จดหมายเปิดผนึก ถึงสภามหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์ : โดย เมธาวุฒิ พีรพรวิทูร

ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยใกล้จะลงมติแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ ผมใคร่ขอแสดงความเห็นเพื่อพิจารณาต่อสภาและประชาคมธรรมศาสตร์ เป็นความห่วงใยอย่างใหญ่หลวง ที่แสดงออกด้วยความยุ่งยากลำบากมากที่สุดในชีวิต สองจิตสองใจมาหลายเดือน

ใจหนึ่งไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนจิตใจใครเพราะส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้จักและนับถือ และไม่ประสงค์จะสร้างศัตรู อยากอยู่อย่างสงบก่อนเกษียณปีหน้า อีกใจบอกว่าต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งที่ผมยืนหยัดเมื่อสอนนักศึกษาในวิชาความเป็นผู้นำ พูดย้ำเช่นนี้มาทุกปีที่สอน ถ้าไม่กล้าผมก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แล้วจะมีหน้าอะไรไปสอนนักศึกษาอีก

สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) บรรยายธรรมว่า ถ้าเห็นปัญหาแล้วไม่ทำอะไร ผู้นั้นเป็นผู้ร่วมก่อกรรม ผมยังต้องเชิดหน้าสอนนักศึกษาและไม่ปรารถนาเป็น “ผู้ร่วมก่อกรรม” จึงขอนำเสนอความเห็นให้สภาและประชาคมธรรมศาสตร์พิจารณา 9 ประการ :

1.อธิการบดีของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างธรรมศาสตร์ ควรเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดทางการศึกษาและตำแหน่งวิชาการ นั่นคือ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ แม้ว่า “ศ.ดร.” จะไม่ใช่หลักประกันความเป็นผู้นำและความสามารถทางการบริหาร แต่ก็เป็นหลักฐานแสดงความสำเร็จสูงสุดทางการศึกษาและผลงานวิชาการของผู้นั้น ถ้ามาเป็นอธิการฯบริหารสถาบันอุดมศึกษา จะเป็นหน้าตาและความสง่างามของสถาบันแห่งนั้น

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันที่มีชั้น ศักดิ์ศรีและชื่อเสียงใกล้เคียงกันอย่างจุฬาลงกรณ์ฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันทั้งสองต่างมีอธิการบดีเป็น ศ.ดร. ต่อเนื่องมาแทบตลอด อธิการบดีของธรรมศาสตร์สองท่านสุดท้ายก็เป็น ศ.ดร. เช่นกัน หากเลือกได้หรือมีให้เลือก อธิการบดีธรรมศาสตร์จึงควรเป็น ศ.ดร. หรืออย่างน้อยควรมีตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วคุณสมบัตินี้อาจไม่จำเป็น เพราะอาจารย์ธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่จบปริญญาโท ที่จบปริญญาเอกเป็นส่วนน้อย และที่เป็นศาสตราจารย์มีน้อยมาก ศ.ดร. ยิ่งอัตคัดขาดแคลน แต่ปัจจุบันนี้อาจารย์ส่วนใหญ่จบปริญญาเอก และมี ศ.ดร. มากมายหลายคณะ

2.อธิการบดีของธรรมศาสตร์ควรเป็น “คนใน” ไม่ใช่ “คนนอก” เพราะคนในย่อมต้องมี “พันธะ” และ “ความรับผิดชอบ” ต่อการกระทำในฐานะที่เป็นคนใน หากเกิดความเสียหาย ไม่อาจหลบลี้หนีหน้าไปไหน คนในจึงต้องบริหารด้วยความระมัดระวัง ซึ่งผิดกับคนนอก หากเกิดความเสียหายก็พร้อม “สะบัดก้น” ไม่ต้องทนสู้หน้าใคร เหตุผลอีกข้อที่ควรเป็นคนใน ใครก็รู้ว่า ธรรมศาสตร์ไม่ขาดแคลนผู้มีคุณสมบัติจะเป็นอธิการบดี เรามีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเหลือเฟือ ซึ่งต่างจากมหาวิทยาลัยใหม่ในต่างจังหวัด ที่ขาดแคลนอาจารย์ที่มีอาวุโสและประสบการณ์เพียงพอ จึงต้องร้องขอคนนอกมาเป็นผู้บริหาร

