สิทธิของ‘ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอน’ อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของทหารอาชีพ : โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

ในแวดวงการศึกษาของไทย จะมีคำที่มักได้ยินอยู่เสมอคือ คำว่า “ผู้สอน” “ครู” และ “คณาจารย์” มีความหมายตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ดังนี้
“ผู้สอน” หมายความว่า ครูและคณาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่างๆ

“ครู” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน

“คณาจารย์” หมายความว่า บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของรัฐและเอกชน
และตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2553 มาตรา 39 ให้ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ได้แก่ 1) ครูชำนาญการ 2) ครูชำนาญการพิเศษ 3) ครูเชี่ยวชาญ 4) ครูเชี่ยวชาญพิเศษ และมาตรา 40 ให้ตำแหน่งคณาจารย์ดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งทางวิชาการ 1) อาจารย์ 2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 3) รองศาสตราจารย์ 4) ศาสตราจารย์ และกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ด้วย

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมได้มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 มาตรา 13 ข้าราชการทหารและทหารกองประจำการ อาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ หรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เงินเพิ่มค่าเสี่ยงภัย และปฏิบัติภารกิจพิเศษ เงินเพิ่มผู้ชำนาญงาน และเงินเพิ่มอื่น หรือเงินช่วยเหลือตามที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลังหรือโดยกระทรวงกลาโหมที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง

Advertisement

กรมกำลังพลทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบการศึกษาในภาพรวมของกระทรวงกลาโหมได้รายงานข้อมูล เพื่อขอกำหนดตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษเป็นเงินเพิ่มวิทยฐานะครู เพื่อให้มีความทัดเทียมกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อกระทรวงกลาโหมพิจารณาเมื่อ ก.ย.51 ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว โดยกรมเสมียนตราได้จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบและผู้แทนเจ้าหน้าที่ด้านกำลังพลของกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้ารับฟังการชี้แจงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้บริหารระดับสูง จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 27 ธ.ค.54 และต่อมาได้ออกคำสั่งคณะกรรมการข้าราชการทหาร (กขท.) เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันการศึกษา สังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อ 4 มี.ค.55 และได้ดำเนินการในรายละเอียดเพิ่มเติมมาตามลำดับ เพื่อให้ข้าราชการที่ทำหน้าที่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในชั้นต้นได้จำแนกประเภทสถานศึกษาของกระทรวงกลาโหมออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1.โรงเรียนเหล่า/สายวิทยาการ ได้แก่ โรงเรียนทหารของเหล่าทัพ เช่น โรงเรียนเสนารักษ์ โรงเรียนทหารขนส่ง โรงเรียนทหารพลาธิการ โรงเรียนทหารสรรพาวุธ โรงเรียนทหารช่าง โรงเรียนทหารการเงิน โรงเรียนทหารราบ ม้า ปืนใหญ่ สื่อสาร โรงเรียนการบิน โรงเรียนสงครามพิเศษ ฯลฯ

2.สถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงเรียนดุริยางค์ของเหล่าทัพ โรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนจ่าทหารเรือ โรงเรียนจ่าอากาศ และโรงเรียนเตรียมทหาร

Advertisement

3.สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา (ปริญญาบัตร) ได้แก่ ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศ นวมินทกษัตริยาธิราช, วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า, วิทยาลัยพยาบาลของเหล่าทัพ, โรงเรียนแผนที่ทหาร

4.สถานศึกษาระดับเสนาธิการ และสูงกว่า ได้แก่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ส่วนบัณฑิตศึกษาของเหล่าทัพ วิทยาลัยการเหล่าทัพ และโรงเรียนเสนาธิการเหล่าทัพ

