สถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย : กฤษฎา บุญราช (ปลัดกระทรวงมหาดไทย)

1.ความหมายของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพคนไร้สัญชาติ (The Convention relating to the Status of Stateless Person) ค.ศ.1954 ให้ความหมายของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นคนชาติจากรัฐใดภายใต้บทบัญญัติกฎหมายของรัฐ (A person who is not considered as a national by any state under the operation of its law) หรือกล่าวสั้นๆ ก็คือ บุคคลที่ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าเป็นคนชาติของประเทศนั้น โดยสถานะของการไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศและคนที่เกิดในประเทศ เช่น กรณีของชน
กลุ่มน้อยและบุตรที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองจะถือว่าคนเหล่านี้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
สําหรับประเทศไทย เพื่อให้การนิยามมีความเหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของปัญหาในประเทศและนําไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง นักวิชาการทางด้านสถานะบุคคลของไทยจึงได้แยกคําดังกล่าวออกเป็นสองคํา และกําหนด
นิยามคําว่า คนไร้รัฐ หรือ Stateless persons หมายถึง คนที่ไม่ถูกบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ส่วนคําว่าคนไร้สัญชาติ หรือ Nationalityless persons หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการบันทึกในสถานะคนถือสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลกนี้ กล่าวคือ ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนชาติของรัฐใดเลย บทนิยามดังกล่าวจะแสดงผลลัพธ์ต่อกระบวนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการจัดการสถานะบุคคลตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบร่วมตามหลักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของนานาชาติหรือกฎหมายของประเทศไทย จะพบว่าคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หมายถึง คนต่างด้าว กล่าวคือยอมรับในสถานะเป็นคนต่างด้าว ดังเช่นมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กําหนดว่า คนต่างด้าว หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้นการใช้สิทธิอันมีฐานแห่งสิทธิมาจากสถานะความเป็นคนชาตินั้น คนไร้รัฐไร้สัญชาติย่อมตกอยู่ภายใต้แนวคิดตามกฎหมายเดียวกับที่บังคับใช้กับคนต่างด้าวทั่วไป แม้ว่าอาจมีรายละเอียดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่คนต่างด้าวไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทยเพียงใด ส่วนคนไร้รัฐไร้สัญชาติจะเป็นผู้อพยพหรือไม่ จําเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวมีข้อเท็จจริงของการย้ายถิ่นฐานหรือไม่ เช่น คนไร้สัญชาติที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากต่างประเทศ ย่อมมีความเป็นผู้อพยพ
ขณะที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย แต่เผชิญกับความไร้รัฐไร้สัญชาติ ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงของความเป็นผู้อพยพ

2.ที่มาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร และมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าหลายประเทศ จึงเกิดสถานการณ์ของการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามชาติในลักษณะต่างๆ ได้ง่าย ทั้งการหลบหนีเข้าเมืองทั่วไปและการอพยพหนีภัยความตายจากการสู้รบ หรือสงครามอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ.2518 หรือความอดอยากยากจนจากประเทศต้นทาง เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก บางกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี เช่น เวียดนามอพยพ ลาวอพยพ เขมรอพยพ อดีตทหารจีนคณะชาติ จีนฮ่ออพยพ ไทยลื้อ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เป็นต้น บางกลุ่มเป็นคนเชื้อสายเดียวกันหรือเป็นญาติพี่น้องกับคนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน โดยเฉพาะตามแนวชายแดนมีการเดินทางไปมาหาสู่กันและตั้งถิ่นฐานภายหลังมีการกําหนดอาณาเขตของประเทศ เช่น ชาวเขา บุคคลบนพื้นที่สูงเชื้อสายมอญ หรือไทยใหญ่ เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจํานวนมากอยู่ในสถานะของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และเมื่อไม่อาจ
กลับประเทศต้นทางได้จึงตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
ขณะเดียวกันหลักการในการให้สัญชาติของประเทศไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เป็นสาเหตุทําให้เกิดคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย กล่าวคือ หลักการสากลของการได้สัญชาติโดยการเกิด ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การได้สัญชาติโดยการเกิดจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ (1) การได้สัญชาติตามหลักการสืบสายโลหิตจากบิดามารดา กล่าวคือ บิดามารดามีสัญชาติอะไร บุตรก็ย่อมได้สัญชาตินั้น กับ (2) การได้สัญชาติโดยหลักดินแดนที่เป็นถิ่นกําเนิด กล่าวคือ ผู้ใดเกิดในดินแดนของประเทศใด ย่อมจะได้สัญชาติของประเทศนั้น ซึ่งประเทศไทยใช้หลักการได้สัญชาติดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ในปี พ.ศ.2515 เมื่อประเทศไทยเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ มีการขยายลัทธิการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน โดยการกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บุคคลที่จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนได้นั้น บิดามารดาต้องไม่ใช่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราวหรือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทําให้คนที่เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวไม่ได้สัญชาติไทยเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวยังกําหนดให้มีผลย้อนหลัง ทําให้คนที่เคยได้สัญชาติไทยไปแล้วตามหลักดินแดนทั่วไปนั้นต้องถูกถอนสัญชาติไทยถ้ามีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ต่อมาแม้ว่าได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ตามผลของการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แต่หลักการของการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนก็ยังคงเป็นการให้สัญชาติไทยอย่างมีเงื่อนไขอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดถ้ามีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเงื่อนไขตามหลักการของการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนดังกล่าวยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการจะให้สัญชาติไทยกับบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยนั้นก็ยังเป็นอํานาจของ รมว.มหาดไทย และจะให้ได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายสัญชาติของประเทศไทยก็เป็นสาเหตุที่ทําให้คนที่เกิดในประเทศไทยกลายเป็นคนไร้สัญชาติได้ ซึ่งสามารถสรุปคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1 กลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการส่งกลับประเทศต้นทาง และ
2.2 กลุ่มคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ตกเป็นคนไร้สัญชาติโดยผลของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

3.ประเภทของคนต่างด้าวหรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้กําหนดนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายสํานักงานสภา
ความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย สํารวจจัดทําทะเบียนประวัติกลุ่มผู้อพยพหรือผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เพื่อรองรับการจัดทําทะเบียนราษฎรและกําหนดเลขประจําตัว
สําหรับคนต่างด้าว และการนําระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบันทึกจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลตามเงื่อนไขที่กําหนดได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของสํานักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 มีคนต่างด้าวที่ได้รับการจัดทําทะเบียนราษฎร มีเลขประจําตัว 13 หลัก ซึ่งจะทําให้สามารถพิสูจน์ตัวบุคคลได้ชัดเจน จํานวน 2,586,089 ราย จําแนกเป็นกลุ่มตามสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ดังนี้
3.1 กลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (ถือใบสําคัญถิ่นที่อยู่และใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าว) กลุ่มนี้จะมีที่มาจากคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรืออาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรก็ได้ ซึ่งต่อมาได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ได้รับใบสําคัญถิ่นที่อยู่ (ต.ม.16) และใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าว ทําให้มีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย โดยปัจจุบันเป็นอํานาจของนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย มีจํานวน
65,559 ราย
3.2 กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถือหนังสือเดินทาง) กลุ่มนี้จะมีสถานะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และอาจเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองได้ถ้าไม่เดินทางออกนอกประเทศเมื่อการอนุญาตสิ้นสุดลง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ
สํานักงานตรวจคนเข้าเมือง คนกลุ่มนี้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีจํานวน 45,331 ราย
3.3 กลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม รวมถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติ อีก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษา กลุ่มคนไร้รากเหง้า ไม่ปรากฏบุพการีหรือถูกบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ และกลุ่มคนที่ได้ทําคุณประโยชน์แก่ประเทศ โดยในส่วนของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย
(1) เวียดนามอพยพ หรือญวนอพยพ
(2) อดีตทหารจีนคณะชาติ
(3) จีนฮ่ออพยพพลเรือน
(4) จีนฮ่ออิสระ
(5) อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
(6) ไทยลื้อ
(7) ลาวอพยพ
(8) เนปาลอพยพ
(9) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า
(10) ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า
(11) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย เข้ามาก่อนวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2519
(12) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย เข้ามาหลังวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2519
(13) บุคคลบนพื้นที่สูง/ชาวเขา ที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2528
(14) ผู้อพยพเชื้อสายไทยจาก จ.เกาะกง
กัมพูชา
(15) ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศกัมพูชา
(16) บุคคลหรือชุมชนบนพื้นที่สูง ที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2528
(17) ม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก
(18) ลาวภูเขาอพยพ
