การจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต ตอนที่ 1 : ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ/องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้าน แม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

ถ้าจะกล่าวว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่มีเตาเผาขยะที่ผลิตไฟฟ้าได้ก็คงไม่ผิด โครงการก่อสร้างเตาเผาที่สามารถผลิตไฟฟ้าแห่งนี้เป็นการริเริ่มและดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ตั้งปี 2539 โครงการดังกล่าวประกอบด้วยอาคารเตาเผาสำหรับติดตั้งห้องเผา 2 ชุด ชุดละ 250 ตันต่อวัน เพื่อให้มีขีดความสามารถรวมในการกำจัดขยะ 500 ตันต่อวัน แต่ในเวลานั้นมีอุปสรรคในการจัดสรรงบประมาณ จึงติดตั้งห้องเผาเพียงชุดเดียวทำให้มีขีดความสามารถในการเผาเหลือเพียง 250 ตันต่อวัน

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จกรมโยธาธิการจึงโอนเตาเผาให้กับจังหวัดภูเก็ต จากนั้นจังหวัดภูเก็ตได้มอบให้เทศบาลนครภูเก็ตรับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้บริการกำจัดขยะให้กับท้องถิ่นทุกแห่งภายในจังหวัด โดยเริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายน 2542

พัฒนาการของระบบกำจัดขยะ จังหวัดภูเก็ตมีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องหลายประเด็นที่สังคมไทยควรมีโอกาสเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะ และกระทรวงมหาดไทยที่ต้องกำกับดูแลท้องถิ่นและรับผิดชอบนโยบายการจัดการขยะของประเทศ

Advertisement

เพียงปีแรกของการเดินระบบเตาเผา ปริมาณขยะที่เข้าสู่เตาเผาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถของเตาเผาในขณะนั้น เทศบาลนครภูเก็ตจึงตัดสินใจให้เอกชนลงทุนและบริหารดำเนินการโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในรูปแบบสัญญาสัมปทานในปี 2543 โดยให้สิทธิแก่เอกชนจัดหารายได้จากการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นทางออกที่รัฐและท้องถิ่นไม่ต้องรับภาระทั้งการลงทุนและบริหารดำเนินการ มูลค่าของโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในเวลานั้นประมาณ 100 ล้านบาท

นี่คือการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐหรือท้องถิ่นด้านการจัดการขยะครั้งแรกๆ ของประเทศไทย

เอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานออกแบบโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลขนาด 300 ตันต่อวัน มีเป้าหมายที่จะคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะรวมให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 90-100 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดด้วยการเผาไม่ให้เกินขีดความสามารถของเตาเผา

Advertisement

มกราคม 2544 โรงงานคัดแยกเริ่มเดินระบบ แต่กลับคัดแยกวัสดุรีไซเคิลได้เพียงวันละประมาณ 30 ตัน หรือประมาณ 8-10% ของปริมาณขยะที่เข้าโรงงาน ซ้ำร้ายวัสดุที่คัดแยกได้ส่วนใหญ่เป็นขวดแก้วซึ่งมีราคาต่อหน่วยน้ำหนักต่ำกว่าวัสดุประเภทอื่น ทำให้รายได้ของโรงงานไม่เพียงพอกับต้นทุนในการเดินระบบ ในที่สุดเอกชนต้องยุติการเดินระบบในเดือนสิงหาคม 2549 หลังจากที่ได้พยายามประคับประคองมาเป็นเวลา 5 ปี

เหตุการณ์ครั้งนั้นนอกจากจะเกิดความเสียหายกับเอกชนผู้ลงทุนแล้ว เทศบาลนครภูเก็ตก็เสียหายไม่น้อย แม้ไม่ใช่การสูญเสียที่เป็นตัวเงิน แต่ได้สูญเสียโอกาสเป็นเวลา 5 ปีที่ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณขยะตามที่คาดหวัง จนเกิดวิกฤตการจัดการขยะของจังหวัดภูเก็ตที่รุนแรงที่สุด

