ความเหลื่อมล้ำ อำนาจนิยม ประชารัฐ ประชานิยมแอบแฝง เสถียรภาพ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ผลงานศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำหลายชิ้นรวมทั้งของนักเศรษฐศาสตร์นักรัฐศาสตร์ เช่น เจมส์ กาลเบรท เจฟฟรีย์ วินเตอร์ส เมื่อเร็วๆ นี้ น่าสนใจมาก

เพราะชี้ว่าความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนอกจากส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังมีการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ข้อค้นพบนี้สำคัญมาก ต่อเหล่าประเทศ OECD และสำคัญต่อประเทศแบบเราด้วย

ระหว่างปี 1985 ถึงปี 2010 ความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศ OECD ส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้นมาก สำแดงให้เห็นจากที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนพุ่งขึ้น

Advertisement

ค่าจีนีด้านรายได้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำ (ค่าจีนียิ่งใกล้ 1 ยิ่งแสดงความเหลื่อมล้ำสูง) พุ่งขึ้นจากค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้งหมดที่ 0.29 เป็น 0.32 ในช่วงเวลาดังกล่าว (ของไทยค่าสูงกว่านี้มากและเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เคยสูงถึง 0.54)

ทั้งนี้ส่วนแบ่งของกลุ่มประชากรมีรายได้สูงมากๆ ทั้งที่เป็นรายได้ประเภทเงินเดือนของผู้มีทักษะสูงและรายได้จากทรัพย์สิน (เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า) เพิ่มเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ

สาเหตุสำคัญคือ สถาบันและกฎเกณฑ์กำกับระบบภาษีและตลาดแรงงาน ได้เปลี่ยนไปในแนวทางที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่มีรายได้จากทรัพย์สิน และคนทำงานที่มีทักษะสูง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย มากกว่าคนทำงานทั่วๆ ไปซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisement

ด้านภาษีหลายประเทศปรับลดอัตราภาษีมรดกและทรัพย์สินให้ต่ำลง อีกทั้งปรับลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดลงด้วย

ด้านกฎเกณฑ์ที่กำกับตลาดแรงงานและการคุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้เป็นค่าจ้าง เงินเดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงของรายได้ทั้งหมดของประเทศและครอบคลุมคนส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานนั้น ก็ผ่อนคลายลงตามแนวทางของเสรีนิยมใหม่ เช่น เปิดให้นายจ้างสามารถจ้างงานชั่วคราวได้โดยไม่ต้องทำสัญญาว่าจ้างหรือให้คนงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เปลี่ยนกลไกกำหนดค่าจ้างให้ยืดหยุ่นขึ้น ตัดเงินประกันการว่างงาน ลดบทบาทของสหภาพแรงงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลลบต่อคนทำงาน เพราะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำลดต่ำลง การจ้างงานแบบชั่วคราวเพิ่มขึ้น แรงต่อรองของสหภาพแรงงานเสื่อมถอยแม้ว่าระบบการต่อรองค่าจ้าง (collective bargaining) ยังมีอยู่ ชั่วโมงทำงานของคนทำงานมีทักษะสูงเพิ่มขึ้น แต่ของคนทำงานไร้ผีมือลดลง

ดังนั้นช่องว่างรายได้ระหว่างคนทำงานมีทักษะสูงจึงยิ่งทิ้งห่างจากของคนทำงานทั่วๆ ไปอย่างกู่ไม่กลับ

 

เจมส์ กาลเบรท พบด้วยว่า การที่ผู้บริหารรระดับสูงได้รับเงินเดือนและโบนัสรวมทั้งการได้ค่าตอบแทนเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ มากกว่าคนทำงานระดับรองๆ ลงมาอย่างเหลือเชื่อ ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลตามกลไกตลาด แต่เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้มีแรงต่อรองสูง จนเป็นผู้กำหนดว่าตนเองจะมีเงินเดือนและรายได้อื่นๆ สูงเท่าใดเสียเอง กลไกตลาดหรือความสามารถจึงไม่ใช่ตัวกำหนดค่าจ้างดังที่มีการอ้างกัน

