รูรั่วทางการคลังภาครัฐ กับความรับผิดที่อยู่หลังม่าน : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ต้องมีบางคนทนไม่ได้อยู่เหมือนกันที่เห็นรูรั่วทางการคลัง แต่ใครที่จะเข้าใจระบบการคลังภาครัฐดีพอ ระบบที่ซับซ้อนนี้ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในภาคการเงินจุลภาค คร่ำหวอดอยู่กับการเงินภาคเอกชนทั้งชีวิตก็อาจจะมองไม่เห็น หรืออาจจะเห็นความผิดปกติบ้าง เหมือนเรามองเห็นภาพในม่านหมอก เรื่องอย่างนี้ต้องเป็นภาครัฐด้วยกันจึงจะรู้

ภาครัฐมีการคลังที่กำลังมีปัญหา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบเพราะการคลังภาครัฐมีระบบที่ดีมาก ประกอบไปด้วยระเบียบกฎหมาย แนวปฏิบัติ คำวินิจฉัยต่างๆ ที่เป็นบรรทัดฐานอยู่เพียงพอ ผู้เขียนศึกษากฎหมายการคลังมาพอควรเห็นว่ากฎหมายการคลังภาครัฐของไทยดีมากแห่งหนึ่งในโลก จนภาคธุรกิจต้องเอาไปเลียนแบบ แต่ปัญหาที่หนักอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากตัวผู้ใช้ระบบ

การใช้จ่ายภาครัฐที่มีปัญหา มีสารพัด แต่สิ่งที่ควรกล่าวถึง คือสิ่งที่ต้องไม่ซับซ้อนนักซึ่งคนทั่วไปพอจะนึกคิดตามได้ เพียงเท่านี้ก่อน ซึ่งเท่าที่ประมวลมาพอสังเขปเท่าที่ผู้ซึ่งวางใจเป็นกลางพอจะกล่าวได้ มีดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมมีสูงมาก เพราะขาดกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ขาดมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา การขาดมาตรการเหล่านี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องล่าช้าเพราะทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ต้องใช้กระบวนการอย่างเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ และต้องใช้บุคลากรดำเนินการจำนวนมากและใช้เวลายาวนานย่อมส่งผลให้รัฐใช้เงินไปกับการนี้จำนวนมาก

Advertisement

เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอย่างครบครัน ทั้งนี้ไม่ต้องไปกลัวกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นทางเลือก ถ้าคดีไหนฉกรรจ์นักก็ใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ อยู่ที่เราจะเลือกใช้ให้เหมาะสมในแต่ละคดี มีไว้ให้ครบๆ จะได้เลือกใช้ได้ มีทางเลือกดีกว่าไม่มีแล้วเจอแต่ทางตัน และต่างประเทศจะได้สบายใจที่จะมาลงทุนทำการค้าเพราะเห็นว่ากฎหมายบ้านเมืองเราเป็นสากล มีกติกาที่เขาคาดการณ์ได้ถึงผลได้ผลเสีย ไม่ต้องผลักเป็นภาระความเสี่ยง

เคยมีชาวต่างชาติให้ทรรศนะว่าเมืองไทยอะไรก็ดีหมด เหลือที่เขายังกังวลในการประกอบธุรกิจ คือ ระบบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

2.การใช้จ่ายในการสัมมนา การสัมมนาหรือการจัดประชุมทางวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาครัฐ แต่ควรทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อการระดมความคิดเห็นประการสำคัญ หรือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหา หรือเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นก่อนการออกกฎหมาย ควรหลีกเลี่ยงการประชุมในทำนองการประชาสัมพันธ์เพราะในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ประหยัดกว่าและได้ผลดีกว่าด้วย การสัมมนาเพื่อให้ความรู้ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะในปัจจุบันการให้ความรู้ทางสื่อออนไลน์ก็ทำได้ดีกว่า ยิ่งการประชุมสัมมนาที่ต้องทำตามประเพณีแบบงานประจำปียิ่งควรพิจารณาให้มากว่าเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่

