คนตกสี : ‘ล่า’ในสังคมประชาทัณฑ์ โดย กล้า สมุทวณิช

“ความพยาบาทเป็นของหวาน” เป็นวรรคทองประโยคหนึ่งในงานของ “ทมยันตี” ซึ่งถูกใช้ถึงสองครั้ง จากนวนิยายระดับตำนาน คือ “คู่กรรม” และเรื่อง “ล่า” ซึ่งล่าสุดถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง และกำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้

สำหรับในเรื่อง “ล่า” ประโยค “ความพยาบาทเป็นของหวาน” เป็นคำพูดที่เซนเซยูกิ ครูสอนแต่งหน้าและเปลี่ยนบุคลิกชาวญี่ปุ่น ได้กล่าวแก่มธุสร เป็นคำพูดเพื่อกระตุ้นยืนยันความชอบธรรมในการแก้แค้นให้แก่บรรดาทรชน ที่ทำลายชีวิตของเธอและลูกสาว ซึ่งเธอจะตอบแทนพวกมันด้วยความตายอย่างทรมานสมตามน้ำหนักกรรมที่ได้กระทำไว้

เรื่อง “ล่า” ใช้แกนเรื่องที่ว่าด้วย “ความพยาบาทและการแก้แค้น” อันเป็นรูปแบบของเรื่องเล่าที่ถูกใช้บ่อยที่สุดแนวหนึ่ง โครงสร้างของเรื่องนั้นตรงไปตรงมา คือใครสักคนกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อตัวละครหลักหรือคนที่เขามีความเกี่ยวข้องผูกพัน โดยไม่สามารถพึ่งพาวิธีการอื่นในการเยียวยาแก้ไขความรู้สึกได้ นอกจากการแก้แค้นแบบตรงไปตรงมาต่อผู้กระทำเท่านั้น แกนเรื่องแนวแก้แค้นนี้ถูกใช้มาตั้งแต่นิยายจีนกำลังภายใน “…ใครฆ่าท่านพ่อ…” ไปจนถึงนิยายและภาพยนตร์สมัยใหม่

แกนหลักของเรื่องที่ถูกใช้ได้บ่อยและตรงไปตรงมามีเท่านี้ จากนั้นก็ขึ้นกับความสามารถในการประพันธ์หรือวางโครงเรื่อง ว่าจะพลิกแพลงอย่างไรให้เรื่องเล่าที่มีโครงสร้างที่เหมือนจะคาดเดาได้ไม่ยากนี้ มีความแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างขึ้นมาเป็นพิเศษจนเป็นที่จดจำ

Advertisement

ที่เรื่องแนวนี้ยังคงความนิยมกันตลอดทุกยุคทุกสมัย เพราะ “ความพยาบาท” และ “การแก้แค้น” นั้นถือเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์ทั้งหลายล้วนมีส่วนร่วม หรือเชื่อมต่อกับประสบการณ์ส่วนตัวได้กันทั้งนั้น

หากเราเชื่อว่ามี “กฎหมายธรรมชาติ” อยู่จริง อันได้แก่กฎและเหตุผลซึ่งมีอยู่แล้วที่มนุษย์ทุกคนรับรู้สัมผัสและยอมรับได้ตามธรรมชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐหรือวัฒนธรรมใด เรื่องของการแก้แค้นเพื่อทดแทนผู้ที่มาทำร้ายล่วงละเมิดด้วยวิธีการเดียวกันหรือหนักหนาเพียงพอเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้กระทำไว้ต่อเรา ก็น่าจะถือว่าเป็น “กฎหมายธรรมชาติ” อย่างหนึ่งได้ ดังเช่นประมวลกฎหมายฮัมบูราบีที่ถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกนั้น ก็ได้บัญญัติหลักการของกฎหมายลักษณะอาญาไว้อย่างง่ายและเข้าใจได้ทันที คือหลักว่าด้วย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน – An eye for an eye, a tooth for a tooth”
การแก้แค้นนั้นตอบสนองความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม นั่นเพราะการได้เห็นผู้กระทำความผิดที่ทำร้ายล่วงเกินเรานั้น ได้รับ “โทษ” คือความเจ็บปวดสูญเสียในระดับเดียวกันกับที่เราได้รับ ไม่ใช่ว่าทำให้เราเจ็บปวดทุกข์ทนแล้วเขากลับลอยนวลมีความสุขหรือได้รับประโยชน์จากการทำร้ายละเมิดต่อเรา เหมือนกับการวางตุ้มถ่วงน้ำหนักลงอีกข้างของตราชู