(19) ชาวมอร์แกน
คนกลุ่มนี้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอส่งกลับประเทศเดิมหรือรอการกําหนดสถานะ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันมีคนกลุ่มนี้อยู่
จํานวน 488,105 ราย แยกเป็น
1) คนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในประเทศไทย
จํานวน 400,731 ราย โดยเป็นคนที่อพยพเข้ามาจํานวน 290,269 ราย และบุตรที่เกิดในประเทศไทย จํานวน 110,462 ราย
2) เด็กและบุคคลที่กําลังศึกษาเล่าเรียน
จํานวน 78,676 ๗๘,๖๗๖ ราย
3) คนไร้รากเหง้าจํานวน 8,670 ราย
4) คนที่ทําคุณประโยชนให้แก่ประเทศ
จํานวน 28 ราย
3.4 กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติ
เมียนมา ลาว และกัมพูชา กลุ่มนี้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอส่งกลับหรือไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง โดยใช้อํานาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันมีแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทํางานรวมถึงบุตรที่เป็นผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปี จํานวน 1,588,914 ราย
3.5 กลุ่มผู้ลี้ภัยการสู้รบจากประเทศเมียนมา ที่อยู่ในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี กลุ่มนี้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจํานวน 101,713 ราย และบุตรที่เกิดในประเทศไทยที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดจํานวน 16,716 ราย
3.6 กลุ่มบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตั้งแต่มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ในปี พ.ศ.2515 จนถึงปัจจุบัน ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2.2 โดยมีคนที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทยได้รับการจดทะเบียนการเกิด (มีสูติบัตร) จํานวน 316,748 ราย (ไม่รวมบุตรแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และบุตรของผู้ลี้ภัยการสู้รบในที่พักพิงชั่วคราว) ส่วนการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของคนกลุ่มนี้จะเป็นไปตามสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของบิดามารดา

Advertisement

4.นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ สำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติของประเทศไทย
เนื่องจากปัญหาของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่สํานักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทําทะเบียนราษฎรไว้จํานวน 488,105 รายนั้นมีสภาพของปัญหาแตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มไม่มีเอกสารทางทะเบียน บางกลุ่มได้เดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานแล้วแต่ไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมาย
ในขณะที่บางกลุ่มเพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทําให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆ ตามกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนดไว้ได้ รัฐบาลจึงได้กําหนด
นโยบาย มาตรการและวิธีการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติของคนไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
4.1 การแก้ไขปัญหาบุคคลที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร โดยกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้นายทะเบียนสามารถจัดทําทะเบียนราษฎรให้กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้เหมือนประชาชนไทยทั่วไป
ดังนี้
1) การรับแจ้งการเกิดหรือจดทะเบียนการเกิดและออกสูติบัตรให้กับคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยทุกคน ไม่ว่าบิดามารดาของเด็กจะเป็นคนต่างด้าวประเภทใด มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่ก็ตาม
2) การจัดทําทะเบียนประวัติคนไร้รัฐไร้สัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี และตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร (มาตรา 38 วรรคสอง)
3) การจัดทําบัตรประจําตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  และบัตรประจําตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
4.2 การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิอาศัยในประเทศไทย เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ซึ่งมีสถานะเป็นคนที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง รัฐบาลจึงได้อาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ออกมติคณะรัฐมนตรีให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้โดยถูกต้อง ได้แก่
1) การผ่อนผันให้กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้สิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการดําเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น การดําเนินการให้สถานะบุคคล หรือรอการส่งกลับประเทศเดิมตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กําหนดเขตพื้นที่ควบคุมการอยู่อาศัยโดยใช้เขตจังหวัดที่คนต่างด้าวได้จัดทําทะเบียนประวัติไว้เป็นเขตควบคุม  และกําหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดสิทธิอาศัยตามที่ได้รับอนุญาต เช่น การกระทําผิดกฎหมายที่มีโทษจําคุก หรือการกระทําที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ก็จะหมดสิทธิการอาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป
2) การให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้รับสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ขอใบสําคัญถิ่นที่อยู่) ซึ่งครั้งหลังสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2553 กำหนดหลักเกณฑ์ให้กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติบางกลุ่มได้รับสิทธิในการเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีถิ่นที่อยู่ถาวร ดังนี้
(1) กลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องเป็นผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยภายในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2538 โดยต้องได้รับ
การสํารวจจัดทําทะเบียนประวัติภายในปี พ.ศ.2542 และมีชื่อในทะเบียนบ้าน
(2) เด็กนักเรียน นักศึกษา จะต้องเป็นผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยภายใน 18 มกราคม พ.ศ.2538 โดยต้องได้รับการสํารวจจัดทําทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนระหว่างปี พ.ศ.2548-2552 และเรียนจบปริญญาตรีภายในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548
(3) คนไร้รากเหง้า จะต้องเป็นผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 โดยต้องได้รับการสํารวจจัดทําทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนระหว่างปี พ.ศ.2550-2552 และต้องมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4.3 การแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติสําหรับ บุตรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ซึ่งสามารถดําเนินการได้หลายกรณี ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นตามเงื่อนไขที่กฎหมาย
กําหนดไว้ ดังนี้
1) กรณีบุคคลที่ถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 รวมถึงบุตรของคนเหล่านี้ที่เกิดในประเทศไทยจนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 และไม่ได้รับสัญชาติไทยเนื่องจากบิดามารดาถูกถอนสัญชาติ สามารถยื่นคําขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านได้ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 โดยเป็นอํานาจของนายอําเภอเป็นผู้อนุมัติซึ่งคนเหล่านี้ถือว่าเป็นคนที่มีสัญชาติตามกฎหมายอยู่แล้ว
2) กรณีคนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535๒๕๓๕ เป็นต้นมา โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย หรือเข้ามาอยู่ชั่วคราว ให้สามารถขอมีสัญชาติไทยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นการเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด (มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปให้แก่กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2559) โดยบุคคลที่สามารถขอมีสัญชาติไทย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 บุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขว่าบิดาหรือมารดาที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีนับถึงวันที่บุตร ยื่นคําขอมีสัญชาติไทย และจะต้องมีทะเบียนประวัติที่ทางราชการได้จัดทําให้ไว้แล้ว (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดให้มีการจัดทําทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2542 โดยจะต้องเข้ามาอยู่ในประเทศไทยภายในวันที่ 30 กันยายน 2542)
กลุ่มที่ 2 คนที่เกิดในประเทศไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวอื่นที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเรียนต่อเนื่องในประเทศไทยจนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย แต่ถ้าจบการศึกษาจากสถาบันในต่างประเทศ จะต้องเป็นกรณีที่ได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ ส่วนเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรีแต่มีความจําเป็นต้องได้สัญชาติไทย กรณีนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน จึงจะขอสัญชาติไทยได้
กลุ่มที่ 3 เด็กนักเรียนนักศึกษาที่เป็นคนไร้รากเหง้า มีเงื่อนไขว่าจะต้องเกิดและอาศัยอยู่ต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าที่ออกให้ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงจะขอสัญชาติไทยได้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อเป็นการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสัญชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้มอบอํานาจ
การพิจารณาอนุมัติเกี่ยวกับสัญชาติสําหรับ
ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ไปให้นายอําเภอเป็นผู้พิจารณาแทนกรณีผู้ขอมีสัญชาติไทยมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ และมอบอํานาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาแทนกรณี
ผู้ขอมีสัญชาติไทยมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป
สรุป กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติข้างต้นรวมถึงบุตรของคนเหล่านี้ที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทยในขณะนี้มีจํานวน 488,105 ราย

5.การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่จําเป็น นอกเหนือจากการได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย
กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย มิได้ประสบแต่ปัญหาเฉพาะเรื่องสถานะบุคคลเท่านั้น แต่เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีสถานะบุคคลไม่ชัดเจน จึงทําให้เสียสิทธิในเรื่องอื่นๆ ที่มีความจําเป็นในการดํารงชีวิตด้วย รัฐบาลปัจจุบันที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้คํานึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงได้กําหนดนโยบายผ่านมติคณะรัฐมนตรีให้กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับสิทธิที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต ได้แก่
5.1 ด้านการรักษาพยาบาล : มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2558 อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบการรักษาพยาบาลคนไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ ของนายทะเบียนเพื่อการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน โดยรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวให้ทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
5.2 ด้านการศึกษา : มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2548 เกี่ยวกับการศึกษา 2 ประการ คือ 1) ให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยทุกคนเข้าศึกษาเล่าเรียน และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องออกหลักฐานรับรองผลการเรียนให้ทุกราย และ 2) รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวให้เท่ากับเด็กสัญชาติไทยสําหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง
5.3 ด้านการประกอบอาชีพ : มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาการทํางานของคนต่างด้าว ให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ทํางานได้ทุกประเภทงาน
5.4 ด้านสิทธิอาศัยและการเดินทาง : รัฐบาลได้ผ่อนผันให้บุคคลกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการกําหนดสถานะหรือส่งกลับประเทศเดิมตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยกําหนดให้อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้รับการสํารวจจัดทําทะเบียนประวัติ การเดินทางออกนอกเขตจังหวัด ดําเนินการได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากนายอําเภอท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลําเนา และหากมีเหตุจําเป็นตามกฎหมายก็สามารถย้ายเปลี่ยนแปลงจังหวัดได้
5.5 ด้านการก่อตั้งครอบครัว : ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ การจดทะเบียนสมรสกับการรับบุตรบุญธรรม โดยมักจะถูกนายทะเบียนปฏิเสธการดําเนินการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแล้วว่า นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนสมรสให้กับบุคคลดังกล่าวได้ตามกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคําวินิจฉัยแจ้งไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สรุปว่าคณะกรรมการรับบุตรบุญธรรมสามารถอนุญาตให้จดทะเบียนรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้

6.ผลการดําเนินการให้สถานะคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและการให้สัญชาติไทยในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2560 มีดังนี้
6.1 ให้สัญชาติไทยแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์แล้วทั้งสิ้น 253,742 ราย จําแนกได้ดังนี้
1) การลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ชาวไทยภูเขา ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยดั้งเดิมที่อยู่ติดแผ่นดินไทย เหมือนคนสัญชาติทั่วไป จํานวน 106,446 ราย
2) การลงรายการสัญชาติไทยให้คนที่ถูกถอนสัญชาติหรือไม่ได้สัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จํานวน 48,713 ราย
3) การให้สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นอํานาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จํานวน 91,590 ราย
4) การให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น (ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา และผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยจากมะริด ทะวาย ตะนาวศรี) จํานวน 6,993 ราย
6.2 ให้สถานะคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย จํานวน 30,881 ราย

Advertisement

7.บทสรุป ปัญหาอุปสรรค และความท้าทาย
7.1 ประเทศไทยได้ดําเนินการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งเรื่องสถานะบุคคล สัญชาติ การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ การก่อตั้งครอบครัว และอื่นๆ ที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับความมั่นคงของประเทศ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และมติคณะรัฐมนตรี โดยมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวเป็นจํานวนหลายแสนคน จนได้รับการยกย่องจากองค์กรระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด (Best practice) ในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ
ไร้สัญชาติ
7.2 ถึงแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ยังคงปรากฏสถานการณ์ของการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามชาติในลักษณะต่างๆ ทั้งการหลบหนีเข้าเมืองทั่วไปและการอพยพหนีภัยความตายจากการสู้รบหรือความอดอยากยากจนจากประเทศต้นทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก เช่น กลุ่มมุสลิมโรฮีนจา ชนกลุ่มน้อยจากประเทศเมียนมา แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ชาวบังกลาเทศหลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติ จําเป็นต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของชาติ และความสามารถของประเทศไทยที่จะแบกรับภาระในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเหล่านี้ รวมทั้งต้องคํานึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