แต่ธรรมศาสตร์มิใช่เช่นนั้น ที่ผ่านมา 12 ปี ไม่ค่อยมีผู้อาสาเพราะรู้ว่าการได้โหวตเป็นอธิการบดีหรือคณบดีเป็นเรื่องยาก หาก “ไม่ได้รับพร” จากใครบางคนที่ตึกโดม แค่คนสองคนเท่านั้น แต่คุมเสียงข้างมากในสภามหาวิทยาลัยและองคาพยพเกือบทั้งหมดในธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ไม่สะดวกใจในการยกมือตามคำขอ ไม่อยู่ในอาณัติ ไม่ใช่คนในเครือข่าย ต่างรู้ซึ้งถึงก้นบึ้ง จึงไม่เสนอหน้ามาเป็น “ไม้ประดับ” รองรับความชอบธรรมเทียมๆ ของระบบสรรหาที่เป็นอยู่ อย่างเช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ถูกกระทำซ้ำๆ ในการสรรหาคณบดี มาหลายสมัย จนสุดท้ายไร้ผู้กล้าอาสาเป็นคณบดี จึงมีเพียง “ทายาท” จากตึกโดมเท่านั้น

Advertisement

อดีตผู้บริหารท่านหนึ่งบอกผมว่า เขาลาออกหลังดำรงตำแหน่งไม่นาน เพราะรำคาญที่มีคนสั่งให้โหวตตามคำขออยู่เรื่อยๆ

3.หากธรรมศาสตร์จำเป็นต้องพึ่งคนนอก ก็ควรเป็นกรณีที่ต้อง “เปลี่ยนแปลงใหญ่” ซึ่งคนในจะทำไม่ได้เพราะติดความคิดเก่า ติดความเคยชิน ติดอำนาจ ติดคน ยุ่งไปหมดจนเปลี่ยนอะไรไม่ได้ จึงต้องใช้คนนอก ที่ปลอดข้อจำกัดใดๆ มีมุมมองใหม่ๆ ในการนำพามหาวิทยาลัยไปข้างหน้า เป็นนักบริหารมืออาชีพที่มีบารมีมาก ซึ่งเกิดจากการสั่งสมคุณงามความดี ผลงานและความสำเร็จ จนเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคมไทยและต่างประเทศ เป็นเหตุแห่งความเลื่อมใสศรัทธา นำมาซึ่งความเชื่อถือของประชาคมในธรรมศาสตร์คนในชาติและนานาชาติ อธิการบดีคนนอกผู้เปี่ยมด้วยบารมีจะมี “พลังแม่เหล็ก” ดึงดูดความร่วมมือ การสนับสนุนและความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งวิชาการ เงินทุนและทรัพยากรต่างๆ ดังที่เห็นกันในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ แต่อย่างที่บอก ต้องเป็น “คนนอกจริงๆ” ไม่ใช่ “คนนอก” ที่ “เคยเป็นคนใน” ซึ่งเป็นคณบดีตั้งแต่ก่อนเกษียณ

เป็นคณบดีต่อหลังเกษียณจนหมดวาระ แล้วแปลงร่างเป็นคนนอก มาเป็นรองอธิการบดีต่อ แถมนั่งควบ 2 เก้าอี้ และเป็นอยู่หลายปีจนหมดวาระ รวมสิริในตำแหน่งบริหารนานเกิน 10 ปี แล้วยังจะมาเป็นอธิการบดีต่ออีกในวัย 70 ปี อย่างนี้จะดีหรือ

4.แนวโน้มของโลกบริหารต้องการผู้นำที่มีอายุน้อยลง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมในยุคไอทีและดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ถึงขนาดเทคโนโลยีใหม่ “ฆ่า” เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม การบริหารเปลี่ยนผ่านจากกระบวนทัศน์เก่า (old paradigm) ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) ทำให้ความรู้และประสบการณ์เดิมๆ ของผู้บริหารใช้การไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่สดใส ทันสมัยและอายุน้อยลง

สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี ซีอีโอของสิงคโปร์มีอายุ 35-45 ปี เป็นเช่นนี้มาเป็นสิบปีแล้ว นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสอายุน้อยที่สุดในโลก คือแค่ 39 ปี แต่ไม่ทันใดสถิตินี้ถูกทำลายแล้ว นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของออสเตรียอายุ 31 ปีเท่านั้น อธิการบดีของธรรมศาสตร์จึงควรมีอายุน้อยลง ไม่ใช่มากขึ้นเรื่อยๆ สวนกระแสโลก อธิการบดีควรมีอายุประมาณ 50 ปี ซึ่งกำลังดีอย่างเหมาะเจาะ (optimal) เพราะประสบการณ์ “เต็มถัง” แต่ “พลังยังไม่ตก” อย่างมากไม่ควรเกิน 54 ปี เผื่อว่าถ้าดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย ก็เกษียณที่ 60 พอดี แล้วไปเลย อย่าหวนกลับมาอีก

5.ขอย้ำอีกครั้ง อธิการบดีธรรมศาสตร์ไม่ควรมีอายุเกิน 60 ปี เหตุผลคือ เป็นวัยเกษียณแล้ว ผ่านช่วงที่ดีที่สุดของชีวิตไปแล้ว กราฟชีวิตวก ตกสู่ช่วงขาลง ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้นำรุ่นใหม่จะดีกว่า เพราะว่าทุกอย่างต่างมีช่วงที่ดีที่สุดอยู่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ผลไม้อ่อนไปก็กินไม่อร่อย สุกเกินไปก็กินไม่ไหว ขนมยังมีวันขึ้นรา ยาก็ยังมีวันหมดอายุ ใครขืนกินโรคไม่หาย ซ้ำร้ายอาจตายได้ นักกีฬาถึงวัยหนึ่งก็ต้องเลิก นักร้องไม่โด่งดังตลอดกาล และนักแต่งเพลงใช่จะมีผลงานสุดยอดได้ตลอดชีวิต ดูวง The Beatles เป็นตัวอย่าง ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่สามารถแต่งเพลงไพเราะเหมือนช่วงหนุ่มๆ ได้

6.การแต่งตั้งอธิการบดีคนนอกที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็นการฝืนธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น การเกษียณเป็นเรื่องปกติของชีวิต เป็นไปตามกฎแห่งการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทั่วโลกจึงกำหนดให้มีการเกษียณ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย ล้วนแต่เกษียณที่ 60 ยกเว้นอาจารย์ที่ได้ต่ออายุ จะเกษียณที่ 65 แต่ว่าให้ทำหน้าที่สอนและวิจัยเท่านั้น ห้ามดำรงตำแหน่งบริหาร เพราะเป็นงานที่เครียดเกินกว่าวัยและสังขาร เป็นกรรมการก็ยังไม่ได้ ผู้พิพากษาและอัยการก็มีการต่ออายุยาวถึง 70 ปี แต่ก็มีข้อแม้ ห้ามดำรงตำแหน่งบริหารเช่นกัน ให้ทำหน้าที่เป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น

คณะกรรมการองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร ต่างก็หมดวาระเมื่ออายุ 70 คณะกรรมการและตำแหน่งทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องพ้นหน้าที่เมื่ออายุ 70 ทุกอาชีพต่างมีวันเกษียณ แล้วทำไมธรรมศาสตร์จึงมีระบบผู้บริหารคนนอกที่ไร้การเกษียณ ราวกับอยู่นอกกฎการเกิด แก่ เจ็บ และตาย มันถูกต้องและชอบธรรมแล้วหรือ เอาเปรียบข้าราชการ อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยหรือไม่ หากสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอธิการบดีคนนอกที่อายุมากกว่า 60 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องศาลปกครองหรือไม่

หากศาลปกครองตัดสินว่าการแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัยไม่ถูกต้อง ดังกรณีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบ

7.ผู้นำองค์การต้องมีกำลังวังชาและสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เพราะการบริหารเป็นงานตรากตรำและมีความเครียดสูง ดังตัวอย่างเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่สอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ คณบดีเล่าให้ฟังว่า ระหว่างตัดสินใจจะสมัครเป็นคณบดี ได้เรียนปรึกษาอดีตคณบดีอาวุโสที่นับถือ เมื่อทราบเจตนา ท่านถามแค่ว่า “สุขภาพเป็นอย่างไร?” ไม่ถามอย่างอื่นเลย เมื่อทราบว่าไม่มีปัญหา ท่านจึงสนับสนุน อีกกรณีคือ ซีอีโอ นามอุโฆษของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาลาออกจากตำแหน่งก่อนเวลาเพราะว่าความเครียดสะสม และบอกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่เป็นซีอีโอ ส่วนใหญ่ก็ลาออกก่อนเกษียณเพราะห่วงใยในสุขภาพ

