การป้องกันอาชญากรรม โดยการลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อ : ดร.อุทิศ สุภาพ

อาชญากรรมกับผู้เสียหายหรือเหยื่อ (Victims) นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยเมื่ออาชญากร (Criminal) กระทำการประทุษร้ายต่อเหยื่อ (Victims) โดยละเมิดกฎหมายแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือมีอาชญากรรม (Crime) หรือความผิดเกิดขึ้น ดังนั้นเหยื่อจึงมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมโดยตรง หากทำให้เหยื่อมีน้อยลง อาชญากรรมก็จะลดลงตามไปด้วย ดังแผนภาพ
ด้วยเหตุนี้ จึงเน้นการป้องกันอาชญากรรมไปที่เหยื่อดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.การป้องกันอาชญากรรม (Prevention) ในความหมายอย่างกว้างนั้น ครอบคลุมทั้งการป้องกันล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิด และป้องกันภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งเมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นแล้วก็จะป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
สำหรับผู้เสียหายหรือเหยื่อ (Victims) คือบุคคลที่ถูกประทุษร้ายในทางชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินโดยปราศจากความยินยอมของผู้นั้น นอกจากนั้นผู้เสียหายยังหมายความคลุมถึงบริษัท ห้างร้าน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกประทุษร้ายในทางทรัพย์สินด้วย
อาชญากรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหยื่ออย่างมาก ซึ่งแยกกันไม่ออก โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเหยื่อเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเกิดอาชญากรรม กล่าวคือ หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้นแล้วจะต้องมีเหยื่อเกิดขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเหยื่อที่เกิดขึ้นโดยพฤตินัยหรือโดยนิตินัยก็ได้ แต่ถ้าเป็นเหยื่อโดยพฤตินัยที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดแล้ว เหยื่อนั้นจะไม่มีสิทธิในการร้องทุกข์หรือดำเนินคดีด้วยตนเองได้ ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับเหยื่อหรือผู้เสียหายนั้นมีประโยชน์คือ
ประการแรก ผู้เสียหายจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสืบสวนเพื่อจะนำไปสู่ผู้กระทำผิดต่อไป เพราะผู้เสียหายเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และใกล้ชิดกับตัวผู้กระทำความผิดมากที่สุด
ประการที่สอง ในด้านการป้องกันอาชญากรรม ทำให้ทราบสาเหตุในการเกิดอาชญากรรมมากขึ้น เมื่อเราทราบว่าอาชญากรรมใดมักเกิดกับบุคคลหรือธุรกิจใดๆ แล้ว เราก็สามารถที่จะวางแผนป้องกันมิให้อาชญากรรมเกิดขึ้นได้ เช่น การไม่เดินไปในทางที่เปลี่ยวๆ หรือการไม่ใส่เครื่องประดับที่มีราคาสูงมากเกินไป หรือการไม่แต่งกายอันเป็นการยั่วยวนทางเพศ เป็นต้น
ประการที่สาม ช่วยให้กระบวนการลงโทษหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเป็นธรรมอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดโทษนั้นมีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ทั้งในแง่ตัวผู้กระทำผิดและผู้เป็นเหยื่อมาผสมผสานกัน ทำให้การกำหนดโทษของศาลมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ประการที่สี่ ช่วยเป็นตัวกระตุ้นผลักดันให้รัฐควรต้องคำนึงถึงบทบาทของรัฐมากขึ้นสำหรับในการช่วยเยียวยาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เหยื่ออาชญากรรมตามสมควรแล้วแต่กรณีไป

