กระทู้ถามสด เรื่องการปฏิวัติทางการศึกษาต่อคนไทย โดย:เพชร เหมือนพันธุ์

กระทู้ถามสดต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษา ทำไมประเทศไทยยังไม่ปฏิวัติการศึกษา ยังรออะไรอีกหรือ ในเมื่อ “ภัยคุกคามเข้ามาถึงประตูบ้านแล้ว” การแก้ไขปรับปรุงการศึกษาที่ผ่านมามันไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา มันเป็นเพียงการปรับปรุงซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

ปี พ.ศ.2561 หรือ ค.ศ.2018 เป็นปีที่โลกจะต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันอย่างรุนแรง เพราะกระแส Digital Disruption จะทำให้เกิดการหลอมรวม (Convergence) ระหว่างอุตสาหกรรมกับสื่อเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่างกลมกลืน จะเป็นปีแห่งการพลิกผันแบบถ้าไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็คือตาย (Create or Die) ธุรกรรมทางกระดาษจะเปลี่ยนไปสู่ช่องทางบนโทรศัพท์มือถือ Mobile Transaction และจะเกิดเงินดิจิทัล เรียกว่า Crypto Currency เช่น Bitcoin, Ripple, Ethereum ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้เราไม่เคยได้ยินมาก่อน และจะเป็นปีที่มีนวัตกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาสู่ตลาด คือรถยนต์ Tesla ของ Elon Musk ชาวอเมริกาแคนาดา มันเป็นภัยคุกคามและเป็นโอกาสที่จะบังคับให้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลง

การเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงของจีนในเดือนมกราคม 2561 นี้ เส้นทางจากเมืองอี้อูของจีนถึงลอนดอนของอังกฤษ ผ่านเอเชียกลาง ผ่านยุโรปตะวันออก ผ่านประเทศที่อยู่บนเส้นทางถึง 66 ประเทศ ระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 18 วัน ขณะที่รถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ จะให้แล้วเสร็จภายใน 50 เดือนนี้ เส้นทางสายไหม OBOR: One Belt One Road เชื่อมทั้งทางบกและทางทะเลจากจีนผ่านทะเลจีนใต้ผ่านมหาสมุทรอินเดียถึงแอฟริกากำลังเกิดขึ้น คนจากยุโรปตะวันออกกลาง จีน อินเดียก็มาจ่ออยู่ที่ชายแดนไทย เราเตรียมบ้านเราไว้รับสถานการณ์ดีพอหรือยัง มันคือคลื่นสึนามิที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกในทศวรรษนี้

คำตอบทั้งหมดอยู่ที่การศึกษา อยู่ที่การสร้างคนไทยให้มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน ให้มีความรู้ความสามารถจริง เราจึงจำเป็นต้อง “ปฏิวัติทางการศึกษา (Education Revolution)” แทนการปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) และต้องสร้างการศึกษาไทยให้เป็น Smart Education ให้ได้

Advertisement

ดูประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จเช่น ฟินแลนด์ใช้เวลาเพียง 15 ปี ฮ่องกงเริ่มปฏิรูปปี 2000 (17 ปี) เวียดนามกำลังเริ่มแต่ก็ก้าวกระโดด ส่วนประเทศไทยเราเริ่มปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี 2521-2560 เป็นเวลา 40 ปีแล้ว ยังไม่หลงทาง

ขอฝากความหวังไว้กับท่าน นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีร่วม ขอฝากท่าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา ให้นำนาวาการศึกษาไทยเข้าสู่เส้นทางปฏิวัติการศึกษาให้ถูกทางและได้รวดเร็วทันกับสถานการณ์ภัยคุกคามให้ได้ ประเทศเราขณะนี้ยังมีต้นทุนสูงที่เพียงพอจะแก้ไขได้ทัน

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ปี 2521-2544 ครั้งที่ 2 คือ ปี 2544- ปัจจุบัน ตัวปัญหาที่พบคือ 1.เรื่องหลักสูตรสถานศึกษา 2.เรื่องครูและการสอนของครู 3.เรื่องการเรียนของนักเรียนและกิจกรรมการสอนของครู 4.เรื่องการวัดและประเมินผลการเรียน 5.เรื่องโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และ 6.ระบบการสอบแข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

Advertisement

ที่ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นครูเป็น ผอ.โรงเรียนเป็น ผอ.สามัญฯ เป็น ผอ.เขตฯ มีสำนึกมีความห่วงใยประเทศไทย ขอเสนอวิธีปฏิวัติการศึกษาต่อผู้ที่มีหน้าที่ไว้เพื่อพิจารณาดังนี้

