ประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันน้อยของดวงดาว (3)
มนุษย์ที่เฝ้ามองท้องฟ้ายามค่ำคืน คงปล่อยความคิดคำนึงไปไกล พิศวงว่าเราเกิดมาทำไมในท่ามกลางความเวิ้งว้างของจักรวาล คงพยายามหาคำตอบต่อคำถาม เช่น ดวงดาวดวงไหนมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร พระอาทิตย์ล่วงลับขอบฟ้าแล้วไปไหน แล้วนึกกลัวว่าถ้าพระอาทิตย์ไปลับไม่กลับมาจะทำอย่างไร คำถามที่สำคัญมากคือ “ตายแล้วไปไหน” มนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างภาษา ได้พัฒนาระบบความเชื่อความศรัทธาของตนเกี่ยวกับความตาย หรือจะกล่าวว่ามนุษย์เริ่มนับถือศาสนาก็คงได้ ในบทความเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมได้กล่าวถึงมนุษย์ยุคหินเก่าและหินใหม่ ที่เริ่มสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อส่งผู้ล่วงลับออกเดินทาง บทความที่เขียนต่อในสัปดาห์นี้ ก็เป็นย่อความจากหนังสือชื่อ “จักรวาลในมุมมองของมนุษย์: ประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันน้อย (secret) ของดวงดาว” เขียนโดย โจ มาร์แชนต์ เช่นกัน โดยจะครอบคลุมบทที่ 6 ว่าด้วยมหาสมุทรของหนังสือเล่มดังกล่าว
6.มหาสมุทร
เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1768 เรือ “เอนเดเวอร์” ออกเดินทางจากท่าเรือพลิมัธ ที่อยู่ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 310 กิโลเมตร เรือแล่นผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกมาที่ท่าเรือมาดีเอรา และรีโอ เดอ จาเนโร ที่เป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส แล้วอ้อมแหลมเคปฮอร์น เข้าสู่มหาสมุทรปาซิฟิก จุดหมายปลายทางคือเกาะตาฮิติ ซึ่งเรืออีกลำหนึ่งของอังกฤษได้มาสำรวจและกลับไปรายงานผลเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทำให้กองทัพเรือของอังกฤษส่งเรือเอนเดเวอร์มาทำภารกิจต่อ อันเป็นภารกิจที่สำคัญต่อความมั่นคง และความรุ่มรวยของประเทศ ภารกิจนี้คือการจัดทำแผนที่ของหมู่เกาะปาซิฟิก เพื่อสถาปนาอำนาจเหนือโลกใบนี้ เรือมาทอดสมอที่อ่าวมาตาไว เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1769
กัปตันเรือเอนเดเวอร์ชื่อ เรือโทเจมส์ คุก เมื่อมาถึง ชาวตาฮิติได้ให้การต้อนรับอย่างดี และกัปตันคุกได้แลกเปลี่ยนของขวัญกับผู้ใหญ่บ้านชื่อ ตูเตฮา อย่างไรก็ดี เรือได้ขนอุปกรณ์ที่สำคัญมาหลายชิ้น เช่น อุปกรณ์ที่ใช้หาตำแหน่งของเรือหรือของสถานที่ โดยการสังเกตดาวบนท้องฟ้า (ประกอบด้วยควอแดรนท์ และเซ็กสแตนท์) กล้องโทรทรรศน์อย่างน้อยสี่ตัว และนาฬิกาสองเรือน เพื่อความปลอดภัยของทั้งอุปกรณ์และลูกเรือ กัปตันคุกจึงตัดสินใจตั้งค่ายบนสันดอนจะงอยทราย และสร้างรั้วโดยรอบ มียามเฝ้ายี่สิบสี่ชั่วโมง โดยที่ค่ายอยู่ในรัศมีปืนใหญ่ของเรือที่จะช่วยป้องกันพื้นที่นี้ได้ เขาตั้งชื่อค่ายนี้ว่า “ป้อมวีนัส”
