อนุรักษนิยมใหม่ในละครบุพเพสันนิวาส โดย อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว

ความสำเร็จของละครโทรทัศน์เรื่อง บุพเพสันนิวาสŽ ได้สร้างกระแสความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชมในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ภายในระยะเวลาไม่นานหลังออกอากาศ ความรู้สึกไทยนิยมที่ย้อนยุคกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้สะท้อนออกมาผ่านการท่องเที่ยวโบราณสถาน และการแต่งกายชุดไทยของผู้คนจำนวนมากมายทั่วทั้งประเทศ สาเหตุของความนิยมครั้งนี้นอกจากความสนุกสนานหน้าจอแล้ว ยังแฝงแนวคิดอันลึกซึ้งตรึงซ่อนอยู่เบื้องหลังอีกด้วย

ประการแรก การเปลี่ยนภพจากปัจจุบันสู่อดีต โดยนางเอกของเรื่องคือ เกศสุรางค์ ในร่างของ การะเกดŽ เป็นการเดินทางข้ามกาลเวลา (time travel) กลับไปหายุครัชสมัยพระนารายณ์ (พ.ศ.2199-2231) เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตัวละคร ซึ่งก่อนหน้านั้นมีนิสัยไม่ดี เกรี้ยวกราดโมโหร้าย จนกลายเป็นบุคคลที่ถูกเกลียดชังอยู่ทั่วไป ซ้ำร้ายที่สุดคือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนคร่าชีวิตแม่หญิงจันทร์วาด ด้วยความอิจฉาริษยา ในฐานะที่ตนเป็นคู่หมั้นของพระเอกคือหมื่นสุนทรเทวา

การเสียชีวิตด้วยมนต์กฤษณะกาลี ทำให้การะเกดสำนึกผิด เมื่อวิญญาณหลุดจากร่างไปพบวิญญาณเกศสุรางค์ที่เสียชีวิตในยุคปัจจุบัน จึงขอให้เกศสุรางค์ทำดีและกลับไปเข้าร่างของตนที่อยู่ในยุคอดีต หลังจากนั้น การะเกดจากร้ายก็กลายเป็นดีแบบเป็นคนละคน ใครที่ได้รู้จักพบเจอเปลี่ยนกลับมารัก ไม่เว้นแม้แต่หมื่นสุนทรเทวาซึ่งเคยเกลียดนางมาก่อน

บทละครที่ย้อนภพชาติจากปัจจุบันกลับไปในอดีตนี้ ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบสัมพันธบท (intertextuality) กล่าวคือนำการสื่อสารของสังคมร่วมสมัยไปใช้ในบริบทต่างยุค มิใช่ละครอิงประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปที่เน้นความถูกต้องและสมจริง เมื่อคำศัพท์และความหมายมีการปะทะสังสรรค์สื่อสารข้ามยุคสมัย ความแปลกใหม่น่าสนใจจึงเกิดขึ้นทันทีที่ละครเริ่มต้น

Advertisement

คำศัพท์โบราณ เช่น ออเจ้า คันฉ่อง วิปลาส ข้ามเขตกาลเวลาของภาษามาเจอกับคำว่า เครื่องกรองน้ำ กระทะปิ้งย่าง

สิ่งท้าทายมากกว่านั้นคือ การกลับไปแก้ไขและ เล่นŽ กับความเป็นไปในอดีตของเกศสุรางค์ในร่างของการะเกด ตัวละครนางเอกที่สวมบทโดย เบลล่า-ราณี แคมเปน เป็นตัวแทนของบุคคลยุคปัจจุบันที่มีทั้งความรู้ใหม่และความทันสมัยผู้กลับไปแก้ไขสถานการณ์ที่ตนเผชิญอยู่จากร้ายให้กลายเป็นดี พร้อมๆ กับการพยายามปรับตัวและเอาตัวรอดท่ามกลางกลุ่มคนแปลกหน้าและสภาพแวดล้อมของสังคมแบบเก่าซึ่งถอยหลังกลับไปในสมัยโบราณกว่า 300 ปี

ละครจึงสะท้อนความเป็นปัจจุบันสมัยผ่านนางเอก ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่านิยมและอุดมการณ์ที่สั่งสมเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล จนตกผลึกอยู่ในสังคมไทยถึงทุกวันนี้และกลายเป็นคุณค่าแบบอนุรักษนิยม (conservativism) อันสะท้อนอุดมการณ์หลักของความเป็นชาติ และอัตลักษณ์แบบทางการของวัฒนธรรมความเป็นไทย