Advertisement

การอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เคยนิยมไปต่างจังหวัดแล้วใช้เงินจำนวนมาก ทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่ารับรอง ค่าสถานที่ ใช้จ่ายไปจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ข้าราชการที่เก่งกาจทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น หรือไม่ก็ส่วนใหญ่ถ้าบุคลากรทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ที่ไหนตามปกติแห่งหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำก็ควรจะจัดที่จังหวัดนั้น ไม่ควรออกนอกพื้นที่

ทั้งนี้ได้ทราบมาเสมอและบ่อยครั้งว่า หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครพยายามที่จะจัดสัมมนา หรืออบรมในต่างจังหวัดโดยถึงกับยอมตัดงบในเรื่องอื่นๆ เพื่อการนี้ บางหน่วยงานมีผู้แสดงทรรศนะว่าในปีหนึ่งๆ ตัดบัญชีผู้สอบได้ ไม่เรียกเข้ารับราชการเพราะงบไม่พอ แต่มีผู้สังเกตว่าหน่วยงานเดียวกันจัดการสัมมนาต่างจังหวัดหรือจัดเลี้ยงปีใหม่อย่างหรูได้ตามปกติ

ทางรั่วไหลทางการเงินอย่างนี้ ตาม พ.ร.บ.การขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่กำลังจะออกมาใหม่ และกฎหมายเกี่ยวกับการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ออกมาแล้วสดๆ ในปี 2560 คงจะค่อยๆ แสดงฤทธิ์ให้ปรากฏแก่สายตาประชาชนได้บ้าง

3.การวิจัยที่ใช้งบประมาณแผ่นดินนั้น ปีละเป็นหมื่นล้าน ได้มีผู้แสดงทรรศนะว่ามีการใช้เงินจำนวนมาก และมีผู้สงสัยว่า อะไรคือ การวิจัย? การวิจัยทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องมีการทดลอง มีกลุ่มตัวอย่าง มีการใช้ระเบียบแบบแผนทางสถิติมาสรุปข้อมูล วิเคราะห์ และแปลข้อมูล เพื่อพิสูจน์ หรือแก้ปัญหาต่างๆ นั้น เป็นการวิจัยอย่างมิพักต้องสงสัย แต่การวิจัยทางสังคมศาสตร์บางเรื่องมีแค่การทบทวนวรรณกรรม (literature review) และสัมภาษณ์คนกลุ่มตัวอย่าง แล้วใช้สถิติสรุปผล ที่เราเคยเข้าใจว่าอย่างนี้เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์แล้วนั้น หากพิจารณากันจริงๆ การดำเนินการวิจัยทางสังคมศาสตร์มีความเข้มข้นและเกิดสิ่งใหม่ได้น้อยกว่าการวิจัยทางแพทย์และวิทยาศาสตร์ ควรใช้งบน้อยกว่าหรือไม่ หรือเรื่องใดที่ศึกษาได้จากการทบทวนวรรณกรรมเพียงอย่างเดียวก็ได้ข้อสรุปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพยายามอวตารให้เป็นงานวิจัย จะได้ประหยัดงบราชการ ให้ทำเป็นงานวิเคราะห์เท่านั้นก็พอ

งานวิเคราะห์อยู่ในหน้าที่ราชการของข้าราชการอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินในการทำวิจัย

4.การศึกษาต่อต่างประเทศมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่บางสาขาอาชีพเห็นว่าอาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะมีบางมหาวิทยาลัยที่ให้การศึกษาบางสาขาที่มีคุณภาพดีพอๆ กับต่างประเทศ บางสาขาอาชีพในมหาวิทยาลัยของไทยบางแห่งสามารถตอบโจทย์การวิเคราะห์วิจัยที่เหมาะกับสิ่งที่ประเทศเราต้องการได้มากกว่า เช่น มีผู้ศึกษากฎหมายที่จบจากต่างประเทศ เคยกล่าวกับผู้เขียนว่า ได้มีประสบการณ์ในการเรียนทั้งในและต่างประเทศมาอย่างโชกโชน เขากล่าวว่าการเรียนกฎหมายในบางมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยนั้นเรียกยากกว่าและมีมาตรฐานสูงกว่าการเรียนในบางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเสียอีก และจบยากกว่า และกล่าวว่าถ้าอยากได้หน้าตาความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศก็ไปเรียนต่างประเทศตรงๆ เลยจะดีกว่า

