ปรส.ทำเศรษฐกิจชาติพัง…จริงหรือ? / โดย ไพรัช วรปาณิ

sin has many tools, but a lie is the handle which fits. Them all.Ž—-Homer.

ระยะนี้ ปรากฏว่ามีไลน์เรื่องของเกมโกงของ ปรส.สะพัด ตามโซเชียลมีเดียมากมาย ในทำนองว่า องค์กร ปรส.และผู้บริหารได้สร้างโศกนาฏกรรมความหายนะทางเศรษฐกิจให้แก่ชาติบ้านเมืองครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงในวงการการเงิน โดยเป็นกรรมการรอง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งในช่วงวิกฤต ต้มยำกุ้งŽ และอยู่ในเหตุการณ์ที่กระบวนการ ปรส.มีพฤติกรรมอันน่าเคลือบแคลงสงสัยพอดี ฉะนั้น ปรากฏการณ์สถาบันการเงินถูกสั่งปิดไปถึง 56 แห่ง ยังผลให้ธุรกิจทั้งใหญ่-เล็ก ล้มระเนระนาด ต้องเปิดท้ายรถขายของเพื่อประทังชีวิต จนเป็นข่าวขายหน้าไปทั่วโลก …ผู้เขียนจึงได้รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารและนักการเมือง จากเพื่อนร่วมงานกลุ่มบริษัท ไฟแนนเชียลŽ ด้วยกันในสมัยนั้นเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากเขียนเล่าเรื่องราวและวิธี สวาปามŽ โดยอาศัยกฎหมายอย่างแยบยลที่ตราขึ้นเพื่อเอื้อต่อพวกพ้องและชาวต่างชาติ อย่างหน้าด้านๆ ไม่แคร์ฟ้าดิน เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจผู้บริหารประเทศ ยุคใหม่Ž ในการกำหนดนโยบายการเงิน-การคลังให้รัดกุมด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ

Advertisement

องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ 2.เพื่อช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ 3.เพื่อชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้

แต่ไม่นาน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์จึงอาศัยจังหวะนั้น รวบรวมกลุ่ม งูเห่าŽ จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศแทน ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2540 กระบวนการของ ปรส.จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

พ. ร.บ.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 กำหนดให้เกิดองค์การ ปรส.ดังกล่าวในสมัย พล.อ.ชวลิต และ พ.ร.บ.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานกรรมการ ปรส.ในขณะนั้น

Advertisement

น่าจับตากระบวนการบริหารของ ปรส.ในเวลาต่อมาเกิดข่าวที่ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมของคนในองค์การนี้อย่างหนาหู ทำนองว่าเอื้อประโยชน์แก่บริษัทนายทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ ปรส.จ้างมาให้คำปรึกษาด้านวาณิชธนกิจ โดยทำสัญญาว่าจ้างวันที่ 4 ธันวาคม 2541 แต่ในสัญญาว่าจ้างกลับกำหนดให้เริ่มมีผลเป็นที่ปรึกษาย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2541

ด้วยการได้รับค่าตอบแทนจากการประมูลสินเชื่อ 3 กลุ่มใหญ่ โดยแบ่งสัดส่วนค่าตอบแทนของการจำหน่ายสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดจากการประมูลจำนวนประมาณ 11,000 ล้านบาท บริษัทเลห์แมนฯจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 0.5 ของราคาประมูล ซ้ำร้ายได้รับค่าปรึกษาอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มสินเชื่อจากการเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจรอบสอง ซึ่งไม่ปรากฏว่า ปรส.ออกมาตอบข้อกังขาของประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินได้เลยว่าได้เสียเงินค่าจ้างไปกับบริษัทต่างชาติดังกล่าวไปเท่าใด? และเหตุใดจึงทำสัญญาว่าจ้างให้มีผลย้อนหลัง?…จนมีคนถามว่าผิดอาญาตั้งแต่ต้นหรือไม่?

นอกจากนั้น ปรส.ได้ทำการประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 เวลา 11.00 น. และประกาศผลในวันเดียวว่า บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ เป็นผู้ชนะ…(ฮา) เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ เป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ถึง 99.99% ซึ่งเป็นบริษัทที่ ปรส.ทำสัญญาว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษา…จนเกิดประเด็นคำถามว่า พฤติกรรมเสมือนแกล้งโง่แล้วเปิดประตูให้ต่างชาติ สวาปามŽ ทรัพย์สินไทยหรือไม่?

