ผู้เขียน | ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม |
---|
ผลการเลือกตั้งท้องถิ่น (เทศบาล)
ประชาชน สังคม ประเทศชาติได้อะไร
ผลการเลือกตั้งในระดับเทศบาลเสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2568 คงรับรู้กันแล้วว่า มีใครบ้างที่เป็นนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลในแต่ละแห่ง ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่สมหวังและผู้ที่ผิดหวัง นอกจากนี้ยังมีเทศบาลบางแห่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิมากกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือบางแห่งประชาชนไม่ประสงค์ที่จะเลือกด้วยเหตุผลว่า “ไม่เห็นนายกเทศมนตรีทำอะไรหรือทำงานไม่คุ้มค่า เลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ ถือเป็นการลงโทษผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เรื่องแบบนี้ กกต.จะต้องตรวจสอบและแจ้งให้ประชาชน สื่อมวลชนทราบ รวมทั้งเรื่องร้องเรียนที่เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ พิจารณา ประกอบเสียงอื้ออึงที่สะท้อนให้เห็นว่า มีการซื้อเสียงกันในหลายๆ พื้นที่เทศบาล ซึ่ง กกต.จะต้องแสวงหาหลักฐานข้อเท็จจริงกันต่อไป
ความสำคัญของการเลือกตั้งเทศบาล มิใช่อยู่เฉพาะวันเลือกตั้งหรือวันที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จแล้วก็จบกันไป โดยเฉพาะ กกต.เองต้องตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ ที่ได้มีการร้องเรียนไว้จำนวนหนึ่ง ต้องทำความจริงให้ปรากฏ ส่วนประชาชนภายหลังการเลือกตั้งยิ่งมีความสำคัญในการคอยติดตามตรวจสอบนโยบายของนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลว่า ได้ดำเนินการทำตามที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่ และควรจะทวงถามเทศบาล ผู้บริหารเทศบาลว่ามีการได้เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ตรวจสอบนโยบาย การเสนอแนวทาง การพัฒนา และช่องทางการติดต่อสื่อสารในการพัฒนาเทศบาล
ผมเห็นทีวีหลายๆ ช่อง ได้เชิญนักวิชาการ นักวิพากษ์การเมือง มาวิเคราะห์การเลือกตั้ง ส่วนใหญ่แล้วมักพูดถึงการแข่งขันและการต่อสู้กันทางการเมืองของพรรคใหญ่ๆ 2-3 พรรค เช่น พรรคสีส้ม สีแดง สีน้ำเงิน แข่งกันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีว่าพรรคใดได้ยึดครองพื้นที่มากกว่ากัน วิเคราะห์ยึดโยงไปถึงการเลือกตั้งการเมืองใหญ่ว่าแต่ละเทศบาลจะเป็นพื้นที่ของพรรคใด มักวกวนซ้ำซากอยู่เฉพาะเรื่อง การแข่งขันทางการเมือง อาจจะแตะพูดเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงบ้างเล็กน้อย
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ดูเหมือนสื่อทีวีที่วิเคราะห์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยังจมปลักอยู่กับเรื่องเดิมๆ ซึ่งก็ควรก้าวข้ามเรื่องเดิมๆ ไปบ้าง โดยหันไปให้ความสำคัญกับภายหลังการเลือกตั้งเทศบาล ประชาชน สังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติจะได้อะไร โดยเฉพาะประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะได้รับประโยชน์อะไร และควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามนโยบายอย่างไร
ที่สำคัญควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันเรียกร้องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในแง่งบประมาณ ภารกิจ และการถ่ายอำนาจและหน้าที่มาให้ท้องถิ่นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และการเลือกตั้งระดับเทศบาลผ่านไปแล้ว เราไม่ค่อยได้ยินรัฐบาลได้พูดประเด็นนโยบายของรัฐบาลต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นอย่างไร จะทำอะไรให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งอย่างไร
ส่วนในระดับเทศบาล ชุมชน สังคม ท้องถิ่น จะได้รับประโยชน์อะไรภายหลังการไปเลือกตั้งเทศบาลแล้วนั้น ผมเข้าใจว่า เทศบาลเป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานมากกว่า 70 ปี มีผลงานการจัดบริการสาธารณะที่ดีๆ มากมายเป็นที่ประจักษ์ ทั้งเรื่องการจัดการศึกษา โรงเรียน เทศบาลหลายแห่งมีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ศูนย์บริการสุขภาพของเทศบาลประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และบางแห่งเทศบาลจัดให้มีโรงพยาบาลรักษาพยาบาลในขั้นปฐมภูมิ นอกจากนี้เทศบาลยังจัดการขยะมูลฝอย น้ำเสีย ได้ดี ดังนั้นในแง่การบริการสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สวัสดิการสังคม การท่องเที่ยวและการจัดสวนสาธารณะ เป็นต้น ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ และเข้าถึงได้ง่าย เพราะหลายๆ เทศบาลมีการสื่อสารกับประชาชนด้วย Platform ดิจิทัล หรือผ่านระบบดิจิทัล ให้ประชาชนติดตาม ขอรับบริการ หรือร้องเรียน ก็ทำได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น การติดตามนโยบายของนายกเทศมนตรีและฝ่ายบริหารเทศบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริหารและการกระทำโครงการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ขอให้นายกเทศมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งมาครั้งนี้ ได้รักษามาตรฐานการทำงานและมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะ และทำการพัฒนานโยบายให้ก้าวหน้าไปจนก่อให้เกิดโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมท้องถิ่นที่ดีและเป็นแบบอย่าง (Best Practice) เพื่อช่วยกันรักษาหลักการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระดับเทศบาลต่อคุณภาพการให้บริการที่มีมาตรฐานที่ดี เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนและสังคม
ส่วนข้อเสนอที่จะก้าวต่อไปของเทศบาลภายหลังการเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ได้แก่ “การปฏิรูปเทศบาลตำบล” และ “การยกระดับเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมืองบางแห่งได้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ในเขตพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะที่มีความแตกต่างจากเทศบาลทั่วไป
ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปเทศบาลตำบล โดยเฉพาะเทศบาลตำบลที่ได้รับการยกระดับมาจากสุขาภิบาล เพราะเห็นว่าบางเทศบาลตำบลมีประชากรน้อย (อาจจะไม่ถึง 2,000 คน) และมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีพื้นที่ซ้อนทับกับ อบต. ทำให้พื้นที่เทศบาลตำบลมีประชากรน้อย จนกลายเป็นว่าบางแห่งหนึ่งตำบล มีทั้ง อบต. และเทศบาลซึ่งมีอยู่ประมาณ 900 กว่าแห่งที่อยู่ติดกัน สิ่งเหล่านี้ควรจะปฏิรูปให้เหลือหนึ่งตำบล ให้มีเพียงหนึ่งหน่วยท้องถิ่น โดยหาวิธีการยุบรวมหรือควบรวมเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพ ทั้งงบประมาณและบุคลากรเพื่อเป็นการบูรณาการให้การพัฒนาที่เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากขึ้น
ส่วนการยกฐานะบางเทศบาลที่มีลักษณะเป็นเขตพื้นที่พิเศษ เช่น เป็นเขตพื้นที่เกาะ พื้นที่เขตชายแดน พื้นที่เขตแหล่งท่องเที่ยว เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีพัฒนาการบริหารจัดการเทศบาลที่รองรับการพัฒนาเป็นการเฉพาะ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ให้ทันการณ์ทันสมัยไปในตัว จึงเห็นสมควรยกฐานะเทศบาลที่มีลักษณะพื้นที่ดังกล่าว เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยการมีกฎหมายเฉพาะของตนเอง เช่น เทศบาลนครเกาะสมุย เทศบาลนครแม่สอด เทศบาลนครหัวหิน และจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอในระดับประเทศชาติ ผมเห็นว่าในโอกาสที่จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่ผ่านมา ระดับ อบจ. และระดับเทศบาลเกือบ 2,300 แห่ง ซึ่งคราวต่อไป จะเป็นการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 5,200 กว่าแห่ง ผมเห็นว่าอาจจะมีทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ที่สนใจส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งระดับผู้บริหารท้องถิ่นและระดับสมาชิกสภาท้องถิ่น ตลอดจนประชาชน กลุ่มองค์กรภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจรับรู้และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น
เราจะเห็นว่าพัฒนาการของการเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มจะมีความมั่นคงมีความต่อเนื่อง มีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น โดยมีทั้งผู้นำพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรค และกลุ่มองค์กรต่างๆ ได้มีส่วนร่วมไปช่วยหาเสียง รณรงค์การหาเสียงในเชิงนโยบายมากขึ้น และทำให้การต่อสู้แข่งขันระหว่างกันไม่แพ้การเมืองระดับชาติ
ปรากฏการณ์แบบนี้รัฐบาลจะต้องใช้โอกาสให้ความสำคัญและควรจะใส่ใจเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยควรจะออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาลให้ชาวท้องถิ่นและประชาชนทราบว่า รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างไร จะถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นและเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่นอย่างไร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน สังคม และประเทศชาติ ที่มีท้องถิ่นทำภารกิจจัดบริการสาธารณะแทนรัฐบาลกลาง ถือเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลโดยมิใช่วางเฉยเหมือนกับว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นงานของข้าราชการประจำ จึงทำให้ภารกิจเกือบทุกเรื่องไปรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐบาลฝ่ายเดียว
ผมจึงเห็นว่า การทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายเกิดประโยชน์แก่ประชาชน สังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ รัฐบาลต้องทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมาย และรัฐบาลได้นำเสนอวาระการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ชัดเจน มิใช่กระทำกันเพียงให้ประชาชนไปเลือกตั้ง แล้วก็จบกันไป
ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม