คุกมีไว้ขังคนจน : ความจริงประเทศไทย โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

คํ กล่าวที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจนŽ ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เกือบทุกประเทศ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคนจนไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนักจึงมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดได้ง่ายกว่า เนื่องจากด้อยการศึกษาและประสบกับภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เมื่อถูกจับกุมดำเนินคดีก็ไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ไม่มีเงินจ้างทนายเก่งๆ มาช่วยเหลือทางคดี นักโทษที่ล้นคุกล้นตะรางในปัจจุบันเกือบทั้งหมดจึงเป็นคนจนหรือคนระดับรากหญ้า

เรื่องน่าเศร้าก็คือ เมื่อพ้นโทษจำคุกแล้วยังถูกตราหน้าว่าเป็น สิงห์ขี้คุกŽ ไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวและชุมชนได้ ต้องว่างงานเพราะบริษัทห้างร้านปฏิเสธไม่ยอมรับเข้าทำงาน แม้กระทั่งจำเลยที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่รอลงอาญา ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อชีวิตต้องอยู่ต้องกินต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สุดท้ายก็ต้องกลับเข้าสู่วังวนการกระทำผิดอีกเพราะไม่มีทางเลือก ประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่างก็เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทยมาก่อนทั้งสิ้น

การศึกษาและวิจัยทางสังคมจิตวิทยาของญี่ปุ่นพบข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ผู้ที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและพ้นโทษมาแล้ว กับผู้ที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา เมื่อไปสมัครทำงานกับบริษัท ห้างร้าน ภาคเอกชน เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากนายจ้างหรือผู้ประกอบการหวาดระแวง ถ้าหากมีผู้สมัครคนอื่นเป็นตัวเลือกด้วย ก็จะไม่รับอดีตนักโทษหรือผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาเข้าทำงานด้วย ดังนั้น จึงว่างงาน ไม่มีรายได้ที่จะใช้ดำรงชีพ ก่อให้เกิดภาวะต่อต้านเคียดแค้นชิงชังสังคม ต้องกลับเข้าสู่วังวนของการกระทำผิดอีกด้วยความจำเป็น เปิดช่องให้ขบวนการและเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมต่างๆ ที่พร้อมจะรับอดีตนักโทษหรือผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน จึงมีกำลังคนเข้าไปเติมเต็มอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย กลายเป็นภาระหนักแก่รัฐในการจัดการปัญหาอาชญากรรมซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการยอมรับและกลับเข้าสู่สังคมเป็นกำลังในการเพิ่มผลผลิตของชาติ ไม่เป็นภาระของสังคม และไม่ต้องถูกตราหน้าว่า สิงห์ขี้คุกŽ จึงนำไปสู่การเปลี่ยนปรัชญาการจัดการอาชญากรรมด้วยการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสกลับตัวกลับใจและปรับปรุงพฤตินิสัยในขั้นตอนก่อนการฟ้องคดี โดยนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) มาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณคดีที่จะนำขึ้นสู่ศาลและลดปริมาณคดีที่ค้างพิจารณาในศาลจำนวนมาก ทำให้คดีสำคัญที่ค้างพิจารณาในศาลได้รับการพิจารณาพิพากษาเร็วขึ้น และส่งผลดีต่อการลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

Advertisement

และที่สำคัญอย่างยิ่ง ผู้กระทำความผิดที่มีการสั่งชะลอการฟ้องคดี (suspension of prosecution) โดยใช้มาตรการคุมประพฤติผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวและชุมชนและได้รับการยอมรับให้เข้าทำงานตามบริษัทห้างร้านของภาคเอกชนได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ (เคย) มีประวัติการต้องโทษหรือต้องคำพิพากษาให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้ประกอบการและนายจ้าง จึงเป็นการเบี่ยงเบนหรือหันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้ผลในเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว

การชะลอฟ้องตามมาตรฐานสากลมี 2 กรณี ดังนี้

กรณีมีคู่กรณี มีหลักเกณฑ์ดังนี้

หนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องกระทำในสี่ประการดังนี้ สารภาพว่าตนเองกระทำความผิด (confession) แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอโทษและแสดงการขอโทษ (apology) พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (rehabilitation) เพื่อกลับตัวเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม ชดใช้และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความเต็มใจให้กับผู้เสียหายหรือเหยื่อ

สอง ผู้เสียหายหรือเหยื่อได้แสดงความพอใจในการเยียวยาและให้อภัยแก่ผู้ต้องหา และให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมของตนเพื่อให้กลับไปอยู่กับครอบครัวและสังคมได้

สาม ครอบครัวผู้กระทำความผิดและชุมชนที่ผู้กระทำความผิดเป็นสมาชิกอยู่ ต้องพร้อมยอมรับผู้กระทำความผิดกลับคืนเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน โดยครอบครัวและชุมชนต้องร่วมกันรับผิดชอบและร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการวางแนวทางและมาตรการในการควบคุมและติดตามดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้กระทำผิดจะแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้นไม่ไปทำสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อีก โดยครอบครัวและชุมชนต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดตลอดระยะเวลาที่มีการคุมประพฤติ