ป้อมวีนัสสร้างเสร็จวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1769 ในวันนั้น ลูกเรือได้ขนอุปกรณ์ดาราศาสตร์ลงจากเรือมาไว้ที่ค่าย แต่พอวันรุ่งขึ้น ควอแดรนท์ทองเหลืองที่จำเป็นยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจก็หายไป ผู้ต้องสงสัยนอกจากจะเป็นผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันคือตูเตฮาแล้ว ยังมีอดีตผู้ใหญ่บ้านหญิงชื่อ “ปูเรีย” ด้วย กัปตันคุกสั่งให้ลูกเรือไปยึดเรือแคนูของทั้งสองมาไว้บนเรือ ขณะเดียวกันก็ส่งผู้ช่วยชื่อ แบงค์ส และลูกเรือกลุ่มเล็กไปพบกับผู้ต้องสงสัย โดยกัปตันคุกและทหารพร้อมอาวุธติดตามไปห่าง ๆ พวกเขาได้ของคืนมา แต่ก็ต้องใช้ความพยายามอีกหลายวันกว่าจะคืนดีกับตูเตฮาและได้รับเสบียงกรังจากชนพื้นเมืองตามปกติ
เรือแคนูของปูเรียติดอยู่บนเรือเอนเดเวอร์ เธอจึงส่งที่ปรึกษามารับคืน เมื่อขึ้นมาบนเรือ ที่ปรึกษาสนใจทุกอย่างที่อยู่บนเรือยุโรป และประทับใจโดยเฉพาะกับศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนเรือ คืนนั้นเขาขอนอนค้างบนเรือ และต่อมาได้กลับมาคลุกคลีกับลูกเรือที่อยู่ในกลุ่มของแบ็งค์ส จนเขากลายเป็นที่ปรึกษา เป็นไกด์ หรือกระทั่งเป็นเพื่อนโดยปริยาย เขาน่าจะเป็นผู้มีความรู้มากที่สุดของเกาะตาฮิติ ทั้งในเรื่องศาสนา, หยูกยา, ดาราศาสตร์ และการเดินเรือ เขาชื่อ “ตูปาเอีย”
การเดินเรือสมัยนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ตำแหน่งของเรือกำหนดโดยพิกัดของเส้นรุ้ง (latitude) และเส้นแวง (longitude) เส้นรุ้งนั้นบอกว่าเราอยู่ตรงไหนระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลก ที่เส้นศูนย์สูตร เส้นรุ้งมีค่าเป็น 0 องศา ที่ขั้วโลก ค่าของเส้นรุ้งเท่ากับ 90 องศา ถ้าเราอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ หรือระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกเหนือ เรามีดาวเหนือที่ช่วยบอกค่าของเส้นรุ้ง ในสมัยก่อนที่เราไม่มีระบบวิทยุหรือ GPS ชาวเรือวัดค่าเส้นรุ้งโดยวัดมุมที่ดาวเหนือทำกับขอบฟ้า ถ้ามุมเท่ากับ 0 องศา (ดาวเหนืออยู่ที่ขอบฟ้า) เราอยู่ที่เส้นศูนย์สูตร ถ้ามุมเท่ากับ 90 องศา (ดาวเหนืออยู่เหนือหัว) เราอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ แต่ถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ มุมที่วัดได้จะมีค่าเท่ากับ 13.45 องศา
ในซีกโลกใต้ ไม่มีดาวที่ช่วยชี้ทิศใต้เหมือนดาวเหนือที่ชี้ทิศเหนือ แต่ชาวเรือจะมองหา “ดาวใต้” ในจินตนาการ โดยดูกลุ่มดาวสี่ดวง ที่ชาวตะวันตกเรียกว่ากลุ่มดาวกางเขน ที่อยู่ใกล้ “ดาวใต้” ในจินตนาการ (แต่ชนพื้นเมืองเรียกว่ากลุ่มดาวปลาในวงศ์วัว) ใกล้ ๆ กันมีกลุ่มดาวส่องสว่างสองดวงคือ อัลฟาและเบตา เซ็นตอรี เส้นตรงที่ลากจากกลุ่มดาวทั้งสองจะมาตัดกันที่ตำแหน่งของ “ดาวใต้” พอดี ซึ่งช่วยในการเดินเรือเหมือนดาวเหนือในซีกโลกเหนือ เป็นอันว่าอุปกรณ์วัดมุม เช่น เซ็กสแตนท์ จะช่วยระบุพิกัดเส้นรุ้งได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกใด
แต่การระบุพิกัดเส้นแวงนั้นยากกว่ามาก วิธีหนึ่งใช้การประมาณค่าของเวลาที่ต่างกันระหว่างเวลาที่ต้นทางซึ่งรู้พิกัดตรงนั้น กับเวลาท้องถิ่นที่เรือแล่นมาถึง ผู้ที่เคยโดยสารเครื่องบินคงคุ้นเคย เช่น รู้ว่ายิ่งบินไปทางทิศตะวันออกเข้าหาดวงอาทิตย์มากเท่าไร เวลาท้องถิ่นก็จะยิ่งมีค่าเพิ่มขึ้นเทียบกับเวลาต้นทางมากขึ้นเท่านั้น ถ้ามีนาฬิกาจับเวลาติดมากับเรือ ก็จะรู้เวลาต้นทาง แล้วอาศัยการดูดวงจันทร์ ดูดวงอาทิตย์ และดูดาว เพื่อกะเวลาท้องถิ่น (อย่างไม่ค่อยแม่นยำนัก) ก็จะประมาณค่าพิกัดเส้นแวงได้
