เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาค : ผลงานเด่นของรัฐบาล คสช. โดย สมหมาย ภาษี

เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม มีข่าวออกมาทางสื่อทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะไม่แถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 ปี ในช่วงที่ครบวาระ 3 ปีของ คสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม แต่จะเหมารวมไปแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 3 ปี ในช่วงเดือนกันยายนนี้เสียทีเดียว

เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีฝ่ายถ่วงดุลอำนาจคอยท้วงติง คิดจะทำอะไรเมื่อไรก็ได้ ต่างกับรัฐบาลประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำงานครบ 100 วัน หลังเข้ารับตำแหน่งตามธรรมเนียมปฏิบัติเขาต้องแถลงผลงานให้ประชาชนของเขา และของโลกได้รับรู้ เขาก็แถลงตรงเวลาเป๊ะเลย ไม่อาจทำตามอารมณ์ของผู้นำแบบไทยเราได้

เอาเถอะครับ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ไม่มีการแถลงผลงานในช่วง 3 ปีที่ยึดอำนาจการปกครองมาก็ตามใจ แต่ผมเห็นมีโครงการที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งที่ คสช.เน้นและตั้งหน้าตั้งตาทำกันหนักมาก ตั้งแต่ก่อนการตั้งรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2557 โครงการนั้นก็คือ “โครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” โดยโครงการนี้มีต้นกำเนิดจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 คือก่อนการจัดตั้งรัฐบาล คสช. โครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558, 2559 และ 2560 รวม 3 ปี เป็นเงินประมาณ 20,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนไปไม่น้อย ผมจึงอยากจะกล่าวถึงความเป็นมาและผลงานที่ได้รับให้ผู้เสียภาษีได้รับทราบกันบ้าง

ตามที่มีการแถลงออกมา วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งและทุ่มเทสนับสนุนกันทุกด้านในโครงการนี้ ก็เพื่อจัดเขตพื้นที่ชายแดนเพื่อนบ้านทั้งหลาย เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้น โดยรัฐจะลงทุนจัดพื้นที่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สนามบิน ศูนย์หรือสถานีขนส่งสินค้า ด่านศุลกากร ไฟฟ้า แหล่งน้ำ การกำจัดขยะ เป็นต้น เหมือนนิคมอุตสาหกรรมดีๆ ทั้งหลาย พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนอย่างล้นหลามไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้อยู่ตามปกติทุกปี สิ่งก่อสร้างที่เห็นชัด ได้แก่ การก่อสร้างและปรับปรุงด่านศุลกากรที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านไว้รับการค้าขายและเป็นทางผ่านของสินค้าและวัตถุดิบเป็นอย่างดี รวมทั้งเพื่อให้การสนับสนุนความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ยังเดินหน้าไปได้น้อย งบที่ได้ส่วนใหญ่จะต้องผูกพันไปในปีงบประมาณปี 2561 และ 2562

Advertisement

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ คสช.ได้ยกขึ้นมาเป็นโครงการสำคัญนี้ เป็นข้อเสนอของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญคนใด ยังไม่มีใครทราบ รู้แต่เพียงว่า เมื่อมีการตั้งรัฐบาล คสช.ขึ้นมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2557 ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญมาก โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้มีการออกประกาศของคณะกรรมการชุดนี้ ฉบับที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นมา 5 พื้นที่ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด และด้วยความฮอตสุดๆ ของโครงการนี้ เพราะพอตีฆ้องร้องป่าวไป บรรดานายทุนที่ดินก็ไปจับจองและซื้อที่ดินแถวเขตที่ประกาศกันให้วุ่น 3 เดือนต่อมา

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ท่านพลเอกประยุทธ์ในฐานะประธานกรรมการคนเดิม ก็ได้ออกประกาศเรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ขึ้นมาอีก 5 เขต เรียกได้ว่าเบิลพื้นที่ขึ้นมาเลย ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ก็ให้น่าสงสารพวกนายทุนนักเก็งราคาที่ดิน

Advertisement

ด้วยความสำคัญและเร่งด่วนที่รัฐบาลได้เน้นหนักอย่างต่อเนื่อง สำนักงบประมาณก็ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้เพิ่มมากขึ้นในปีงบประมาณ 2559 และตั้งเพิ่มอีกเป็นสองเท่าในปีงบประมาณ 2560 ไม่เพียงแต่เท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ถือโอกาสของบปกติของกรมกองที่ตนรับผิดชอบเพิ่มทั้งกำลังคน อุปกรณ์เครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบไอที (IT) และเครื่องอุปกรณ์สำนักงานก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีใครมาหยุดยั้งได้

ขณะที่โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภาครัฐเดินหน้าไปอย่างคึกคักในปี 2558 และ 2559 แต่ปรากฏว่าภาคเอกชนที่จะมาลงทุนกลับเงียบเหงาเหมือนป่าช้า นักลงทุนที่มีการผลิตอยู่ในเขต กทม. หรือปริมณฑลอยู่แล้ว ต่างก็ไม่ขยายกำลังการผลิต เพราะที่มีอยู่ก็ใช้ไม่ได้ แล้วจะไปขยายการลงทุนได้อย่างไร นักลงทุนต่างชาติก็ไม่สนใจ

เมื่อปลายปี 2558 หอการค้าญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ได้ทำการสำรวจความสนใจที่จะไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยปรากฏว่ามีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่สนใจ แล้วอย่างนี้จะไปหาคนไปลงทุนได้อย่างไร

 

มีข้อมูลจาก BOI เมื่อเดือนกันยายน 2559 รายงานว่ามี 40 โครงการสนใจไปลงทุน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 เขต วงเงินลงทุน 7,700 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งของงบประมาณที่รัฐจะลงทุน โดยเขตที่เอกชนสนใจมากเป็นพิเศษมีอยู่ 2 เขต คือที่ตาก 19 โครงการ วงเงิน 3,437 ล้านบาท และที่สระแก้ว 6 โครงการ วงเงิน 2,010 ล้านบาท ซึ่งดูตามข้อเท็จจริงแล้ว 2 แห่งนี้ แม้ไม่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนไทยก็เตรียมจะขอ BOI ไปลงทุนอยู่แล้ว เขตอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีผู้สนใจลงทุนบ้างประปราย แต่ ณ วันนี้ ยังไม่ได้ลงไม้ลงมือ คือลงเม็ดเงินจริงกันเลยสักรายนะครับ

นี่คือผลงานเด่นของ คสช.ชิ้นหนึ่งในรอบ 3 ปี ไหนใครว่าไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image