2.แนวทางในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยการลดช่องโอกาสในการกระทำความผิด
สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการตกเป็นเหยื่อนั้น จะต้องอาศัยแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมโดยการตัดช่องโอกาสในการกระทำความผิดซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันที่เน้นการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่ออาชญากร
โดยการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด สำหรับแนวคิดในการป้องกันอาชญากรรมโดยการตัดช่องโอกาสนั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของทฤษฎีการลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อที่ว่า อาชญากรรมเป็นผลมาจากมูลเหตุจูงใจบวกกับช่องโอกาสในการกระทำผิด กล่าวคือ ถ้ามีตัวอาชญากรหรือมีมูลเหตุจูงใจ แต่ไม่มีช่องโอกาสในการกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมก็จะไม่เกิด และในทางกลับกัน ถ้ามีช่องโอกาสในการกระทำความผิดแล้ว แต่ไม่มีมูลเหตุจูงใจ อาชญากรรมก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โจรประชุมนัดหมายจะไปปล้นบ้านนายดำ แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่านายดำเปิดไฟและมีสุนัขเห่า ทำให้โจรกลับไป แสดงให้เห็นว่าไม่มีช่องโอกาสในการกระทำความผิด โจรจึงไม่เข้าปล้น หรือกรณีตัวอย่างลืมกระเป๋าสตางค์ไว้หน้าบ้าน มีคนเดินผ่านไปมาแต่กระเป๋าสตางค์ไม่หาย แสดงให้เห็นว่าแม้มีช่องโอกาส แต่ไม่มีเหตุจูงใจหรือตัวอาชญากรโดยคนเดินผ่านไปมาเป็นคนดี อาชญากรรมก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า อาชญากรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีทั้งมูลเหตุจูงใจและช่องโอกาสในการกระทำความผิด ปรากฏดังสมการที่แสดงให้เห็นดังนี้
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมจากสมการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าจะป้องกันที่มูลเหตุจูงใจโดยทำให้ไม่มีตัวอาชญากรหรือไม่ให้มีมูลเหตุจูงใจนั้น ทางปฏิบัติคงจะทำได้ยาก เพราะไม่อาจที่จะหยั่งถึงได้ว่าใครเป็นคนดี คนไม่ดี มีจิตใจชั่วร้ายมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การป้องกันจึงหันมาคำนึงถึงการลดช่องโอกาสในการกระทำความผิดมากกว่าที่จะเน้นการป้องกันไปที่มูลเหตุจูงใจ สำหรับการลดช่องโอกาสในการกระทำผิดนั้น อาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งอาจทำได้ 2 ทางคือ โดยการใช้สภาพแวดล้อมทางรูปธรรมหรือทางกายภาพ และโดยการใช้สภาพแวดล้อมทางนามธรรมหรือทางสังคม ดังนี้
2.1 การป้องกันอาชญากรรมโดยการใช้สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (รูปธรรม) เป็นวิธีทำให้การประกอบอาชญากรรมช้าลงหรือทำไม่ได้ โดยมีมาตรการในระดับต่างๆ ดังนี้
(1) ในระดับเมือง เช่น การวางผังเมืองจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมไว้ โดยจะต้องออกแบบถนน อาคาร สวนสาธารณะ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของเมืองให้ชุมชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในส่วนควบคุมดูแลการใช้พื้นที่โดยไม่ให้เกิดมุมอับขึ้น เพื่อที่จะได้สังเกตคนแปลกหน้า หรือลดช่องว่างที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชญากรรมได้ เป็นต้น
(2) ในระดับอาคารสถานที่ เช่น การทำรั้ว ลูกกรง เหล็กดัด ติดตามประตูหน้าต่าง การใช้สัญญาณเตือนภัย การใช้โทรทัศน์วงจรปิด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วยเพื่อทำให้การประกอบอาชญากรรมทำได้ช้าหรือยากยิ่งขึ้น เป็นต้น
(3) ในระดับบุคคล เช่น การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันตัว (เครื่องส่งสัญญาณเตือนภัย มีดหรืออาวุธต่างๆ) การเรียนศิลปะป้องกันตัว หรือการหลีกเลี่ยงไปในที่เปลี่ยวในเวลากลางคืน หรือหลีกเลี่ยงการสวมใส่ของมีค่าติดตัว หรือการไม่ประมาทเพื่อป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือหลีกเลี่ยงอบายมุขต่างๆ หรือเลือกคบแต่คนดีๆ ไม่คบคนพาลเพื่อหลีกเลี่ยงในการเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมก่ออาชญากรรมด้วย เป็นต้น

