การศึกษาคืออะไร โดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

เลขประจำตัวผมสมัยเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์คือ 144505 สองตัวแรกมาจากสองตัวท้ายของปี พ.ศ. ที่เข้าเรียนหรือ 2514 เลข 4 ถัดมาหมายถึงคณะเศรษฐศาสตร์ ต่อมาคือเลข 5 หมายถึงภาคค่ำ เลขที่เหลือ 05 เบอร์ห้าบ้าเห่อคือตัวผมเอง!!! ช่วงนี้มีคนสนใจบทความของผม ก็เลยบ้าเห่อคึกคักขยันเขียนมากขึ้นกว่าเดิม…

นักศึกษาภาคค่ำในยุคนั้น เมื่อถึงตอนปลายภาคต้องไปนั่งสอบรวมกับนักศึกษาภาคกลางวัน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้นได้มาคุมสอบด้วยตัวเอง และประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “นักศึกษาที่มีเรื่องเกเร ชกต่อยกัน ยังพอยอมรับได้ แต่คนที่ทุจริตในการสอบจะไม่มีการให้อภัยต้องถูกไล่ออกเท่านั้น เพราะธรรมศาสตร์ไม่ต้องการผลิตบัณฑิตโกงออกไปสร้างปัญหาให้สังคม!” ถ้อยคำที่พูดและใบหน้าของท่านยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำของผมจนทุกวันนี้ นี่คือแนวคิดทางการศึกษาที่เริ่มสะกิดใจผมมาตั้งแต่บัดนั้น

ยังมีนักศึกษารุ่นพี่ที่ชื่อ วิทยากร เชียงกูล เขียนบทกลอนสะท้านวงการศึกษาจนโด่งดังสุดสุด ในสมัยนั้นว่า

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

ผมประทับใจกับบทกวีนี้ถึงขนาดท่องจำได้ และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมตั้งคำถามกับระบบการศึกษามาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
ตัวผมเองจะรู้สึกโกรธอย่างมากๆ ทุกครั้งที่ได้ทราบข่าวว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาฆ่าตัวตายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผมถือว่าเป็นความบกพร่องของครูบาอาจารย์ และของสถาบันการศึกษาที่เด็กคนนั้นร่ำเรียนอยู่

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมสลดใจที่เด็กๆ ต้องสูญเสียช่วงเวลาแห่งความสุขตอนสุดสัปดาห์ไปคร่ำเคร่งอยู่ที่โรงเรียนกวดวิชา ด้วยหวังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่โด่งดังตามความมุ่งหมายของพ่อแม่ การเรียนรู้ของพวกเขาคือความทุกข์ เพราะถูกไล่ต้อนกดดันจากคนรอบข้าง ไมได้เกิดจากความรักที่จะเรียนรู้ของตนเอง เด็กบางคนจึงเครียดจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย นี่ไม่ใช่การศึกษาแต่มันคืออาชญากรรม!

การศึกษาของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วในระดับอุดมศึกษาก็มีปัญหา เพราะนิยมใช้วิธีแบบ Deductive (นิรนัย) ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณยุคโสเครติส คือตั้งทฤษฎีแล้วพยายามหาทางพิสูจน์ว่าทฤษฎีนั้นใช้การได้ เช่น คิดทฤษฎีว่าสามารถนำแร่ธาตุต่างๆ มาผสมกันแล้วจะเกิดเป็นทองคำ จึงมีการเล่นแร่แปรธาตุมาเป็นพันปี เพื่อจะหาวิธีเปลี่ยนแร่ธาตุราคาถูกให้กลายเป็นแร่ธาตุราคาแพง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ

ยังมีอีกวิธีที่น่าจะเหมาะกว่า คือวิธีที่เรียกว่า Inductive (อุปนัย) เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วนำมาสรุปหาเหตุผลจนตั้งเป็นทฤษฎี เช่น ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์มามนุษย์ยังบินไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งอีตาไอแซ็ค นิวตัน โดนลูกแอปเปิลตกใส่ศีรษะ เมื่อลองสังเกตดูว่าวัตถุต่างๆ ล้วนแต่ตกลงสู่พื้นจึงสรุปเป็นทฤษฎีว่าโลกของเรามี ดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วง ต้องเอาชนะแรงดึงดูดนี้ก่อนมนุษย์ถึงจะเหินเวหาได้

Advertisement

วิชาเศรษฐศาสตร์ในยุคที่ผมเรียนมาก็เป็นแบบ Deductive ผมเรียนทฤษฎีมากมาย แต่จนถึงวันนี้ผมก็พยากรณ์เศรษฐกิจไม่ได้ ต่อให้พยายามจะพยากรณ์ ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะแม่นหรือไม่

การฝึกฝนที่จะทำให้คนทำงานได้นั้น ต้องฝึกหัดและเรียนรู้จากของจริง เช่น นักศึกษาที่เรียนคณะแพทยศาสตร์ต้องเรียนจากศพและคนไข้จริงจึงจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ไม่มีคณะแพทย์ของสถาบันไหนที่ให้นักศึกษาท่องตำราอย่างเดียว แล้วจบออกไปรักษาคนไข้ได้เลย

