เครื่องแสดงฐานะในอเมริกา : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อสมัยเรียนหนังสืออยู่ชั้นปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2505 มีวิชาหนึ่งอยู่ในหมวดวิชาภาษาอังกฤษ เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ไม่มีการสอนในชั้นแต่ให้ไปอ่านเอาเอง การเรียนมหาวิทยาลัยสมัยก่อนมี 2 ภาคการศึกษา คือ ภาคต้น กับภาคปลาย ขณะนั้นแผนกวิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษทั้งหมดทุกคณะ วิชาอ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษพวกเรารู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยากที่สุด มากกว่าวิชารัฐศาสตร์ กฎหมาย สังคมวิทยา หรือแม้แต่วิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ต่างประเทศ

หนังสือที่แผนกวิชาภาษาอังกฤษกำหนดให้อ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสือดีๆ ทั้งนั้น เช่น Great Expectation ของ Charles Dickens เทอมต้นหรือภาคต้นปี 2505 ปีนั้นทางคณะกำหนดให้หนังสือเรื่อง “Status Seekers” ของ Vance Packard เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หรือ external reading

หนังสือเล่มนี้ มารู้ทีหลังว่าเป็นหนังสือขายดีหรือ The best seller ในยุคนั้น ที่เอาสังคมอเมริกันซึ่งมักจะถือกันว่าเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากที่สุดสังคมหนึ่ง เนื่องจากสังคมอเมริกาเป็นสังคมที่ไม่มีเครื่องหมายของการสังกัดชนชั้น เช่น ชนชั้นศักดินา ไพร่หรือสามัญชน เหมือนสังคมยุโรปตะวันตก หรือสังคมตะวันออกบางประเทศ ที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย ไทย และประเทศในกลุ่มอาหรับ ที่ยังคงให้มีเครื่องอิสริยาภรณ์ เช่นเดียวกับอังกฤษ สแกนดิเนเวีย สเปน และอื่นๆ

คนอเมริกันนั้นแปลก นิยมชมชอบศักดินาและราชวงศ์จากยุโรปและเอเชีย นิยมชมชอบเครื่องแบบติดดวงตราและสายสะพายของชาติอื่นในยุโรปและเอเชีย แต่ไม่นิยมชมชอบเครื่องอิสริยาภรณ์ของประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ เช่น พวกประเทศแถบละตินอเมริกาบางประเทศ และประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งเป็นสาธารณรัฐก็ไม่มีเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย มีเพียงเหรียญประดับหน้าอกเท่านั้น ทั้งๆ ที่นิยมชมชอบของประเทศอื่นๆ ในยุโรปและเอเชียที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์

Advertisement

การที่อเมริกาสถาปนาขึ้นมาด้วยปรัชญาว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์ (ยกเว้นคนผิวสี) มาให้เท่าเทียมกัน” แต่สังคมอเมริกันก็แสวงหาเครื่องแสดงความแตกต่างของฐานะในสังคม Vance Packard กล่าวถึงความแตกต่างที่สำคัญในสังคมอเมริกันอยู่ 2 มิติ คือ ความแตกต่างเรื่องชาติพันธุ์ เชื้อชาติ รวมทั้งฐานะทางการเมืองและความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ

ความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์เชื้อชาติเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ที่อยู่บนสุดคือคนผิวขาวที่มีเชื้อสายแองโกล-แซกซอน ซึ่งได้แก่ อังกฤษ ไอริช รองลงมาก็เป็นฝรั่งเศส เยอรมนี สแกนดิเนเวีย รัสเซียและยุโรปตะวันออก แต่ดูจะอยู่ล่างสุดของคนผิวขาวในอเมริกาก็คือ สเปน โปรตุเกส และอิตาลี ที่มักจะถูกเรียกรวมๆ กันอย่างไม่สุภาพว่า “ละติโน” การจะประสบความสำเร็จทางการเมืองได้ต้องเป็นผู้มีเชื้อสายแองโกล-แซกซอน และนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ก็มีตระกูลเคเนดี้เท่านั้นที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ต่ำลงมาจากชาติผิวขาวก็คงจะเป็นชนชาติผิวเหลือง ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยในอเมริกา ในบรรดาคนผิวเหลืองด้วยกันในอเมริกา ก็คงจะเรียงกันจากญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ และชนชาติอื่นๆ ส่วนคนผิวสีหรือคนที่ไปผสมกับคนผิวสีน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด ต่ำกว่าพวกเจ้าของถิ่นเดิมหรืออินเดียนแดงเสียอีก

