ปฏิรูปการศึกษา : การยกเลิกโทษจำคุกบางมาตรา ในกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

 ก ารเสนอให้ยกเลิกโทษจำคุกบางมาตราอันมีอยู่ในพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 หากฟังดูผิวเผิน อาจเข้าใจผิดได้ว่าบทความนี้เสนอให้ยกเลิก เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในฐานะคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

ซึ่งอันที่จริงแล้วประเด็นนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวในการขอใช้เสรีภาพทางวิชาการบนบริบทของความเป็นนักวิชาการธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการนำเสนอประเด็นความแตกต่างในข้อกฎหมาย ที่ใช้บังคับกับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐกับเอกชนที่ว่าทำไม? ต้องมีการบัญญัติใช้โทษทางอาญา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทษจำคุกกับผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมากกว่า ม.ของรัฐ ค่อนข้างมาก โทษทางอาญาอันได้แก่ โทษจำคุก หรือปรับ ม.เอกชนมีมากกว่า ม.รัฐ บางแห่งจริงหรือไม่นั้น คงต้องขออนุญาตนำเอากฎหมายของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีลักษณะของเนื้อหาและการบังคับใช้อันใกล้เคียงกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในบางเรื่อง

นั่นก็คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาศึกษาเปรียบเทียบ พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 กฎหมายนี้เพียงฉบับเดียวบังคับใช้กับ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือ ม.เอกชนทั่วประเทศทั้งหมด เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547

Advertisement

กฎหมายนี้เพียงฉบับเดียวก็บังคับใช้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้งหมด มีเพียงบางแห่งที่มีกฎหมายเฉพาะเป็นของตนเองแล้ว เช่น พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มีบทกำหนดโทษเพียงสองมาตรา ซึ่งอัตราโทษในสองมาตราดังกล่าว มีทั้งโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มีบทกำหนดโทษทางอาญา ในหมวด 9 ตั้งแต่ มาตรา 104-122 รวมทั้งสิ้น 19 มาตรา

คำถามก็คือ หมวด 9 สมควรแก่เวลาในการปฏิรูปกันแล้วหรือ

Advertisement

สองมาตรา อันเป็นบทกำหนดโทษในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 (กรณีศึกษา) จะมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ มาตรา 63 ผู้ใดใช้ตราสัญลักษณ์ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยหรือมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย โดยที่ตนไม่มี ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุก….ไม่เกินหกเดือน

มาตรา 64 ผู้ใด (1) ปลอม หรือทำเลียนแบบซึ่งตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ (2) ใช้ตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของมหาวิทยาลัยปลอม หรือซึ่งทำเลียนแบบ หรือ (3) ใช้หรือทำให้ปรากฏซึ่งตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ต้องระวางโทษจำคุก…..

บทบัญญัติในทำนองเดียวกับ มาตรา 63 และ 64 ดังกล่าวข้างต้น มีในพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 หรือไม่?

คำตอบ มีครับ มาตรา 63 เทียบได้กับ มาตรา 119 ของกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มาตรา 64 เทียบได้กับ มาตรา 120 ของกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เนื่องจากเรื่องราวของโทษจำคุกอันปรากฏอยู่ในหมวด 9 ของพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มีอยู่หลายมาตรา เช่น มาตรา 104, 105, 107, 116, 117, 119, 120, 121 และ 122

จะขอยกมาเป็นตัวอย่างมาเพียงสองมาตราเท่านั้น คือ มาตรา 105 กับมาตรา 116 บางมาตราดังกล่าวข้างต้นเห็นด้วย ที่ควรคงโทษจำคุกไว้ แต่บางมาตราก็เป็นเรื่องแปลก เช่น การกำหนดโทษจำคุกแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติให้มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา

มาตรา 105 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คิดเล่นๆ จะเอาสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นนิติบุคคลไปจำคุกในเรือนจำได้หรือครับ?

ความในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ของกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มีดังนี้ มาตรา 14 การเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษา เอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 13 แล้ว ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ การเปลี่ยนชื่อสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ จะไปเอาผิดกับตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดคงไม่ได้ เพราะคงทำโดยอำเภอใจคนคนเดียวไม่ได้

ในยุคนี้ หากแม้มีการเปลี่ยนจริงๆ ก็ต้องนำเข้าสภามหาวิทยาลัย ต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานรัฐ แต่ถ้าจะสมมุติเกิดเหตุพิเรนทร์ มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งแห่งใดกล้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม การกำหนดโทษปรับจำนวนเงินสูงก็อาจเพียงพอที่จะทำให้คนไม่กล้าฝ่าฝืน

อีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 116 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับคณาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ฝ่าฝืนมาตรา 79 ความโดยสรุป ในมาตรา 79 ของกฎหมายอุดมศึกษาเอกชน คือ

ห้ามมิให้………..คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ (1) ชื่อ ตรา สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (2) สถานที่เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการอันไม่ควรแก่กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

ขอยกตัวอย่างเพียง วงเล็บสอง ถ้อยประโยคที่ว่า…..การอันไม่ควรแก่กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ความหมายแค่ไหน อย่างไร ต้องตีความอีก กฎหมายของ ม.รัฐ ก็ไม่มีทำนองนี้ แต่ถึงแม้หากมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้อยู่แล้ว แสดงว่าใช้สถานที่ผิดประเภท นี่ถึงขั้นเอาติดคุกเลยนะครับ และดีไม่ดีอาจเป็นช่องทางให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้

ท้ายสุดนี้ ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือปรับ ทั้ง 19 มาตรา อันปรากฏในหมวด 9 พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 โดยส่วนใหญ่ คือ ความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) สถาบันการศึกษา คนที่ทำงานก็เป็นเพียงครูบาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ การกำหนดโทษ โดยการใช้เพียงโทษปรับในวงเงินที่สูง เพื่อการปราม ในประเด็นที่กฎหมายต้องการห้ามทำ สำหรับสถาบันการศึกษาก็น่าจะเพียงพอแล้ว

การมองว่าเป็นของเอกชนจึงต้องนำโทษจำคุกมาปรับใช้ คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในห้วงเวลาที่เราต้องการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบกันแล้วกระมังครับ

นพดล ปกรณ์นิมิตดี                                                                                                             อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image