วิธีที่จะฝึกคนให้เป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการก็ต้องให้ไปเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง แล้วค่อยกลับมาปรึกษาหารือและอภิปรายถกเถียงกันในห้องเรียน โดยอาจารย์ก็จะเข้ามาร่วมพูดคุยค้นหาข้อสรุปที่จะนำไปสู่หลักการและทฤษฎีในที่สุด

การเรียนการสอนแบบนี้ อาจารย์จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ผู้กระตุ้นให้คิด ช่วยแก้ปัญหาและให้กำลังใจ ไม่ใช่เอาแต่อ่านตำราให้ฟัง นอกจากนี้ครูอาจารย์ยังต้องคอยสังเกต และปรับทัศนคติของผู้เรียนไม่ให้เป็นไปในทางลบหรือถูกความโลภครอบงำ เพราะคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องซื่อสัตย์สุจริต หากคดโกงเพียงแค่ครั้งเดียวก็จะไม่มีใครเชื่อถือมอบหมายอำนาจบริหารจัดการให้อีก

มีตัวอย่างที่ดีในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ระดับโปรเฟซเซอร์จะใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ถกเถียงอภิปรายและทำงานวิจัยร่วมกัน จนผูกพันเหมือนพ่อแม่กับลูก คอยเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสำเร็จการศึกษาทำงานทำการแล้วก็ยังหมั่นมาเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์มิได้ขาด อาจารย์ก็จะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ใครยังไม่มีแฟนอาจารย์ก็อาสาว่าจะช่วยหาช่วยแนะนำให้

ในยุคนี้ความรู้ต่างๆ ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่ตัวผู้สอนเท่านั้น ความรู้ความสามารถเสาะหาได้จากหลากหลายแหล่ง และไม่มีอาจารย์คนใดที่จะมีความรู้ชนิดที่ใช้ได้ชั่วนิรันดร์ ครูอาจารย์จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นต้นธารความรู้มาเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยความรักและความปรารถนาดี เฝ้ามองลูกศิษย์ของตนเจริญเติบโตไปสู่อนาคตที่งดงาม

ตามความเห็นของผม การศึกษาต้องมุ่งไปที่การสร้างคน เพราะมนุษย์นั้นแต่เดิมก็คือสัตว์โลกพันธุ์หนึ่ง เมื่อผ่านการศึกษา อบรมขัดเกลาจึงกลายเป็นคนที่สมบูรณ์ สามารถอยู่ในสังคม ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อร่วมจรรโลงสังคมให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อุทิศตนเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่

สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงอุดมศึกษาจึงต้องทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กจำเป็นต้องดิ้นรนทำมาหากิน เมื่อส่งเสียลูกหลานเข้าโรงเรียนจนจบมหาวิทยาลัย ก็หวังพึ่งพาสถาบันเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างลูกหลานของเขาให้เป็นคนดีและคนเก่งที่น่าชื่นชม

ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ดีมีความรับผิดชอบ อย่ามัวไปสนใจแต่เรื่องอื่น เห็นการศึกษาเป็นงานไซด์ไลน์ คิดว่าการหาเงินหาเกียรติคืองานหลัก หรือมุ่งแต่สร้างภาพสร้างชื่อเสียงให้สถาบัน มองลูกศิษย์ที่จบการศึกษาเป็นเหมือนเครื่องกระป๋องที่ทยอยออกจากสายพานการผลิต แล้วพิมพ์ใบดีกรีเป็นฉลากปิดไปบนกระป๋องโดยไม่สนใจว่าสินค้าในกระป๋องอาจขาดคุณภาพ หรือถึงขั้นเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้บริโภคหรือเปล่า…

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาไม่ควรเสียเวลาหลงใหลไล่ตามการจัดอันดับสูงต่ำ จนหลงลืมภารกิจพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพและคุณธรรม

แน่นอน… อาจจะมีคนเยาะเย้ยว่าผมเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว เพราะสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่ผมก่อตั้งขึ้นมานั้นฟันน้ำนมยังร่วงไม่หมด และไม่อยู่ในสายตาของสถาบันจัดอันดับใดๆ

ใช่ครับ… ผมยอมรับ! เพราะแนวทางของสถาบันจัดอันดับกับแนวทางของผมไม่เหมือนกัน และกว่าแนวทางของผมจะทำให้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์มีชื่อเสียงดังเปรี้ยงปร้าง ตัวผมก็ไม่รู้ว่าจะล่องลอยไปอยู่ตรงจุดไหนในจักรวาลแล้ว

ได้แต่ฝากให้คนข้างหลังเป็นกรรมการตัดสิน ช่วยกันจับตาดูว่า แนวทางไหนจะทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากกว่ากัน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image