Advertisement

เกศสุรางค์ในร่างของการะเกด จึงเป็นตัวแทนปัจจุบันสมัย ซึ่งต้องต่อรองปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมได้กับค่านิยมอันเก่าแก่

ประการที่สอง ละครสะท้อนความสามารถในการกำกับ ความเป็นอื่นŽ (otherness) เนื่องจากบทละครใช้รัชสมัยพระนารายณ์ในการดำเนินเรื่อง จึงชัดเจนว่าต้องการนำเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติในสมัยอยุธยามาเป็นฉากหลัง

ในเรื่อง ตัวละครเกศสุรางค์ได้รู้จักกับตองกีมาร์ที่คนไทยเรียกกันว่า ท้าวทองกีบม้าŽ หรือแม่มะลิ และยังได้พบหลวงสุรสาคร ข้าราชการชาวกรีกหรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งต่อมาคือออกญาวิไชยเยนทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะบุคคลใกล้ชิดกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น

ท้าวทองกีบม้า หรือมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา เป็นชาวคริสต์ เชื้อสายโปรตุเกสผสมเบงกาลีและญี่ปุน ผู้มีสมญาว่าเป็น ราชินีแห่งขนมไทยŽ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก และได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส โดยเฉพาะขนมหวานที่ทำด้วยไข่และน้ำตาล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน สังขยา และหม้อแกง เป็นต้น

ยุคสมัยดังกล่าว ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคมและค้าขายในแถบอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ฝรั่งหรือ ฟะรังคีŽ (มาจาก farangi ในภาษาเปอร์เชีย ใช้เรียกชาวยุโรปหรือ แฟรงก์Ž มาตั้งแต่โบราณ) ในที่นี้ เจาะจงหมายถึง คอนสแตนติน ฟอลคอน รวมถึงกองทหารและบาทหลวงจากฝรั่งเศส ซึ่งมีท่าทีที่ผิดสังเกตในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนขุนนางอำมาตย์ในราชสำนักต่างพากันวิตกกังวล และส่งผลทำให้เกิดการยึดราชบัลลังก์โดยพระเพทราชา ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงในที่สุด

หากฟอลคอนเป็นตัวแทนของภัยต่างชาติ ซึ่งเชื่อกันว่ามีแผนยึดอำนาจราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ท้าวทองกีบม้าผู้ภรรยา กลับเป็นภาพสะท้อนความเป็นไทย ผ่านการทำให้ความเป็นอื่นของต่างชาติ กลายเป็นภายในŽ (domesticated) จึงไม่มีพิษภัย แต่ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นความงดงามอย่างลงตัว ด้วยสำนึกจิตใจและกิริยามารยาท สำคัญที่สุด คือ ความกตัญญูรู้คุณแผ่นดินเกิดที่ได้พำนักอาศัย แม้ตนจะมีเชื้อสายชาติพันธุ์และศาสนาที่แตกต่างไปจากชนพื้นเมืองก็ตาม

ขนมไทยแท้แต่โบราณ ซึ่งมีต้นกำเนิดเป็นอาหารหวานจากโปรตุเกส จึงกลายมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมไทยที่กลับสะท้อนตัวตนของวัฒนธรรมความเป็นชาติ โดยผ่านการทำให้ คนนอกŽ กลายเป็น คนในŽ เช่นเดียวกับตองกีมาร์ ท้าวทองกีบม้า หรือแม่มะลิ
ผู้เกิดและตายบนผืนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาด้วยวัยกว่า 80 ปี

ความยอดเยี่ยมในการวางบทอดีต-ปัจจุบันแบบเทียบเคียง (juxtaposition) การใช้ภาพตัวแทนต่างชาติแบบท้องถิ่น (glocalization) คือสารัตถะสำคัญที่ผนึกฝังลึกอยู่ในละครโทรทัศน์บุพเพสันนิวาส ซึ่งประกาศถึงสถานะทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่พร้อมจะเปิดให้เกิดการละเล่นกับค่านิยมอุดมการณ์เดิม แต่ต้องเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ โดยมีแรงกดดันผลักจากภายนอกหรือต่างชาติที่ผ่านทั้งการต่อต้านและต่อรองเชิงอำนาจ ก่อนจะถูกทำให้กลายเป็นไทย

ละครยอดนิยมเรื่อง บุพเพสันนิวาสŽ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วไปได้ร่วมสัมผัสกับพลังอนุรักษนิยมใหม่ซึ่งมิได้ขึงตึงแน่นจนเกินไป แต่ทว่าพร้อมจะพาสังคมไทยก้าวเดินต่อไปสู่วันข้างหน้า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องธำรงรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สั่งสมบ่มเพาะสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษครั้งอดีต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image