คอลัมน์คุณภาพคือความอยู่รอด ความปลอดภัยกับความรับผิดชอบ โดย:วิฑูรย์ สิมะโชคดี

หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาอุบัติเหตุอันตรายและการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้ผลก็คือ การสร้างความตระหนักรู้ในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มุ่งให้สามารถตอบสนองและรับมือที่ทันเวลาและเพียงพอกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากเทคโนโลยีหรือความผิดพลาดจากคน

“การผลิตด้วยความรับผิดชอบ” (Responsibility Production) คือ วิธีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยในกระบวนการผลิต พร้อมกับการไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

การผลิตด้วยความรับผิดชอบ (การผลิตที่ความรับผิดชอบต่อสังคม) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการจากการผลิต (การประกอบกิจการโรงงาน) โดยเริ่มจากแนวความคิดของการป้องกันอันตรายจากการใช้สารเคมีในองค์กรหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เนื่องจากมีความเสี่ยงอันตรายมากกว่ากิจการใหญ่ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงขึ้น ประกอบกับการเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยในภาพรวมที่มุ่งลดภาวะฉุกเฉินจากสารเคมี รวมทั้งการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยช่วยให้กิจการ SMEs สามารถระบุตำแหน่งที่จะเกิดอันตรายและความเสี่ยงจากสารเคมีในพื้นที่การทำงานทั้งในส่วนของการผลิตและกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ช่วยให้ผู้จัดการโรงงานและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) สามารถระบุพื้นที่หรือแหล่งอันตรายจากสารเคมีภายในโรงงาน และสื่อสารข้อมูลการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัยไปสู่ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ให้ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นกรอบการทำงานทางยุทธศาสตร์สำหรับการสร้างเสริมความปลอดภัยอย่างเป็นระบบครบวงจรให้กับทั้งในพื้นที่โรงงานและตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain)
เรื่องของความปลอดภัยนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) จะมีบทบาทสำคัญยิ่ง แต่หากปราศจากการเห็นชอบและการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว การปฏิบัติงานส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ทุกวันนี้ ผู้บริหารจึงต้องยึดมั่นใน “การผลิตด้วยความรับผิดชอบ” เพื่อให้สังคมยอมรับ ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image