ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของเผด็จการสมัยใหม่ ในการอยู่ในอำนาจ

ข้อควรระวังของนักรัฐศาสตร์ที่สมาทานแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยก็คือ การเปลี่ยนผ่านนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นจริง หรือที่บางคนเรียกว่าการเปลี่ยนไม่ผ่าน

แต่การเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นไม่ใช่ทั้งหมดของประเด็นในเรื่องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย เพราะในหลายกรณีนอกจากเปลี่ยนไม่ผ่านแล้ว เผด็จการยังกลับมาได้อีก ที่สำคัญเผด็จการนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า “เผด็จการสมัยใหม่” (modern authoritarianism)

การเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นในหลายกรณีเป็นปัญหาที่ว่าเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยแล้วไม่ยั่งยืน (หรือประชาธิปไตยไม่ตั้งมั่น unconsolidated) หรือในบางกรณีเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบอบไฮบริด หรือระบอบผสม-กลายพันธุ์ นั่นคือ เป็นประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตยที่ไม่คำนึงถึงหลักการอื่นใดนอกจากเสียงข้างมาก (บ้างเรียกว่าประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) คือไม่อิงหลักเสรีนิยม เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ และหลักนิติธรรม)

การล้มลงของระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นได้ทั้งในแบบที่ประชาธิปไตยที่ไม่แข็งแรง กลายพันธุ์ หรือถูกยึดเอาไปด้วยอำนาจนอกประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวที่ทำให้เห็นว่าคำว่าการเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นมีนัยยะที่แตกต่างหลากหลายอยู่มาก

Advertisement

จากการวัดประเมินของสถาบัน Freedom House นั้น ชี้ให้เห็นว่าในห้วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น การกลับมาของเผด็จการในรูปแบบของเผด็จการใหม่นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในลักษณะของประเทศที่ประชาธิปไตยพังทลายลงและแทนที่ด้วยเผด็จการสมัยใหม่ และในประเทศที่คุณภาพประชาธิปไตยลดลงจนเข้าข่ายเป็นเผด็จการสมัยใหม่

ที่สำคัญคือ เผด็จการสมัยใหม่นั้น หัวใจสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำที่เด็ดเดี่ยวคนเดียว หรืออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ หรือสภาพสังคมที่ปิดกั้นไปเสียทุกเรื่อง เผด็จการสมัยใหม่นั้นมีความเท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถมีชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์กับนานาชาติได้อย่างทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ

ตัวอย่างสำคัญของเสาหลักเผด็จการในปัจจุบันของโลกก็ต้องยกให้กับจีนและรัสเซียนั่นแหละครับ ซึ่งในแง่ของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยม สองประเทศนี้มีทิศทางที่แตกต่างกัน แต่ในแง่ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเผด็จการในวันนี้ก็คือเรื่องของ “ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี” ของการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งในหลายๆ ครั้งสำคัญกว่าแค่เรื่องตัวผู้นำ อุดมการณ์ และระบบเศรษฐกิจเหมือนในอดีต

Advertisement

และถ้าเราพิจารณาในเรื่องนี้จะพบว่าอีกหลายประเทศเผด็จการสมัยใหม่ที่เป็นแล้ว หรือพยายามจะวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่เผด็จการสมัยใหม่ในเวลาอีกไม่นานนั้นก็ล้วนแล้วแต่จะมีตัวร่วมเช่นนี้

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของเผด็จการสมัยใหม่ในการอยู่ในอำนาจนั้นกลายเป็นหัวใจ

สำคัญของการอยู่รอดของเผด็จการยุคใหม่ ที่ต่างไปจากการมีจุดเน้นแบบเดิมๆ ของเผด็จการในแบบของการผูกขาดอำนาจไว้ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มกลุ่ม เดียว โดยมีอุดมการณ์ใหญ่ที่ชี้นำในทุกๆ เรื่อง และใช้กฎหมายเข้มงวดเด็ดขาดในการปกครอง

เงื่อนไขสำคัญก็คือการทำให้มีการเลือกตั้ง แต่จะไม่ให้การเลือกตั้งนั้นมีอำนาจเหนือกลุ่มผู้ปกครองที่ครองอำนาจอย่างเด็ดขาด สิ่งนี้อาจจะทำโดยการเข้าไปจัดการระบบเลือกตั้งให้พรรคของผู้มีอำนาจที่ถืออำนาจรัฐอยู่นั้นได้เปรียบ

สำหรับการสร้างบรรยากาศที่เน้นความหลากหลายในสังคมนั้นก็จะมีลักษณะแบบปลอมๆ คือ เปิดให้มีความหลากหลายได้ ตราบเท่าที่กลุ่มที่ได้รับอนุญาตนั้นไม่แข็งข้ออย่างจริงๆ จังๆ หรือมีการเกี้ยเซี้ยกันกับฝ่ายค้าน หรืออาจจะเรียกได้ว่าระบอบเผด็จการสมัยใหม่นั้นอนุญาตให้มีฝ่ายค้านปลอมๆ จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก

