับถือเทพยาห์เวห์ในฐานะหนึ่งในเทพทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่ายาห์เวห์คือพระเจ้าองค์เดียวซึ่งเป็นผู้สร้างเอกภพ เป็นพระเจ้าผู้ไม่อาจวาดภาพให้เห็นเป็นบุคลาธิษฐานได้ เป็นผู้ทรงคุณค่าสูงสุดไม่เป็นประมาณ นี่เป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางพหุเทวนิยมทั้งหลาย ศาสนานี้ห้ามการเคารพบูชาพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์ยาห์เวห์ พระองค์อยู่เหนือ (transcend) จักรวาล อยู่เหนือกฎเกณฑ์แห่งจักรวาล ไม่ขึ้นกับเทหวัตถุใด ๆ บนท้องฟ้า

เมื่อ 2,563 ปีก่อน ชาวเปอร์เซียบุกมาพิชิตบาบีโลน และส่งตัวผู้ถูกเนรเทศกลับคานาอัน พวกเขาถือโอกาสสร้างวิหารเยรูซาเล็ม รวมทั้งเริ่มรวบรวมเอกสารซึ่งต่อมากลายเป็นคัมภีร์ของฮีบรู (หรือของชาวยิว) มีข้อสันนิษฐานว่า ที่ชาวเปอร์เซียสนับสนุนชาวยิวนั้น เป็นเพราะเปอร์เซียมีศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งมีลักษณะผสมผสาน คือมีลักษณะเป็นเอกเทวนิยมโดยมีพระเจ้าสูงสุดคือ พระอาหุรา มาซดา เป็นพระผู้สร้างและพระเจ้าแห่งแสงสว่าง ขณะเดียวกันก็มีเทพเจ้าหลายองค์รวมเป็นวิสัยจิตก้าวหน้า (สเปนตา เมนยู) และเทพเจ้าหลายองค์รวมเป็นฝ่ายวิสัยจิตทำลาย (อังกรา เมนยู)

หลังจากนั้น ชาวกรีกได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรเปอร์เชียและเข้าควบคุมยูดาห์ตั้งแต่ 2,257 ปีก่อน แต่ในไม่ช้า อาณาจักรโรมันได้เข้ายึดครองเยรูซาเล็มเมื่อ 2,088 ปีก่อน และยึดครองดินแดนแห่งนี้อยู่เกือบ 400 ปี คือจนถึงปี ค.ศ. 324 ชาวยิวมีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เรียกว่าพันธสัญญาเดิม (old testament) ชื่อเรียกนี้มาจากชาวคริสต์ ซึ่งแม้จะยังเชื่อในคัมภีร์ฮีบรู (เดิม) แต่ก็เพิ่มเติมความเชื่อว่า พระเมสสิอาห์ (พระผู้ช่วยให้รอด) ได้เสด็จลงมาแล้ว ซึ่งได้แก่พระเยซูคริสต์ บุตรของพระเจ้า ผู้เผยพระวจนะและผู้ที่ทำให้พันธสัญญาเดิมเสร็จสมบูรณ์

พระเยซูและสาวกได้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ โดยชาวคริสต์จะยึดถือพันธสัญญาใหม่ (new testament) ที่ประกอบด้วยชุดข้อความ 27 ฉบับ ที่เขียนเป็นภาษากรีก คอยเน (คำว่า koine หมายความว่าใช้ร่วมกันทั่วบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก) องค์ประกอบที่สำคัญคือพระกิตติคุณหรือพระวรสาร (Gospel ที่แปลว่าข่าวดี) ที่ว่าด้วยประวัติและพระธรรมเทศนาของพระเยซูคริสต์ มี 4 เล่ม ที่เขียนโดยอัครสาวก 4 คน, หมวดประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเผยแพร่ของอัครสาวก, จดหมายของนักบุญเปาโล, จดหมายทั่วไป, และบทวิวรณ์ (revelation)

ในสายธารของศาสนาเอกเทวนิยมที่สืบเนื่องจากคัมภีร์ฮีบรูนั้น ยังมีศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง คือศาสนาอิสลาม ซึ่งศาสนิกชนเรียกชื่อตนว่ามุสลิม พวกเขาเชื่อในพระอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และปฏิบัติตามคำสอนที่ทรงประทานผ่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ศาสดาคนสุดท้าย คำสอนปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนเป็นภาษาอาหรับคลาสสิก มี 114 บท ซึ่งเขียนตามที่พระอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงประทานระหว่างปี ค.ศ. 609 ถึงปี 632

