ถึงเวลาสังคายนาที่จอดรถริมถนน โดย ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ และอภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ดราม่าทุบรถยนต์ที่จอดขวางประตูบ้านท่ามกลางตลาดนัด ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหากระบวนการวางผังเมืองและการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่เมือง อีกส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการที่จอดรถริมถนนที่ไม่มีนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานไม่ประสานกัน อีกทั้งกฎหมายที่ใช้อยู่ก็ล้าหลังและบังคับใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คงมีดราม่าแบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่จบไม่สิ้น

สาเหตุเบื้องลึกของปัญหาเรื่องที่จอดรถริมถนนคือ คนจำนวนมากยังคิดว่าที่จอดรถบนถนนเป็นของฟรีและไม่มีผลกระทบต่อผู้อื่น อีกความคิดหนึ่งที่พบเห็นทั่วไปคือการคิดว่าพื้นที่จอดรถริมถนนหน้าบ้านเป็นสิทธิของตนเอง ตามหลักการแล้ว การจอดรถริมถนนนั้น แม้จำเป็นและมีประโยชน์บ้างในบางกรณี แต่ก็มีต้นทุนต่อผู้อื่นในสังคมเสมอ ทั้งโอกาสในการกีดขวางกระแสจราจร การใช้พื้นที่ถนนอย่างไม่มีประสิทธิภาพเพราะจอดแช่อยู่นาน จึงต้องมีการควบคุมและคิดค่าจอดที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และเวลา แต่ปัจจุบันเราไม่มีนโยบายรัฐที่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการนี้

อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐในการแบ่งความรับผิดชอบเกี่ยวกับถนน กล่าวคือ แม้ว่าหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้รับผิดชอบด้านสภาพกายภาพและความสะอาดของถนน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจราจรรวมถึงการจอดรถในที่ห้ามจอด ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งตำรวจจราจรเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ แต่เนื่องจากตำรวจมักให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลการจราจรให้คล่องตัวไม่ติดขัดเป็นหลัก

ดังนั้นการกวดขันเรื่องการจอดรถในที่ห้ามจอดจึงเป็นเรื่องรอง และมักเน้นไปที่เส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น เฉพาะในช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด การจอดรถในซอยหรือจอดบนถนนที่รถไม่ติดจึงไม่ค่อยได้รับการกวดขันมากนัก ประกอบกับในเมืองไทยมีผู้ที่จอดรถในที่ห้ามจอดอยู่มาก จึงยากที่จะควบคุม ตำรวจจราจรมีจำนวนน้อยอยู่แล้วต้องมาดูแลเรื่องนี้อีกก็มีกำลังคน
ไม่เพียงพอ

Advertisement

อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีได้รับใบสั่งโดยไม่ถูกล็อกล้อหากไม่ไปจ่ายค่าปรับก็ไม่มีผลอะไรเพราะตำรวจจราจรก็ไม่สามารถตามไปเอาผิดโดยระงับการต่อทะเบียนรถได้ เนื่องจากมีปัญหาด้านข้อกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก
ส่วนเรื่องการยกรถที่จอดผิดกฎหมาย แม้มีความพยายามผลักดันโดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างทั่วถึง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนรถยกและบุคลากรจำกัด

ในหลายกรณี การจอดรถริมถนนอาจมีความจำเป็น แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น กำหนดผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จอด เช่น คนพิการ หรือผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ รวมไปถึงการติดมิเตอร์เก็บเงินค่าจอด กำหนดช่วงเวลาที่อนุญาตให้จอด และกำหนดให้จอดไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้การใช้ที่จอดรถที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จอดแช่นานเกินความจำเป็น ผู้ใช้รถคนอื่นจะได้สามารถใช้ที่จอดได้ด้วย

ประเทศไทยก็เคยมีการติดตั้งมิเตอร์เก็บเงินเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว แต่ภายหลังถูกถอดออกหมดเพราะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง มีผู้ไม่ประสงค์ดีทำลายมิเตอร์จนเสียหายบ่อยครั้ง ในปัจจุบันที่จอดรถริมถนนที่ยังมีการเก็บเงินก็ใช้คนเดินเก็บหมด ซึ่งสิ้นเปลืองค่าจ้างจัดเก็บจนบางครั้งไม่คุ้มกับค่าจอดที่เก็บได้

Advertisement

นอกจากนี้ ถนนบางเส้นโดยเฉพาะในตอนกลางคืนก็มักจะมีมาเฟียมาคอยเก็บเงิน ถ้าไม่จ่ายก็อาจโดนแกล้งทำให้รถเสียหายได้
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการไม่บังคับใช้กฎหมายและขาดการบริหารจัดการที่จอดรถอย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องจากการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการที่จอดรถอย่างไม่เหมาะสมดังที่ได้กล่าวตอนต้น

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันกำหนดนโยบายการจอดรถริมถนนเสียก่อน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่าย รวมถึงประชาชนและเจ้าของกิจการร้านค้าในพื้นที่ด้วย ในกรณีพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร อาจต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในดำเนินกระบวนการกำหนดนโยบายนี้

งานส่วนต่อมาคือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจอดรถให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมการจอดรถที่ไม่ต้องผูกติดกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก แต่เชื่อมโยงกับการต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการให้ใบสั่ง ปรับ ยกรถ ฯลฯ ได้อย่างคล่องตัว

การให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการที่จอดรถริมถนน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนในการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอีกด้วย

การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านการจราจรและควบคุมที่จอดรถจากตำรวจมายังท้องถิ่นอาจช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่จอดรถได้ในระดับหนึ่ง โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจอดรถอย่างเบ็ดเสร็จ หากมีปัญหาประชาชนก็สามารถทวงถามไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่ต้องโยนความรับผิดชอบกันไปมาระหว่างตำรวจกับท้องถิ่นเช่นในปัจจุบัน อันที่จริงการถ่ายโอนภารกิจควบคุมการจราจรให้ท้องถิ่นนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในส่วนนี้

เรื่องการจอดรถเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกละเลยมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายและปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการที่จอดรถอย่างเป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม หรือว่าเราจะรอให้เกิดปัญหาร้ายแรงกว่าที่เห็นกันในสื่อสังคมออนไลน์อยู่เสมอเช่นในทุกวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image