ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าโดย:ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 มีบทบัญญัติในหลายๆ เรื่องที่ไม่มีความเหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สภาพการณ์ในการบุกรุกทำลายชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น และไม่สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่มีเจตนารมณ์ในการป้องกันปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเช่นกัน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย สำหรับเหตุการณ์ที่นักธุรกิจรายใหญ่เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก โดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีในหลายข้อหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งข้อหาในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 นั้น ประเด็นปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจะขอหยิบยกมากล่าวถึงเฉพาะในประเด็นปัญหาเรื่องโทษทางอาญาที่ไม่เหมาะสม การขาดหลักเกณฑ์เฉพาะในการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย การไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจอัยการในการเรียกค่าเสียหายในคดีอาญาได้โดยตรง การขาดบทบัญญัติที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย

และการขาดบทบัญญัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วมในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันดูแลรักษาชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ เท่านั้น ดังนี้

1.ปัญหาอัตราโทษที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสม

ถึงแม้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ได้มีการแก้ไขมาแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2557 เช่น การแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนและซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนและซากของสัตว์ป่าคุ้มครองด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) แต่ก็ไม่เคยมีการแก้ไขเรื่องอัตราโทษใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเลย ทำให้อัตราโทษที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ยังคงเป็นอัตราโทษเดิมมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเริ่มต้นใช้บังคับในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งทำให้อัตราโทษจำคุกและโทษปรับที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมในบางฐานความผิด เมื่อได้พิจารณาถึงการบุกรุกทำอันตรายชีวิตสัตว์ป่าที่รุนแรงและมีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยการกระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ตามมาตรา 53 ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 16 มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ความผิดฐานครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 19 มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ความผิดฐานค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 20 มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ตามมาตรา 47 เป็นต้น โดยอัตราโทษจำคุกและโทษปรับสูงสุดที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 คือ โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่น การกระทำความผิดฐานยึดถือ ครอบครอง ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง หรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้ ขุดดิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าการกระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองมีอัตราโทษที่ต่ำกว่าการกระทำความผิดฐานขุดดิน เลี้ยงสัตว์ ปล่อยสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งที่เป็นการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตสัตว์ป่าอย่างชัดเจนโดยตรงและทันทีทันใด
นอกเหนือจากความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และระบบนิเวศวิทยาที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

Advertisement

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน เช่น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แล้ว พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติได้มีการแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้นทั้งโทษจำคุกและโทษปรับในหลายฐานความผิด โดยมีการแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2559 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 โดยกำหนดโทษจำคุกไว้สูงสุดถึง 20 ปี และโทษปรับไว้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท สำหรับการ กระทำความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 14 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 31 วรรคสอง

สำหรับในส่วนของโทษปรับนั้น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฉบับที่แก้ไขล่าสุดได้กำหนดเกณฑ์อัตราโทษปรับให้สูงขึ้นโดยใช้สัดส่วนโทษจำคุกหนึ่งปี ต่อโทษปรับสองหมื่นบาท และประมวลกฎหมายอาญาก็ได้แก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ให้สูงขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2560 โดยใช้สัดส่วนโทษจำคุกหนึ่งปี ต่อโทษปรับสองหมื่นบาทเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และเพื่อให้การบังคับโทษทางอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่อัตราโทษปรับตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ยังคงใช้อัตราโทษปรับตามเกณฑ์เดิม คือ โทษจำคุก 1 ปี ต่อโทษปรับ 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นอัตราโทษปรับที่ต่ำเกินไปเมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ในปัจจุบัน

2.ปัญหาการไม่ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับการกระทำผิดกฎหมายในบางกรณี

Advertisement

พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง กำหนดห้ามบุคคลที่ไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องเข้าไปปฏิบัติการตามหน้าที่ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้มีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และตามที่มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวซึ่งคือกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น ฝ่าฝืนเงื่อนไขห้ามนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ข้อ 1 (1) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามอบหมาย ก็มีอำนาจเพียงสั่งให้บุคคลนั้นออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้แต่อย่างใด

3.ปัญหาการไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ

พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐสำหรับการกระทำความผิดที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย เสียหาย หรือสูญเสียไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ขาดความชัดเจนว่าจะต้องเป็นการกระทำอย่างไรจึงจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหาย และจำนวนค่าเสียหายที่ผู้กระทำความผิดต้องชดใช้ให้แก่รัฐจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใด ทำให้การเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปัจจุบันนี้ต้องดำเนินการโดยอาศัยบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ที่กำหนดให้ผู้ที่ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป ซึ่งหากจะได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกร้องให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐขึ้นเป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้วย่อมจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดและสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มากกว่า โดยคำนึงถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศวิทยาประกอบด้วย

4.ปัญหาการไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจอัยการในการเรียกค่าเสียหายในคดีอาญาได้โดยตรง

เนื่องจาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไม่ได้ให้อำนาจอัยการในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีอาญาที่มีการฟ้องผู้กระทำความผิดเป็นจำเลย ดังนั้น หากมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ หรือระบบนิเวศวิทยาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายในคดีอาญาที่อัยการฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลได้ หน่วยงานรัฐผู้เสียหาย คือ กระทรวงทรัพยากรฯจึงต้องมีหน้าที่ในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเอง โดยการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่ได้รับเข้ามาในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เพื่อขอให้ศาลบังคับผู้กระทำความผิดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือกระทรวงทรัพยากรฯจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งต่างหากก็ได้

ในกรณีนี้จะมีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26/5 ให้อำนาจอัยการในการเรียกค่าเสียหายจากการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติได้โดยตรง เพื่อให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป ซึ่งย่อมทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด ที่หน่วยงานของรัฐผู้เสียหายไม่ต้องมาดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำความผิดอีก

ดังนั้น หาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจะได้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจอัยการในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำความผิดได้โดยตรงในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้กระทำความผิดแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดความสะดวกและลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเรียกร้องให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายไปได้อย่างมากและย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย

5.ปัญหาการไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้การควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประสบปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งมีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่มีบทบัญญัติในมาตรา 25 (2) และ (3) ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดรื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนดให้ไว้ และหากผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไข หรือทำด้วยประการอื่นใดเองได้ โดยผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด

6.ปัญหาการขาดบทบัญญัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วมในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันดูแลรักษาชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 57 (2) บัญญัติให้รัฐต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว
แต่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายังไม่มีบทบัญญัติใดที่สอดคล้องและรองรับการดำเนินการตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) ดังกล่าวเลย จึงควรที่จะมีการพิจารณากำหนดให้มีบทบัญญัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคุ้มครอง ป้องกัน ดูแลรักษาชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ และปลูกสร้างจิตสำนึกร่วมของชุมชนในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อประโยชน์ในการสงวนและคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

การบังคับใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น

นอกจากจะอยู่ที่ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมในการร่วมกันป้องกันและคุ้มครอง สงวนรักษาชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติแล้ว

บทบัญญัติกฎหมายที่มีความเหมาะสม ทันต่อสภาพปัญหา สภาวการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทันต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปัญหาในการบังคับใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ

นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา หากหน่วยงานและผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณากำหนดแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมยิ่งขึ้นแล้ว ก็จะทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image