1.ต้องปฏิวัติหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน เพราะหลักสูตรปัจจุบันนี้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ขาดความเกี่ยวโยงกับความเป็นจริงของสังคมในขณะนี้และขาดการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หลักสูตรการศึกษาที่ยกร่างในวันนี้จะยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า มีปัญหาที่พบได้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันคือมีรายวิชามากเกินความจำเป็น มีบางวิชาเนื้อหาตกยุคไปแล้ว ไม่สัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตจริงในสังคมปัจจุบันและมีบางรายวิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแต่ไม่ได้นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร

ปฏิวัติหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กำหนดรายวิชาแกนใหม่ ซึ่งประเทศไทยเคยมีวิชาแกนมาแล้ว 5 วิชา 8 วิชา หรือ 9 วิชาบ้าง ให้เลือกเอาเฉพาะวิชาแกนที่จำเป็นจริงๆ ต่อการดำเนินชีวิตและที่จำเป็นต่อการศึกษาที่สูงขึ้นในอนาคตเท่านั้นเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา และให้เพิ่มเติมวิชาแกนที่จำเป็นต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันในปัจจุบัน เช่น วิชาการเงินการบัญชี เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกดีไซน์ เป็นต้น ส่วนวิชาเลือก ก็ควรจะมีรายวิชาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น เกษตรพื้นฐาน ช่างพื้นฐาน พื้นฐานศิลปหัตถกรรม และรายวิชาเลือกที่ผู้เรียนให้ความสนใจพิเศษอันเป็นทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต หลักสูตรรายวิชาที่ตกยุคตกสมัยไปแล้วควรเก็บเข้าไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้สืบค้นได้

2.ต้องปฏิวัติครู เพราะหน้าที่บทบาทครูในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ครูไม่ใช่แหล่งความรู้ ไม่ใช่ผู้ชี้ถูกชี้ผิดฝ่ายเดียว ดังนั้นการผลิตครูก็ต้องทักษะการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก สร้างจรรยาบรรณวิชาชีพครู แล้วต้องสร้างความรู้ความสามารถทางวิชาการความเชี่ยวชาญ ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลที่เหมาะสม ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมเรียน เป็นโค้ช ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ป้อนความรู้ไปเป็นเพื่อนร่วมเรียน เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยง สร้างวัฒนธรรมการเรียนใหม่ให้เด็กหิวกระหายใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ครูต้องหากิจกรรมกระตุ้นให้เกิดความอยากหิวกระหาย (Hungry) เกิดความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการใฝ่รู้ตลอดเวลา (Passion) สร้างกิจกรรมฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง (Self responsibility) ฝึกความมีระเบียบวินัยในตนเอง (Self discipline) ออกแบบแผนการเรียน (Lesson Plan) ที่มีกิจกรรมให้เด็กได้เผชิญปัญหาและแก้ปัญหาผ่านการจัดทำโครงงาน ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการสืบค้นข้อมูลได้เอง ได้เกิดการเรียนรู้ผ่านการได้ลงมือปฏิบัติ ได้ฝึกฝนทักษะความเชี่ยวชาญ และให้เด็กได้นำเสนอผลงานที่ผลิตได้โดยจัดนิทรรศการหรือแสดงละคร ครูและเด็กร่วมกันวางแผนออกแบบการเรียนและออกแบบการสร้างกิจกรรมการเรียน ปลูกฝังจิตสำนึกรักชุมชน ทำกิจกรรมชุมชน ให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นอันดับหนึ่ง จัดมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ครูต้องลดสอนในห้องเรียนลง เพื่อให้เด็กได้ออกภาคฝึกภาคปฏิบัติในสนามให้มาก ให้เด็กได้ไปแสวงหาประสบการณ์ทักษะอาชีพจากสถานประกอบการ เลิกทำผลงานวิชาการกระดาษเลิกทำแผนการสอนแบบพิสดาร ทำให้ใช้ได้ง่ายนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

3.ปฏิวัติการเรียนของนักเรียน ระบบการนั่งเรียนในห้องเรียนตลอดวันตลอดปีการศึกษาตลอดหลักสูตร ทำให้เด็กไม่ได้สัมผัสกับโลกมนุษย์ที่แท้จริง วิชาความรู้ที่เรียนมาในห้องนำไปใช้นอกห้องเรียนไม่ได้ เด็กที่เรียนจบหลักสูตรออกไปจึงทำงานไม่เป็น ต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ให้เรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติ ได้เรียนรู้จากหน้างาน ได้แก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานจริง เรียนภาคทฤษฎีในห้อง ภาคปฏิบัติในภาคสนาม ดึงเด็กเข้าสู่สถานการณ์จริงทางสังคม