ในช่วง 250 ปีแรกหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในอาณาจักรโรมันเป็นไปอย่างช้า ๆ ความเชื่อหลักยังเป็นแบบหพุเทวนิยม ประมาณการกันว่ามีชาวคริสต์ประมาณ 2% หลังปี ค.ศ. 250 จำนวนชาวคริสต์ได้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ บางกระแสความคิดเชื่อว่าเป็นไปเอง คือขับเคลื่อนโดยผู้นำชาวคริสต์ในสมัยนั้น แต่ความคิดกระแสหลักเชื่อว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง บิชอป ยูเซเบียส แห่งปาเลสไตน์เขียนประวัติศาสตร์ไว้ว่า พระเจ้าทรงแสดงความมหัศจรรย์ต่อว่าที่จักรพรรดิคอนสตันติน ทำให้พระองค์หันมานับถือและสนับสนุนศาสนาคริสต์โดยฉับพลัน รวมทั้งต่อมาได้เลิกเบียดเบียนศาสนาอื่น ๆ ด้วย

เรื่องเล่ามีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 312 ขณะที่คอนสตันตินกำลังกรีฑาทัพข้ามเทือกเขาแอล์ปส์จากดินแดนของชาวโกล มุ่งสู่กรุงโรม เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่กับมักซ์เซ็นติอุส คู่เขยที่ปกครองกรุงโรมอยู่ ในเวลาใกล้เที่ยง เขาเห็นแสงไฟส่องสว่างเป็นรูปกางเขนปรากฏบนท้องฟ้า ประดับด้วยวลี “ใช้สิ่งนี้พิชิตชัย” ยูเซเบียสเล่าว่า ภาพนิมิตนี้ทำให้คอนสตันตินเปลี่ยนมานับถือคริสต์โดยทันที และสั่งให้ทหารของเขาเขียนตัวอักษรกรีก χ (อักษรตัว Chi กับตัว r เป็นอักษรแรกของคำว่า Chirst) ไว้บนโล่ วันรุ่งขึ้น มักซ์เซ็นติอุสเคลื่อนทัพด้วยกองกำลังที่เหนือกว่า ข้ามแม่น้ำเตเวเร (Tiber) ที่สะพาน มิลเวียน แต่ไม่ทันได้ตั้งหลัก กองทัพของคอนสตันตินก็พุ่งเข้าโจมตี กองทัพของมักซ์เซ็นติอุสไม่มีพื้นที่ถอย ได้แต่ดันกันจนจมลงในแม่น้ำ ตัวมักซ์เซ็นติอุสเอง ผู้ใส่เสื้อเกราะหนักก็จมน้ำตาย

นักประวัติศาสตร์ภายหลังสังเกตว่า บนประตูชัยคอนสตันตินที่องค์จักรพรรดิสั่งให้สร้างกลางกรุงโรมใกล้โคลอสเซียม ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่เป็นของคริสเตียนเลย ด้านตะวันออกของประตูชัย มีภาพสลักนูนของเทพ Sol ที่เป็นสุริยเทพของชาวโรมัน ทรงขับรถม้าสี่ตัวโผล่ขึ้นจากมหาสมุทร ทางด้านตะวันตกที่อยู่ตรงข้าม มีภาพการเสด็จลงมาของจันทราเทวี Luna นอกจากนี้ ฝูงชนที่เดินตามถนนมาสู่ประตูชัย เมื่อมองลอดส่วนโค้งของประตู จะเห็นรูปหล่อมหึมาทำด้วยบรอนซ์ที่อุทิศแด่ดวงอาทิตย์ นักประวัติศาสตร์จึงมีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์อย่างน่ามหัศจรรย์ที่อ้างถึงนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นชัยชนะของเอกเทวนิยมเหนือพระเจ้าแห่งท้องฟ้าในทันที อนึ่ง จักรพรรดิคอนสแตนตินไม่ทรงรับศีลล้างบาปตามแบบชาวคริสต์ จนกระทั่งไม่กี่วันก่อนสิ้นพระชนม์

อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยของคอนสตันติน ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ศาสนาคริสต์ไว้เป็นอย่างมาก ทรงเปลี่ยนศาสนจักรจากการถูกฝ่ายอาณาจักรเบียดเบียน มาเป็นศาสนจักรอันยิ่งใหญ่ด้วยการอุปถัมภ์ของพระองค์ ผู้คนทั้งหลายที่เคยศรัทธาต่อเทพเจ้าหลายองค์ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นดิน ท้องทะเล และแผ่นฟ้าของดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ดวงนี้ ได้หันมาศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียวเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