เช่นเดียวกับที่วัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญาอันถือว่าเป็นพื้นฐานดั้งเดิมที่สุดประการหนึ่ง คือการ “แก้แค้นทดแทน” (Retribution) ให้แก่ผู้เสียหายหรือสังคม ซึ่งนอกจากจะลดความรู้สึกโกรธแค้นเมื่อได้เห็นว่าการกระทำความผิดนั้นถูกชดใช้อย่างสาสมแล้ว การลงโทษเชิงแก้แค้นยังเป็น “ราคา” ให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยว่า การกระทำความผิดของเขานั้นจะส่งผลร้ายต่อตัวเองอย่างไร

Advertisement

เป็นการชำระแค้นโดย “อำนาจรัฐ” อันเป็นอำนาจมหาชน ที่แทนผู้เสียหายหรือสังคม ให้ปัจเจกชนไม่จำเป็นต้องแก้แค้นกันเองไปมา เมื่อรัฐเองรับรองว่าจะเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม รัฐจึงต้องผูกขาดความสามารถในการล้างแค้นไว้เองเพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อยดังกล่าว โดยที่ผู้เสียหาย (ซึ่งอนุมานได้ว่ามีความแค้นและประสงค์จะล้างแค้น) นั้น ไม่จำเป็นต้อง “มือเปื้อนเลือด” หรือรู้สึกผิดบาปจากการแก้แค้นนั้นด้วยตัวเอง

แม้ว่าปัจจุบัน วัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญานั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นการลงโทษเพื่อการระงับยับยั้ง หรือลงโทษเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูแล้วก็ตาม แต่ก็เชื่อได้เลยว่า สำหรับความรู้สึกของผู้คนทั่วไปในสังคมแล้ว ความต้องการหรือการยอมรับในความมีอยู่อย่างชอบธรรมของกฎหมายและสถาบันที่เกี่ยวข้อง คือความมั่นใจที่ว่า หากมีผู้ใดละเมิดทำร้ายต่อเขาแล้ว กฎหมายจะมีเงื้อมมือและอำนาจในการชำระแค้นและเยียวยาความเสียหายนั้นให้ได้

ดังนั้น หาก “กฎหมาย” และสถาบันรอบข้างผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นไม่อาจตอบสนองความประสงค์เช่นนั้นได้ ทางเลือกที่เหลือคือการไม่ยอมรับกฎหมาย และดำเนินการแก้แค้นด้วยตนเองในที่สุด เช่นที่ปรากฏในเรื่อง “ล่า” และในเรื่องราวต่างๆ ในลักษณะนี้อีกหมื่นแสน เป็นเรื่องที่สร้างเมื่อไร ก็ขายได้ขายดีมากขึ้นเท่านั้น นั่นเพราะผู้ชมนั้นมีความรู้สึกร่วมเชื่อมต่อกับเนื้อเรื่องแบบนั้นได้

ความล้มเหลวในการ “แก้แค้น” โดยกฎหมายและอำนาจรัฐ จากที่ปรากฏในเรื่อง “ล่า” ทั้งในต้นฉบับนวนิยายและละครนั้น จำเลยที่หนึ่งได้แก่ กฎหมาย ศาล และกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างสาสมกับความรุนแรงของสิ่งที่พวกเขาได้กระทำลงไป ทั้งด้วยเหตุจากกระบวนการดำเนินคดีที่จะต้องมีการสืบพยานกันยืดยาวเพื่อให้แน่ใจได้ว่าสมควรลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อจะกำหนดโทษตามระวางของกฎหมายที่เบาหวิวจนทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นรู้สึกว่าผู้กระทำความผิดต้องใช้ราคาต่อความชั่วร้ายนั้นไม่เพียงพอ และยังกลับออกมาเป็นภัยต่อผู้อื่นในสังคมได้ในเวลาอันสั้น

