คูปองใครคูปองครูเพื่อครูเพื่อเด็กจริงหรือ : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

คูปองใครคูปองครูเพื่อครูเพื่อเด็กจริงหรือ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางหลักในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่างานนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม หลักการทรงงานของพระองค์ท่าน คือ หลักการคิด, หลักการ (กรอบงานและทฤษฎี) และหลักปฏิบัติ ซึ่งผู้เขียนมองว่ารัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้นำหลักนี้มาใช้อยู่ในขณะนี้

โครงการคูปองพัฒนาครูก็ได้นำหลักของพระองค์ท่านมาใช้ในการขับเคลื่อน แต่เป็นของใหม่ แต่คนเข้าร่วมโครงการเป็นคนเก่า คิดแบบเก่า ชินชาแบบเก่า เข้าทำนองที่ว่า วิธีคิดไม่เปลี่ยน พฤติกรรมของคนและองค์กรก็จะไม่เปลี่ยน คูปองครูดูแล้วมีปัญหามากมาย เพราะไม่เคยมี บางคนไม่เคยพบ ไม่เคยสัมผัส คนเสนอหลักสูตร ขาดความชำนาญ เห็นตัวเงินตาลุกวาว อยากได้เงิน คิดไปไกล ทอนเงินกลับให้ครูตามที่เป็นข่าวหัวละ 1,000-2,000 บาท

เห็นไหมไม่ว่าโครงการใดๆ ออกมาเป็นของดี แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเป็นเหลือบของสังคมคอยจ้องดูดเลือดเงินของแผ่นดิน

Advertisement

โครงการพอเริ่ม สิ่งที่ตามมามีคนคิดโกงควบคู่กันไป สะท้อนอะไรหลายอย่างจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติในระบบราชการไทยไปแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนสร้างพฤติกรรมเลวร้ายจนติดตัวคนไทยแล้ว ขณะเดียวกัน สพฐ.ต้องไม่รีบร้อน ต้องตรวจสอบหลักสูตรว่าตอบสนองความต้องการครูหรือไม่ ผู้จัดมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการอบรมพัฒนาแค่ไหน เพียงใด ไม่ใช่ใครก็ได้จะทำได้ เรื่องพัฒนาคนไปสอนคนเป็นเรื่องใหญ่นะ สพฐ.อย่าคิดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทธุรกิจการศึกษาก็แล้วกัน และอย่าภูมิใจกับตัวเลขที่ครูเข้าพัฒนามากมาย เพราะไปโยงกับวิทยฐานะของครู ครูจึงแห่เข้าโครงการนับแสนคน

อันนี้ สพฐ.ต้องระวังและหาทางออกไว้ให้ดี

เหมือนที่เอาผล O-Net มาผูกโยงคุณภาพของครู + ผู้บริหาร และวิทยฐานะ จึงเกิดกระบวนการติว O-Net ขึ้นในโรงเรียน ถึงขั้นหยุดการเรียนการสอนก็มี การพัฒนาครูโดยใช้คูปองของสำนักงานพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) โดยมี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผอ.สพค. เป็นผู้รับผิดชอบ เป้าหมายกระตุ้นให้ครูได้เกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะใหม่ๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน เพราะปัญหาหนึ่งด้านคุณภาพทางการศึกษาของไทยคือครู

ครูบางคนเกือบตลอดทั้งชีวิตที่รับราชการไม่เคยได้มีโอกาสเข้าอบรมหรือพัฒนา ถ้ามีบ้างก็จะเป็นโครงการของรัฐที่บังคับให้ครูเข้าพัฒนา แต่หลักสูตรดังกล่าวมักจะไม่ตรงกับความต้องการและเป้าหมาย คือไม่ถึงตัวครูและตัวนักเรียน

โครงการคูปองครูมีหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน นำมาใช้โดยจะจัดงบประมาณให้ครูทุกคนเข้าถึงเนื้อหาและหลักสูตรที่ตัวเองชอบและอยากพัฒนา ตามกรอบของหลักสูตรที่กระทรวงอนุมัติไว้ การที่สำนัก สพค.นำมาพัฒนาครูจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

ช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะเป็นเรื่องใหม่ในการพัฒนาครูที่ทั่วถึงและที่น่าสนใจมีกระบวนการติดตามและประเมินหลังการพัฒนาแล้ว ซึ่งเดิมนั้นอบรมแล้วตัวใครตัวมัน ขาดการติดตามและนำไปใช้ แต่คูปองครูที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาครูจะเป็นช่องทางที่ครูสามารถเลือกหลักสูตรเพื่อพัฒนาตนเองได้ แต่เสียดายอยู่นิด ควรขยายไปยังครูสังกัดเอกชนและสังกัดอื่นๆ ด้วยน่าจะดี เพราะเขาก็คือครูที่สร้างคนสร้างชาติเช่นกัน เพียงแต่ต่างสังกัดเท่านั้น