5. เวลา

พระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวฤกษ์, และดาวเคราะห์ บ่งบอกเวลาให้แก่เรามาแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อมาถึงปลายยุคกลาง มุมมองของเราต่อเวลาเริ่มเปลี่ยนไป เวลาคือสิ่งที่อยู่กับเราบนโลกเพราะมีนาฬิกาคอยบ่งบอก และนี่คือการแยกกันอีกครั้งหนึ่งระหว่างมนุษย์กับจักรวาล หลังจากเกิดศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวที่อยู่เหนือจักรวาล

ซีเซโร (Cicero, 106 BC – 43 BC) เป็นนักปรัชญา, นักพูด, และรัฐบุรุษชาวโรมัน เขาเขียนถึงลูกทรงกลมสองลูกที่อาร์คีเมดิสสร้างขึ้นเพื่อจำลองแผ่นฟ้าและดวงดาว ที่องค์ประกอบเคลื่อนได้ตามเวลา เมื่อขุนพลโรมันชื่อมาร์เชลลุสเข้าทำลายเมืองซีราคูสในปี 212 BC เขาได้ยึดลูกทรงกลมทั้งสองลูกไป ลูกหนึ่งมอบให้วิหารแห่งหนึ่งในกรุงโรม อีกลูกหนึ่งเขาเก็บไว้เอง

ซีเซโรพรรณนาว่าสิ่งประดิษฐ์นี้สร้างโดยผู้มีอัจฉริยภาพยิ่งใหญ่ รูปทรงกลมแสดงโมเดลของจักรวาล ประกอบด้วยดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดาวเคราะห์ห้าดวง ดาวเหล่านี้หมุนรอบโลกด้วยความเร็วต่างกันที่แสดงอย่างแม่นยำ น้อยคนนักที่จะเชื่อคำบอกเล่าที่น่าอัศจรรย์ของซีเซโร จนกระทั่งนักดำน้ำที่ลงไปสำรวจซากเรือกรีกสมัยศตวรรษแรกก่อนคริสต์กาล ที่จมอยู่นอกฝั่งของเกาะอันติกีเทรา และพบลูกทรงกลมที่ตรงกับคำบรรยายของซีเซโรพอดี กลไกที่ออกแบบไว้มีความซับซ้อนมาก ด้านหลังมีหน้าปัดรูปเกลียวสองชุด ชุดหนึ่งเป็นปฏิทินครอบคลุมเวลา 235 เดือน อีกชุดหนึ่งแสดงวัฏจักร 223 เดือนที่ใช้ทำนายจันทรุปราคา

เมื่อจักรพรรดิคอนสตันตินทรงฟื้นฟูกรุงโรมแล้ว พระองค์ก็ขยายพรมแดนไปทางตะวันออก และสถาปนาเมืองคอนสตันติโนเปิลที่ตั้งชื่อตามพระองค์ เมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก และเจริญรุ่งเรืองอยู่กว่าแปดร้อยปี หลังจากนั้น ชาวมุสลิมได้เข้ายึดครอง และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอิสตันบุล: เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมาน หลังยุคของคอนสตันติน อาณาจักรโรมัน (ตะวันตก) ถูกรุกรานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากพวกนักรบเผ่าเยอรมัน จักรวรรดิโรมันตะวันออกอยู่ไกลเกินกว่าจะช่วยอะไรได้ เมื่อกรุงโรมถูกพิชิตในปี ค.ศ. 476 ถือได้ว่าเป็นอันสิ้นสุดยุคโบราณ หลังจากนั้น ยุโรปตะวันตกถูกทิ้งให้ตกอยู่ในยุคกลาง ยุคที่ศาสนจักรครอบงำให้ทุกคนมุ่งสู่ประตูสวรรค์ มากกว่าสู่ความเจริญในทางโลก