เพิ่มความยากในการผ่านแต่ละช่วงชั้น สร้างความอดทนในการทำงานหนัก

สร้างความรับผิดชอบต่อองค์กร และให้รู้จักวางเป้าหมายกำหนดอนาคตของตนเองโดย ประเมินผลสำเร็จจากชิ้นงาน ให้ส่งผลงานให้ทันตามเวลากำหนด (Date line) ทักษะที่เรียนไม่ผ่านให้สอบตกต้องเรียนซ้ำ ให้ประเมินผลการเรียนรู้ผ่านการผลิตชิ้นงานหรือประเมินจากการให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ลดการวัดผลจากข้อสอบแบบปรนัย ให้ใช้ข้อสอบที่เป็นอัตนัยที่สามารถบอกเล่าความรู้ความสามารถประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์ได้จริง และต้องสอนให้เด็กสามารถไปศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา

4.ปฏิวัติการวัดประเมินผลการเรียนรู้ ที่ผ่านมามีปัญหาอยู่ 4 เรื่อง คือ 1) วิธีการวัดประเมินผลควรใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะสมกับลักษณะธรรมชาติของแต่ละรายวิชา 2) ให้มีการเรียนซ้ำชั้นในกรณีเด็กที่สอบตกและติด 0 หรือแก้ตัว ในกรณี ติด ร. ส่วน มส. ให้เรียนเสริม ระบบการสอบที่ตกไม่เป็นไม่มีการเรียนซ้ำชั้นต้องยกเลิก ต้องให้มีสอบตก ต้องให้มีการเรียนซ้ำ เพราะเด็กตกไม่เป็นถึงแม้ว่าติด 0 ร.มส. สะสมมา 3 ปี ก็ยังจบทันเพื่อนเพราะสามารถสอบแก้ตัวทันเพื่อนในปีสุดท้าย 3) ให้ลดการใช้ข้อสอบปรนัย วัดผลการเรียน เพราะเป็นการทำลายความสามารถในการเขียนการอ่านหนังสือและการคิดวิเคราะห์ ให้เพิ่มการใช้ข้อสอบอัตนัยวัดผล เพราะจะฝึกเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็นและรู้จักการใช้เหตุผล 4) ให้มีการประเมินความสำเร็จจากการทำงานและผลงานที่เด็กผลิต

4.ปฏิวัติโครงสร้างเวลาเรียน ให้ลดรายวิชาที่เรียนลง ลดจำนวนคาบเวลาเรียนในห้องเรียนลง เพราะโรงเรียนไม่สามารถบรรจุความรู้วิทยาการต่างๆ ที่มีในโลกได้ทั้งหมด โรงเรียนจึงควรสอนเฉพาะทักษะที่จำเป็นพื้นฐานของชีวิตเท่านั้น ให้เพิ่มกิจกรรมภาคปฏิบัติ ให้เด็กได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริงให้เหมาะสมกับระดับชั้น การสอนในห้องในชั่วโมงเป็นเพียงการสอนในภาคทฤษฎีเท่านั้นมันเหมือนโค้ชฟุตบอลวางแผนการเล่นบนกระดานแต่ต้องไปแข่งขันในสนาม เด็กเรียนภาคทฤษฎีในห้องและไปฝึกงานหาทักษะในห้องทดลองหรือสถานประกอบการ อย่าฝึกเด็กให้เรียนว่ายน้ำบนกระดานดำทักษะมันไม่เกิด ปล่อยลงน้ำก็จมน้ำตาย

5.ปฏิวัติระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยกำลังจะปิดไปหลายแห่งเพราะไม่มีเด็กไปเรียน อัตราการเกิดลดลง ระบบการสอบแข่งขันเข้าเรียนมันบังคับให้นักเรียนต้องไปเรียนกวดวิชา เพราะเด็กต้องการเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดัง คณะวิชาที่ดีๆ ปลายทางมันบังคับทำให้เด็กต้องแข่งขัน เด็กจึงต้องการสอบเข้าในคณะวิชาที่ตนต้องการให้ได้ จึงต้องปฏิรูประบบการเข้ามหาวิทยาลัยให้เหมาะสม

การที่กระทรวงศึกษาธิการจัดโครงการให้โรงเรียนปฏิบัติมีชื่อแปลกๆ ที่ผ่านมานั้น เช่น ร.ร.ต้นแบบ ร.ร.แกนนำ ร.ร.นำร่อง ร.ร.ตัวอย่าง ร.ร.สีเขียว ร.ร.น่าอยู่น่ามอง ร.ร.ในฝัน ร.ร.สุจริต ร.ร.ประชารัฐ ร.ร. BBL ร.ร.STEM ร.ร.ICU ฯลฯ ที่ผ่านมาประมาณ 60 กว่าโครงการนั้นเป็นเพียงปะผุรูรั่ว ไม่ใช่คำตอบของการปฏิวัติทางการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image