ภาพเก่า..เล่าตำนาน : เบื้องหลังความโอ่อ่า สง่างาม นาม‘ถนนราชดำเนิน’:โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

กรุงเทพฯ ราชธานีแห่งสยามประเทศ เริ่มต้นปฏิสนธิจากพื้นที่ดงต้นโสน มีป่าละเมาะเป็นหย่อมๆ เป็นพื้นที่น้ำท่วม น้ำหลาก น้ำท่วมขังเฉอะแฉะ มองไปที่ไหนแทบจะหาผู้คนไม่เจอะเจอ คูคลองเป็นหัวใจเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงให้ชาวกรุงใช้เรือไปมาหาสู่

คำว่า “ถนน” แทบไม่มีใครเคยเห็น ชาวสยามในกรุงเทพฯ เพิ่งรู้จัก “ถนน” เมื่อปี พ.ศ.2407 นี่เองครับ

ข้อความจากหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) มีคำบรรยายหน้าตากายภาพของกรุงเทพฯ ในอดีตที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนไทยใน พ.ศ.2561 ดังนี้ครับ

“กรุงเทพเวลานั้นคือป่าเตี้ยปนละเมาะเราดีๆ นี่เอง มีทุ่งหญ้าแทรกแซงอยู่บ้างเป็นตอนๆ เพิ่งมีมนุษย์มาหักล้างถางที่ปลูกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อมๆ รอบพระนคร ริมกำแพงเมืองด้านใน มีราษฎร ซึ่งส่วนมากเป็นพวกทาส พวกเลก อาศัยปลูกเพิงหมาแหงนมุงจากอยู่กันเป็นระยะๆ ใช้กำแพงเมืองเป็นผนังด้านหลัง อีกสามด้านที่เหลือเป็นขัดแตะ…”

Advertisement

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังพรรณนาถึงกรุงเทพฯต่อไปอีกว่า “…ที่ไหนเป็นที่ลุ่ม ไม่มีใครมาปลูกบ้านเรือนอยู่ ก็เป็นป่าโสนมืดทึบ หน้าน้ำ น้ำขังแค่บั้นเอว เช่นแถวบางลำพู คอกวัว…ส่วนทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง : ผู้เขียน) ก็ยังเป็นป่าหญ้ารก หน้าน้ำน้ำเซาะเข้าขังเจิ่งเป็นที่ตกกบ ตกปลากินกัน ถึงหน้าแล้งก็ใช้สร้างเมรุกันเสียที เพิ่งจะใช้ทำนาเอาข้าวใส่บาตรในตอนหลังนี่เอง แม้ที่ว่ากลาโหมและยุติธรรม ซึ่งอยู่หน้าพระราชวังก็ยังเป็นโรงจากพื้นดินทุบราดกวาดเตียนพอหมอบกราบกันได้เท่านั้นเอง…”

เห็นภาพของเมืองกรุงเทพฯเมื่อร้อยกว่าปีที่แสนอ้างว้างเดียวดายลอยเด่นขึ้นมาในสมองชัดเจนครับ

Advertisement

เจ้าพระมหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นในหลวงรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมืองหลวงใหม่และเป็นปฐมบทแห่งการก่อเกิดเมืองกรุงเทพฯ

พระบรมมหาราชวัง (พื้นที่ในบริเวณวัดพระแก้ว) เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชบริพารต่อเนื่องมาจนถึงในหลวงรัชกาลที่ 5

พื้นที่บริเวณรอบๆ พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของแผ่นดินสยาม ชุมชนชื่อ เยาวราช เป็นที่รวมของชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่อพยพเข้ามาปักหลักใช้ชีวิตในบางกอก ชายชาวจีนในเยาวราชยังคงไว้ผมหางเปียทำมาหากินกันคึกคัก ชาวจีนมีทักษะในการค้าขายเป็นเลิศ อพยพลงเรือแบบเสื่อผืนหมอนใบ เข้ามาอยู่ในสยามได้ไม่นาน จากหาบของขาย ขยับเป็นรถเข็นขายของ พัฒนาขึ้นเป็นเจ้าของร้าน และเติบโตแกร่งกล้าขึ้นเป็นบริษัท คนจีนที่อพยพเข้ามาส่วนมากเป็นเชื้อสายแต้จิ๋วประมาณร้อยละ 56 รองลงมา ได้แก่ จีนแคะ ร้อยละ 16 จีนไหหลำ ร้อยละ 11 จีนกวางตุ้ง ร้อยละ 7 จีนฮกเกี้ยน ร้อยละ 7 และอื่นๆ ร้อยละ 12 ชาวจีนใช้ภาษาจีนสื่อสาร ทำการค้า ทำบัญชี

คุณลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของชาวจีน คือ มีความสามารถในการทำบัญชีการค้า บวกลบคูณหารได้

ฝรั่งจากยุโรป แขกจากอินเดีย จากเปอร์เซีย พ่อค้าจากเมืองจีน ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย มาทำมาหากินในกรุงเทพฯ บันทึกไว้ตรงกันว่า ถ้าต้องการติดต่อทำมาค้าขายในสยาม ต้องติดต่อกับคนจีน เพราะคนจีนรู้วิธีทำมาค้าขาย

นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก๊อตที่แล่นเรือกลไฟเข้ามาค้าขายและตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม (ต่อมานำตัวแฝดสยาม อิน-จัน ออกไปโชว์ตัวเก็บเงินในอเมริกา) บรรยายสภาพการอยู่อาศัยของคนในกรุงเทพฯว่า คนที่อยู่ในกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะปลูกบ้านอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง ที่ไหนมีคลองน้อยใหญ่ชาวสยามจะปลูกบ้านเกาะเลาะแนวตลิ่งเป็นหลักและชาวสยามอีกจำนวนมหาศาลอาศัยบนเรือนแพในแม่น้ำลำคลอง เรือนแพของชาวสยามเคลื่อนย้ายไปมาได้ทุกที่ น้ำหลาก น้ำท่วม น้ำแล้งไม่เคยเป็นปัญหา แฮปปี้ทุกสภาพอากาศ

คนกรุงเทพฯไปไหนมาไหนก็จะใช้เรือเป็นหลัก มีทางเดินบนบกไปมาหาสู่กัน แบบทางเดินในสวน ทางเดินริมตลิ่ง ที่เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามธรรมชาติ

คำว่า “ถนน” เป็นเรื่องที่ชาวสยามนึกภาพไม่ออก เป็นเรื่องไกลตัว ทำไมต้องมีถนน? ในชีวิตประจำวันก็ใช้วัว-ควายเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของไปมาก็สมควรแก่เหตุ ภาพของถนนในบ้านเมืองอื่น ที่เป็นรูปเป็นร่างมีที่เดียวคือ บนเกาะสิงคโปร์

กรุงเทพฯเติบโตแบบก้าวกระโดดมีสีสัน เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 3 เปิดประเทศค้าขายจนร่ำรวยมีความเป็นแผ่นดินอินเตอร์ ถึงขนาดทำสัญญาค้าขายกับชาวต่างชาติ ฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่นเข้ามาค้าขาย เข้ามาเผยแผ่ศาสนา เรือกลไฟวิ่งกันขวักไขว่ควันโขมงในแม่น้ำเจ้าพระยา

ฝรั่งจากยุโรปเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะพวกกงสุล นักการทูต อยู่มาวันหนึ่ง ฝรั่งกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันขอให้ในหลวง ร.4 สร้างถนนแบบมาตรฐานให้พวกฝรั่งขี่ม้าหรือนั่งรถม้า เดินเล่น ออกกำลังกาย ฝรั่งผิวขาวบ่นกันพึมพำเสียงดัง ต้องการถนน เพื่อการใช้ชีวิตกลางแจ้งและเพื่อการออกกำลังกาย คำขอของฝรั่งนี้ตรงพระทัยยิ่งนัก เพราะทรงไม่ต้องการให้ฝรั่งเข้าไปขี่ม้าในท้องสนามไชย

ในหลวง ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน เร่งเดินทางไปดูงานการก่อสร้างถนนและตึกแถวในเกาะสิงคโปร์ เมื่อกลับมาแล้วให้รับผิดชอบการก่อสร้าง โดยเริ่มลงมือเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2404 มีนายเฮนรี่ อาลบัสเตอร์ (Henry Albaster ต้นสกุลเศวตศิลา) รองกงสุลสถานทูตอังกฤษในสยามเป็นผู้สำรวจและเขียนผัง โดยจ้างชาวจีนก่อสร้างถนน แบ่งเป็น 2 ตอนคือ ในกำแพงและนอกกำแพงเมือง

ถนนเส้นแรกในสยามเป็นดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางสูงนูนเพื่อการระบายน้ำ สร้างตั้งแต่หน้าวัดโพธิ์ไปต่อกับถนนตอนนอกที่ตัดแล้วริมวังเจ้าเขมร (สะพานดำรงสถิต) ความยาว 25 เส้น 10 วา และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวตามแบบเกาะสิงคโปร์ ถนนทั้งสองตอนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2407 ชาวบางกอกเรียกว่า ถนนใหม่ ส่วนฝรั่งเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียก ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่