ภายหลังการค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโดยนิวตัน นักคณิตศาสตร์สามารถคำนวณวงโคจรที่เป็นวงรีของดวงจันทร์และดาวเคราะห์ได้ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ขนาดจริงของวงรีเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ถ้าวัดระยะทาง เช่น ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ ก็สามารถใช้คณิตศาสตร์คำนวณขนาดวงโคจรของดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ด้วย เมื่อรู้วงโคจรเหล่านั้น ก็จะคำนวณพิกัดเส้นแวงได้อย่างแม่นยำขึ้น
ภารกิจของกัปตันคุกและผู้ช่วยคือวัดเวลาที่ดาวศุกร์โคจรผ่านแผ่นกลม (disc) ดวงอาทิตย์ มองจากโลกเห็นดาวศุกร์เป็นจุดดำเล็ก ๆ แล่นผ่านแผ่นกลมนั้น วิธีการวัดเช่นนี้ใช้หลักการของพาลัลลักซ์ นั่นคือ เมื่อมองวัตถุหลายอันจากมุมมองที่ต่างกัน ดูเหมือนว่าอันที่อยู่ใกล้จะเลื่อนตำแหน่งไปมากกว่าอันที่อยู่ไกล มีวิธีง่าย ๆที่จะสังเกตปรากฏการณ์นี้คือ ชูนิ้วชี้ขึ้นตรงหน้า ปิดตาซ้ายเห็นตำแหน่งของนิ้วเมื่อเทียบกับภูมิหลัง คราวนี้ปิดตาขวา สังเกตการเลื่อนตำแหน่งของนิ้ว ทดลองใหม่ให้นิ้วอยู่ไกลออกไป เทียบระยะการเลื่อนตำแหน่งของนิ้วเมื่อมองด้วยมุม (ดวงตา) ที่ต่างกัน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ต้องการวัดระยะทางที่ไกลมาก ๆ ก็ต้องวัดจากจุดที่ไกลกันมาก เช่น อยู่ต่างทวีปกัน
โดยใช้หลักการนี้ โดยอาศัยผลการวัดเวลาที่ดาวศุกร์โคจรผ่านแผ่นกลมดวงอาทิตย์จากจุดที่ห่างกันมากสองจุด นักคณิตศาสตร์จะคำนวณระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ได้ นักดาราศาสตร์คำนวณด้วยว่า การโคจรผ่านดังกล่าว เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คือในปี ค.ศ. 1761, 1769, 1874 เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1761 หลายประเทศในยุโรปทำสงครามแย่งชิงอาณานิคมกัน ประกอบกับการเตรียมการที่ไม่ดี การวัดจึงไม่แม่นยำพอ หลายประเทศหมายมั่นปั้นมือจะวัดให้สำเร็จก่อนใครในปี ค.ศ. 1769 ประเทศอังกฤษจึงส่งทีมสำรวจไปหลายมุมโลก คือ ที่นอร์เวย์, คานาดา, และตาฮิติ แต่ละที่ต้องใช้อุปกรณ์ดาราศาสตร์ที่นำไปด้วย เพื่อกำหนดพิกัดเส้นรุ้งและเส้นแวงของจุดที่ทำการวัด ตั้งกล้องโทรทรรศน์ไว้สองสามแห่ง เพื่อลดความเสี่ยงว่าในวันที่ทำการวัด จะไม่มีเมฆมาบังดวงอาทิตย์ และปรับนาฬิกาที่นำไปด้วยให้เที่ยงตรง
ถึงวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1769 ทุกทีมทำการจับเวลาผ่านของดาวศุกร์หน้าแผ่นกลมดวงอาทิตย์ เวลานี้นับเป็นชั่วโมง แต่ความคลาดเคลื่อนระหว่างจุดวัดที่ต่างกันต้องน้อยกว่า 10 วินาที อย่างไรก็ดี มีปรากฏการณ์ที่มาทำให้การสังเกตการณ์การเริ่มและการจบลงของการผ่านพร่ามัวไปบ้าง นักคณิตศาสตร์จึงต้องใช้ผลการวัดจากหลายแห่ง รวมทั้งของกัปตันคุก และของทีมชาติอื่น ๆ เพื่อคำนวณค่าเฉลี่ยของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ว่าเท่ากับ 149,623,007 กิโลเมตร การวัดครั้งต่อมาใน ค.ศ. 1874 ได้ค่าที่แม่นยำขึ้น ต่อมามีการใช้เรดาร์วัดระยะทางจากดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ จนได้ค่าที่ยอมรับในปัจจุบัน คือ 149,597,870 กิโลเมตร ซึ่งต่างจากค่าที่วัดได้ในปี ค.ศ. 1769 เพียงเล็กน้อย