Advertisement

ในบรรดาคนชั้นสูงผิวขาวด้วยกัน เครื่องที่แสดงฐานะที่สำคัญคือฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางเศรษฐกิจจะแสดงออกโดยถิ่นที่อยู่ คนชั้นสูง คนชั้นกลาง คนชั้นล่าง จะมีถิ่นที่อยู่แยกกัน ไม่เหมือนเมืองไทยที่อยู่ปนๆ กัน ราคาที่ดินและบ้านเรือนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรวยคนจนแยกกันอยู่ ทุกๆ เมืองใหญ่ๆ จะมีพื้นที่รอบนอกที่เป็นที่อยู่ของคนรวย ส่วนคนจนจะอยู่ในสลัมหรือแหล่งเสื่อมโทรมในเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม การฉกชิงวิ่งราว การทำร้ายร่างกายหรือการชิงทรัพย์และการปล้นสะดม ผู้ร้ายมักจะเป็นคนผิวสีหรือไม่ก็เป็นคนเชื้อสายยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลี

ที่เมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย บัลติมอร์ วอชิงตัน ปกติการจับจ่ายข้าวของอาหารสดหรือเสื้อผ้าก็ไปซื้อกันที่ซุปเปอร์มาเก็ตหรือห้าง ไม่ในเมืองก็ออกไปนอกเมืองที่เป็นสาขาห้างร้านต่างๆ ออกมาตั้งเป็นกลุ่มๆ แต่สำหรับคนจนในเมืองก็จะไปซื้อจากร้านค้าหรืออาหารสดจากตลาดสดที่ผู้ค้าจะเป็นชาวยุโรปใต้ หรือพวกจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้หรือคนผิวสีไปเลย

ที่น่าสังเกตก็คือเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาจะมีแหล่งชุมชนคนอเมริกันเชื้อสายจีนไปเปิดร้านอาหารและร้านขายของชำ นิยมเรียกย่านดังกล่าวว่า “เมืองจีน” “ย่านคนจีน” หรือ China Town เข้าใจว่าย่านเยาวราชสำเพ็งของเรา ฝรั่งก็เรียกว่า “ไชน่าทาวน์” เหมือนกัน แต่ทางฝั่งธนเราเรียกว่า “บ้านแขก” เพราะเดิมเป็นที่ของตระกูลบุนนาค

โรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ก็เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนอเมริกันด้วย ผู้ดีมีเงินนามสกุลดังๆ ของเมืองจะไม่ส่งลูกหลานเข้า โรงเรียนรัฐบาล ซึ่งส่วนมากเป็นของท้องถิ่น ท้องถิ่นใดมีโรงเรียนประถม มัธยม มีชื่อเสียง ราคาที่ดินก็จะแพง เพราะคนแย่งกันเข้าไปอยู่ ค่าเล่าเรียนของโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ก็จะแพง แต่โรงเรียนก็มิได้มีจุดประสงค์หากำไร แต่หารายได้เพื่อจ้างครูดีๆ เงินเดือนแพงๆ รวมอุปกรณ์ห้องทดลองแพงๆ

โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่มีหลักสูตรเพียงปริญญาตรี มักจะอยู่รอบๆ เมืองใหญ่ เช่น เมืองบอสตัน นิวยอร์ก ชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย และเมืองใหญ่ๆ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

สําหรับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อ 10 อันดับแรกในสาขาวิชาต่างๆ ก็มักจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ อายุเกิน 250 ปีขึ้นไป ตึกเรียนมีเถาไอวีเกาะ เถาไอวีเมืองไทยไม่มี ใบเขียวคล้ำรูปร่างเหมือนใบตำลึง มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้รับเงินบริจาคจากศิษย์เก่าที่ออกไปทำมาหากินร่ำรวย และรับจ้างบริษัทห้างร้านทำงานวิจัยในด้านต่างๆ ให้

การจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็เป็นเครื่องหมายของความเป็นชนชั้นสูงของสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ก็จะมีโควต้ารับนักศึกษาจำนวนหนึ่งจากบุตรหลานของผู้ที่บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากบริษัทห้างร้านที่มีศิษย์เก่าไปเป็นผู้บริหาร

สำหรับบ้านเรา เครื่องหมายของระดับชนชั้นนั่นก็มีหลายอย่าง อย่างแรกก็เห็นจะเป็นนามสกุล ที่จะเตะตาเป็นเบื้องแรกสำหรับนามสกุลของวงศ์ตระกูลของคนชั้นสูง สมัยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ก็จะเป็นนามสกุลของคณะผู้ก่อการ 24 มิถุนายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่คืนบรรดาศักดิ์ แต่เอาบรรดาศักดิ์เดิมของตนที่ได้รับพระราชทานมาเป็นนามสกุล ต่อมาลูกหลานของผู้ที่ได้รับบรรดาศักดิ์ก็นิยมใช้บรรดาศักดิ์มาเป็นนามสกุล นอกเหนือจากนามสกุลที่มาจากฐานันดรศักดิ์ มาสู่ยุคประชาธิปไตยบรรดาผู้ที่มีนามสกุลของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหลายกระทรวง เช่น กลาโหม มหาดไทย คลังและอื่นๆ รวมทั้งนามสกุลของรัฐมนตรีในสมัยที่มีการเลือกตั้งด้วย

ขณะนี้นามสกุลของคนที่ใหญ่โตจะเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจใหญ่ แม้ว่านามสกุลที่เปลี่ยนมาจากแซ่จะมีความยาวสักหน่อย เพราะนามสกุลสั้นๆ 2-3 พยางค์ และเป็นคำไทยแท้ๆ มีน้อยลงทุกที การนิยมเปลี่ยนแซ่มาเป็นนามสกุลทำให้คนไทยเชื้อสายจีนกลายเป็นคนไทยได้อย่างสนิท ไม่เหมือนกับคนจีนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่ยังนิยมใช้แซ่นำหน้า แต่ชื่อกลายเป็นชื่อฝรั่งอังกฤษไป เช่น เดวิด หว่อง, โรเบิร์ต ลี เป็นต้น ส่วนของไทยนิยมเปลี่ยนเป็นภาษาไทยที่แปลงมาจากภาษาบาลี สันสกฤต แบบคนไทย

แม้ในวงการธุรกิจด้วยกันก็ยังแบ่งเป็นเศรษฐีกรุงเทพฯ หรือเศรษฐีต่างจังหวัด เศรษฐีภูธร หรือเศรษฐีส่วนกลาง อย่างไรเสีย เศรษฐีกรุงเทพฯก็มีสถานะทางสังคมสูงกว่า

บรรดาลูกหลานสมาชิกของตระกูลเศรษฐี ก็ต้องมีการศึกษาชั้นประถม มัธยมต้น ในโรงเรียนนานาชาติ ไม่เข้าโรงเรียนไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐบาล จบแล้วก็ไปต่อชั้นอุดมศึกษาที่อังกฤษหรืออเมริกาเลย เมื่อกลับมาจึงไม่มีความเป็นไทยหรือเป็นจีนอย่างบรรพบุรุษ โดยบิดาต้องคอยประคับประคองธุรกิจของครอบครัวไปก่อนจนกว่าบุตรหลานที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาในประเทศเลยจะเติบโตขึ้น ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่การจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศสำคัญกว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำแค่ไหนก็ตาม

การใช้วัตถุเป็นเครื่องหมายของชนชั้นของเราก็ยังมีอยู่แต่น้อยกว่า เพราะเศรษฐีไทยไม่ค่อยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหมือนฝรั่ง แต่ให้ความสำคัญกับความยิ่งใหญ่ของธุรกิจมากกว่า จึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความแตกต่างในชนชั้นมากนัก ไม่เหมือนฝรั่ง

ก็ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image