นอกจากนั้น เผด็จการสมัยใหม่ก็อาจจะเข้าไปจัดการสื่อ แต่ไม่เข้าไปทำเอง หมายความว่า จะเปิดให้มี “เสรีภาพในการแสวงหาความบันเทิง ไม่ใช่มีเสรีภาพในการแสวงหาความจริง” กล่าวคือ ธุรกิจบันเทิงในสื่อนั้นทำได้และมีมูลค่าสูง แต่ข่าวสารที่รัฐไม่ต้องการให้เปิดเผยจะถูกควบคุมและขอความร่วมมือในการสกัดกั้นอย่างจริงจัง

เผด็จการสมัยใหม่จะมีความเข้าใจมากขึ้นว่าการปล่อยให้องค์กรพัฒนาเอกชนทำงานนั้นเป็นเรื่องที่รับได้ เว้นแต่พวกองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นองค์กรพัฒนาเอกชนจะมีที่ทางและอาจถูกเรียกใช้ให้เป็นหุ้นส่วนทางอำนาจกับระบอบเผด็จการสมัยใหม่ ตราบเท่าที่พวกเขาไม่แสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล

เครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เผด็จการสมัยใหม่ใช้นั้นไม่ใช่ความรุนแรงแบบแพร่กระจายด้วยอาวุธและกองกำลัง แต่คือ “กฎหมายของระบอบเผด็จการ” เช่นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดขี่-กดบังคับทางการเมือง (legalized political repression) หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้การกดขี่กดบังคับทางการเมืองเป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเกิดได้ทั้งจากตัวกฎหมายเองที่ถูกตีความ หรือออกมาใหม่ให้เปิดสิ่งนี้ หรือจากสถาบันตุลาการที่สยบยอมหรือเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจของเผด็จการสมัยใหม่นี้

การทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการกดขี่-กดบังคับทางการเมืองนี้อาจจะเรียกอีกอย่างว่าเป็น “เผด็จการด้วยกฎหมาย” (dictatorship of law) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ปูตินใช้ในรัสเซีย (ลองเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นหัวใจของระบอบโซเวียต มาสู่เผด็จการด้วยกฎหมายของระบอบหลังโซเวียตแตกของรัสเซียภายใต้ปูตินดู) ซึ่งกฎหมายที่ออกมานั้นมีลักษณะที่ให้อำนาจกับรัฐในการใช้อำนาจในการจัดการฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเต็มที่ และมีระบบตุลาการที่ใช้กฎหมายดังกล่าวราวกับถูกสั่งมาจากฝ่ายบริหาร ซึ่งเผด็จการสมัยใหม่จะอ้างว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และมีลักษณะเข้าข่ายหลักนิติธรรมตามมาตรฐานสากล (ทั้งที่ไม่ได้เข้ามาตรฐานอะไรเลย ไม่รู้เอาที่ไหนมามั่นใจ)

ลักษณะของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามนั้น ยังปรากฏในเผด็จการอีกหลายประเทศผ่านการ (พยายาม) ทำให้การชุมนุมประท้วงนั้นกลายเป็นอาชญากรรม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งการชุมนุมประท้วงนั้นเกิดจากการที่ฝ่ายค้านนั้นทำงานไม่ได้ในสภาหรือถูกทำลายในทางการเมือง ดังนั้นการเคลื่อนไหวบนท้องถนนจึงเกิดขึ้น และรัฐบาลเผด็จการก็รับมือกับการชุมนุมประท้วงเช่นนี้ด้วยการใช้กฎหมายการชุมนุมที่เข้มงวด หรือหาข้ออ้างว่าการชุมนุมนั้นขัดกับความเป็นระเบียบในที่สาธารณะ เป็นการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำร้ายเจ้าพนักงาน หรือพกพาอาวุธ จุดมุ่งหมายสำคัญของการทำให้การประท้วงนั้นกลายเป็นอาชญากรรมส่วนหนึ่งนั้นมุ่งไปที่การสกัดยับยั้งไม่ให้เกิดการรวมตัวของพลังที่ไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีผลสะเทือนต่อรัฐบาล หรือมีผลให้เกิดการรวมตัวเป็นองค์กรทางการเมือง

ในแง่ของอุดมการณ์ในการปกครองในระบอบเผด็จการสมัยใหม่นั้น เผด็จการสมัยใหม่มักจะพยายามโอบรับและให้คำจำกัดความใหม่ๆ กับประชาธิปไตย แทนที่จะปฏิเสธประชาธิปไตย ด้วยว่าการอ้างอิงถึงบางส่วนเสี้ยวของคำจำกัดความของประชาธิปไตยมีผลสำคัญต่อการสร้างความชอบธรรมของเผด็จการว่าพวกเขามาจากประชาชน (ทางใดทางหนึ่ง)