ส่วนจำเลยที่สองและสาม ได้แก่กลไกของรัฐที่แม้จะมีคำพิพากษาให้ลงโทษ (อันน้อยนิด) แล้ว แต่การบังคับโทษก็ยังไม่เต็มที่ตามพิกัด ด้วยสายสนกลใน การคอร์รัปชั่น ประกอบกับผู้ร้ายตลอดกาลของเรา ก็คือ “นักการเมืองชั่ว” (ที่มีตราประจำพรรคคล้ายกับพรรคการเมืองอันเป็นที่ชิงชังรังเกียจของชั้นกลางในเมือง) ที่ใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงช่วยเหลือเหล่าทรชนให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และพ้นออกมาจากคุกได้โดยง่ายดาย

ภาพของกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในเรื่อง “ล่า” นี้เอง เป็นสิ่งที่ผู้ชมทางบ้านซึ่งเคยมี หรืออาจจะรู้สึกว่ามีประสบการณ์ร่วม คอยเอาใจช่วยให้มธุสร จัดการชำระแค้นบรรดาทรชนทั้งหลาย ด้วยวิธีการเหี้ยมโหดทารุณต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่าสาสมแล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องหลงเหลือความปรานีใดๆ ให้

เราไม่อาจพูดได้ว่า ละครเรื่องล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การล้างแค้นโดยตรงของผู้ถูกกระทำในแบบศาลเตี้ย ด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน ในทางกลับกัน เพราะสังคมรู้สึกเช่นนั้นต่างหาก จึงทำให้การ “ล่า” นั้นมีความชอบธรรม ความสำเร็จอย่างล้นหลามของละครเรื่อง “ล่า” ในทุกครั้งที่ถูกนำมา สร้าง เป็นภาพสะท้อนของการระบายแค้นของสังคมต่อกระบวนยุติธรรมที่ไม่อาจมอบความรู้สึกปลอดภัยและเป็นธรรมให้แก่ผู้คนส่วนมากในสังคมได้

เพราะความรู้สึกต้องการล้างแค้นนั้นเป็นสำนึกร่วมกันของมนุษย์ดังที่กล่าวไปแล้ว เช่นนี้เมื่อใดที่เรารู้สึกว่า คนที่กระทำความผิดที่ละเมิดต่อผู้อื่นหรือสังคมนั้น กลับไม่ได้รับผลจากการกระทำนั้นด้วยน้ำหนักเท่ากันกับสิ่งที่เขาได้ทำร้ายผู้อื่นไว้ ยิ่งเห็นกรณีของการไม่ต้องใช้ราคาต่อความผิดนี้มากและบ่อยเท่าไร ความรู้สึกคับแค้นและไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ ซึ่งควรจะเป็นผู้มาจัดการกับเรื่องนี้ให้ตามกลไกอันถูกอันควรแล้ว จึงเป็นการหนุนส่งให้ผู้คนรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการล้างแค้นกันเองด้วยตัวเอง หรือด้วยการใช้กระแสสังคม ก็ในเมื่อกลไกที่ถูกต้องนั้นไม่อาจตอบสนองความต้องการให้เขาได้

พูดง่ายๆ คือ ในเมื่อ “ศาลสูง” ไม่อาจให้ความยุติธรรมได้ เราจึงเลือกใช้ “ศาลเตี้ย” ในการชำระความ

การตอบสนองของผู้ชมในสังคมต่อละครเรื่อง “ล่า” นี้จึงสอดคล้องกับการกำเนิดและเติบโตขึ้นของเพจแนวการลงทัณฑ์โดยสังคม อย่าง “แหม่มโพธิ์ดำ” และเพจ “สายดาร์ก” อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ที่อาศัยกระบวนการลงทัณฑ์ทางสังคมที่กระทำได้ง่ายขึ้นมากในยุคโซเชียลเช่นนี้ ในยุคที่คนเชื่อว่ากระบวนการทางกฎหมายนั้นล่าช้า และไม่อาจลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้อย่างสาสม