เมื่อ 29-31 ส.ค.55 ที่โรงแรมในพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้กรมเสมียนตราจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการกำหนดมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานวิทยฐานะ, ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยขึ้นตรงของ กห.และเหล่าทัพ (สายงานกำลังพล, สายงานด้านการศึกษา) และผู้แทนข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวนถึง 110 นาย มีความเห็นสอดคล้องให้ กห.ได้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปให้สำเร็จ โดยในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการทหาร (กขท.กห.) ครั้งที่ 7/56 เมื่อ 10 ก.ค.56 ครั้งนั้น (ซึ่งมีปลัด กห.พลเอกทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นประธาน พลเอกชาญ โกมลหิรัญ เจ้ากรมเสมียนตรา เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้ากรมพระธรรมนูญ เจ้ากรมกำลังพลทหาร เจ้ากรมการเงินกลาโหม ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก เรือ อากาศ (ฝ่ายกำลังพล) และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุแล้วจากกองทัพบก เรือ อากาศ และกรมราชองครักษ์ เป็นกรรมการ ผู้เขียนในขณะนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณแล้ว เป็นตัวแทนกองทัพบก เป็นกรรมการด้วย) ได้มีมติเห็นชอบไว้ ดังนี้

1) ร่างข้อบังคับ กห.ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอนในกระทรวงกลาโหม พ.ศ….โดยในข้อบังคับนี้ ได้กำหนดคำจำกัดความและหลักเกณฑ์กว้างๆ ไว้คือ
1.1 “ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอน” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุรับราชการในกระทรวงกลาโหมและทำหน้าที่ในการสอน ฝึก อบรม ในหน่วยทหาร โรงเรียนทหาร และสถาบันการศึกษา สังกัดกระทรวงกลาโหมตามตำแหน่งที่คณะกรรมการข้าราชการทหารกำหนด

1.2 “ครู” หมายความว่า ข้าราชการทหาร ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนวิชาสายสามัญและวิชาชีพ ในสถานศึกษาทุกระดับ เว้นระดับปริญญา และข้าราชการทหารที่ทำการสอนพลศึกษาในทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอย่างไร

1.3 “ครูทหาร” หมายถึง ข้าราชการทหารซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอน หรือฝึก ศึกษาความรู้ ความชำนาญการทางทหาร หรือวิชาการอื่น ที่สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารในทุกระดับการศึกษาไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอย่างไร

2) ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอน มีวิทยฐานะและเริ่มวิทยฐานะ สำหรับจำนวนอัตราตำแหน่งข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอนของ กห.ที่สมควรได้รับเงินวิทยฐานะ ให้คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานวิทยฐานะ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการไปพิจารณากลั่นกรองจำนวนอัตราตำแหน่ง ให้เกิดความรอบคอบชัดเจน และเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ให้ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอน (ครู/ครูทหาร) ได้รับสิทธิเช่นเดียวกันกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาได้มีคำสั่งคณะกรรมการข้าราชการทหารที่ 1/2560 เมื่อ 23 สิงหาคม 2560 ลงนามโดย พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวง กห./ประธาน กขท.ในขณะนั้น เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอน โดยมีเสนาธิการ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พลโทนเรนทร์ สิริภูบาล เป็นประธาน มีคณะอนุกรรมการเป็นผู้แทนจากเหล่าทัพ รวมแล้ว 21 ท่าน ให้พิจารณาและเสนอแนะเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิทยฐานะตามที่คณะกรรมการข้าราชการทหารมอบหมาย

สำหรับบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะของกระทรวงศึกษาธิการที่ ก.ค.ศ.กำหนด มีดังนี้ ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ เชี่ยวชาญพิเศษ ได้รับในอัตรา 15,600 และ 13,000 บาท/เดือน เชี่ยวชาญ (9,900 บาท/เดือน) ชำนาญการพิเศษ (5,600 บาท/เดือน) ชำนาญการ (3,500 บาท/เดือน)

การดำเนินการล่าสุด หลังจากที่ได้พิจารณาปรับแก้ไข เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยกระทรวงกลาโหมได้เสนอออกกฎหมาย เป็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ (ฉบับที่…) พ.ศ….โดยมีพลเอกอู้ด เบื้องบน เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 63/2560 เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560 ได้ลงมติรับหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ลง 17 ตุลาคม 2560 และเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 197 เสียง (เห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง) และใน พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหมด้วย โดยจะต้องออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับภายหลังเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ได้กำหนดบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ คือ