ความน่าสนใจของเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการอภิปรายกันในการศึกษาเผด็จการสมัยใหม่ อย่างในกรณีของรัสเซียนั้นมีการพยายามเปรียบเทียบกันว่า ในยุคโซเวียตนั้น มีการให้ความสำคัญกับ “ความจริง (truth)” เป็นอย่างมาก ในความหมายว่า แม้ว่าจะมีความพยายามในการโกหกประชาชนในบางครั้ง แต่ก็จะต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าสิ่งที่โกหกนั้นเป็นความจริง ในขณะที่ในปัจจุบันในการทำข่าวและประชาสัมพันธ์นั้นมีความซับซ้อนขึ้น

ข่าวในวันนี้ของระบอบเผด็จการสมัยใหม่ไม่ได้มาจากหน่วยงานราชการโดยตรง แต่อาจจะมาจากสำนักข่าวที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล และมีการทำให้ความจริงกับเรื่องแต่งนั้นมันเบลอเข้าหากัน ที่สำคัญมีลักษณะการลอกเลียนรูปแบบการจัดทำข่าวแบบสำนักข่าวมืออาชีพทั้งหลายในโลกตะวันตก ดังกรณีสำนักข่าวอย่าง RT ของรัสเซียที่ออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษในดาวเทียมทั่วโลก เป็นต้น

เผด็จการสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับการโฆษณาชวนเชื่อเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญในวันนี้ไม่ใช่การปิดประเทศหรือเซ็นเซอร์ทุกเรื่องจากหน่วยงานส่วนกลาง แต่จะใช้วิธีสร้างเนื้อหาข่าวใหม่ในฐานะทางเลือกของข้อมูลลงไปในข่าวสารที่แพร่กระจายในสังคม และจะมุ่งโจมตีความคิดเห็นที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการโจมตีอาจจะทำในลักษณะของการล้อเลียนก็ได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงมีเป้าหมายอยู่ที่การทำลายล้างบุคลิกหรือภาพลักษณ์ของตัวตนของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล โดยนำเอาความเห็นของคนเหล่านั้นมาเสียบประจาน หรือมาตัดทอนความหมายให้ดูแล้วมีลักษณะที่โง่เง่า หัวรุนแรงไม่รักชาติ หรือขาดศีลธรรม

ส่วนกรณีของจีนนั้นยังมีความพยายามในการออกแบบระบบการเซ็นเซอร์ที่สลับซับซ้อน และการร่วมมือกับบริษัทนานาชาติ รวมทั้งสร้างทางเลือกของคนในประเทศแบบที่กล่าวไปแล้ว คือเปิดให้มีการไหลเวียนของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือที่ได้รับอนุญาตให้มีความบันเทิง รวมทั้งสร้างระบบภายในประเทศเองให้ประชาชนหันไปใช้ เช่น เว็บค้นคำ และเว็บรวมคลิปบันเทิง เป็นต้น บวกกับการดำเนินคดีอย่างรุนแรงกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้านข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่ประธานาธิบดีจีนเคยกล่าวไว้ว่า “เสรีภาพนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อการรักษาระเบียบนั้นเกิดขึ้นจริง การรักษาระเบียบนั้นมีไว้เพื่อให้หลักประกันด้านเสรีภาพ”

ในจีนนั้นการเซ็นเซอร์หรือดำเนินคดีกับข่าวด้านเศรษฐกิจมีมากเป็นอันดับสองรองจากการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่มีการลงข่าวเศรษฐกิจในทางลบ

กล่าวอีกอย่างว่า ในภาพรวมนั้นทางการจีนมีการให้แนวทางแก่สื่อในการนำเสนอข่าวในเรื่องของความมั่งคั่งของสมาชิกสภา งบประมาณทหาร การปฏิบัติตามมาตรการสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ มลพิษทางอากาศ การรื้อทำลายศาสนสถาน และการล้อเลียนข้อเสนอของรัฐสภา และแม้ว่าจะปล่อยให้ข่าวเล็กๆ ในอินเตอร์เน็ตหลุดรอดออกมาวิจารณ์รัฐบาลได้บ้าง แต่เผด็จการสมัยใหม่ก็จะพยายามดำเนินคดีอย่างรุนแรงกับผู้ที่ตีพิมพ์ข่าวเหล่านั้นในสื่อ โดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เกิดการก่อตัวกลายเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาล (ส่วนในกรณีสื่อต่างชาติ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะใช้การเพิกถอน หรือไม่ต่ออายุวีซ่าทำงานให้)

นี่คือบางส่วนบางเสี้ยวที่เราต้องทำความเข้าใจเผด็จการสมัยใหม่ ที่สำคัญอย่ามองเผด็จการสมัยใหม่เพียงแค่ตัวคนที่ออกมาเป็นผู้นำ หรือวิเคราะห์อุดมการณ์ใหญ่ (เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีและไม่ได้เน้น) แต่ให้พิจารณาเทคนิควิธีในการครองอำนาจของพวกเขาให้เป็นที่สำคัญครับผม

บางส่วนจาก Arch Puddington. Breaking Down Democracy: Goals, Strategies, and Methods of Modern Authoritarians. Freedom House Report. June, 2017.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image