ซึ่งหากมองอย่างเข้าใจแล้ว ก็จะกล่าวได้ไม่เต็มปากว่าการล้างแค้นกันเองด้วยกระบวนการทางสังคมนั้นเป็นเรื่องของการระบายอารมณ์ การเล่นเป็นคนดีพิพากษาคนอื่น หรือเป็นความสะใจในการรุมกระทืบผู้กระทำผิดด้วยกระแสสังคมก็หาไม่ เพราะเรื่องนี้ก็มีเหตุผลเบื้องหลังอยู่ว่า การที่กลไกแห่งกฎหมายและกระบวนยุติธรรมนั้น ไม่สามารถที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างเด็ดขาดจริงจัง จนในที่สุดมันก็ส่งผลร้ายต่อสังคมในทางที่ว่า ผู้กระทำความผิดหรือคิดจะกระทำความผิดนั้นไม่เห็น “ราคา” ของการกระทำความผิด หรือถึงเห็นก็ราคาถูกเต็มทน จึงไม่หวั่นเกรงที่จะเลือกทางกระทำความผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ฆ่าคนตายติดคุก 7-10 ปีก็ได้ออกมา ล่วงละเมิดทางเพศหรือพรากผู้เยาว์ก็น้อยกว่านั้น หรือการขับรถอย่างประมาทรุนแรงชนิดไม่แยแสต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ถนน ถ้ายังไม่เกิดอะไรก็อาจจะเพียงโทษปรับ หรือแม้จะเกิดอุบัติเหตุก็ยังถูกลงโทษในอัตราความผิดที่กระทำโดยประมาทที่อาจจะรอการลงโทษให้ได้หากเข้าเงื่อนไข การละเมิดกฎหมายในเมืองไทยนั้นมีราคาไม่แพงมากนัก จนหลายคนรู้สึกว่ายอมจ่ายได้ หากผลที่ได้จากการละเมิดกฎหมายนั้นคุ้มค่ากว่า หรือกฎหมายอาจจะไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้

เมื่อโทษต่อการกระทำความผิดอันร้ายแรงและรบกวนสังคมนั้นดูจะไม่สมราคา ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ร่างกาย และสิทธิต่างๆ ของผู้คนก็ถูกสั่นคลอน ดังนั้น พวกเขาจึงหาทาง “ขึ้นราคา” ให้ผู้กระทำความผิดนั้นต้องชดใช้ หรือยำเกรงต่อการกระทำความผิดนั้นบ้าง การลงโทษทางสังคมที่ง่ายดายด้วยเทคโนโลยีเปิดช่องจึงได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างช่วยไม่ได้ เหมือนเป็นกลไกตอบสนองป้องกันตัวแบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นเองในสังคม การชำระแค้นด้วยตนเองอย่างในเรื่อง “ล่า” ก็เช่นกัน มันคือการชดเชย “ราคา” ในส่วนที่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยังชดใช้ให้ไม่หมด

หากการกระทำความผิดต่อกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสังคมยังคงมีราคาตาม “กฎหมาย” ในทางความเป็นจริงที่ไม่เพียงพอต่อความรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม หรือไม่อาจมีราคาพอที่จะเหนี่ยวรั้งการตัดสินใจของผู้อาจกระทำความผิดให้สังคมรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้แล้ว

อีกไม่กี่ปี ละครเรื่อง “ล่า” ก็จะกลับมาสร้างใหม่ และการฆ่าเพื่อชำระแค้นในเรื่องก็จะหวือหวาน่ากลัวให้สะใจ เพจเสียบประจานลงทัณฑ์ทางสังคมก็จะเติบโตและถูกใช้เป็นกระบวนยุติธรรมทางเลือก เพื่อชดเชยราคาของกฎหมายบ้านเมืองอันแสนเบาเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image