เหตุนี้ทำให้พากันสงสัยว่าผู้บริหารบางคนใน ปรส.เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเลห์แมนฯชนะการประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว ดังนี้ อยากถามเพื่อนนักกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางวิชาการว่า ลักษณะเข้าค่ายสมรู้ร่วมคิดกับชาวต่างชาติ อันนำมาซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หรือไม่? เพราะข้อเท็จจริงปรากฏ บริษัทที่ปรึกษาที่มีข้อมูลเต็มมือเข้าประมูลเสียเอง เป็นการชงเองกินเองชัดๆ?

ห นังสือ ฉีกหน้ากาก ปรส.Ž ของดุสิต ศิริวรรณ ระบุตอนหนึ่งว่า การประมูลทรัพย์สินที่เป็นสินเชื่อของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกทางการ คือ…ช่วงที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ชุดที่สองรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งปิดกิจการเป็นการถาวรได้มีการดำเนินการในลักษณะที่มี เลศนัยž และนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยในการจัดประมูลที่เป็นผลทำให้ผู้บริหาร ปรส.ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมŽ

ที่น่าสังเกตในข้อเขียนดังกล่าว ยังระบุต่อไปว่า รัฐบาล ชวน หลีกภัยŽ ออกกฎหมายยกเว้นภาษีให้กองทุนต่างชาติ… การที่ ปรส.กำหนดกฎ, วิธีการจำหน่ายสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน โดยอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล (เลห์แมน) โอนสิทธิในการทำสัญญาขายมาตรฐานกับ ปรส.ให้กับผู้อื่นได้ ในกรณีนี้ผู้ทำสัญญากับ ปรส. คือ กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งการจัดตั้ง กองทุนรวมŽ ขึ้นมา สวมสิทธิแทนผู้ชนะการประมูลดังกล่าวนั้น เพราะกองทุนรวมจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคล พร้อมภาษีอื่นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ

จริงหรือ?….ต่างชาติฮั้วผู้บริหาร ปรส.ประมูลแบบ จับเสือมือเปล่าŽ…ทั้งนี้ ต้องวิเคราะห์ประกาศ ปรส.เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและการจำหน่ายสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกสั่งปิดถาวร กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าประมูลต้องเป็นนักลงทุนเท่านั้น เจ้าของสินเชื่อเดิมจะเข้าร่วมประมูลไม่ได้ จึงเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลง

แต่ที่รู้แน่ๆ คือ จากกฎเกณฑ์ข้อนี้เองทำให้นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสมัยนั้นหลายคน…กระอักเลือดตาย! 

ดุสิต ศิริวรรณŽ เขียนบอกกล่าวในการพิมพ์เพิ่มครั้งที่ 2 ว่า…เรื่องของการคอร์รัปชั่นที่เรียกกันตามความเข้าใจว่า การโกงกินŽ คงจะไม่มีองค์กรของรัฐหน่วยงานใดในประวัติศาสตร์ชาติไทยจะปรากฏตัวเลขการโกงกินมากมายมหาศาลเท่ากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) …. .

..ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร ปรส.บางคน โดยมีนักการเมืองบางคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเวลานั้น เป็น ไอ้โม่งŽ อยู่เบื้องหลัง กอบโกยทรัพย์สินเงินทองจากการโกงกินคราวนั้น ไปฝากไว้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ แล้วกันเงินจำนวนหนึ่งไว้หลายพันล้านบาทเพื่อปิดปากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งประกอบด้วย นักการเมืองบางกลุ่มบางพวกบางแขนงไม่ให้แพร่งพรายหรือเปิดโปงขบวนการโกงกินอย่างมโหฬารในการขายทรัพย์สินของไทยด้วยกัน….