นี่เป็นตัวอย่างในอดีต การบริหารในปัจจุบันเครียดหนักหนาสาหัสกว่าเมื่อ 10-20 ปีก่อน เพราะเป็นการบริหารในบริบทที่ไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำนายทายทักลำบาก ต้องบริหารผ่านวิกฤต ต้องมีผลงานและมาตรฐานระดับเลิศ มีดัชนีชี้วัดที่ต้องบรรลุมากมายหลายดัชนี จึงควรที่จะต้องพิจารณาสุขภาพของผู้สมัครและผู้รับการทาบทาม ว่าเป็นอย่างไร ไหวหรือไม่ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า แม้แต่ผู้พิพากษาต่ออายุ มาเป็นองค์คณะ ไม่ต้องเครียดในงานบริหาร ยังต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสุขภาพถึง 2 ครั้ง คือ อายุ 60 และ 65 สภามหาวิทยาลัยจึงควรคำนึงถึงสุขภาพของผู้จะมาเป็นอธิการบดี โดยเฉพาะกรณีมีอายุมากถึง 70 ปี ซึ่งไม่มีที่ไหนให้ดำรงตำแหน่งบริหารแล้ว

8.ในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมศาสตร์อยู่ภายใต้การบริหารของคณะบุคคลกลุ่มเดียวกันมาตลอด เปลี่ยนแต่หัว คือตัวอธิการ นอกนั้นส่วนใหญ่ก็ “คนหน้าเดิม” สลับตำแหน่งกันไปมา จนมีคนพูดกันว่า เป็นระบบ “ส่งไม้ต่อ” ก่อตัวจนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา จริงหรือไม่ ใคร่ขอถามประชาคมธรรมศาสตร์ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยเหตุแห่งธรรมชาติของมนุษย์

ตอนเริ่มต้นก็อาจ “อยากเป็น” และ “อยากทำ” อยู่ไปนานๆ ก็ “อยากอยู่” และ “ไม่อยากลุก” หรือ “ไม่อยากไป” หากต้องลุกก็คว้า หา “ทายาท” มารับไม้ต่อ ขอ “เว้นวรรค” เพื่อกลับมาใหม่ จึงไร้ “การถ่ายเลือด” เกิดภาวะ “inbreeding” ในการบริหาร เหมือนแต่งงานกันเองในครอบครัว ลูกหลานหรือองค์การก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะขาดสายเลือดใหม่ ไร้การหมุนเวียนเปลี่ยนรุ่น อุปมาดั่ง ห้องที่ปิดตายย่อมมีกลิ่นอับ ก๊อกน้ำที่ไม่เปิดใช้ย่อมมีกลิ่นเหม็น น้ำที่ไม่ไหลนานไปก็เน่า ต้นไม้ต้องผลัดใบ คลื่นลูกใหม่แทนที่คลื่นลูกเก่า คนกลุ่มเดียวกันบริหารยาวนานถึง 12 ปี ในขณะที่ “อันดับ” ของธรรมศาสตร์ “ต่ำเตี้ย” จน “เรี่ยดิน” ยิ่งมีการจัดอันดับ ยิ่งขยับออกไปไกล ล่าสุดธรรมศาสตร์ไม่อยู่ใน 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยไทย จัดโดยสถาบันจัดอันดับของอังกฤษ เป็นเครื่องชี้อย่างดี ธรรมศาสตร์ถึงจุดเปลี่ยน ต้องหมุนเวียนนักบริหารสายเลือดใหม่ที่สอดคล้องกับโลกและสถานการณ์ ที่อยู่นานถึง 2 สมัยควรออกไป และไม่ควรกลับมาอีก

มวยแพ้ยังเปลี่ยนเทรนเนอร์ ฟุตบอลแพ้ยังเปลี่ยนโค้ชและผู้จัดการ ไม่มีเหตุผลที่คณะบุคคลกลุ่มเดิมจะสืบต่อ