2.2 การป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมทางสังคม (นามธรรม) เป็นการจัดความสัมพันธ์ของชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของชุมชนในการป้องกันอาชญากรรมขึ้น เช่น มาตรการเพื่อนบ้านเตือนภัย หรือมาตรการสายตรวจประชาชน หรือมาตรการอาสาสมัครป้องกันอาชญากรรม เป็นต้น

Advertisement

3.บทสรุป : การลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อ เป็นวิธีการป้องกันอาชญากรรมที่ทำได้ง่ายและได้ผลเป็นอย่างมาก โดยสามารถทำได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับใหญ่ (ระดับเมือง) ระดับกลาง (ระดับอาคารสถานที่) และระดับเล็ก (ระดับบุคคล) ซึ่งถ้าในแต่ละระดับมีมาตรการที่ดีและนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพแล้ว ก็จะมีผลทำให้การตกเป็นเหยื่อน้อยลงในระดับหนึ่ง ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมควรร่วมมือกันเพื่อรณรงค์ให้นำวิธีการป้องกันอาชญากรรมโดยการลดช่องโอกาสมาใช้ให้มากขึ้น

ข้อเสนอแนะ
1.ควรมีการรณรงค์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจัดทำโครงการเผยแพร่อบรมความรู้ให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการป้องกันอาชญากรรมและชักจูงให้ประชาชนหันมาให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องเสมือนเป็นหน้าที่ของพลเมืองอย่างหนึ่ง
2.ส่งเสริม สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานแบบเชิงรุก (Proactive) มากกว่าเชิงรับ (Passive) เพื่อที่จะใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะทำให้ลดการตกเป็นเหยื่อได้มากขึ้น
3.การลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการป้องกันอาชญากรรมได้เกือบทุกกรณี ดังเช่น กรณีใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น เชื่อว่ามีสาเหตุการเกิดอาชญากรรมหลายสาเหตุด้วยกัน ถ้าหากนำหลักการลดช่องโอกาสในการกระทำความผิดมาประยุกต์ใช้ ก็จะทำให้เกิดอาชญากรรมน้อยลงได้ กล่าวคือ ปัจจุบันมีช่องโอกาสในการกระทำความผิดมาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่น้อย ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ จึงทำให้มีช่องโอกาสที่จะกระทำความผิดแล้วไม่ถูกจับกุมได้มีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้กระทำความผิดกล้าที่จะกระทำผิดขึ้น แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากมีการกระทำผิดเกิดขึ้นสามารถที่จะจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แน่นอนและรวดเร็ว ซึ่งโอกาสที่
ผู้กระทำผิดจะหลุดรอดได้ยาก ผู้กระทำผิดก็จะไม่กล้าเสี่ยงกระทำผิดขึ้น เนื่องจากช่องโอกาสในการหลบหนีไม่มี ซึ่งถ้าหากทำผิดแล้วถูกจับก็จะเกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ผู้กระทำผิดจึงมีแนวโน้มจะไม่ทำผิดขึ้น เช่น ทำไมโจรภาคใต้ไม่เผาสถานที่ราชการที่อยู่ในเมือง แต่กลับไปเผาโรงเรียนในชนบท ก็เพราะโรงเรียนในชนบทมีช่องโอกาสในการทำผิดแล้วหลบหนีได้ เนื่องจากโรงเรียนในชนบทมีผู้ดูแลน้อย แต่ถ้าเป็นในเมือง หากทำผิดมักจะถูกจับได้ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า

ดังนั้นช่องโอกาสในการกระทำความผิดจึงมีน้อยกว่า หรือในกรณีที่โจรภาคใต้ก่อเหตุระเบิดหรือยิงประชาชนตายก็เกิดจากการมีช่องโอกาสเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ถ้าหากมีเจ้าหน้าที่เพียงพอแล้ว ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะไปวางระเบิดหรือยิงประชาชนตายก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จะจับตัวมาได้ หรือสืบรู้และติดตามตัวมาลงโทษได้ จึงไม่มีช่องโอกาสในการกระทำความผิด ดังนั้นผู้กระทำผิดก็จะไม่กระทำผิด อาชญากรรมก็จะลดลงได้ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image