5.การแปลงบประมาณ ทุกครั้งที่มีการแปลงงบประมาณจากหมวดหนึ่งไปยังอีกหมวดหนึ่ง นั่นคือการใช้งบประมาณที่ไม่เหมือนกับงบที่ตั้งไว้แต่แรก ในทางทฤษฎีแล้วงบประมาณต่างๆ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากเดิม เพราะถือว่ารายจ่ายที่ตั้งไว้นั้นสภารับรองไว้ (ซึ่งก็คือประชาชนรับรองไว้) แต่แรก ครั้นบริหารจริงก็ควรทำตามนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจของฝ่ายบริหารสั่งเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางรั่วไหลโดยตรง แต่เป็นสัญญาณที่ควรจับตาดู และตรวจพินิจพิจารณา ว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่

6.ภาครัฐหมดเปลืองไปกับการสาธารณสุขมาก แต่ยังจัดระบบไม่ลงตัว นโยบายที่เป็นไปไม่ได้ยังมีอยู่อีกมาก การที่จะรักษาอะไรฟรีเป็นไปได้ยากถึงกับจะยากที่สุด ถ้าเหมาจ่ายรักษาโรคพื้นฐาน ให้ง่ายที่สุด เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ เอ็นอักเสบ ตาอักเสบ ปวดหัว ตัวร้อน คือการรักษาโดยใช้ยา ที่ไม่ต้องอาศัยวิธีการผ่าตัด จะหยุดอยู่ที่จำนวนเงินเท่าใด 30 40 50 คงเป็นไปไม่ได้ หรือจะเหมาจ่าย 100 หรือ 200 หรือ 300 หรือ 400 หรือเท่าใดก็ตามที่จะทำให้ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ควรจะหยุดอยู่ที่ตรงไหน หรือให้มีทางเลือกหลายทาง หลายราคาหลายช่องทาง ได้ทราบว่าเคยมีโรงพยาบาลเอกชนคิดระบบเหมาจ่ายอย่างนี้ ต่อปีเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ มีบางโรงพยาบาลเคยรับสมัครลูกค้าที่เหมาจ่ายตลอดชีวิตก็ยังเคยมี

ถ้าคิดโครงการทางการแพทย์ภาครัฐให้เหมาะสมแล้วงบประมาณส่วนนี้จะไม่สูญเปล่า

7.การจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นมากและต่อเนื่อง ปริมาณภาวะหรือสถานการณ์เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนงานราชการเริ่มได้รับผลกระทบจากเวลาที่เสียไปจากการเดินทางของบุคลากรและการขนส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานที่มีสาขาหลายแห่ง เช่น หน่วยงานทางภาษี หน่วยงานทางบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานทางปกครอง เวลาที่เสียไปจากการเดินทางของคนและสิ่งของที่เดินทางอย่างติดขัด เป็นต้นทุนเวลาที่สูง และเวลาที่เสียไปเป็นค่าการเสียโอกาสที่จะทำงานราชการอื่นๆ เป็นราคาที่ต้องจ่ายอย่างรั่วไหล แล้วได้ปริมาณงานต่ำกว่าที่ควร ทุกวันนี้ข้าราชการที่ทำงานเต็มเวลาไม่ออกจากที่ทำงานก่อนเพราะเลี่ยงรถติดมีน้อยมาก

กล่าวถึงการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่รั่วไหล กล่าวง่ายๆ ก็คือ การจ่ายอย่างไม่ควรจ่าย การซื้ออย่างที่ไม่ควรซื้อ การจ้างอย่างที่ไม่ควรจ้าง หรือการกระทำที่ไม่คุ้มค่าต่างๆ

ความรับผิดทางงบประมาณนั้นมีผู้อยู่หลังม่านหลังฉากอยู่อีกมาก กฎหมายโบราณของไทยที่ผ่านมาสาวไปไม่ถึง แต่กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งกลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ที่ตอนนี้ยังเป็นร่างอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น) คงจะช่วยอุดรอยรั่วนี้ได้ระดับหนึ่ง และเท่าที่ทราบ เจ้าหน้าที่บางคนยังใหม่ต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ บางคนยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้

อย่างนั้น คงจะได้เห็นอะไรดีๆ กันอีก

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image