7.3 สําหรับกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติเดิมที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติอยู่แล้วนั้น ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ได้ จําเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะสําหรับการแก้ไขปัญหา ซึ่งได้แก่คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือเกิดต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติของคนไร้รัฐไร้สัญชาติภายใต้กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่จะกําหนดแนวทางการแก้ไขโดยจําแนกตามสถานะการเกิดของผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็น 2 กรณี คือ คนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย (แก้ไขโดยใช้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง) และคนที่เกิดในประเทศไทย (แก้ไขโดยใช้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ) คนกลุ่มนี้จะอยู่ในสถานะของคนไร้รากเหง้าที่ถูกบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กกําพร้าไม่มีญาติ คนเร่ร่อน โยกย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยๆ และคนพิการหรือป่วยทางจิตประสาท ซึ่งจะขาดพยานหลักฐานหรือไร้ความสามารถที่จะพิสูจน์ยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของตน และหากจะผลักไปอยู่ กลุ่มคนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยก็จะมีปัญหาในเรื่องระยะเวลาการเข้ามาในประเทศไทย ทําให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีความจําเป็นสําหรับกลุ่มบุคคลประเภทนี้คือ การรับรองสถานะการเกิดและสิทธิในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศในเชิงข้อสันนิษฐานที่เป็นบวก และแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยยกเลิกสถานะดังกล่าวได้หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าผู้นั้นมิได้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่มีสัญชาติไทยตามเงื่อนไขของกฎหมายปกติ ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้มีอยู่ในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ตัวอย่างเช่น ประเทศบัลแกเรีย กําหนดไว้ในกฎหมายความเป็นพลเมืองบัลแกเรียน ค.ศ.1988
มาตรา 11 ให้ถือว่าเด็กที่ถูกพบในอาณาเขตของสาธารณรัฐบัลแกเรียโดยไม่ปรากฏบิดามารดาเป็นผู้ที่เกิดในสาธารณรัฐบัลแกเรียหรือประเทศแคนาดา กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติความเป็นพลเมือง ค.ศ.1985 มาตรา 4(1) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 3(1)(a)ให้ถือว่าบุคคลทุกคนที่ถูกพบว่าถูกทอดทิ้งในประเทศแคนาดาก่อนอายุครบ 7 ปีเป็นผู้ที่เกิดในประเทศแคนาดา เว้นแต่ปรากฏข้อพิสูจน์อย่างอื่นภายใน 7 ปีนับจากวันที่พบตัวหรือประเทศสหรัฐอเมริกากําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเข้าเมืองและสัญชาติ ค.ศ.1952 ในมาตรา 301(f) บุคคลที่ไม่ปรากฏบุพการีและถูกพบในสหรัฐอเมริกาในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีเป็นคนสัญชาติอเมริกันและพลเมืองอเมริกันโดยการเกิด หรือประเทศฟินแลนด์กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติสัญชาติ ค.ศ.2003 มาตรา 12 ให้ถือว่าเด็กแรกเกิดที่ถูกพบว่าถูกทอดทิ้งในฟินแลนด์เป็นพลเมืองของฟินแลนด์ตราบที่เด็กไม่สามารถได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐต่างประเทศ หากเด็กได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐต่างประเทศภายหลังจากอายุครบ 5 ปี ให้ถือว่าเด็กยังคงเป็นพลเมืองฟินแลนด์ หรือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติสัญชาติ ค.ศ.2004 มาตรา 13 ให้ถือว่าเด็กที่ถูกพบในดินแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยไม่ปรากฏบิดาและมารดาเป็นพลเมืองลาว หากก่อนที่เด็กจะอายุครบ 18 ปี มีข้อพิสูจน์ว่าบิดาและมารดาของเด็กเป็นคนสัญชาติของรัฐต่างประเทศ ให้ถือว่าเด็กเป็นพลเมืองของรัฐดังกล่าวตั้งแต่เกิด หรือประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้กําหนดไว้ในกฎหมายฉบับที่ 16 เรื่องพระราชบัญญัติสัญชาติ ค.ศ.1948 มาตรา 2 วรรคสอง ให้ถือว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้งและถูกพบในประเทศเป็นผู้ที่เกิดในสาธารณรัฐเกาหลี
เป็นต้น
7.4 กระทรวงมหาดไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา) ได้เล็งเห็นความสําคัญและผลสําเร็จของการแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้รากเหง้า โดยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้มีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเพื่อรับรองสถานะการเกิดของคนไร้รากเหง้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในทํานองเดียวกันกับกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งจะทําให้การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของประเทศไทยมีความสมบูรณ์และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ดังนั้น จากนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติดังกล่าวข้างต้นให้ประสบผลสําเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยทั้งบทบัญญัติของกฎหมายและนโยบายรัฐที่เปิดโอกาสให้ดําเนินการได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่จะต้องไม่มีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและสิทธิมนุษยชนด้วย รวมทั้งนโยบาย มาตรการและแนวทางดังกล่าวก็จะต้องเอื้ออํานวย สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความสะดวกได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนและเคารพสิทธิของประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image