ที่สำคัญยิ่งก็คือ OECD ประมาณการว่าความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นมากนี้จะส่งผลให้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ในกลุ่มประเทศ OECD ลดลงโดยเฉลี่ยปีละ 0.35% ต่อไปเป็นเวลาอีก 25 ปี

โดยกลไกสำคัญตรงนี้คือ เมื่อความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะมีการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในความหมายที่ว่า เมื่อพ่อแม่มีรายได้น้อยเพราะมีการศึกษาต่ำ หรือทำได้แต่งานชั่วคราวที่ไม่มีความมั่นคง ก็จะไม่สามารถส่งลูกให้เรียนได้สูงๆ หรือให้ได้รับการอบรมจนมีทักษะสูงได้ เมื่อเข้าทำงานก็จะได้รายได้ต่ำเช่นเดียวกับพ่อแม่ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำและผลของมันจึงเป็นการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น การผลิตซ้ำคนทำงานทักษะสูงที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เติบโตจึงเป็นไปได้อย่างจำกัด และเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่ดูแลตลาดคนทำงานและมีการปรับเปลี่ยนด้านสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวโยงได้ดีกว่า ดังนั้นเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูงก็จะเติบโตช้าลงหรืออาจจะชะงักงันไปเลย

อนึ่ง ความเหลื่อมล้ำสูงยังเป็นภัยต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ด้วยอีกสาเหตุหนึ่ง คือเป็นตัวสร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และเป็นผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

สําหรับนัยต่อนโยบายสู่อนาคต OECD เสนอให้รัฐบาลเน้นลงทุนสร้างสินค้าและบริการสาธารณะด้านสุขภาพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะให้ประโยชน์ต่อครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ล่างสุด 40% ของประเทศ หรือชนชั้นกลางระดับล่างอย่างจริงจังและทั่วถึง และบอกด้วยว่าจะเน้นให้เงินอุดหนุนเฉพาะคนจนที่สุดเท่านั้นจะไม่ได้ผล นอกจากนั้นยังต้องปรับปรุงนโยบายภาษีให้เป็นธรรม และช่วยเพิ่มรายได้รัฐเพื่อนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและการประกันสังคม

การให้ลูกหลานครัวเรือนชนชั้นกลางล่างประมาณ 40% ของประเทศได้เข้าโรงเรียนคุณภาพดี ได้รับการฝึกทักษะสูงและมีสุขภาพดี เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะอนาคตของเศรษฐกิจในระยะยาวขึ้นอยู่กับคนทำงานคุณภาพสูงเหล่านี้ และรัฐบาลยังจะต้องใส่ใจว่าพวกเขาจะมีงานทำตลอดชีวิตการทำงานของเขาด้วย สำหรับประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะต้องจัดการกับปัญหานี้ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภัย เพื่อให้การลงทุนภาครัฐได้ผลเต็มที่ แทนที่จะสูญเปล่าไปกับคอร์รัปชั่น

สำหรับประเทศที่ภาคเกษตรยังสำคัญเป็นแหล่งทำมาหากินของประชากรจำนวนมากอยู่ ยังต้องนึกถึงมาตรการกระจายและให้ความมั่นคงด้านกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินสำคัญในภาคเกษตรกรรายเล็ก คือที่ดิน ด้วยการมีโครงการนำที่ดินสาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากระจายให้ครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรแต่ไม่มีที่ดินทำกินได้เช่าซี้อในราคาที่เป็นไปได้และหรือมีโครงการธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยกระจายการเข้าถึงที่ดินให้เป็นแหล่งทำมาหากินที่ยั่งยืน สำหรับเกษตรกรรายเล็กจำนวนมากซึ่งมีความชำนาญด้านการเกษตรอยู่แล้วและอาจไม่สามารถปรับตัวสู่ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ทันท่วงที

แนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร? เจฟฟรีย์ วินเตอร์ส ศึกษาทั้งประเทศในกลุ่ม OECD และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนรวยสุดในประเทศต่างๆ ล้วนใช้อำนาจเงินส่งแรงผลักดันต่อนโยบายหรือใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของพวกเขาล็อบบี้ให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของพวกเขา

อีกทั้งให้มีการปรับลดอัตราภาษีระดับสูงหรือว่าจ้างให้นักกฎหมายช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้กันทั้งสิ้น

กล่าวถึงนัยของผลการศึกษาข้างต้นต่อประเทศแบบเรา ประเด็นคือความเหลื่อมล้ำสูงนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจชะงักงันด้วยเหตุผลการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังเป็นช่องทางให้เกิดระบบการเมืองประชานิยม หรือรัฐบาลทหารอำนาจนิยม ที่ประยุกต์ใช้ประชานิยมอำนาจนิยมแบบแอบแฝง ในรูปของนโยบายเศรษฐกิจแนว ?ประชารัฐ? ที่จะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำสูงต่อไป

นโยบายแนวนี้มุ่งสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมโครงการขนาดใหญ่ เช่น เหมืองทอง หรือโครงการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ เครื่องจักรไฮเทค และคนงานทักษะสูงที่ต้องนำเข้ามาและด้วยการลงทุนของต่างชาติ

โครงการเหล่านี้ให้กำไรสูงแก่ผู้ลงทุนต่างชาติจำนวนน้อยนิด แต่อาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ พื้นที่ และทำลายแหล่งทำมาหากินของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก แนวนโยบายนี้ยังต้องให้รัฐบาลลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ต่างๆ รวมทั้งให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลากว่า 10 ปี ขึ้นไป ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออก แต่ไม่ได้นึกถึงการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคในชุมชนย่อยๆ รอบๆ โครงการใหญ่ เพื่อช่วยกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานให้กว้างขวาง

สำหรับประเทศแบบเราซึ่งภาคเกษตรยังเป็นแหล่งทำมาหากินของเกษตรกรรายเล็กรายย่อยจำนวนมากที่ไม่มีการศึกษาสูงนัก ประชานิยมอำนาจนิยมแบบแอบแฝง อาจมีผลให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงการแบ่งรายได้ระหว่างผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายย่อยที่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกับเจ้าของโรงงานดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคยยอมรับกันว่าแฟร์ เช่น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยผลเสียจากการยกเลิกข้อตกลงเดิมจะตกอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แบบไม่มีมาตรการใดๆ มาทดแทน ขณะที่เจ้าของโรงงานอาจได้ประโยชน์มากกว่า หรือรัฐบาลอาจดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่โดยไม่มีมาตรการเหมาะสมสำหรับผู้ผลิตวัตถุดิบเกษตรรายย่อย ส่งผลให้เป็นเสมือนการถูกล้อมกรอบให้เกษตรกรเล็ก ต้องขายที่ดินให้แก่โรงงานเกษตรแปรรูปหรือเกษตรกรขนาดใหญ่แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ขณะที่นโยบายและกระบวนการเหล่านี้สร้างกำไรให้แก่นักธุรกิจขนาดใหญ่ เกษตรกรเล็กจะล่มสลาย ความเหลื่อมล้ำจะไม่ลดลง แต่จะสูงขึ้น ในสถานการณ์เช่นนั้น จะไม่มีใครสามารถการันตีเสถียรภาพทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อความเติบโตที่ยั่งยืนได้เลย

ประเทศที่มีรัฐบาลอำนาจนิยมและดำเนินนโยบายแนวประชารัฐแบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการที่ความเหลื่อมล้ำจะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นดังที่ OECD ได้ศึกษาวิเคราะห์ไว้ และจะเผชิญกับวงจรอุบาทว์ของความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจถดถอยและไร้เสถียรภาพแบบไม่รู้จบ เพราะระบอบการเมืองไม่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่เอื้อให้รัฐบาลดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำดังที่ OECD เสนอ

นั่นคือ รัฐบาลอำนาจนิยม ที่ดำเนินนโยบายประชานิยมแบบแอบแฝงตามแนวประชารัฐ จะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและและทำให้เศรษฐกิจโตอย่างมีเสถียรภาพได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image