สี่ อัยการให้ความเห็นชอบข้อกำหนดการคุมประพฤติ (probation planning program) โดยมีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวนั้น อัยการจะมีการสั่งชะลอการฟ้องคดีไว้ก่อน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาถ้าผู้กระทำความผิดสามารถปฏิบัติครบตามเงื่อนไขการคุมประพฤติที่กำหนดไว้ได้ อัยการจะมีคำสั่งยุติคดี แต่หากได้ความจากไตรภาคีคือครอบครัวและชุมชนและเจ้าหน้าที่ว่าผู้กระทำความผิดไม่อาจแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ อัยการอาจเพิกถอนการชะลอฟ้องและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปเพื่อให้มีการลงโทษอันจะเป็นการแยกผู้กระทำความผิดออกจากครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดอีก

กรณีไม่มีคู่กรณี มีหลักเกณฑ์ดังนี้

หนึ่ง ผู้กระทำความผิด ต้องให้การรับสารภาพว่าตนเองกระทำความผิด แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อกลับตัวเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม

สอง ครอบครัวผู้กระทำความผิดและชุมชนที่ผู้กระทำความผิดเป็นสมาชิกอยู่ ต้องพร้อมยอมรับผู้กระทำความผิดกลับคืนเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน โดยครอบครัวและชุมชนต้องร่วมกันรับผิดชอบและร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการวางแนวทางและมาตรการในการควบคุมและติดตามดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้กระทำผิดจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้นไม่ไปทำสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อีก โดยครอบครัวและชุมชนต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดตลอดระยะเวลาที่มีการคุมประพฤติ

สาม อัยการพิจารณาถึงอุปนิสัย สภาวะแห่งจิตใจ สถานการณ์แวดล้อม และความร้ายแรงแห่งคดีตลอดจนสภาวการณ์ภายหลังจากการกระทำความผิดแล้ว และให้ความเห็นชอบข้อกำหนดการคุมประพฤติ ซึ่งในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวนั้น อัยการจะมีการสั่งชะลอการฟ้องคดีไว้ก่อน เมื่อครบกำหนดอายุความหรือครบกำหนดระยะเวลาผู้กระทำความผิดสามารถปฏิบัติครบตามเงื่อนไขการคุมประพฤติที่กำหนดไว้ได้อัยการจะมีคำสั่งยุติคดี

แต่หากได้ความจากไตรภาคีคือครอบครัวและชุมชนและเจ้าหน้าที่ว่าผู้กระทำความผิดไม่อาจแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้แล้ว อัยการอาจใช้ดุลพินิจเพิกถอนการชะลอฟ้องและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปภายในกำหนดอายุความเพื่อให้มีการลงโทษอันจะเป็นการแยกผู้กระทำความผิดออกจากครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดอีก

ผู้ เขียนเห็นว่า ระบบของญี่ปุ่นในการตรวจสอบถ่วงดุลอัยการมีการยึดโยงกับภาคประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยและน่าจะเป็นระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกปัจจุบันโดยผู้เสียหายสามารถตรวจสอบดุลพินิจของอัยการได้สองช่องทาง คือ

ช่องทางแรก ผ่านองค์กรภาคประชาชนที่เรียกว่า คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินคดี (KENSATSU SHIN SAKAI) ซึ่งเป็นการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยมีองค์ ประกอบกรรมการมาจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นจำนวน 11 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 เดือน ทุก 3 เดือน จับสลากออกครึ่งหนึ่งแล้วเลือกตั้งเข้ามาใหม่ คณะกรรมการเป็นอิสระไม่ต้องรับคำสั่งจากผู้ใดในการตรวจสอบดุลพินิจของอัยการ

ช่องทางที่สอง ผ่านช่องทางศาล ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องให้ศาลตรวจสอบว่าอัยการสั่งอย่างไร หากศาลไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคดีของอัยการ ศาลจะให้ทนายความยื่นฟ้องคดีได้โดยให้ทนายความทำหน้าที่เสมือนอัยการ หากศาลไม่มีคำสั่งทนายความจะฟ้องคดีอาญาไม่ได้

หากประเทศไทยจริงใจจะแก้ปัญหาคุกมีไว้ขังคนจนและไม่ให้มี สิงห์ขี้คุกŽ เกลื่อนแผ่นดิน ควรต้องนำระบบการชะลอการฟ้องตามระบบสากลมาปรับใช้โดยใช้มาตรการคุมประพฤติผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี และปฏิรูปการตรวจสอบถ่วงดุลอัยการโดยยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลอัยการจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจภาค หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีที่ไม่มีความยึดโยงกับภาคประชาชน มิหนำซ้ำยังเป็นผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่อาจจะไปใช้อำนาจหน้าที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย แล้วนำระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอัยการโดยองค์กรภาคประชาชนตามแบบนานาอารยประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทสังคมไทย

ที่สำคัญ หลายๆ ฝ่ายควรจะริเริ่มและส่งเสริมให้มีการก่อตั้ง สมาคมผู้เสียหายคดีอาญาและครอบครัวแห่งชาติŽ ตามแบบอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อช่วยสอดส่องดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เสียหายและเหยื่อ ช่วยเติมเต็มให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และทำให้การสั่งชะลอการฟ้องของอัยการมีความเที่ยงธรรมและยุติธรรมที่สุด ด้วยเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา คุกมีไว้ขังคนจนŽ อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางของอารยประเทศ

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง                                                                                                                    อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image