ในหลวง ร.4 เสด็จฯไปทรงเปิดถนน จัดงานฉลองกัน 3 วัน 3 คืน และพระราชทานชื่อถนนนี้ว่า ถนนเจริญกรุง แปลว่า ถนนของบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ถนนแห่งแรกของสยาม กว้างราว 8 เมตรพร้อมกับก่อสร้างตึกแถว ไม่ช้าไม่นานถนนเจริญกรุง กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ทำให้พระนครเกิดการค้าขายคึกคัก มีชีวิตชีวาทันตาเห็น

สายพระเนตรของในหลวง ร.4 ทรงเล็งเห็นว่า ถนน คือ ความเจริญรุ่งเรือง ถนนเป็นตัวจุดประกายที่จะทำให้บ้านเมืองพัฒนา ประชาชนอยู่ดีกินดีต่อไปในภายภาคหน้า

ลองมาดูถนนราชดำเนิน พระเอกของบทความตอนนี้ครับ

พ.ศ.2440 เมื่อในหลวง ร.5 เสด็จฯกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลเป็นแม่กองในการออกแบบก่อสร้างถนนราชดำเนินทันทีพร้อมกับการปรับปรุงพื้นที่ท้องสนามหลวง ถนนดังกล่าวจะเป็นเส้นทางระหว่างพระบรมมหาราชวังไปยังพระราชวังดุสิต

ทรงตั้งพระทัยให้ถนนเส้นนี้ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โต ภูมิฐาน สง่างาม เป็นอัตลักษณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวเล่นพักผ่อน โดยให้จัดวางรูปแบบตามลักษณะของย่าน ชองป์ เอลิเซ่ (Champs Elysees) ในประเทศฝรั่งเศสผสมผสานกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s Walk) และถนนมอลล์ในลอนดอน ซึ่งพระองค์เพิ่งทอดพระเนตรมาจากยุโรป

พระราชดำรัสของในหลวง ร.5 ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของบ้านเมืองให้เป็นอารยะในเรื่องการสร้างบ้านสร้างเมือง โดยเฉพาะการสร้างถนนราชดำเนิน ถนนประวัติศาสตร์ของสยาม เป็นดังนี้

“เปนถนนแฟตชันเนเปอลสำหรับขี่รถวนไปวนมา ที่ 2 ข้างนั้น ต่อไปจะต้องเปนวัง เปนออฟฟิชใหญ่ๆ ฤาบ้านผู้มั่งมี ที่จะตั้งร้านหยุมๆหยิมๆ ไม่ได้…เมื่อแก้ไขให้เปนทางใหญ่สำหรับประชุมคนไปเทียวเช่นนี้ คงจะกลับเปนทางคนไปมาเที่ยวเตร่ดีขึ้น นับเปนราษีของเมืองไทยสักอย่างหนึ่ง…”

กล่าวกันว่าถนนชองป์ เอลิเซ่ เป็นถนนที่สวยที่สุดในโลก อยู่ในกรุงปารีส มีการจัดระบบการกระจายเส้นทาง ช่วยให้การจราจรมีความคล่องตัว ถนนทั้งเส้นหลัก เส้นรองถูกออกแบบเป็นอย่างดี มีความเป็นระเบียบ มีต้นไม้คอยให้ความร่มรื่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาต่อคนทั่วโลก

ในหลวง ร.5 มีพระราชประสงค์ให้ถนนเส้นนี้กว้างที่สุด และให้สองฟากฝั่งถนนเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการใหญ่ๆ ตลอดสองฟากฝั่งถนนให้ปูอิฐทางเท้าและปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

เมื่อมีการออกแบบขีดแนวถนนจะต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน

พ.ศ.2442 ถนนราชดำเนินนอกเกิดขึ้นก่อน เป็นถนนปูด้วยอิฐไม่มีคันถนน ในตอนแรกในหลวง ร.5 มีพระประสงค์ให้แนวถนนผ่านไปยังเรือกสวนที่เปลี่ยวเพื่อจะกลายเป็นทำเลการค้าที่มั่งคั่ง

ต่อมามีการเปลี่ยนแนวใหม่ ไปผ่านตำบลบ้านหล่อ โดยกำหนดขนาดถนนรถสายกลางกว้าง 8 วา ปลูกต้นไม้กับทางเท้า 2 ข้าง กว้างข้างละ 5 วา ทางเดินทางสายนอกอีก 2 ข้าง กว้างข้างละ 1 วา 2 ศอก ให้ปลูกต้นไม้ตามแนวถนนเดินเท้า

มีตำนานที่ผู้เขียนต้องขอนำมาเล่าสู่ลูกหลานครับ กรณีที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้าใช้เลี้ยงวัวในกรุงเทพฯ เวลานั้น

แขกกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นแขกอินเดีย ใช้ที่ดินแปลงใหญ่นี้เลี้ยงวัวที่ดินไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังนัก ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์สำหรับให้ฝูงวัวกินเป็นอาหาร เมื่อมีวัวก็ต้องมี “คอกวัว”

แขกกลุ่มนี้เลี้ยงวัวเพื่อรีดนมวัวไปขาย ส่วนหนึ่งขายให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งจากยุโรปที่บริโภคนมทุกวัน นมวัวเป็นธุรกิจที่ทำเงินเป็นล่ำเป็นสันแบบไร้คู่แข่ง เมื่อสร้างถนนราชดำเนินมาผ่านบริเวณทุ่งที่แขกเลี้ยงวัว บริเวณนั้นจึงได้ชื่อตรงไปตรงมาว่า สี่แยกคอกวัว

1 พฤศจิกายน 2446 ในหลวง ร.5 เสด็จฯไปทรงเปิดถนนราชดำเนินนอกพร้อมกับเปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์

พ.ศ.2444 ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลางต่อจากถนนราชดำเนินนอก และโปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลปลูกต้นมะฮอกกานี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 19 สิงหาคม 2448 ถึงเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์มีความว่า

“ด้วยเข้าใจว่าต้นมหอกคินี ยังมีอยู่อีกมาก เห็นว่าที่ข้างถนนราชดำเนินกลางแถวในทั้ง 2 ข้าง การที่จะทำตึกก็ยังจะช้า ถ้าปลูกต้นมหอกคินีเสียข้างละแถว อย่างต้นหูกวางถนนราชดำเนินนอกจะดี เมื่อจะทำตึกเมื่อไร จึงตัดต้นมหอกคินีเสีย เอาไม้ไปใช้ทำอะไรๆ ก็ได้ ให้คิดอ่านปลูกต้นมหอกคินีตามที่ว่านี้”

ในหลวง ร.5 ท่านทรงใส่พระทัยในกิจการสร้างบ้านสร้างเมืองอย่างละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน

มีการสันนิษฐานว่าในหลวง ร.5 น่าจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินใน พร้อมกับการปรับพื้นที่ท้องสนามหลวงจากทรงสี่เหลี่ยมคางหมูให้เป็นวงรีในปี พ.ศ.2442

การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 3 ตอนใน พ.ศ.2446

โปรดเกล้าฯ ให้บริเวณโคนต้นไม้สองข้างถนนมีเก้าอี้ม้ายาวเหล็กให้นั่งเล่น มีเสาไฟฟ้าสั่งซื้อจากต่างประเทศตามรายทางข้างถนน

การก่อสร้างถนนราชดำเนิน ทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงระเบียบการเวนคืนที่ดินเสียใหม่ โดยให้รัฐบาลซื้อที่ดินจากราษฎรที่ถูกตัดมาเป็นถนนทุกราย ราษฎรจะได้รับค่าเวนคืนที่ดินจากรัฐบาลเป็นการตอบแทน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสยามและต่อมารัฐบาลประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสร้างถนนหลวง ร.ศ.123”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคม

กรุงเทพฯ ราชธานีแห่งนี้ได้รับการพัฒนาจากการคมนาคมทางแม่น้ำลำคลอง มาเป็นการคมนาคมทางบก เป็นการสร้างบ้าน สร้างเมืองให้ศิวิไลซ์ทันสมัย
บ้านเมืองมีชีวิต บ้านเมืองต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถนนราชดำเนิน ที่เกิดขึ้นตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 5 โอ่อ่าสง่างาม เป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าภูมิใจ ประดุจอัญมณีหลากสีสัน งดงามและทรงคุณค่าและได้ใช้ประโยชน์มาจนปัจจุบัน

ชาวไทยทั้งหลายควรรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ได้สร้างสมความดีงามแก่แผ่นดินเกิดตกทอดมาถึงเราจนทุกวันนี้

หมายเหตุ : ป้ายโฆษณาของหน่วยงาน ร้านค้า ทำให้ถนนราชดำเนินขาดความสง่างามและสกปรกรกรุงรัง รวมทั้งต้นไม้ที่ควรจะเขียวชอุ่มมีรูปทรงที่สวยงาม กลับแห้งแล้งและมีลักษณะพิการจากการตัดแต่งที่ขาดหลักวิชาการ ถนนราชดำเนินควรได้รับการฟื้นฟูใส่ใจตลอดไปครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก จดหมายเหตุ เล่าเรื่องถนนเมืองบางกอก และภาพจาก canstockphoto.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image