น่าจับตา นักธุรกิจอิสระ ณรงค์ โชควัฒนาŽ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า…ปรส.สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก เป็นประวัติศาสตร์จากการประมูลทรัพย์ที่เป็นสินเชื่อของสถาบันการเงิน 56 แห่งให้ต่างชาติในราคาถูก จนทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ผมถือว่าเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ขนาดว่า ตั้งแต่มีประเทศไทยหากรวมความเลวของคนคดโกง ทุจริตคอร์รัปชั่นประเทศชาติทุกคนมารวมกันแล้ว ความเสียหายของคนเหล่านั้นยังไม่ถึง 6 แสนล้านบาทเลย เรื่องนี้จึงปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้Ž 

ณรงค์ โชควัฒนาŽ เน้นให้เห็นว่า ในทรรศนะส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า ปรส.มีความผิดจริง เพราะ ปรส.ดำเนินการหลายต่อหลายอย่างไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง เช่น การนำทรัพย์สินมาจัดออกเป็นกองใหญ่ๆ แต่ละกองมีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประมูลที่เป็นคนไทยซึ่งขณะนั้นประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่สามารถเข้าประมูลแข่งขันกับต่างชาติได้ หรือการอนุญาตให้บริษัทต่างชาติซึ่งรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการประมูลของ ปรส.เป็นอย่างดีเข้าประมูลแข่งขันด้วย ทำให้มองได้ว่าผู้ดูแลเรื่องการประมูลของ ปรส.อาจจะได้ประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจากคนที่มีข้อมูลภายในจะได้ประโยชน์จากการประมูลครั้งนั้นเป็นหมื่นล้านบาท จึงเป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะประเคนเงินเข้ากระเป๋าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัก 500-600 ล้านบาท หรือพันล้านบาทŽ

อีกทั้งนักธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ได้แสดงความเห็นว่า…การขายทรัพย์สินที่เป็นสินเชื่อของสถาบันการเงิน 56 แห่งของ ปรส. สร้างความหายนะทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติถึง 6 แสนล้านบาท และประชาชนต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ร่วมกันทั้งประเทศ แต่ไม่มีนักการเมืองคนไหนออกมารับผิดชอบ นี่คือค่าโง่ของจริง เป็นค่าโง่ที่เสียให้ต่างชาติ แพงที่สุดถึง 6 แสนล้านบาท แพงกว่าค่าโง่ที่กำลังพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ทุกวันนี้เสียอีก

สำหรับ ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีตประธานกรรมการ Asia Australia commercial Bank และรองประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพลฯ เขียนใน อุดมการณ์ของชาติŽ ว่า…กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในเมืองไทย ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่บรรลุผล ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน กลไกต่างๆ ของรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ถือประโยชน์ส่วนรวม แต่ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ทำให้กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐไร้ความหมาย ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อิทธิพลและอภิสิทธิ์ชนได้รับการยกเว้นŽ

การสร้างความเสียหายมากมายขนาดนี้ ถ้าเป็นกรรมชั่วจริง เชื่อว่ากรรมนั้นคงสนองแก่ผู้กระทำเข้าสักวัน ตามพุทธสุภาษิตว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว จะตามมาเร็วหรือช้าเท่านั้น… แต่ที่รู้แน่ๆ คือ นายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธาน ปรส. ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี และปรับ 2 หมื่นบาท (โทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี) เท่านั้น?! (ฮา)

จากผลงานอันอัปยศทำให้ประเทศไทยเสียหายและเสียหน้ากระฉ่อนไปทั่วโลกในครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนได้มองเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่า การทำกรรมดี หรือกรรมชั่วนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด? แต่ประวัติศาสตร์ยังคงต้องจารึกพฤติกรรมของแต่ละคนไว้ อย่างมิอาจปกปิดหรือลบเลือนไปได้ …ซึ่งเป็นความทรงจำอันเจ็บปวด ตราบจนทุกวันนี้

ดังนั้น การที่ ฉีกหน้ากาก ปรส.Ž ของอดีตรัฐมนตรีดุสิต ศิริวรรณ ระบุว่า เป็นโศกนาฏกรรมความหายนะทางเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย….จริงหรือไม่?

คงต้องรอ กาลเวลาŽ เท่านั้น ที่จะพิสูจน์ความจริง ในเรื่องของกฎแห่งกรรมให้ประจักษ์แก่ปัญญาชนรุ่นหลังสักวัน?!…ว่าไหม?!

(ถ้าผู้อ่านสนใจ จะเขียนตอน..สัญญาอัปยศ Profit Sharing ต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image