9.การสรรหาอธิการบดีครั้งนี้มีความพยายามจะใช้คะแนนสรรหามาชี้นำการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ถูกต้อง ก่อนการลงคะแนนสรรหามีการประกาศว่า คะแนนการสรรหาจะเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผย ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจได้เพราะมหาวิทยาลัยก็ใช้กฎนี้มาตลอด แต่หนนี้มีผู้แสดงความจำนงภายนอก ซึ่งก็คือรองอธิการบดีในปัจจุบันได้คะแนนเสียงมาก คะแนนสรรหาก็ถึงมือสื่อมวลชนและแพร่หลายทั้งในและนอกธรรมศาสตร์ เสมือนประกาศชัยชนะ เพื่อโน้มน้าวสภามหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์

ตามมาด้วยมติของกรรมการสรรหา ซึ่งต้องเป็นความลับเช่นกัน แต่นำมาเปิดเผยเพื่อหวังผล ต่างจากการสรรหาคณบดีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ผ่านๆ มา หากฝ่ายตรงข้ามได้คะแนนเหนือผู้รับการทาบทามที่ฝ่ายบริหารสนับสนุน คะแนนจะไม่เป็นที่เปิดเผย โดยอ้างว่าจะเป็นการชี้นำสภามหาวิทยาลัย และไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง แต่เป็นระบบสรรหา คนที่ได้แค่ 1 เสียงก็เป็นคณบดีได้ ถ้าสภาโหวตให้

อาศัยหลักการและเหตุผลเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนผู้แสดงความจำนงคนนอกก็ไม่ควรอ้างคะแนนสรรหา ควรรักษากติกาอย่างเคร่งครัด และคะแนนสรรหาไม่อาจชี้อะไรได้ด้วยเหตุ 2 ประการ การสรรหามีผู้แสดงความจำนงเพียงคนเดียวเท่านั้นคือรองอธิการบดี ซึ่งมาในฐานะคนนอก ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่ผู้รับการทาบทามซึ่งเป็นคนใน แทบไม่มีผู้รู้ถึงความมีอยู่ และผู้แสดงความจำนงคนนอกอยู่ในกลุ่มผู้บริหารยาวนานกว่า 12 ปี
จนควบคุมองคาพยพเกือบทั้งหมดในธรรมศาสตร์

ถามว่า มีการใช้กลไกและเครือข่ายในการสื่อสารเพื่อโหวตให้ผู้แสดงความจำนงคนนอกหรือไม่ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมีอาจารย์พูดในห้องให้นักศึกษาลงคะแนนให้ผู้แสดงความจำนงคนนอก มีอาจารย์บางท่านส่ง line ข้อความสนับสนุน พร้อมผลงานและประวัติ ซึ่งมีการระบุอายุที่ 65 ปี ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง 5 ปี เป็นเจตนาหรือความบังเอิญ ในขณะที่เลขานุการคณะ ส่ง line ขอให้น้องๆ ไปลงคะแนนให้โดยพร้อมเพรียงกัน เช่นนี้ถูกต้องตามกติกาหรือไม่ “แฟร์เพลย์” หรือเปล่า ทำอย่างนี้ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยหรือไม่

ขอให้สภามหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์โปรดพิจารณาความเห็นและข้อห่วงใยทั้ง 9 ประการ ซึ่งนำเสนอด้วยเจตนาที่ดีต่อธรรมศาสตร์ ผมไม่มีผลประโยชน์โดยตรงหรือแอบแฝงใดๆ โดยส่วนตัวรู้จักกับผู้แสดงความจำนงคนนอก แต่ไม่รู้จักกับผู้รับการทาบทามภายใน ใครได้เป็นอธิการบดีก็ไม่มีผลอะไรต่อผม ซึ่งยังเป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งใดๆ ไม่ได้ตามกฎ และจะเกษียณปีหน้าแล้ว

อันที่จริงไม่ควรมาเปลืองตัวหาเรื่องเดือดร้อนและเสียเวลาในเรื่องนี้ ผมทำหน้าที่โดยชอบจบสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรตกค้างในใจ พร้อมจากไปปีหน้าอย่างสงบ ที่เหลือเป็นเรื่องของสภามหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์ ผลเป็นอย่างไร ผมทำใจเป็นอุเบกขา และขอขมาและรับอโหสิกรรมจากฝ่ายบริหารทุกท่าน หากได้ล่วงเกินหรือก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใดๆ

และขอให้อโหสิกรรมล่วงหน้า หากว่ามีผลไม่พึงปรารถนาตามมาจากจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ขอสันติสุขจงมีแด่ผู้ปรารถนาดี

เมธาวุฒิ พีรพรวิทูร
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image