หลายอาทิตย์ต่อมา เรือเอนเดเวอร์ก็ถอนสมอออกจากอ่าวมาตาไว โดยมีตูปาเอียขอโดยสารมาเพื่อจะร่วมไปอังกฤษด้วย อาศัยการนำทางโดยไม่ใช้อุปกรณ์ของเขา เรือได้แล่นสำรวจเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตาฮิติ หลังจากนั้น ตูปาเอียแนะให้เรือแล่นไปทางตะวันตก เพื่อจะไปยังเกาะสำคัญอีกหลายแห่ง แต่กัปตันคุกได้รับคำสั่งให้ลงใต้ ด้วยความหวัง (ที่ไม่เป็นจริง) ว่าจะพบทวีปอันกว้างใหญ่ในซีกใต้อีกแห่งหนึ่ง พอถึงวันที่ 9 ตุลาคม เรือได้แล่นมาถึง นิวซีแลนด์ และกัปตันคุกมีข้อค้นพบอันน่ามหัศจรรย์ว่า ตูปาเอียสามารถพูดกับหัวหน้าท้องถิ่นชาวเมารีได้ กัปตันคุกค้นพบความน่ามหัศจรรย์ว่า ชาวโปลินีเซียที่อาศัยบนเกาะนับพันเกาะในมหาสมุทรปาซิฟิก โดยเริ่มอพยพมาจากเอเชียอาคเนย์เมื่อหลายพันปีก่อน พวกเขาเป็นนักเดินเรือชั้นยอด ผ่านมหาสมุทรหลายพันกิโลเมตรไปยังเกาะต่าง ๆ และสามารถรักษาภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อพื้นเมืองของตนไว้ พวกเขาเป็นชนชาติเดียวกันแม้อยู่ห่างไกลกันมาก มีข้อสังเกตว่า ช่องแคบอังกฤษ – ฝรั่งเศสช่วงที่แคบที่สุดมีระยะทางเพียง 34 กิโลเมตร แต่คนสองฟากฝั่งเคยรบพุ่งกันบ่อยครั้ง โดยไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน
เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1770 หลังจากอยู่กับเรือเอนเดเวอร์กว่าหนึ่งปี ตูปาเอียก็เป็นไข้และเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่ท่าเรือบาตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา) เขาไม่ได้อธิบายวิธีการเดินเรือไปตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่อันกว้างไกลของมหาสมุทร ทิ้งไว้แต่ “แผนที่” ที่แสดงเกาะต่าง ๆ จำนวน 74 เกาะ ต่อมาเมื่อภูมิศาสตร์ของมหาสมุทรปาซิฟิกเป็นที่รู้จักกันดีขึ้น ปรากฏว่าไม่พบเกาะจำนวนมากที่แสดงบนแผนที่ของตูปาเกีย หรือถ้าพบ ตำแหน่งก็ไม่ตรงกัน นักประวัติศาสตร์จึงไม่ให้ความสำคัญแก่แผนที่แผ่นนั้นอีกต่อไป
รอถึงปี ค.ศ. 1976 เบน ฟินนีย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ต้องการพิสูจน์ว่าการเดินเรือทางไกลโดยไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อระบุเส้นรุ้ง-เส้นแวงนั้นทำได้หรือไม่ เขาสร้างเรือแคนูแฝดยาว 19 เมตร พร้อมลูกเรือ 16 คน โดยมี เมา ปีไอลุก ชาวไมโครนิเซียนเป็นต้นหน (หาชาวโปลินีเซียที่ชำนาญการไม่ได้) เรือใช้เวลาเดินทางจากฮาวายไปตาฮิติเป็นเวลา 33 วัน เมื่อมาถึงตาฮิติ พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากฝูงชนจำนวน 17,000 คน การเดินทางครั้งนั้นได้เปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวฮาวาย จากการเป็นคนเรือแตกมาเป็นลูกหลานของนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่