อย่างไรก็ดี ฝ่ายศาสนจักรคาทอลิกส่วนหนึ่งต้องการมีอำนาจในทางโลกด้วย มีการยกเอกสารที่ปลอมแปลงฉบับหนึ่งขึ้นมาอ้าง ว่าเป็นของจักรพรรดิคอนสตันติน ที่แสดงความประสงค์จะแบ่งสมบัติให้ฝ่ายศาสนจักรไปครอง เป็นการตอบแทนที่นักบวชคนหนึ่งช่วยรักษาโรคเรื้อนของพระองค์ โชคดีที่เอกสารปลอมนั้นถูกเปิดโปง เมื่อมีการพิสูจน์ว่าภาษาที่ใช้ในเอกสารเป็นสำนวนที่ใช้กันหลังยุคของคอนสตันติน อย่างไรก็ดี ยุโรปตะวันตกถดถอยลง โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในยุคกลางล้วนระส่ำระสาย การค้าทางไกลพังทลาย คงเหลือเสาหลักแห่งอำนาจและการเรียนรู้ก็แต่ในอารามของนักบวช โดยเฉพาะนักบวชคณะเบเนดิกติน ชีวิตในอารามเป็นไปตามคำขวัญ “สวดภาวนาและทำงาน” นักบุญเบเนดิกได้บัญญัติวินัยนี้ไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 คือให้นักบวชสวดภาวนาวันละ 7 หนคือ ก่อนรุ่งอรุณ, เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น, เวลา 9.00 น., 12.00 น., 15.00 น., เวลาพระอาทิตย์ตก, และก่อนนอน และให้ย่ำระฆังเตือนสัตบุรุษถึงเวลาเหล่านี้ด้วย ช่วงเวลาระหว่างการสวด ก็ต้องทำงาน เพราะนักบวชต้องอุทิศตนรับใช้พระเจ้า และไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสวดและการทำงานเพื่อความรอดของมนุษย์ ดังนั้นการรักษาและการตรงต่อเวลาจึงสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในอาราม เทคโนโลยีของยุโรปตะวันตกในยุคกลางไม่ก้าวหน้า ยกเว้นเทคนิคการสร้างนาฬิกาให้เที่ยงตรง

นาฬิกาแสงแดด และแผนผังการเคลื่อนตัวของดวงดาว โดยเฉพาะดาวที่หมุนอยู่ไม่ไกลจากดาวเหนือ บอกเวลาตอนกลางวันและกลางคืนได้บ้าง แต่ยังคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย มีการประดิษฐ์นาฬิกาทรายหรือนาฬิกาน้ำ เพื่อบอกช่วงเวลา เช่น ช่วงเวลา 1 ชั่วโมง แต่ยังต้องอาศัยคนมาตีระฆังอยู่ดี มีการประดิษฐ์นาฬิกาที่ใช้น้ำหนักของลูกตุ้มเป็นต้นกำเนิดแรง แต่การเคลื่อนลงมาอย่างต่อเนื่องของลูกตุ้มยังขาดความสม่ำเสมอ/แม่นยำ

สิ่งประดิษฐ์ที่ถือเป็นการทะลวงผ่าน (breakthrough) ทางเทคนิคนาฬิกาคือเฟืองแกว่ง (escapement) น้ำหนักของลูกตุ้มทำให้เฟืองที่เป็นแผ่นติดสปริงแกว่งกลับไปกลับมาในช่วงเวลาที่ปรับให้คงตัว เช่น 1 วินาที เราไม่ต้องการเวลาต่อเนื่อง เพียงต้องการแบ่งเวลาเป็นช่วง ๆ ที่วัดได้แน่นอน นาฬิกาที่ใช้เฟืองแกว่งมีกลไกคอยขยับเฟืองอื่น ๆ ที่มีฟันเฟืองจำนวนต่าง ๆ กัน รวมทั้งกลไกการตีระฆัง นี่ก็คือนาฬิกาที่นักบวชต้องการสำหรับการมาสวดภาวนาพร้อมกันตามเสียงระฆัง

การทะลวงผ่านเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อกาลิเลโอ กาลิเลอี ค้นพบว่า ลูกตุ้มที่แขวนอยู่กับเส้นลวด (pendulum) แกว่งด้วยความเร็วคงตัว ไม่ขึ้นกับน้ำหนักของลูกตุ้มและช่วงกว้าง (amplitude) การแกว่ง แต่ปรับได้ด้วยความยาวของเส้นลวด ในปี ค.ศ. 1656 นักดาราศาสตร์ชื่อ คริสติอาน ฮิวเก็นส์ ได้สร้างนาฬิกาเรือนแรกบนหลักการการแกว่งของลูกตุ้ม สิ่งนี้สมชื่อของนาฬิกา คือมีความคลาดเคลื่อนไม่กี่วินาทีต่อวัน

นับแต่แบบจำลองการหมุนของดวงดาวบนท้องฟ้าของอาร์คีเมดีส เราต้องรออีกราว 1,400 ปี กว่าผู้มีอัจฉริยภาพอีกคนหนึ่งจะปรากฏตัวมาประดิษฐ์แบบจำลองจักรวาลได้ใกล้เคียงกัน เขาคือเจ้าอาวาสอารามเซ็นต์ อัลบังส์ ของนักบวชเบเนดิกติน ชื่อ ริชาร์ด วัลลิงฟอร์ด (ค.ศ. 1291 – 1335) อารามนี้ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ริชาร์ดได้เข้าศึกษาด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์กว่าสิบปี เขาอธิบายการออกแบบของเขาไว้ในเอกสารยาวประมาณ 200 หน้าที่เขียนเป็นภาษาละตินไว้บนหนังวัว สิ่งประดิษฐ์ของเขานอกจากจะทำหน้าที่บอกเวลาแล้ว ยังแสดงถึงการทำงานของจักรวาลด้วย บ่งบอกแม้กระทั่งเวลาของน้ำขึ้นน้ำลงที่สะพานลอนดอน แบบจำลองจักรวาลของริชาร์ด แม้จะวิเศษพิสดารปานใด พอถึงเวลาหนึ่งที่ชาวเมืองขุ่นเคืองมากต่ออำนาจของอาราม พวกเขาก็ยึดและนำมันมาขายในราคา 400 ปอนด์ แล้วเอาเหล็กไปหลอมใช้ในการอื่น แต่ดูเหมือนจะเก็บก็แต่ระฆังไว้บอกเวลาแก่ชาวเมือง

ประวัติศาสตร์จนถึงเวลานั้น ให้ความหมายแก่เวลาว่าเป็นระเบียบจักรวาลของพระเจ้า ซึ่งประจักษ์แก่เราตามการเคลื่อนเป็นวัฏจักรของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาว ในประวัติศาสตร์แต่นี้ไป เวลาบ่งบอกด้วยสิ่งประดิษฐ์เชิงกลไก ที่บั่นทอนสายใยที่เชื่อมเรากับพระเจ้าและเอกภพ และวางพื้นฐานสำหรับวิถีชีวิตใหม่ ที่เน้นการตรงต่อเวลาในกิจการทั้งปวง ทั้งกสิกรรม, อุตสาหกรรม, และพาณิชยกรรม

คณิตศาสตร์ได้คืบหน้าเข้ามา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรอเน เดส์การ์ตส์ นักปรัชญาให้คำตอบว่าเราเป็นใครอย่างง่าย ๆ คือ “เราคิด เราจึงเป็นอยู่” และให้แบบจำลองคณิตศาสตร์ของพื้นที่ว่าประกอบด้วยแกนตั้งฉากสามแกน ซึ่งแสดงมิติสามมิติ เขาไปไกลกว่านั้น โดยอุปมาอุปไมยว่า ใช่แต่ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์เท่านั้นที่เป็นเครื่องกลที่เคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง (automata) แม้แต่สัตว์เองก็เป็นออโตมาตาเช่นกัน มีข้อยกเว้นแต่เพียงมนุษย์ ที่ต่างออกไปเพราะมีวิญญาณนั่นเอง

ในปี ค.ศ. 1687 ไอแซ็ค นิวตันตีพิมพ์หนังสือชื่อ Principia ที่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่มีมา นิวตันเอาแกนสามมิติของเดส์การ์ตส์มาบวกกับตัวแปรเวลา เพื่ออธิบายการเคลื่อนไหวของดวงดาว ตามแรงเหวี่ยงและแรงโน้มถ่วงที่สมดุลกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ โดยใช้สมการง่าย ๆ ไม่กี่สมการ เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วจักรวาล

ในคำอธิบายของเขา นิวตันได้เสนอมโนทัศน์ใหม่เรื่องแรงที่เขาไม่ได้อธิบาย แต่ต่อมาก็เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทุกคน เว้นแต่ กอตต์ฟริด เลียบนิซ ที่แย้งว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าบางสิ่งมีอยู่หรือไม่มีอยู่ เว้นแต่ว่าจะสามารถรับรู้มันได้ แต่เราไม่สามารถรับรู้เวลา รับรู้ได้แต่เพียงเหตุการณ์ เลียบนิซยืนยันว่า เวลาเป็นเพียงลำดับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ ทฤษฎีของนิวตันประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในด้านความสามารถในการคำนวณและการทำนาย จนดูเหมือนว่าการโต้แย้งจะตกไป จนถึงเวลาของทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ที่ให้น้ำหนักแก่การโต้แย้งของเลียบนิซขึ้นมาทันที

กระนั้นในปัจจุบัน เวลาไม่ได้อยู่ในวัฏจักรของจักรวาลอีกต่อไป หากอยู่ที่ความแม่นยำยิ่ง ๆ ขึ้นของนาฬิกา

(ยังมีต่อ)

โคทม อารียา