ปริมาณขยะที่เหลือจากการเผาและการคัดแยกในแต่ละวันตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ถูกนำไปเทกองในพื้นที่ฝังกลบที่เตรียมไว้สำหรับกำจัดเถ้าจากการเผาจนเต็มพื้นที่และกองสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำเสียจากกองขยะไหลล้นออกจากพื้นที่ลงสู่ทะเลบริเวณคลองเกาะผี ส่งผลให้สัตว์น้ำของชาวบ้านที่เลี้ยงอยู่ในกระชังบริเวณเกาะกุย-คลองเกาะผีตายทั้งหมด

นี่เป็นประสบการณ์ที่ไม่ถูกนำมาเรียนรู้จากกรณีที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของรัฐหรือท้องถิ่น

ห้วงเวลาของวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความร่วมมือของท้องถิ่นต่างๆ โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันทำทุกอย่างเพื่อลดปริมาณขยะจากต้นทาง ส่งเสริมให้สถานประกอบการ โรงแรม รีสอร์ต นำเอาเศษอาหารและเศษจากการเตรียมอาหารไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในพื้นที่ของตนเอง เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตไม่มีการเลี้ยงหมู/แพะอีกแล้ว

มีการกำหนดวันจัดเก็บขวดแก้วของทุกท้องถิ่นเพื่อลดปริมาณขวดแก้วที่ถูกเก็บรวมปะปนกับขยะที่นำไปเผา และการคัดแยกขยะอันตรายในครัวเรือนโดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตรับผิดชอบในการรวบรวมจัดส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องซึ่งเป็นรูปแบบกิจกรรมที่
จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้ในเวลาต่อมา

จริงๆ แล้ว ในวันที่เริ่มเดินระบบเตาเผาในปี 2542 ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากกว่า 250 ตันต่อวันแล้ว สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกรมโยธาธิการที่ได้ออกแบบโครงสร้างของเตาเผาสำหรับห้องเผา 2 ชุดมีขีดความสามารถรวม 500 ตันต่อวัน แต่เมื่อเห็นแนวโน้มว่าโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลไม่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหา เทศบาลนครภูเก็ตจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อติดตั้งห้องเผาที่ 2 แต่ก็ไม่สำเร็จ

บ้างก็ว่าเป็นเพราะนักวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเวลานั้นไม่สนับสนุนการกำจัดขยะแบบเตาเผา บ้างก็ว่ามีสาเหตุจากปัญหาทางการเมืองที่ผู้นำในยุคนั้นได้ลั่นคำพูดไว้ว่า “จะช่วยจังหวัดที่เลือกพรรคของตนก่อน” ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ในเวลานั้น เทศบาลนครภูเก็ตต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นที่สุด

ด้านหนึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่ต้องรับผิดชอบในการเดินระบบกำจัดขยะให้ทุกท้องถิ่นทั้งจังหวัดและปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถของระบบกำจัดที่มีอยู่

แม้ว่าจะมีความร่วมมือของชุมชน สถานประกอบการและท้องถิ่นต่างๆ เพื่อลดปริมาณขยะ แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปีส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 7.5% ต่อปี ด้วยเหตุนี้จังหวัดภูเก็ตจึงมีความต้องการโดยเร่งด่วนที่ต้องขยายขีดความสามารถในการกำจัดขยะให้เพียงพอ ก่อนที่วิกฤตขยะจะขยายความรุนแรงจนกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและของประเทศ

ปี 2551 เทศบาลนครภูเก็ตตัดสินใจพึ่งตัวเองเดินหน้าประกาศหาเอกชนที่สนใจลงทุนและบริหารดำเนินการเตาเผาชุดใหม่ และในที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2555 เตาเผาที่มีห้องเผาขนาด 350 ตันต่อวัน 2 ชุด มีขีดความสามารถรวมที่ 700 ตันต่อวัน ลงทุนและบริหารดำเนินการโดยเอกชนก็เริ่มให้บริการกำจัดขยะนับเป็นการคลายปมปัญหาการจัดการขยะให้กับจังหวัดภูเก็ตได้ระดับหนึ่ง

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image