แล้วบรรพบุรุษของพวกเขาทำได้อย่างไร จนบัดนี้ วิธีการเดินเรือของชาวโปลินีเซีย โดยอาศัยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ทิศทางลม ฯลฯ ยังไม่เป็นที่เข้าใจได้ดีนัก ข้อสันนิษฐานหนึ่งก็คือ พวกเขาเดินเรือตาม “เส้นทางดวงดาว” เรือจะออกเดินทางโดยมุ่งไปสู่ดาวดวงหนึ่งที่ต้นหนรู้จักและกำลังลับขอบฟ้า เมื่อดาวนั้นลับไปแล้วก็มุ่งสู่ดาวอีกดวงหนึ่ง ต้นหนจะต้องจำการขึ้นเหนือขอบฟ้า และการลับลงใต้ขอบฟ้าของดาวนับร้อยดวงที่กระจายอยู่บนท้องฟ้าให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องสังเกตสิ่งต่าง ๆ เช่น ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ทิศทางลม, การกระเพื่อมของคลื่น, สัญญาณการมีอยู่ของเกาะ (เช่น กลุ่มเมฆ นกที่ทำรังบนบก), การเปลี่ยนสีของน้ำ, รสชาติของน้ำทะเล เป็นต้น
ข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งคือ พวกเขาเดินเรือตามแนวคิด “อีตัก” หรือ “เกาะเคลื่อนที่” ต้นหนจะจินตนาการว่าเรืออยู่กับที่ตลอดการเดินทาง ส่วนน้ำทะเลและเกาะไหลผ่านไป ทำนองเดียวกับที่มนุษย์เราเคยจินตนาการว่าโลกอยู่กับที่ ขณะที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่รอบโลก สิ่งที่ตูปาเอียเขียนเป็นแผนภูมิ ไม่ใช่แผนที่อย่างที่เราเข้าใจกัน หากเป็นแผนภูมิที่บอกทิศทางการเดินเรือจากศูนย์กลางต่าง ๆ คล้ายเป็นโคออร์ดิเนต (แกน x และแกน y) แบบอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่อ่านแผนภูมิอยู่ในตำแหน่งไหน สิ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกสับสนคือ ในการลอกแผนภูมิของตูปาเอีย กัปตันคุกได้เติมทิศและมาตราส่วน (scale) ลงในแผนภูมิ เพื่อให้ดูเหมือนเป็นแผนที่ ทั้งนี้แผนภูมิเดิมได้สูญหายไปก่อนหน้านั้นแล้ว
เพื่อที่จะจดจำเทคนิคการเดินเรือแบบอีตัก การฝึกฝนจะเริ่มแต่ยังเล็ก คนนำทางจะสอนให้เด็กจดจำแผนผังดวงดาวที่ซับซ้อนโดยอาศัย เพลงสวด, เรื่องเล่า, การเต้นรำ, ภาพเปรียบเทียบของสองสิ่ง เช่น ให้เห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้เป็นรูปปลาในวงศ์ปลาวัว, การจินตนาการว่าท้องฟ้าถูกค้ำจุนด้วยเสา ฯลฯ มีการเสนอว่า “เสา” หมายถึงดาวคู่ เมื่อดาวที่อยู่ต่ำกว่าเคลื่อนมาแตะขอบฟ้า และคู่ของมันตั้งฉากกับขอบฟ้าพอดี เมื่อเราจำดาวคู่นี้ได้ ก็จะรู้พิกัดของเส้นรุ้งของเรา การเดินทางตามเพลงสวด ที่ระบุลำดับของคู่ดาว เท่ากับการแล่นเรือในทิศตะวันออก – ตะวันตก (ตามแนวเส้นรุ้ง) โดยก่อนหน้านั้น เรืออาจแล่นไปในทิศเหนือ-ใต้ รอจนกระทั่งคู่ดาวตั้งเป็นเสาตรง จึงเปลี่ยนมาเดินทางในทิศตะวันออก – ตะวันตก จนมาถึงเกาะที่เป็นจุดหมาย
เรื่องราวของตูปาเอียเน้นให้เห็นการเลือกของเรา เราเลือกที่จะมองปริภูมิ (space) และเวลา แบบวัตถุวิสัยและแบบคณิตศาสตร์ เพื่อใช้จำลองโลกทางกายภาพ ทางเลือกนี้นำไปสู่ความสำเร็จมากมาย ดังเช่นการแสดงตำแหน่งด้วยระบบ GPS แต่การเลือกของเราเช่นนี้ หมายถึงการละเลยเรื่องราว, บทเพลง, ความรู้สึก, สัญชาตญาณ ที่เป็นทางเลือกของชนพื้นเมือง เช่น ชาวโปลินีเซียมีวิธีการเดินเรือที่มหัศจรรย์เกินกว่าที่ชาวตะวันตกจะจินตนาการได้
โคทม อารียา