จากการติดตามข้อมูลเบื้องต้น พบว่าได้รับความสนใจจากครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก ถ้าดูจากข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 – 4 สิงหาคม 2560 มีครูลงทะเบียนแล้ว 309,384 คน และได้ลงทะเบียนอบรมหลักสูตรแล้ว 563,269 ที่นั่ง จากจำนวนครูทั้งหมด 378,205 คน

ทั้งนี้ครูที่สามารถลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 202,388 คน และทางกระทรวงได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว 1,300 กว่าล้านบาท และยังมีงบที่ขออนุมัติอีก 3,000 กว่าล้านบาท ถ้าดูข้อมูลในด้านหลักสูตรว่ามีหลักสูตรอะไรบ้างก็จะพบว่า มีครูอีกจำนวนมากที่สนใจ

คูปองครู เพื่อครูและเพื่อเด็ก น่าจะเป็นช่องทางใหม่ คำตอบใหม่ของท่านนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นและตั้งใจปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเป้าหมายที่ตัวครูก่อน หลายคนอาจมองว่าใช้เงินมาก ไม่เป็นไร ใช้พัฒนาครู 3-4 แสนคน แต่ที่มองไม่เห็นคือตัวนักเรียนอีกนับล้านคน งบแค่ 4,000 ล้านบาท/หนึ่งปี นับว่าน้อยมาก แต่ขออย่างเดียวสำนักงาน สพฐ.ต้องควบคุมติดตามให้เกิดคุณภาพจริงๆ ส่งผลไปยังผู้เรียนจริง และเมื่อครูผ่านการอบรมแล้วปฏิบัติต่อนักเรียนบังเกิดผลแล้ว ก็อย่าลืมตอบแทนคุณครูในเชิงผลงาน ความดีความชอบด้วยก็แล้วกัน และที่น่าห่วง โครงการใหญ่เช่นนี้พวกขี้โกงหาประโยชน์เพื่อส่วนตนคอยจ้องอยู่ตลอดเวลา

เดินมาถูกทางแล้วครับ อย่าห่วงกันมากนัก มาช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ คือ กุญแจดอกใหญ่ที่ทุกภาคส่วนในชาติควรตระหนักและให้ความสำคัญ ให้ครูมีคุณภาพเสียก่อน แต่อีกประเด็นที่อยากจะฝาก สพฐ.หรือรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษอีกเรื่อง ครูที่ผ่าน คศ.3 คศ.4 ได้ค่าตำแหน่ง ค่าตอบแทน 2-3 เด้ง บางคนได้แล้วมุ่งมั่นต่อเด็กต่อผลงานในโรงเรียน แต่ยังมีอีกกลุ่มได้แล้วหยุดทั้งงานทั้งเวลา แต่เงินค่าวิทยฐานะยังได้อยู่ อันนี้ไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้นำมาคิดมาวางแผนจะแก้ไขกันอย่างไร เพราะถือเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านงบประมาณของแผ่นดิน ระบบคูปองเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาครู เป็นจุดเริ่มต้นอาจจะมีปัญหาบ้างดังที่กล่าวแล้ว แต่ถ้าอนาคตมันดีมีประโยชน์ก็ควรสนับสนุนส่งเสริม

การปฏิรูปการศึกษายังอีกยาวไกล ยังต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่าลืมว่าความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา + เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง วิธีการเรียนรู้และนวัตกรรมที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่น ห้องเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อสร้างห้องเรียนมุมกลับ (Flipped Classroom) เป็นวิธีการให้นักเรียนไปศึกษาไปเล็กเชอร์เองที่บ้านผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วนำข้อมูล ข้อสงสัยมาใช้ในห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมชั้นและครูช่วยกันหาคำตอบ ถกเถียงกัน ซึ่งดูแล้วในเมืองไทยคงอีกนาน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้ครูมีความรู้เสียก่อน และประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องต้องมีสติ มีเหตุมีผล ดังที่พระองค์ท่าน รัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยวิธีคิดหรือเจตคติของคนไทยอยู่ในขณะนี้

จึงอยากเรียกร้องให้คนไทยมีสติ มีเหตุมีผล หยุดพูด หยุดวิตกจริตเสียบ้างน่าจะดีนะ เท่าที่สังเกตที่ผ่านมาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถึงขั้นขลาดกลัวที่จะขับเคลื่อนประเทศ ขลาดกลัวที่จะคิดที่จะผลักดันพัฒนาประเทศ เข้าหลัก “เปลืองตัว” มากขึ้นทุกวัน เพราะคนไทยมีคนพูด มีคนวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนทำ ประเทศเราจึงล้าหลังเกือบทุกเรื่อง ใครว่าไม่จริง

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image