1.ประเภทวิชาการ ในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ได้รับตำแหน่ง ศาสตราจารย์อัตรา 15,600/13,000 บาท/เดือน ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ อัตรา 9,900/5,600 บาท/เดือน ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัตรา 5,600/3,500 บาท/เดือน

2.ประเภทวิทยฐานะ ให้ได้รับ ตำแหน่งครูเชี่ยวชาญพิเศษ อัตรา 15,600/13,000 บาท/เดือน ตำแหน่งครูเชี่ยวชาญ อัตรา 9,900 บาท/เดือน ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ อัตรา 5,600/เดือน ครูชำนาญการอัตรา 3,500 บาท/เดือน ครูชำนาญการต้น 2,500 บาท/เดือน (สำหรับครูชำนาญการต้น จะเป็นนายทหารประทวนผู้ช่วยสอน)

สรุปโดยรวมก็คือ การแก้ไข “บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหารประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม” โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนและขวัญกำลังใจ เป็นทหารอาชีพที่ทำงานในสถาบันระดับอุดมศึกษา เช่น ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยพยาบาลเหล่าทัพ โรงเรียนแผนที่ทหาร ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทหารวิชาการถ้าจะดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เช่น จะเป็นศาสตราจารย์ได้ต้องมียศตั้งแต่ พันเอก (พิเศษ) ถึงยศ “พลโท” ซึ่งทำให้ถูกจำกัดความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการ สำหรับบัญชีเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหารประเภทวิทยฐานะหรือครู เพื่อทำให้ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอนวิชาสามัญ วิชาชีพ และวิชาการทหาร มีสิทธิได้รับเงินวิทยฐานะ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ ในการทำหน้าที่สอน การได้รับเงินวิทยฐานะในแต่ละระดับ จะต้องผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอนมีวิทยฐานะและเริ่มวิทยฐานะโดยเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะได้รับสิทธินี้

ในแวดวงของทหารอาชีพ ประเภทนายทหารชั้นสัญญาบัตรนั้น ถ้าให้เลือกได้ มีความประสงค์ต้องการที่จะเป็นผู้บังคับหน่วยทหารก่อนเป็นลำดับแรก รองลงมาได้แก่ ฝ่ายเสนาธิการ/ฝ่ายอำนวยการ และรองลงมาอีกได้แก่ อาจารย์/ครู ในสถาบันการศึกษาของทหาร สำหรับนายทหารประทวน ก็จะเป็นผู้รับคำสั่งและปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตน และมีจำนวนมากที่เป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ช่วยฝึกสอนนายทหารสัญญาบัตรและประทวนที่เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรพิเศษที่เสี่ยงอันตรายต่างๆ ของเหล่าทัพเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตรกระโดดร่ม (AIRBORNE) หลักสูตรการรบแบบจู่โจม (RANGER) หรือเสือคาบดาบ หลักสูตรสงครามทุ่นระเบิด หลักสูตรลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจมนาวิกโยธิน (Recon) หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำ จู่โจม (Seal) หรือมนุษย์กบกองทัพเรือ หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษอากาศโยธินของกองทัพอากาศ (Commando) หลักสูตรเก็บกู้วัตถุระเบิดของโรงเรียนทหารสรรพาวุธ ทั้ง 3 เหล่าทัพ (EOD:Explosive Ordnance Disposal) ฯลฯ

การได้รับเงินเพิ่มที่ออกเป็นกฎหมายของทหารครั้งนี้ตามหลังกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาสิบสี่ปี จะเป็นการให้ความสำคัญและสร้างขวัญกำลังใจแก่ทุกคนที่ทำหน้าที่เป็นเรือจ้างลำสำคัญของทหารสืบต่อไปไม่สิ้นสุด

พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image